>>> อวดรู้ (รู้แล้วได้อะไร) <<<

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย nouk, 19 กรกฎาคม 2012.

  1. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ในสภาวะนี้นี่เอง ถ้าการปฏิบัติไม่ถูกต้องดีงาม ไปในทางมีปัญญาหรือวิปัสสนา คือ ไม่มีการตั้งสติพิจารณาธรรม หรือบริกรรมก่อสติโดยการวิตกวิจารหรือสมาธิไว้เป็นแนวทางอันถูกต้องดีงามแต่เบื้องต้นเสียก่อนแล้ว หรือมีอาจารย์,ผู้สอนชี้แนว ที่นักปฏิบัติอธิโมกข์คอยจูงจิตหรือป้อนความคิดไปผิดทางด้วยความไม่รู้ตามความเป็นจริง(อวิชชา)ให้เห็น หรือคิด หรือเพ่งในสิ่งใด

    จิตที่ขาดสตินั้นก็จะถูกชักจูงเลื่อนไหลไปให้เกิดเห็นนิมิตนั้นๆขึ้น หรือเกิดความเข้าใจ(นามนิมิต)ต่างๆไปตามคำสอนหรือชักจูงนั้นๆ, จึงเกิดการเห็น ,ความเข้าใจไปตามนั้น ในสภาวะภวังคจลนะนี้นี่เอง แล้วไปยึดติด, ยึดถือ, ยึดเชื่อด้วยอำนาจของอธิโมกข์อันเป็นวิปัสสนูปกิเลส จึงเป็นการน้อมเชื่อโดยขาดการพิจารณาขาดเหตุผล และเป็นไปอย่างรุนแรงด้วยอำนาจของวิปัสสนูปกิเลสที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติฌานและสมาธิเป็นเครื่องอุดหนุน

    จึงเกิดการเข้าใจธรรมกันอย่างผิดๆ ดังไปยึดไปเชื่อในสิ่งที่ไปเที่ยว ไปเห็นในสิ่งต่างๆ เช่น ภาพที่เป็นกสิณนั้นๆ หรือตามเสียงที่แว่วมาของผู้ที่นักปฏิบัติมีศรัทธาตั้งใจฟังอยู่ จึงเห็นใน นรก สวรรค์ วิมาน เทวดา พระพุทธเจ้า แสง สี เสียงต่างๆ อันล้วนแล้วแต่ย่อมวิจิตร ชวนตื่นตา เร้าใจ เพราะย่อมไม่เคยพบเคยเห็นเยี่ยงนี้มาก่อนเลยในชีวิต และยังกอปไปด้วยความแสนสุข สงบ สบาย ด้วยความอธิโมกข์ยิ่งเพราะความที่ตัวกูเป็นผู้เห็น, ตัวกูเป็นผู้กระทำเองด้วยตัวกูเอง

    จึงพากันยึดติด ยึดถือ ยึดเชื่อ แล้วยังปรุงแต่งกันไปอีกต่างๆนาๆด้วยอวิชชา ผู้เขียนกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินไปในการวิปัสสนา เพื่อจะไม่ไปยึดไปอยากให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสจนไม่สามารถดำเนินไปในธรรมได้ และขอร้องอย่าให้ผู้ใดนำความรู้ความเข้าใจในการบรรยายเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อประโยชน์ทางโลก อันจักเป็นกรรมอันเกิดแต่เจตนาจึงต้องได้รับวิบากการสนองตอบอย่างแสนสาหัสในภาคหน้า และรับรองว่าไม่สามารถหลีกหนีหรือคดโกงได้

    ผู้รู้ผู้เข้าใจด้วยปัญญาได้แล้วก็พึงแก้ไขเสีย อย่าปล่อยให้เป็นวิบากกรรมของตนและผู้อื่นสืบต่อไปอีกเลย
     
  2. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ณ ที่ ภวังคจลนะ นี้นี่เอง ถ้าผู้ปฏิบัติมีความเชื่อ,ความเข้าใจอันอาจมาจากการอ่าน,การฟัง,การปฏิบัติ,การสอน อย่างผิดๆหรือด้วยอวิชชาความไม่รู้ ตลอดจนความตะลึงพึงเพลิดและความอัศจรรย์ใจในสิ่งอันวิจิตรที่ไม่เคยประสบพบมาก่อน ก็มักพาให้เตลิดเปิดเปิงออกไปปรุงแต่งทางฤทธิ์ ทางเดช ทางปาฏิหาริย์เสียโดยไม่รู้ตัว ตลอดจนเกิดความเข้าใจผิดคิดไปว่าได้มรรคผลใดแล้ว อันล้วนเป็นเส้นทางนำพาไปสู่ความวิปลาสและวิปัสสนูปกิเลส อันจักนำพาให้เป็นทุกข์มากกว่าเดิมเสียอีกในภายหน้าเป็นที่สุด

    ผู้เขียนเองแต่แรกปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติพระกรรมฐานด้วยมุ่งหวังดับทุกข์ แต่ไปปฏิบัติอยู่แต่ในสมถสมาธิเสียแต่ฝ่ายเดียวด้วยเข้าใจผิดด้วยอวิชชา กล่าวคือไม่เคยนำไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาหรือวิปัสสนาในทางให้เกิดปัญญาอย่างจริงจังเลย แต่เข้าใจผิดไปว่าได้กระทำวิปัสสนาดีแล้วในการท่องบ่น จึงมัวแต่เสพเสวยแต่ความสุข ความสงบ ความสบาย ความวิจิตรแต่ฝ่ายเดียวจากฌาน,สมาธิ ด้วยเข้าใจว่าเป็นอานิสงส์ผลของบุญแท้ๆ แล้ว,

    ดังนั้นเมื่อเกิด โอภาส แสงเจิดจ้าสว่างสวยงามชวนพิศวง หรือรูปนิมิตต่างๆ หรือสิ่งชวนพิศวงต่างๆ ไปเห็น ไปเข้าใจในสิ่งใดขึ้นมาก็เข้าใจผิด,เห็นผิดไปว่า ตนอยู่ในฌาน ๔ อันพระอริยเจ้าทรงสรรเสริญเสียแล้วด้วยอวิชชา ทั้งๆที่ตนนั้นกำลังเตลิดเปิดเปิงท่องเที่ยวและเสพรสอย่างหลงระเริงแลมัวเมาไปในนิมิตภายในภวังคจลนะนี้นี่เอง

    นิมิตที่เกิดในภวังคจลนะนี้ ก็อาจเกิดขึ้นแก่คนใกล้ตาย หรือสลบลึกหรืออาการโคม่าที่ฟื้นขึ้นมาก็มีบ้าง ที่เมื่อฟื้นคืนสติก็จะมาบอกเล่าเรื่องราวต่างๆนาๆอันน่าพิศวงด้วยอธิโมกข์ ที่เกิดแต่ภวังคจลนะด้วยอวิชชา เกิดแต่ในขณะนั้นกายอยู่ในภาวะวิกฤติจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุใดๆก็ตามทีอย่างรุนแรง หรือการกระทบกระเทือนทางสมองอย่างรุนแรง กายจึงปิดการรับรู้จากทวารทั้ง ๖ โดยสิ้นเชิง

    กล่าวคือเข้าสู่ภวังคจลนะโดยธรรมหรือความบังเอิญโดยธรรมชาติเอง ที่บางสภาวะร่างกายสามารถป้องกันตนเองจากการรับรู้ที่เกินวิสัยหรือเกินขีดจำกัด ฯ. เมื่อวิถีจิตถูกปิดกั้นโดยกลไกของธรรมชาติของชีวิตจากความเจ็บป่วยไข้หรืออุบัติเหตุ จิตเกิดการเข้าเลื่อนไหลเข้าสู่ภวังค์ และเป็นภวังค์แบบภวังคจลนะนี้นี่เองได้โดยธรรมชาติ ที่อาจเคยฝึกสั่งสมมา หรือแม้ไม่เคยฝึกหัดหรือปฏิบัติมาก่อนแต่อย่างใดก็เป็นได้ แล้วเตลิดเปิดเปิงท่องเที่ยวไปในจิตภายในหรือก็คือตามสัญญาความจำความรู้ความเชื่อของตน

    จึงเกิดการเห็นนิมิตต่างๆนาๆขึ้นได้อย่างชัดเจน เช่นเห็นแสงสีอันเจิดจ้าวิจิตร(โอภาส) ทั้งเห็นหรือทั้งได้ยินเทวดา นางฟ้า พญายม ยมทูต วิมาน นรก สวรรค์ พระอรหันต์ พระพุทธรูป พระพุทธเจ้า ญาติโกโหติกาทั้งหลายที่ตายไปแล้วบ้าง สุขทุกข์ เรื่องราวต่างๆในอดีต กรรมดี กรรมชั่ว ตามสัญญาของเขาที่สั่งสมไว้มานานแสนนานไม่รู้ว่าสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้น ฯลฯ.

