เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 มีนาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,925
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,925
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เป็นการปฏิบัติธรรมวันที่หกของบรรดาเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔

    เมื่อวานนี้บรรดาเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเกิดอาการขวัญหนีดีฝ่อกันไปหลายรูป เหตุก็เพราะว่าผู้บรรยายถวายความรู้ในช่วงค่ำ ก็คือพระปลัดสมทบ ปรกฺกโม วัดกลาง (บางปลาม้า) ท่านเป็นผู้ที่ศึกษาทั้งในด้านพระอภิธรรมและในด้านการปฏิบัติธรรม จึงได้บรรยายถวายความรู้ด้วยภาษาทางวิชาการ แทรกศัพท์แสงทางพระศาสนาอย่างเต็มที่ ทำเอาบรรดาท่านที่ฟังอยู่ถึงขนาดใจหายว่า "ถ้าการปฏิบัติธรรมต้องยากเย็นขนาดนี้ ตนเองที่เป็นเจ้าสำนักปฏิบัติธรรม จะสามารถบริหารสำนักไปได้รอดหรือไม่ ?"

    หลังจากที่หลวงพ่อพระปลัดสมทบท่านเหมายาวจนหมดรายการตอน ๒ ทุ่มครึ่ง กระผม/อาตมภาพจึงได้ให้กำลังใจทุกคนว่า สิ่งที่หลวงพ่อสมทบท่านพูดมาคือสิ่งที่ท่านปฏิบัติมาตลอด ๔๐ ปี ท่านทั้งหลายไม่สามารถที่จะใช้ระยะเวลาสั้น ๆ แค่ประมาณ ๒ ชั่วโมงซึมซับรับได้หมด หากแต่ว่าฟังไว้เป็นแนวทาง เมื่อถึงเวลาแล้วเราสามารถที่จะศึกษาเพิ่มเติมได้ เหมือนกับรับอาหารไปแล้ว ถึงเวลาก็ค่อย ๆ เคี้ยว ค่อย ๆ กลืน ถือภาษิตของจีนที่ว่า หนทางต้องเดินทีละก้าว กินข้าวต้องกินทีละคำ ถ้าหากว่าทำในลักษณะอย่างนี้ได้ เราเองก็จะมีสิทธิ์ที่จะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับท่าน

    ส่วนพระเดชพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) หรือว่าหลวงพ่อเจ้าคุณแย้ม เจ้าคณะภาค ๑๔ นั้นดีใจมาก ปรารภกับกระผม/อาตมภาพว่า "ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ มีอาจารย์ระดับสุดยอดแบบนี้อีกรูปหนึ่งแล้ว"
    กระผม/อาตมภาพก็ยังเรียนถวายท่านไปว่า ในเรื่องของสำนักปฏิบัติธรรมนั้น ยังมีข้อด้อยอยู่หลายอย่าง

    ข้อที่หนึ่งก็คือ เจ้าสำนักที่ศึกษามาอย่างไรก็สอนไปอย่างนั้น ขนาดระดับเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมยังรู้สึกหนักใจ แล้วประชาชนทั่วไปจะแบกรับได้อย่างไร ?

    ประการต่อไปก็คือเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายนั้น ส่วนใหญ่แล้วรักสันโดษ รักการปฏิบัติธรรม ชอบปลีกตัวออกจากหมู่ จึงไม่เหมาะสมกับการที่จะบริหารงานต่าง ๆ โดยเฉพาะงานบริหารสำนักปฏิบัติธรรม ถ้าจะแก้ไขตรงจุดนี้ ต้องให้ท่านเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมนั้น ๆ แต่งตั้งบุคลากรภายในวัดที่มีใจรักทางด้านนี้ ขึ้นมารับผิดชอบงานแทน
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,925
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    ข้อต่อไปก็คือ บรรดาเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมีมานะว่า หลักการปฏิบัติของตนนั้นดีที่สุด ในเมื่อต้องมาศึกษาเพื่อให้ปฏิบัติเหมือน ๆ กัน จึงทำให้รับสิ่งอื่นเข้าไปได้ยาก ทำตัวเหมือนกับน้ำเต็มแก้ว เมื่อถึงเวลาเทของใหม่ลงไป ก็ไหลทิ้งเสียหมด