    ถ้าเป็นปุถุชนในศาสนาอื่นๆก็จะเห็นเป็นไปหรือโน้มน้อมไปตามสัญญาของทางฝ่ายเขา เช่น เห็นแสงเจิดจ้าส่องลงมาจากท้องฟ้าคือสรวงสวรรค์บ้าง แสงหรือสิ่งที่เห็นเหล่านี้ก็คือโอภาสดังในการปฏิบัติสมถสมาธินั่นเอง เห็นพระเจ้า เห็นเทวดาต่างๆนาๆตามแบบที่นับถือหรือตามความเชื่อหรือสัญญาของฝ่ายเขานั่นเอง หรืออาจเห็นญาติพี่น้องคนรู้จักที่ล่วงลับไปแล้ว ความดี ความชั่ว สุข ทุกข์ เรื่องราวต่างๆแต่อดีตบ้าง ฯ. อันมีรากฐานตามสัญญา ความเชื่อ ความนับถือ ความศรัทธา ความอธิโมกข์ของฝ่ายเขานั่นเอง,

    ดังนั้นการเห็นเป็นไปที่แตกต่างผิดแผกกันนั้น จึงไม่ใช่เพราะการมีพระเจ้า หรือศาสนา หรือเชื้อชาติ หรือภาษา หรือนรกสวรรค์ที่ต่างกันไป แต่เป็นไปเพราะสัญญาที่สั่งสมแตกต่างกันไปตามทิฏฐิความเชื่อความเข้าใจ
     
  3. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ผู้ที่เห็นในสิ่งเหล่านั้นถ้าฟื้นคืนสติขึ้นมาได้ ถ้ามีปัญญาบ้าง ก็จะเกิดกลัวความชั่ว ก็จะเป็นผู้ใฝ่ดี อยู่ในศีล ในธรรมของฝ่ายตน เป็นกำลังอันดีงามของสังคมนั้นๆ อันย่อมเป็นจุดมุ่งหมายอันดีงามของทุกศาสนา และย่อมยังประโยชน์ส่วนตนและโลกขึ้นเป็นที่สุด แต่ก็ยังไม่สามารถดับหรือหลุดไปจาก "ภพ ชาติ" อันเป็นทุกข์ได้อย่างเด็ดขาดโดยสิ้นเชิงโดยบริบูรณ์ ที่ต้องอาศัยปัญญาญาณในธรรม

    ส่วนในผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง ย่อมแสวงหาทางดับภพ ชาติ ไม่ให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏหรือในกองทุกข์อีกต่อไป.

    ส่วนผู้ที่ไปหลงผิดด้วยอวิชชา ย่อมเกิดความเข้าใจผิด บ้างจึงพยายามฝึกปรือหรือน้อมจำสภาพที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาใช้งานหรือประโยชน์ทางโลกอย่างผิดๆด้วยว่าเป็นฤทธิ์ บ้างก็หลงงมงายไปเลย กล่าวคือ บูชา นับถือ ยึดมั่น ถือมั่น เผยแพร่ไปอย่างผิดๆตามความเชื่อในนิมิตที่เกิดขึ้นนั้นๆ กล่าวคือ เกิดอธิโมกข์ คือศรัทธาหรือความน้อมใจเชื่ออย่างรุนแรงแต่อย่างผิดๆหรืออย่างหลงผิด อันเป็นกิเลสชนิดวิปัสสนูปกิเลสนั่นเอง ที่ใครจะพูดจะเตือนอย่างไรก็ย่อมไม่ฟังไม่เข้าใจไม่ยอมรับด้วยกำลังของวิปัสสนูปกิเลสอันแรงกล้า

    ที่ภวังคจลนะนี้นี่เอง ที่มักชักจูงพาให้เข้าใจกันไปว่า เป็นเจตภูตบ้าง หรือกายทิพย์บ้าง หรือวิญญาณของตนบ้าง ได้ถอดออกจากร่างไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ ตามปรภพ สวรรค์ นรก จึงได้เห็นนู่น เห็นนี่ ต่างๆนาๆ จนถึงขั้นเป็นตำนานที่มีการบันทึกกล่าวขาน ถ่ายทอดสืบต่อๆกันมาอย่างช้านานและอย่างมากมาย จนเป็นที่ปรารถนา ตลอดจนเป็นที่วิจิกิจฉาจนถกเถียงกันมาอย่างช้านานโดยทั่วไป และที่ภวังคจลนะนี้นี่เองที่เกิดขึ้นในการสะกดจิตได้เช่นกัน จึงเกิดสัญญาหรือเห็นในสิ่งต่างๆที่เคยเกิดเป็นในอดีตได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากจิตอยู่ในภวังค์ไม่ซัดส่ายไปในสิ่งอื่นๆ แต่ไปแน่วแน่ในสัญญาจำได้ของตนตามการจูงจิตของผู้สะกดจิต แต่ก็ยังระลึกเห็นได้อย่างผิดๆได้อีกด้วยเช่นกัน ถ้าผู้สะกดจิตชี้ช่องแนะนำจูงจิตไปผิดๆ

    วิธีแก้ไขเมื่อลงไปสู่ภวังค์และท่องเที่ยวเลื่อนไหลไปในจิตภายในก็คือ เมื่อจิตท่องเที่ยวเลื่อนไหลไปจนอิ่มตัว กล่าวคือเมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาบ้างแล้ว ก็ให้กลับมาอยู่ที่จิตหรือก็คือสติหรือก็คือผู้รู้นั่นเอง ตามแต่จะสื่อเรียกกัน จึงไม่ควรปล่อยให้ท่องเที่ยวเลื่อนไหลต่อไปโดยเจตนาหรือแม้ไม่เจตนาก็ตามที จะด้วยเพราะสนุก,สุข,สบายหรือโดยเข้าใจผิดใดๆ ก็ตามที.
     
  4. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    แบบที่ ๓ ภวังคุปัจเฉท เป็นลักษณะที่จิตลงภวังค์แล้วขาดความรู้สึกรับรู้อารมณ์ภายนอกดังภวังคจลนะข้างต้น และขาดการรับรู้จากอารมณ์ภายในด้วย เพราะไม่ท่องเที่ยวไปในภายใน ด้วยเป็นวสี ที่เรียกว่าอธิฏฐานวสี คือมีความชำนาญคล่องแคล่วในการที่จะตั้งจิตหรือรักษาจิตไว้มิให้ฌานจิตต์นั้นตกภวังค์ กล่าวคือมีสติ ที่เกิดขึ้นจากการสั่งสม, ความชำนาญจากการปฏิบัตินั่นเอง จึงมีสติไม่ปล่อยให้จิตเพลิดเพลินเตลิดเปิดเปิงหรือซ่านไปในอารมณ์ของภวังค์ หรือสัญญาภายในของตน ดังเช่นที่เกิดในภวังคจลนะข้างต้น แต่ถึงอย่างไรก็ดีสตินี้ ก็เพียงแค่รู้อยู่ในองค์ฌานต่างๆ เช่น เอกัคคตารมณ์ ยินดีอยู่ในความสงบ(อุเบกขา) แต่ขาดสัมปชัญญะ เป็นลักษณะของฌานต่างๆนั่นเอง จึงเป็นที่พักผ่อนของจิตจึงสร้างกำลังของจิตอันดียิ่ง แต่ย่อมไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้ ด้วยสติไม่บริบูรณ์นั่นเอง ต้องถอนออกมาจากความสงบความสบายเหล่านั้นเสียก่อนจึงเจริญวิปัสสนาได้ ซึ่งย่อมให้กำลังมาก เรียกภวังค์แบบนี้ว่า ภวังคุปัจเฉท

    ภวังคุปัจเฉทนี้นี่เอง ที่เป็นที่ปรารถนาของนักปฏิบัติ และเกิดแก่พระอริยะทุกท่านในการปฏิบัติฝ่ายสมถสมาธิฝ่ายรูปฌาน เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่และเป็นกำลังจิตอันดีเลิศ แต่ถ้านักปฏิบัติไปหลงติดเพลิน(นันทิ)ในความสงบ สุข สบาย อันเกิดขึ้นจากภวังค์ต่างๆ แม้แต่ในภวังคุปัจเฉทอันแม้พระอริยเจ้าก็สรรเสริญนี้ก็ตามที ก็ย่อมกลับกลายเป็นให้โทษเสียทันที กลับกลายเป็นรูปราคะในสังโยชน์อันละเอียดและรุนแรงเสียยิ่งเสียกว่ากามราคะเสียอีก ดังนั้นทุกครั้งที่ถอนออกมาฌานสมาธิ ที่แม้ถึงซึ่งภวังคุปัจเฉทนี้แล้วก็ต้องนำกำลังอันยิ่งนั้นมาใช้ในการเจริญวิปัสสนาด้วยทุกครั้ง อย่าปล่อยให้ความสุขสบายครอบงำเสียจนไม่ปฏิบัติวิปัสสนา เพราะจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการติดเพลินหรือเพลิดเพลินในความสุขสงบในที่สุด และอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคืออย่าให้เกิดขึ้นและเป็นไปดังที่ท่านหลวงตามหาบัว ได้กล่าวสอนไว้ใน เรื่อง หลักเกณฑ์การปฏิบัติ สมาธิ - ปัญญา ความว่า

    "หลักใหญ่ให้จิตสงบได้นั้นแหละเป็นของดี เพียงจิตสงบเท่านั้นก็ตัดความกังวลวุ่นวาย ซึ่งเคยประจำจิตเสียดแทงจิตออกได้โดยลำดับลำดา จนถึงกับเป็นขั้นสบาย เพราะฉนั้นผู้ภาวนาเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จึงมักขี้เกียจในการพิจารณาธรรมทั้งหลายด้วยปัญญา นอนจมอยู่กับสมาธินั้นเสียไม่ออกพินิจพิจารณา สุดท้ายก็เข้าใจว่าความรู้ที่แน่วแน่แห่งความเป็นสมาธิของตนนั้น จะเป็นมรรคผลนิพพานไปเลย ในข้อนี้ผมเคยเป็นมาแล้ว จึงได้นำมาอธิบายให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ ว่าสมาธิต้องเป็นสมาธิ ปัญญาต้องเป็นปัญญา เป็นคนละสัดเป็นคนละส่วน เป็นคนละอันจริงๆ ไม่ใช่อันเดียวกัน หากเป็นอยู่ในจิตอันเดียวกันนั่นแล เป็นแต่เพียงไม่เหมือนกัน" (จาก หลักเกณฑ์การปฏิบัติ สมาธิ - ปัญญา โดย ท่านหลวงตามหาบัว)
     
  5. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    อาการของนิมิตและภวังค์ดังที่กล่าวมาเหล่านี้ เกิดมากน้อยในนักปฏิบัติแตกต่างกันไป แล้วแต่ฌานวิสัยอันเป็นอจินไตย อาจมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ที่กล่าวดังนี้มิใช่ผู้เขียนกล่าวเลี่ยงแต่ประการใด แต่มันเป็นจริงเช่นนั้นเอง ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่อง ณานสมาธิ เพราะขึ้นอยู่แต่จริต สติ ปัญญา การสั่งสม ตลอดจนแนวการปฏิบัติ ฯ.

    แต่ถ้านักปฏิบัติเป็นวิปัสสนูปกิเลส หรือมีจริตกระทำบ่อยๆด้วยติดใจหรือติดเพลินหรือด้วยอธิโมกข์ หรือหัดน้อมจิตฝึกหัดให้เห็นภาพขึ้นในใจอยู่บ่อยๆ กล่าวคือสั่งสมทำอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต ก็ย่อมเกิดการสั่งสม,ความชำนาญขึ้น ในที่สุดก็จะเกิดการน้อมนึกเห็นนิมิตต่างๆแม้ในวิถีจิตตามปกติธรรมดาขึ้นได้ และก็มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวในผู้ที่ปล่อยเลื่อนไหลไปแต่ในฌานสมาธิเป็นระยะเวลานานๆโดยขาดการวิปัสสนา แต่ก็จะเป็นไปในที่สุดเหมือนนิมิตในการปฏิบัติดังที่หลวงปู่ดูลย์ ได้กล่าวถึงไว้ว่า "ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"

    เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะนิมิตส่วนใหญ่เกิดแต่สัญญาหรือใจของนักปฏิบัติ แล้วยังร่วมด้วยการไปปรุงแต่งอีกต่างๆนาๆ ทั้งยังร่วมอีกด้วยอวิชชา จึงพากันไปยึดติดยึดเชื่อด้วยอธิโมกข์จนเสียการ ภาพนิมิตที่เห็นที่เกิดอันมิได้มีบาทฐานเกิดมาแต่ญาณความเข้าใจอันเกิดจากการเห็นเหตุอย่างแจ่มแจ้งจึงรู้ผล และอุเบกขาความเป็นกลางอย่างแท้จริง สิ่งที่เห็นจึงผิดไป หรือผิดบ้างถูกบ้างอันเป็นวิสัยปกติธรรมดา แต่ถ้าบังเอิญถูก ก็จักไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นจริงเป็นจัง จึงเกิดการยึดติดจนเป็นอธิโมกข์อันงมงายยิ่งๆ ขึ้นไป

    ถ้าผิด ก็ลืมเลือนไปเสีย หรือแก้ตัวแทนตนเป็นพัลวันว่าด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ จึงต่างล้วนแฝงและเป็นไปตามความคิดปรุงของผู้ที่เห็นโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชานั่นเอง อันประกอบไปด้วยความรู้สึกรับรู้ในสิ่งที่ตาเห็น หูได้ฟัง ความคิดที่คิด การสั่งสม และความเชื่อความยึดของผู้เห็นนั่นเองเป็นองค์ประกอบสำคัญ

    หรือจะกล่าวง่ายๆ ก็คือ เป็นการแปลงสัญญา หรือความรู้สึก ความเข้าใจ ความคิดต่างๆที่ได้รับเป็นข้อมูลจากอายตนะต่างๆในขณะนั้นเป็นภาพขึ้นมา อันมักเกิดแต่การฝึกฝนและการสั่งสมจากการปฏิบัตินั่นเอง กล่าวคือ เป็นการแปลงความคิดความเห็นให้เป็นภาพขึ้นโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง

    ถ้าท่านเข้าใจในเรื่องคอมพิวเตอร์บ้าง ก็เปรียบเสมือนหนึ่งการแปลงข้อมูลในคอมพิวเตอร์จากโปรแกรมWord ที่ใช้ในการพิมพ์ (เปรียบเป็นความคิด) แปลงเป็นไฟว์หรือข้อมูลแบบรูปภาพในโปรแกรมAcrobat (เปรียบดังนิมิตหรือภาพหรือความคิดที่น้อมขึ้น)ในชั่วพริบตานั่นเอง อันเกิดแต่การฝึกหัดและมีฐานข้อมูลและโปรแกรมอยู่แล้วนั่นเอง
     
  6. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ผู้ที่หลงติดในนิมิตนั้น นอกจากจะมีความเชื่อความยึดที่หลงผิดไปตามรูป เสียง ความคิด ของนิมิตแล้ว จึงทำให้หลงผิดเห็นผิดไม่สามารถดำเนินไปในธรรมได้(วิปัสสนูปกิเลส) เพราะนิมิตก็คือวิปัสสนูปกิเลสในข้อโอภาส และยังทำให้เกิดญาณในวิปัสนูปกิเลสคือมิจฉาญาณอีกดัวย ฯ.