    แต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้เราจะไม่ไปคำนึงถึง เนื่องเพราะว่าในเวลาปฏิบัติธรรมจริง ๆ นั้น ช่วงที่นั่งสมาธิก็ปล่อยให้ท่านนำไปตามรูปแบบที่ท่านถนัด แต่ว่าช่วงเดินจงกรม ยิ่งคนมากเท่าไร ยิ่งต้องการความพร้อมเพรียงเท่านั้น ถ้าอย่างนั้นทุกสำนักก็ต้องกำหนดให้เดินจงกรมแบบสติปัฏฐาน ๖ ระยะ เพื่อความพร้อมเพรียง จะได้ไม่เป็นปัญหาในระหว่างผู้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน

    อีกส่วนหนึ่งก็คือว่า ทางด้านประเทศไทยของเรานั้น มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการปฏิบัติธรรมอยู่ ก็คือกองการวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย ที่กระผม/อาตมภาพนอกจากจะเป็นพระวิปัสสนาจารย์ประจำกองการวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทยแล้ว ยังเป็นกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง แต่ไม่ใช่ประธานคณะกรรมการ

    อีกส่วนหนึ่งก็คือสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งทั้งสองหน่วยงานนี้จะว่าไปแล้ว สามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ เพราะว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้นก็เกิดมาจากวัดมหาธาตุฯ กองการวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทยก็ตั้งอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ เช่นกัน

    เพียงแต่ว่าการทำงานของกองการวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย ที่มีชื่อเสียงยิ่งใหญ่มากอยู่ในระดับประเทศเลย สามารถเทียบได้กับกองธรรมสนามหลวง หรือว่ากองบาลีสนามหลวง แต่ทำงานแค่ระดับงานวัดทั่ว ๆ ไปเท่านั้น ก็คือลักษณะแนวคิดและการทำงานไม่กว้างขวางพอที่จะอยู่ในระดับบริหารงานด้านวิปัสสนาธุระทั้งประเทศ ส่วนทางด้านสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้น ก็แบกงานของตนเองไว้เต็มที่แล้ว โอกาสที่จะสร้างบุคลากร คือพระวิปัสสนาจารย์ขึ้นมาจึงเป็นไปได้น้อย
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,925
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    ทุกวันนี้กระผม/อาตมภาพเป็นคณะกรรมการของสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็ยังต้องควักกระเป๋าสนับสนุนงานปฏิบัติธรรมของสถาบันอยู่ทุกเดือน แล้วขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งบุคลากรวัดท่าขนุน ไปฝึกปรือเป็นทั้งวิปัสสนาจารย์ประจำสถาบันวิปัสสนาธุระ และเป็นทั้งวิปัสสนาจารย์ประจำกองการวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย กำลังรออยู่ว่าจะมีใครที่จะสามารถประสานทั้ง ๒ หน่วยงานเข้าหากันได้ ให้ทำงานไปพร้อม ๆ กัน ก็จะสามารถช่วยในเรื่องการปฏิบัติธรรมได้ดีมาก

    โดยเฉพาะสองวันที่ผ่านมานั้น ญาติโยมมาถวายภัตตาหารเช้าเพลครั้งละสิบกว่าเจ้า พูดง่าย ๆ ว่า "กินไม่ไหว ใช้ไม่หมด" ซึ่งถ้าหากว่ามีการปฏิบัติธรรมต่อเนื่องไป ก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นที่ศรัทธาและเลื่อมใสของญาติโยมทั่วไปเป็นอย่างมาก เพียงแต่ว่าเราจะต้องทำงานให้จริงจัง แต่ว่าก็ต้องทำงานในลักษณะเดินทางทีละก้าว กินข้าวทีละคำเช่นกัน ไม่ใช่ว่าเราเป็นสำนักเล็ก ๆ จัดปฏิบัติธรรมทีหนึ่งมีคน ๕ คน ๑๐ คน แล้วเราก็ท้อใจ ไม่จัดเสียเลย

    การทำงานในลักษณะนี้นั้น ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้น ค่อย ๆ ทำจนผ่านไประยะเวลาหนึ่ง เมื่อญาติโยมทั้งหลายเห็นความตั้งใจจริงของเรา แล้วไปบอกกล่าวกันปากต่อปาก โดยเฉพาะท่านที่นำปฏิบัติแล้วเกิดผลดี เมื่อนำไปบอกเล่า ก็ย่อมมีคนสนใจที่จะศึกษาและปฏิบัติเพิ่มเติม เมื่อถึงเวลานั้น การปฏิบัติธรรมก็จะค่อย ๆ ก้าวหน้าขึ้น เนื่องเพราะว่ามีผู้ให้การสนับสนุนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