    ภายหลังยังทำให้เกิดอาการอึดอัดหรือเจ็บป่วยต่างๆเนื่องจาก " จิตส่งใน " ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่อง"จิตส่งใน เป็นภัยต่อนักปฏิบัติ" เหตุก็เพราะขณะจิตที่น้อมนึกภาพขึ้นนั้น เป็นสภาวะของมิจฉาสมาธิที่ต้องก่อขึ้น ต้องกระทำขึ้นโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง จึงยังผลให้เกิดการเสพและติดเพลินองค์ฌานขึ้นได้โดยไม่รู้ตัวนั่นเอง อันคือ นันทิหรือตัณหา

    นิมิตที่เห็นหรือเข้าใจจึงเป็นเหยื่อล่อให้ดำเนินไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ในที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะได้ดำเนินไปถึงองค์ธรรมนันทิคือตัณหา ความติดเพลิน, ความติดใจอยาก, ความติดชอบในนิมิตเหล่านั้นเสียแล้ว
     
  7. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    เรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับนิมิตและภวังค์ จากคณาจารย์

    คัดจาก เทสก์รังสีอนุสรณาลัย ; เรื่อง สิ้นโลก เหลือธรรม
    โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

    บางอาจารย์เมื่อนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว สอนให้ถือเอานิมิตนั้น เป็นขั้นเป็นชั้นของมรรคทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น เช่น นิมิตเห็นแสงเล็กเท่าแสงหิ่งห้อย ได้สำเร็จชั้นพระโสดาบัน เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาหน่อยเท่าแสงดาว ได้สำเร็จชั้นพระสกทาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระจันทร์ ได้สำเร็จชั้นพระอนาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระอาทิตย์ ได้สำเร็จชั้นพระอรหันต์อย่างนี้เป็นต้น

    ไปถือเอาแสงภายนอก(โอภาส) ไม่ถือเอาใจของคนที่บริสุทธิ์มากน้อยเป็นเกณฑ์ ความเห็นเช่นนั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริงนัก................นิมิตเกิดจากภวังค์เป็นส่วนมาก ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรคโดยเฉพาะอยู่แล้ว มันจะเป็นมรรคได้อย่างไร........(หน้า๑๕-๑๖)

    (webmaster - เหตุที่ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรค ก็เนื่องจากในสภาวะของภวังค์นั้น ไม่สามารถใช้สติได้อย่างบริบูรณ์ดังที่กล่าวแสดงไว้ข้างต้นแล้วนั่นเอง

    แท้ที่จริงนิมิตทั้งหลาย ดังที่อธิบายมาแล้วก็ดี หรือนอกไปกว่านั้นก็ดี ถึงไม่ใช่เป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์ก็จริงแล แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะต้องได้ผ่านทุกๆคน เพราะการปฏิบัติเข้าถึงจิตรวม,เข้าถึงภวังค์แล้วจะต้องมี เมื่อผู้มีวาสนาเคยได้กระทำมาเมื่อก่อน เมื่อเกิดนิมิตแล้ว จะพ้นจากนิมิตนั้นหรือไม่ ก็แล้วแต่สติปัญญาของตน หรืออาจารย์ผู้นั้นจะแก้ไขให้ถูกหรือไม่ เพราะของพรรค์นี้ต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำ ถ้าหาไม่แล้วก็ต้องจมอยู่ปรัก คือนิมิต นานแสนนาน เช่น อาฬารดาบส แล อุททกดาบส เป็นตัวอย่าง........(สิ้นโลก เหลือธรรม หน้า๑๗)
     
  8. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    จาก หลวงปู่ฝากไว้ โดยหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

    เรื่อง จริง แต่ไม่จริง

    ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เมื่อปรากฎผลออกมาในแบบต่างๆ ย่อมเกิดความสงสัยขึ้นเป็นธรรมดา เช่น เห็นนิมิตในรูปแบบที่ไม่ตรงกันบ้าง ปรากฎในอวัยวะของตนเองบ้าง ส่วนมากมากราบเรียนหลวงปู่เพื่อให้ช่วยแก้ไข หรือแนะอุบายปฏิบัติต่อไปอีก มีจำนวนมากที่ถามว่า ภาวนาแล้วก็เห็น นรก สรรรค์ วิมาน เทวดา หรือไม่ก็เป็นองค์พระพุทธรูปปรากฎอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ ฯ

    หลวงปู่บอกว่า "ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"
    [หลวงปู่กล่าวดังนี้เพราะ ผู้ที่เห็นนั้น เขาก็เห็นจริงๆตามความรู้สึกนึกคิดหรือสังขารที่เกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งของสัญญาเขา เพียงแต่ว่าสิ่งที่เห็นนั้น ไม่ได้เป็นจริงตามนั้น]

    เรื่อง แนะวิธีละนิมิต

    ถามหลวงปู่ต่อมาอีกว่า นิมิตทั้งหลายแหล่ หลวงปู่บอกยังเป็นของภายนอกทั้งหมด จะเอามาทำอะไรยังไม่ได้ ถ้าติดอยู่ในนิมิตนั้นก็ยังอยู่แค่นั้น ไม่ก้าวต่อไปอีก จะเป็นด้วยเหตุที่กระผมอยู่ในนิมิตนี้มานานหรืออย่างไร จึงหลีกไม่พ้น นั่งภาวนาทีไร พอจิตจะรวมสงบ ก็เข้าถึงภาวะนั้นทันที หลวงปู่โปรดได้แนะนำวิธีละนิมิตด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ผล

    หลวงปู่ตอบว่า.... เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่าย ๆก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น "ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง".

    เรื่อง เป็นของภายนอก

    เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ หลวงปู่อยู่ในงานประจำปี วัดธรรมมงคล สุขุมวิท กรุงเทพฯ มีแม่ชีพราหมณ์หลายคนจากวิทยาลัยครูพากันเข้าไปถาม ทำนองรายงานผลของการปฏิบัติวิปัสสนาให้หลวงปู่ฟังว่า เขานั่งวิปัสสนาจิตสงบแล้ว เห็นองค์พระพุทธรูปในหัวใจของเขา บางคนว่า ได้เห็น(นิมิต)สวรรค์ เห็นวิมานของตนเองบ้าง บางคนว่าเห็นพระจุฬามณีเจดีย์สถานบ้าง พร้อมทั้งภูมิใจว่าเขาวาสนาดี ทำวิปัสสนาได้สำเร็จ

    หลวงปู่อธิบายว่า "สิ่งที่ปรากฎเห็นทั้งหมดนั้น ยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้น(เพราะเป็นเพียงนิมิต อันเกิดแต่อำนาจของสมถสมาธิเท่านั้น ยังไม่ใช่มรรคผลแต่ประการใด) จะนำเอามาเป็นสาระที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก."

    เรื่อง หลักธรรมแท้

    มีอยู่อย่างหนึ่งที่นักปฏิบัติชอบพูดถึง คือ ชอบโจษขานกันว่า นั่งภาวนาแล้วเห็นอะไรบ้าง ปรากฎอะไรออกมาบ้าง หรือไม่ก็ว่า ตนนั่งภาวนามานานแล้วไม่เคยเห็นปรากฏอะไรออกมาบ้างเลย หรือบางคนก็ว่า ตนได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เสมอ ทำให้บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ภาวนาแล้วตนจะได้เห็นสิ่งที่ต้องการเป็นต้น ฯ

    หลวงปู่เคยเตือนว่า การปรารถนาเช่นนั้นผิดทั้งหมด เพราะการภาวนานั้นเพื่อให้เข้าถึงหลักธรรมอย่างแท้จริง

    "หลักธรรมที่แท้จริงนั้น คือ จิต ให้กำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง เมื่อเข้าใจจิตตัวเองได้ลึกซึ้งแล้ว นั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม."

    ดังนั้นการสอนหรือการปฏิบัติที่ไปยึด,ไปชอบ,ไปเชื่อ ในนิมิตที่เกิดขึ้นแบบต่างๆนาๆ ดังเช่น ภาพ แสง สี เสียง นรก สวรรค์ เทวดา ครูบาอาจารย์ แม้แต่พระพุทธเจ้าฯ. แม้แต่นามนิมิตที่อาจผุดขึ้นแต่ไม่ได้เกิดแต่ปัญญาจากการพิจารณาหาเหตุหาผลก็ตามที ที่เกิดขึ้นในภวังค์ หรือจากการปฏิบัติ จึงเป็นการปฏิบัติที่ยังไม่ถูกต้องแนวทางอย่างแน่นอน และยังให้เกิดโทษในภายภาคหน้าอีกด้วย.
     
  9. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ประโยชน์ของอรูปฌาน และกฎของกรรม

    ที่มา : http://www.tangnipparn.com/page37_b00k7.html

    สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

    ๑. อรูปฌานใช้ให้เป็นจักมีประโยชน์มาก> คือ มีไว้แต่ไม่ติดอยู่ตามนั้น

    ๒. มีอรูปฌานไว้ มีอาวุธต่อสู้กับเวทนาของร่างกาย ถ้ารู้จักเพิ่มเติมวิปัสสนาญาณอีกเล็กน้อย ปัญญาก็จักแหลมคม ห้ำหั่นกิเลสได้อย่างมีกำลัง

    ๓. อย่าทิ้งอารมณ์อรูปฌาน ทุกอย่างรู้จักใช้ก็เป็นของดีหมด มีประโยชน์ทั้งหมด ในทุกสิ่งที่ตถาคตเจ้าได้บัญญัติเข้าไว้

    ๔. ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงบัญญัตินั้นๆ ก็ย่อมยังไม่เห็นประโยชน์ของบัญญัตินั้นๆ จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จักไปวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่ารูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี หรือแม้แต่ธรรมในหมวดต่าง ๆ หากยังไม่รู้คือยังเข้าไม่ถึง ก็ยังไม่พึงติเตียนธรรมนั้น

    ๕. เช่นเรื่องธุดงค์ก็เหมือนกัน พระบัญญัติเกี่ยวกับ อรัญวาสี ธุดงควัตร มีมาในพระพุทธศาสนาทุกๆ พุทธันดรเป็นของดี เป็นของประเสริฐ สามารถนำไปปฏิบัติแล้วตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้เป็นอย่างดี แต่ธุดงค์นี้ก็เหมาะสมกับผู้ชอบบำเพ็ญเพียรประกอบกิจ สมถธรรม อยู่ในป่า เป็นบารมีธรรมของผู้รักสงบ สันโดษ

    ๖. อุปนิสัยของคนมีปกติอยู่ ๒ อย่าง บางคนชอบอยู่เมือง บางคนชอบอยู่ป่า ดังนั้น เมื่อบวชเป็นภิกษุเข้ามาในพระพุทธศาสนา ใครใคร่อยู่ในเมืองก็อยู่ ใครใคร่อยู่ป่าก็อยู่ ทำได้ตามอัธยาศัย ประโยชน์เกิดที่ตรงว่า เมื่ออยู่ตามที่ชอบใจ จิตย่อมมีความสบาย มีอารมณ์แจ่มใส ปฏิบัติธรรมก็ได้ผล

    ๗. อย่าลืม ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนมีประโยชน์ ที่ว่าไม่มีประโยชน์ เพราะยังไม่เห็นประโยชน์ของเขาต่างหาก

    ๘. ทรงตรัสสอนธรรมแถมท้าย เรื่องกฎของกรรม

    ๘.๑ เห็นกฎของกรรมแล้ว ให้เคารพกฎของกรรมด้วย แล้วจงหมั่นพิจารณาเห็นทุกข์อันสืบเนื่องจากกฎของกรรมนั้น จงเพียรเป็นผู้ตัดกรรม อย่ากระทำตนเป็นผู้ชอบต่อกรรม

    ๘.๒ การต่อกรรมมี ๓ ประเภท คือ ต่อด้วยมโนกรรม - วจีกรรม - กายกรรม ยิ่งต่อยิ่งทุกข์ ทุกข์เพราะอุปาทานปรุงแต่ง คิดว่าสิ่งที่ต่อกรรมนั้นเป็นของดี ทั้งๆ ที่เป็นความเลว ความเลวนั้นใครไม่จำเป็นต้องสร้างให้ เราผู้เดียวเป็นผู้สร้างให้เกิดขึ้น ถ้าหากหมดการต่อกรรมเสียแล้ว กฎของกรรมนี้ก็จักไม่เกิดขึ้นแก่เรา

    ๘.๓ พระอรหันต์ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ต่อกรรมด้วยเหตุอันนี้
     
  10. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    จิตถึงจิตนี่แหละเป็นของจริงในพระพุทธศาสนา

    สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

    ๑. เรื่องที่ท่านฤๅษีบอกกับลูกๆ หลานๆ ว่า ผู้ใดที่ไม่ทิ้งอภิญญาสมาบัติ หรือ มโนมยิทธิ แม้ท่านเองจะทิ้งขันธ์ ๕ ไปแล้ว ก็ยังเหมือนท่านอยู่ใกล้ๆ เพราะเมื่อท่านฤๅษีละขันธ์ ๕ ไปแล้ว กายจริงๆ ก็คือจิต หรืออาทิสมานกาย ซึ่งลูกๆ หลานๆ ศิษย์ทุกคน จักเห็นท่านได้ด้วยกำลัง อภิญญาสมาบัติหรือ มโนมยิทธินั้น กำหนดจิตที่ใดก็เห็นท่านอยู่ทุกที่ ดังนั้น จึงได้ชื่อว่าท่านอยู่ใกล้ๆ

    ๒. จิตถึงจิตนี่แหละเป็นของจริง ในพระพุทธศาสนานี้ กำลังของจิตมีอำนาจมหาศาล อยู่คนละภพคนละชาติ หรืออีกฝ่ายหนึ่งอยู่ในดินแดนอมตะ ก็ยังสื่อสารเชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยอำนาจแห่งจิตที่มีกำลังนั้น

    ๓. บุคคลผู้เข้าถึงศีล - สมาธิ - ปัญญาพร้อม ความมั่นคงของจิตก็จักเกิดขึ้นได้มากยิ่งกว่าปุถุชน ที่ทรงฌานโลกีย์ อำนาจกำลังของจิตที่จักรู้ในภพต่างๆ ชาติต่างๆ หรือดินแดนอมตะ ก็จักไม่เสื่อม รู้จริง - เห็นจริง - ทราบจริงอยู่ในจิตของบุคคลผู้นั้น มีความมั่นใจในตนเองทุกๆ เมื่อ คำว่าหลงตายไม่มีสำหรับบุคคลผู้นั้น ขอเพียงแต่อย่าติดเปลือก คือ ร่างกายของคนหรือสัตว์ ให้มองทะลุเปลือกเข้าไปถึงภายในแล้ว จิตก็จักเชื่อมโยงถึงกันและกันได้ สื่อสารเป็นความรู้ ความเข้าใจถึงกันและกันได้ด้วยภาษาของจิต นั่นแหละเป็นของจริงในพระพุทธศาสนา

    ๔. เพื่อนของผมก็เห็นหลวงพ่อท่านนั่งยิ้มอยู่ ท่านผ่องใสเป็นสุขอย่างยิ่ง ท่านพูดว่า ก็เพราะไม่มีขันธ์ ๕ น่ะซิ จึงได้สุขอย่างนี้ การไม่เกิดมีขันธ์ ๕ หรือร่างกายอีกจึงเป็นยอดของความสุขเตสังวู (สังโว) ปะสะโม สุขโข อันเดียวกัน

    ๕. ทรงตรัสว่า ถ้าต้องการจะเป็นสุขอย่างท่านฤๅษี ก็จงตั้งจิตให้มั่นคงเข้าไว้ เพียรละสังโยชน์ทั้ง ๗ ประการที่คั่งค้างอยู่ในจิต อย่าท้อแท้ กำหนดรู้ทั้งวิธีตัดสังโยชน์ ใช้กรรมฐานให้ถูกกอง แก้จริตที่ยังละไม่ได้อย่างไม่หยุดยั้ง วันหนึ่งข้างหน้าคำนี้ ก็จักเกิดแก่เจ้าเอง นิพพานังปรมัง สุขัง หรือ เตสังวู ปะสะโม สุโข นั่นแหละเหมือนกัน
     
  11. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    จงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

    สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

    ๑. จงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ พิจารณาให้ได้ทั้งคุณและโทษของกาม ใคร่ครวญอยู่อย่างนั้นเป็นปกติ อย่าเอาจิตไปสนใจอย่างอื่นให้มากไปกว่าพระธรรม

    ๒. เห็นธรรมในธรรมแล้ว ตั้งหน้าศึกษาเรียนรู้ธรรมในธรรมนี้ต่อๆ ไป ให้เกิดความละเอียดลึกซึ้งในอารมณ์ แล้วสักวันหนึ่งเมื่อจิตไม่ละจากความพยายาม ผลสำเร็จในการชนะกามคุณทั้ง ๕ หลุดจากนิวรณ์ ๒ ข้อต้น จักเป็นของพวกเจ้าได้ในที่สุด

    ๓. แล้วอย่าลืมใคร่ครวญพรหมวิหาร๔ เพื่อความอยู่เป็นสุขของจิต และเป็นกำลังของจิตให้มีสติตั้งมั่นอยู่ในความดี เป็นกำลังให้เกิดปัญญาตัดกิเลสได้อย่างไม่หยุดยั้ง จงพยายามทรงอารมณ์นี้เอาไว้ให้ดีๆ

    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน
     
  12. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    การตามเห็นความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ

    ที่มา : https://sites.google.com/site/smartdhamma/part20_anapanasati_buddhadhas

    อานาปานสติขั้นที่สิบหก หรือข้อที่สี่แห่งจตุกกะที่สี่ มีหัวข้อว่า “ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำจักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้.” (ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ;ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ.)