    ไม่ใช่ว่าเราไปมองสำนักใหญ่ ๆ อย่างเช่นว่าสำนักวัดมเหยงคณ์ก็ดี หรือว่าสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ตาม ว่าจัดปฏิบัติธรรมแต่ละรอบมีคนมากมาย ถ้าไปคิดในลักษณะอย่างนั้น เราก็จะท้อใจ ถ้าจะมองท่านก็มองในลักษณะที่ว่าเราต้องทำให้ได้อย่างท่าน

    เพียงแต่ว่าตอนนี้เราต้องค่อย ๆ ก้าวเดินไปด้วยความอดทน ด้วยความมุ่งมั่นศรัทธา ด้วยความเชื่อมั่นในคุณพระศรีรัตนตรัย ด้วยความมั่นใจว่าวิปัสสนากรรมฐานเป็นของแท้ เมื่อถึงเวลา ถ้าเราสามารถทำดีทำถูกอย่างแท้จริง ย่อมมีบุคคลให้ความศรัทธา เข้ามาสนับสนุนกันเอง
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,925
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,386
    ค่าพลัง:
    +26,202
    สำหรับวันนี้มีฝนเทลงมาห่าใหญ่ตั้งแต่เวลาตี ๒ เว้นช่วงลงมาระยะหนึ่ง ก็กระหน่ำลงมาในตอนที่กำลังปฏิบัติธรรมช่วงตี ๕ อยู่ เพิ่งจะขาดเม็ดไปก่อนสว่างนิดเดียวเท่านั้น แต่ว่าบรรดาพระวิปัสสนาจารย์ก็ดี บรรดาเจ้าสำนักปฏิบัติธรรม หรือตัวแทนเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมก็ตาม ยังคงปฏิบัติธรรมกันอย่างไม่ย่อท้อ ทำให้ญาติโยมทั้งหลายที่เห็นแล้วเกิดศรัทธา มีโยมคณะหนึ่งถึงขนาดรีบวิ่งออกไปซื้อหาผ้าเช็ดเท้าที่เป็นแบบไม่ลื่น เพื่อที่มาปูรอบสถานที่ให้พระทั้งหลายที่เข้าปฏิบัติธรรมได้เดินโดยไม่มีอันตราย

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เราจะเห็นว่า ญาติโยมที่ต้องการทำบุญนั้นมีมาก แต่ว่าเขาต้องการศรัทธาเป็นเครื่องนำ ประการสำคัญก็คือต้องการพระที่เขาไว้ใจได้ ถ้าหากว่ามีพระที่เขาไว้ใจได้ เขาย่อมเต็มใจที่จะทำบุญ ส่วนเราทั้งหลายทำตัวให้สมกับที่ญาติโยมเขาไว้วางใจหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เราต้องคิดกันเอง ไม่ใช่ว่าบอกบุญเรี่ยไรไป กี่ปี ๆ อาคารก็มีแต่เสา ไม่สามารถที่จะสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้เสร็จเสียที

    ถ้าอยู่ในลักษณะนั้น เราก็ไม่สามารถที่จะโทษใครได้ ว่าทำไมศรัทธาญาติโยมถึงได้ท้อถอยไปจากวัดของเราแล้วไปสนับสนุนวัดโน้น ทั้ง ๆ ที่วัดโน้นดูแล้วว่าเจริญรุ่งเรืองมากแล้ว วัดของเรายังทรุดโทรมอยู่ ก็เพราะว่าเราไม่ได้ทำตัวให้เป็นที่ไว้วางใจของญาติโยม จึงทำให้ศรัทธาของเขาทั้งหลายเหล่านั้นถอยไป

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ท่านเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมพึงจะต้องระมัดระวังว่า การปฏิบัติธรรมเพื่อตนเองก็ดี การบริหารสำนักปฏิบัติธรรมเพื่อญาติโยมก็ตาม ต้องการความศรัทธา ต้องการความจริงใจ ต้องการความอดกลั้นอดทน ค่อย ๆ ไปทีละเล็ก ทีละน้อย เหมือนกับน้ำทีละหยด เมื่อนานไป ๆ ก็รวบรวมได้ในจำนวนที่มากเพียงพอต่อการใช้งานได้

    ในส่วนที่ท่านทั้งหลายซึ่งมาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถือว่าท่านทั้งหลายผ่านการปฏิบัติธรรมที่มีประกาศนียบัตรรับรองว่า ท่านผ่านหลักสูตรนี้ไปแล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อถึงเวลาแล้ว ท่านสามารถนำไปใช้งานในสำนักของท่านได้มากน้อยเท่าไร หรือว่าประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้เท่าไรนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวท่านเองแล้ว

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...