    สิ่งที่จะต้องวินิจฉัยในอานาปานสติขั้นนี้ คือ ทำอย่างไรเรียกว่าเป็นการสลัดคืน ;และทำอย่างไรจึงจะเรียกว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสี คือผู้ตามเห็นความสลัดคือนอยู่เป็นประจำ. สำหรับสิ่งที่จะต้องสลัดคืนก็หมายถึงทั้ง ๓ ประเภท กล่าวคือ เบญจขันธ์ สฬายตนะ และ ปฏิจจสมุปบาทมีอาการสิบสอง เช่นเดียวกับในอานาปานสติขั้นที่แล้วมา. ส่วนการทำในบทศึกษาทั้งสามนั้น มีอาการ อย่างเดียวกับที่กล่าวแล้วในอานาปานสติขั้นที่สิบสาม. คำว่า สลัดคืน หรือปฏินิสสัคคะ นั้น มีลักษณะ ๒ อย่าง คือ การสลัดคืนซึ่งสิ่งนั้นออกไปโดยตรง อย่างหนึ่ง ; หรือมี จิตน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่ดับสนิทแห่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อีกอย่างหนึ่ง. อย่างแรกมีความหมายเป็นการสลัดสิ่งเหล่านั้นออกไปในทำนองว่าผู้สลัดยังคง อยู่ในที่เดิม ; อย่างหลังมีความหมายไปในทำนองว่า สิ่งเหล่านั้นอยู่ในที่เดิม ส่วนผู้สลัดผลหนีไปสู่ที่อื่น.ถ้ากล่าวอย่างบุคคลาธิษฐานก็เหมือนอย่างว่า เป็นคนละอย่าง แต่ย่อมมีผลในทางธรรมาธิษฐานเป็นอย่างเดียวกัน เปรียบเหมือนบุคคลที่สลัดสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ เขาจะกระทำโดยเอาสิ่งเหล่านั้นไปทิ้งเสีย หรือจะกระทำโดยวิธีหนีไปให้พ้นจากสิ่งเหล่านั้นก็ตาม ผลย่อมมีอยู่เป็นอย่างเดียวกัน คือความปราศจากสิ่งเหล่านั้น.การที่ท่านกล่าวไว้เป็น ๒ อย่างดังนี้ เพื่อการสะดวกในการที่จะเข้าใจสำหรับบุคคลบางประเภทที่มีสติปัญญาต่างกัน มีความหมายในการใช้คำพูดจาต่างกัน เท่านั้น ; แต่ถ้าต้องการความหมายที่แตกต่างกันจริง ๆ แล้ว ก็พอที่จะแบ่งออกได้เป็น ๒ อย่าง ดังนี้ คือ :-

    (๑) สิ่งใดยึดถือไว้ โดยความเป็นของ ของตน (อตฺตนียา) การสลัดคืนสิ่งนั้นกระทำได้ด้วยการสละสิ่งนั้นเสีย กล่าวคือการพิจารณาจนเห็นว่าไม่ควรจะถือว่าเป็นของของตน.

    (๒) สิ่งใดที่ถูกยึดถือไว้โดยความเป็นตน (อตตา) การสละสิ่งนั้น ๆ นั้นกระทำได้ด้วยการน้อมไปสู่นิพพาน กล่าวคือ ความดับสนิทแห่งสิ่งนั้น ๆ เสีย.

    อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า สิ่งที่ยึดถือไว้โดยความเป็นของตนนั้น สลัดได้ง่ายกว่าสิ่งที่ยึดถือไว้โดยความเป็นตัวตน ทั้งนี้เพราะว่าสิ่งที่ยึดถือไว้โดยความเป็นของตน นั้นเป็นเพียงสิ่งเกาะอยู่กับตน หรือเป็นบริวารของตน จึงอยู่ในฐานะที่จะทำการสลัดคืนได้ก่อน. ข้อนี้เปรียบเทียบได้ง่าย ๆ กับความรู้สึกว่า ตัวกูและของกู : สิ่งที่เป็น “ของกู” อาจจะปลดทิ้งไปได้โดยง่าย กว่าสิ่งที่เป็น “ตัวกู” ซึ่งไม่รู้จะปลดอย่างไร จะทิ้งอย่างไร ขืนทำไปก็เท่ากับเป็นการเชือดคอตัวเองตาย ซึ่งยังไม่สมัครจะทำ. แต่สำหรับสิ่งที่เป็น“ของกู” นั้น อยู่ในวิสัยที่จะสละได้ ด้วยความจำใจก็ตาม ด้วยความสมัครใจเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่น เป็นต้นก็ตาม หรือแม้เพราะหลุดมือไปเองก็ยังเป็นสิ่งที่อาจจะมีได้ ; ส่วนสิ่งที่เรียกว่าตัวกูนั้นยังเป็นสิ่งที่มืดมนท์ต่อการที่จะสลัดออกไป หรือหลุดออกไปเอง ทั้งนี้เป็นเพราะมันเป็นตัว ๆ เดียวกันกับที่ยืนโยงอยู่ในฐานะที่เป็นประธานของการกระทำทุกอย่าง. ฉะนั้น การที่จะสลัดคืนเสียซึ่งตัวกู จักต้องมีอุบายที่ฉลาดไปกว่าการสละของกู. เมื่อกล่าวโดยบุคคลาธิษฐานก็เป็นการกล่าวได้ว่า เมื่อตัวกูอยากสลัดตัวเองขึ้นมาจริง ๆ แล้ว ก็ต้องวิ่งเข้าหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งสามารถทำลายตัวกูให้หมดไปโดยไม่มีส่วนเหลือ และข้อนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นความหมายที่แตกต่างกันอยู่เป็น ๒ ประการ กล่าวคือ “ตัวกู” ได้สลัดสิ่งซึ่งเป็นของกูแล้ว เหลือแต่ตัวกู จึงวิ่งเข้าไปสู่สิ่งซึ่งสามารถดับตัวกูได้สิ้นเชิงอีกต่อหนึ่ง. ความแตกต่างในตัวอย่างนี้ ย่อมแสดงให้เห็นความแตกต่าง ๒ อย่าง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นได้โดยชัดเจน คือจิตสลัดสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นการสลัดคืนอย่างที่หนึ่ง และจิตแล่นไปสู่นิพพานอันเป็นที่ดับของสิ่งทั้งปวงรวมทั้งจิตเองด้วย นี้ก็อย่างหนึ่ง เป็น ๒ อย่างด้วยกัน ดังนี้.

    ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อกล่าวในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้ว ความแตกต่างทั้ง ๒ อย่างนี้ ก็ยังคงเป็นเพียงความแตกต่างในทางนิตินัยไปตามเดิม ส่วนทางพฤตินัยนั้นย่อมมีวิธีปฏิบัติ และผลแห่งการปฏิบัติอย่างเดียวกันแท้.วิธีปฏิบัติเพื่อความสลัดเบญจขันธ์ หรืออายตนะออกไปนั้น มิได้หมายถึงการสลัดอย่างวัตถุ เช่นการโยนทิ้งออกไปเป็นต้นได้ แต่หมายถึงการสลัดด้วยการถอนอุปาทานหรือความยึดมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งให้ ได้จริง ๆ เท่านั้น. การถอนอุปาทานนั้น ต้องกระทำด้วยการทำความเห็นแจ้งต่อ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจนกระทั่งเห็นความว่างจากตัวตน ไม่ว่าจะเป็นตนฝ่ายที่เป็นเจ้าของ หรือเป็นตนฝ่ายที่ถูกยึดถือเอาเป็นของของตน. เมื่อว่างจากตนทั้งสองฝ่ายดังนี้แล้ว จึงจะถอนอุปาทานได้ และมีผลเป็นความไม่ยึดถือสิ่งซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ไว้อีกต่อไป. แม้ในการพิจารณา เพื่อถอนความยึดถือในเบญจขันธ์ หรืออายตนะส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งถูกยึดถือว่าตน ก็ต้องทำโดยวิธีเดียวกันแท้ คือพิจารณาเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อีกนั่นเอง หากแต่เลี่ยงไปในทำนองว่า ทั้งหมดนี้เมื่อเป็นอย่างนี้มันเป็นทุกข์ เมื่อไม่อยากทุกข์ก็น้อมจิตไปเพื่อความดับสนิทไม่มีเหลือของสิ่งเหล่านี้ เสีย จะได้ไม่มีอะไรทุกข์อีกต่อไป เรียกว่าเป็นการน้อมไปสู่นิพพานหรือมีจิตแล่นไปสู่นิพพาน แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ต้องรอไปจนกว่าร่างกายจะแตกดับ หรือว่าจะต้องรีบทำลายร่างกายนี้เสียด้วยการฆ่าตัวตาย ดังนี้ก็หาไม่.การฆ่าตัวตายไม่ได้ทำให้อุปาทานนั้นหมดไป กลับเป็นอุปทานอีกอย่างหนึ่ง อย่างเต็มที่อยู่ทีเดียว จึงจะฆ่าตัวตายได้. ส่วนการรอไปจนร่างกายแตกทำลายนั้นไม่ใช่วิธีของการปฏิบัติ และการแตกทำลายของร่างกายนั้น มิได้หมายความว่าเป็นการหมดอุปาทาน เพราะคนและสัตว์ตามธรรมดาสามัญก็มีการแตกตายทำลายขันธ์อยู่เองแล้วเป็น ประจำทุกวัน ไม่เป็นการทำลายอุปทานได้ ด้วยอาการสักว่าร่างกายแตกทำลายลง. เพราะฉะนั้นการฆ่าตัวเองตายก็ดี การรอไปจนแตกทำลายเองก็ดี ไม่เป็นการดับอุปาทานที่ยึดถือว่าตัวตนได้แต่อย่างใดเลย จึงไม่แล่นไปสู่นิพพานได้ด้วยการทำอย่างนั้น ยังคงทำได้แต่โดยวิธีที่ยังมีชีวิตอยู่นี่แหละ.

    เมื่อพิจารณาเห็นว่า ถ้ามีความยึดถือว่าตัวตนอยู่เพียงใดแล้ว ก็จะต้องมีความทุกข์นานาชนิดอยู่ที่ตนเพียงนั้น จึงน้อมจิตไปในทางที่จะไม่ให้มีตนเพื่อเป็นที่ตั้งของความทุกข์อีกต่อไป นิ้เรียกว่ามีจิตน้อมไปเพื่อความดับสนิทของตน ซึ่งเรียกได้ว่าน้อมไปเพื่อนิพพาน แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำการปฏิบัติ เพื่อให้เห็น อนิจจัง ทุกขังอนัตตา ในระดับสูงสุด ซึ่งทำให้ไม่รู้สึกว่ามีตัวตนเหลืออยู่จริง ๆ มีแต่สังขารธรรมล้วน ๆ หมุนไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน. สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ เช่นความแก่ความตาย เป็นต้น ก็รวมอยู่ในกลุ่มนั้น คือเป็นสังขารธรรมส่วนหนึ่งในบรรดาสังขารธรรมทั้งหมด ที่หมุนเวียนไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน ไม่มีส่วนไหนที่มีความยึดถือว่าเป็นตัวเราหรือของเรา แม้แต่จิตที่กำลังรู้สึกนึกคิดได้ หรือกำลังมองเห็นความเป็นไปของสังขารธรรมเหล่านั้นอยู่ จิตนั้นก็มิได้ยึดถือตัวมันเองว่าเป็นตัวตน หรือยึดถือตัวมันว่าเป็นจิต – ผู้รู้ ผู้เห็น : แต่กลับไปเห็นว่าตัวจิตนั้นก็ดี การรู้การเห็นนั้นก็ดี เป็นแต่เพียงสังขารธรรมล้วน ๆ อีกนั่นเอง และเห็นว่าสังขารธรรมทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น ก็เป็นสักว่าสังขารธรรม คือเป็นธรรมชาติหรือธรรมดาที่เป็นอยู่อย่างนั้นเอง หาใช่เป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา เป็นผู้ยึดครองหรือถูกยึดครอง ดังนี้เป็นต้นแต่ประการใด เมื่อจิตเข้าถึงความว่างจากตัวตนอย่างแท้จริง ดังนี้แล้ว ก็เท่ากับเป็นการดับตัวเองโดยสิ้นเชิง ซึ่งเรียกว่านิพพานในที่นี้.

    เพราะฉะนั้นปฏินิสสัคคะ คือการสลัดคืนชนิดที่ใช้อุบายด้วยการทำจิตให้แล่นไปสู่นิพพานนั้น ก็มีวิธีปฏิบัติ มีความหมายแห่งการปฏิบัติ และมีผลแห่งการปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันกับปฏินิสสัคคะ ชนิดที่มีอุบายว่าสลัดสิ่งทั้งปวงเสีย ;เพราะว่าอุบายทั้ง ๒ วิธีนี้ ล้วนแต่มีความหมายอย่างเดียวกัน คือทำความว่างจากตัวตนหรือที่เรียกว่าสุญญตานั้นให้ปรากฏขึ้นมาให้จนได้ ถ้าไปเพ่งความว่างของฝ่ายสิ่งที่ถูกยึดถือก็เรียกว่าสลัดสิ่งเหล่านั้นออกไป แต่ถ้าเพ่งความว่างของฝ่ายที่เป็นผู้ยึดถือกล่าวคือจิต ก็กลายเป็นการทำ จิตนั้นให้เข้าถึงความว่าง (คือเป็นนิพพานไปเสียเอง) ความมุ่งหมายจึงเป็นอย่างเดียวกัน คือเป็นการให้ทั้ง ๒ ฝ่ายเข้าถึงความว่างโดยเสมอกัน ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ : และโดยพฤตินัยทั้ง ๒ อย่างนั้นเป็นอย่างเดียวกัน คือมีแต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าถึงที่สุดจริง ๆ แล้วมันก็ดับทุกข์ทั้งปวงได้ด้วยกันทั้งนั้น. และการที่ให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่างไปโดยที่จิตยังเหลืออยู่เป็นตัวตนไม่ ต้องว่างนั้น เป็นสิ่งที่มีไม่ได้หรือทำ ไม่ได้เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าความว่างนั้น มันมีเพียงอย่างเดียวตัวเดียวหรือสิ่งเดียวถ้าลงเข้าถึงจริง ๆ แล้ว มันจะทำให้ว่างหมด ทั้งฝ่ายผู้ยึดถือ และฝ่ายสิ่งที่ถูกยึดถือทั้งหลายทั้งปวง ฉะนั้น โดยพฤตินัยเมื่อปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว ย่อมว่างไปทั้งสองฝ่ายพร้อมกันในทันใดนั้นเอง ; ถ้าผิดจากนี้มันเป็นเพียงความว่างชนิดอื่น คือความว่างที่ไม่จริงแท้ เป็นความว่างชั่วคราว และเพียงบางขั้นบางตอนของการปฏิบัติที่ยังไม่ถึงที่สุด มีผลเพียงทำ ให้ปล่อยวางสิ่งนั้น ๆ ได้ชั่วคราว และก็ปล่อยได้เฉพาะแต่ฝ่ายที่ปล่อยง่าย เช่นฝ่ายที่ถูกยึดถือไว้โดยความเป็นของของตน หรือของกูบางส่วนเท่านั้น แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงตัวตนหรือตัวกูเลย. ต่อเมื่อใดสุญญตาหรือความว่างอันแท้จริงปรากฏออกมา เมื่อนั้นจึงจะว่างอย่างแท้จริง และไม่มีอะไรรอหน้าเป็นตัวตนอยู่ได้ ตัวตนฝ่ายการกระทำ ก็ดี ตัวตนฝ่ายที่ถูกกระทำก็ดี ตัวการกระทำ นั้น ๆ ก็ดี ตัวผลแห่งการกระทำ นั้น ๆ ก็ดี ไม่ว่าจะถูกจัดไว้เป็นฝ่ายกุศลหรือฝ่ายอกุศล หรือฝ่ายอัพ์ยากฤต คือมิใช่ทั้งกุศลและอกุศลก็ดีย่อมเข้าถึงความว่างไปด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น. อาการแห่งการสลัดคืน กล่าวคือปฏินิสสัคคะมีขึ้นได้ถึงที่สุดโดยไม่ต้องมีใครเป็นตัวผู้สละคืน เพราะเป็นของว่างไปด้วยกันทั้งหมด แม้แต่ตัวการสลัดคืน ตัวสิ่งที่ถูกสลัดคืน ก็ยังคงเป็นของว่างกล่าวคือเป็นความดับสนิทแห่งความมีตัวตนนั่นเอง. ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์หรือโดยความจริงอันสูงสุดแล้ว ย่อมกล่าวได้ว่าความว่างอย่างเดียวเท่านั้น เป็นตัวความสลัดคืนอย่างแท้จริง และมีเพียงอย่างเดียว หามีเป็น ๒ อย่างหรือหลายอย่างดังที่กล่าวโดยโวหารแห่งการพูดจา ด้วยการแยกเป็นฝักฝ่าย ดังที่กล่าวอย่างบุคคลาธิษฐานข้างต้นนั้นไม่.

    เบญจขันธ์ก็ดี อายตนะภายในทั้งหกก็ดี อาการปรุงแต่งซึ่งกันและกันของสิ่งเหล่านั้น อันเรียกว่าปฏิจจสมุปบาทก็ดี เป็นสิ่งที่อาจถูกสลัดคืนโดยสิ้นเชิงได้ด้วยการทำให้เข้าถึงความว่าง ดังที่กล่าวแล้วนั่นเอง.การพิจารณาเบญจขันธ์โดยความเป็นของว่าง๑ นั้น ย่อมเป็นการสลัดคืนซึ่งเบญจขันธ์อยู่ในตัวมันเอง กล่าวคือ ก่อนหน้านี้รับหรือยึดถือเบญจขันธ์บางส่วนว่า เป็นตัวตน บางส่วนว่า เป็นของตน ด้วยอำนาจของอุปาทาน บัดนี้เบญจขันธ์นั้นถูกพิจารณาเห็นตามที่เป็นจริง คือเป็นของว่างไปหมดไม่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานอีกต่อไป อุปาทานจึงดับลง. เมื่ออุปาทานดับก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องยึดถือ และเบญจขันธ์ก็เป็นของว่างไปแล้ว. เมื่อไม่มีการยึดถือหรือการรับไว้เช่นนี้ ก็มีผลเท่ากับเป็นการสลัดคืน ทั้งที่ไม่ต้องมีตัวผู้สลัดคืนเพราะจิตและอุปาทานก็กลายเป็นของว่างจากตัว ตนไป.

    สรุปความได้ว่า การพิจารณาเบญขันธ์ให้เป็นของว่างนั่นแหละ คือการสลัดเบญขันธ์ทิ้งออกไปซึ่งเรียกว่า ปริจจาคปฏินิสสัคคะ ; และพิจารณาเห็นจิตเป็นของว่างจากตัวตนนั่นแหละคือการทำจิตให้แล่นเข้าไปสู่ นิพพาน อันเป็นที่ดับของเบญจขันธ์ทั้งปวงซึ่งรวมทั้งจิตนั้นเองด้วย อันนี้เรียกว่า ปักขันทนปฏินิสสัคคะ. การพิจารณาเบญจขันธ์เป็นของว่าง ก็คือการพิจารณาโดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจนถึงที่สุด ตามนัยอันกล่าวแล้วโดยละเอียดขั้นที่สิบสามเป็นต้น.การพิจารณาอายตนะภายใน ทั้งหก โดยความเป็นของว่าง ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันกับเรื่องของเบญจขันธ์ เพราะอายตนะภายในทั้งหกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเบญจขันธ์ได้แก่ขันธ์ที่ทำ หน้าที่รู้อารมณ์ที่มาสัมผัสนั่นเอง หรืออีกอย่างหนึ่งก็กล่าวได้ว่าหมายถึงกลุ่มแห่งเบญจขันธ์ ในขณะที่ทำหน้าที่รับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นั่นเอง การทำให้สิ่งทั้งหกนี้เป็นของว่าง ก็คือการพิจารณาโดยความเป็นสังขาร หรือความเป็นธรรมชาติล้วน ๆ หามีความเป็นตัวตนแต่อย่างใดไม่ แต่มีลักษณะเป็นเครื่องกลไกตามธรรมชาติของมันเอง ในการที่จะรับอารมณ์ได้ ตามธรรมดาของรูปธรรมและนามธรรมที่กำลังจับกลุ่มกันอยู่ซึ่งสามารถทำอะไรได้ อย่างน่ามหัศจรรย์ จนเกิดความสำคัญผิดไปว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอัตตาหรือตัวตน หรือว่ามีอัตตาตัวตนอยู่ในสิ่งเหล่านี้. การพิจารณาสิ่งเหล่านี้จนกระทั่งเห็นโดยความเป็นของว่างนั้น จัดเป็นปักขันทนปฏินิสสัคคะโดยแท้ โดยใจความก็คือแยกขันธ์ส่วนที่เป็นจิตออกมาพิจารณาโดยความเป็นของว่างนั่น เอง.

    การพิจารณาอาการแห่งปฏิจจสมุปบาท โดยความเป็นของว่างนั้นเป็นการพิจารณาให้เห็นว่า กลไกโดยอัตโนมัติของรูปธรรมและนามธรรมกล่าวคือ การปรุงแต่งนั่นนี่สืบกันไปเป็นสายไม่มีหยุดนั้น ก็เป็นเพียงกลไกตามธรรมชาติของรูปธรรมนามธรรมที่สามารถทำหน้าที่อย่างนั้น เองได้โดยอัตโนมัติในตัวธรรมชาติเองล้วน ๆไม่ต้องมีอัตตาหรือเจตภูตเป็นต้นอะไรที่ไหนเข้าไปเป็นตัวการในการกระทำ หรือใช้ให้ทำแต่อย่างใดเลย มันเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของธรรมชาติล้วน ๆ ปรุงแต่งกันเองในเมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกันมีการกระทำตอบแก่กันและกัน ผลักดันเป็นเหตุและผลแก่กันและกัน จึงเกิดอาการปรุงแต่งเรื่อยไปไม่มีหยุด. เพราะฉะนั้น รูปธรรมและนามธรรมเหล่านั้น ในขณะที่กำลังเป็นเหตุเป็นปัจจัยก็ดี หรือในขณะที่กำลังเป็นผลหรือเป็นวิบากก็ดีและอาการต่าง ๆที่มันปรุงแต่งกันเพื่อให้เกิดเป็นผลมาจากเหตุแล้วผลนั้นกลายเป็นเหตุต่อ ไปในทำนองนี้อย่างไม่มีหยุดหย่อนก็ดี ล้วนแต่เป็นอาการตามธรรมชาติของรูปธรรมนามธรรมล้วน ๆ ไม่มีอัตตาหรือตัวตนอะไรที่ไหนที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลยทุกส่วนจึง ว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน และความเป็นของของตนโดยสิ้นเชิง. นี้คืออาการสลัดคืนออกไปเสียได้ซึ่งปฏิจจสมุปบาทธรรมทุก ๆ ส่วนทั้งที่เป็นส่วนเหตุ และส่วนผล และส่วนที่กำลังเป็นเพียงอาการปรุงแต่ง. ฉะนั้นจึงเป็นอันกล่าวได้ว่าการสลัดคืนซึ่งกลุ่มแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นทั้งบริจาค-ปฏินิสสัคคะ และเป็นทั้งปักขันทนปฏินิสสัคคะ กล่าวคือ สลัดคืนเสียได้ทั้งส่วนที่เป็นเบญจขันธ์ คือส่วนที่เป็นผล และทั้งส่วนที่ถูกสมมติว่าเป็นจิตเป็นผู้ทำกิริยาอาการเหล่านั้น อันเกิดขึ้นจากความไม่รู้จริง หรือความหลงผิดโดยสิ้นเชิง.

    เมื่อประมวลเข้าด้วยกันทั้ง ๓ อย่าง ก็เป็นอันกล่าวได้ว่าเป็นการสลัดคืนเสียซึ่งโลกในฐานะเป็นอารมณ์และสลัดคืน เสียซึ่งจิตในฐานะเป็นผู้เสวยอารมณ์คือโลก และสลัดเสียซึ่งการเกี่ยวข้อง หรือการปรุงแต่งผลักดันกันต่าง ๆ บรรดาที่มีอยู่ในโลก ที่ปรุงแต่งโลก หรือที่เกี่ยวพันกันระหว่างโลกกับจิตซึ่งเป็นผู้รู้สึกต่อโลก เมื่อสละคืนเสียได้ทั้งหมด ๓ ประเภทดังนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่สำหรับเป็นที่ตั้งของความทุกข์หรือความยึด ถือซึ่งเป็นเหตุแห่งความทุกข์อีกเลยแม้แต่น้อย มีอยู่ก็แต่ความไม่มีทุกข์ ความดับเย็น ความสงบรำงับ ความหลุดพ้น ความปล่อยวาง ไม่มีการแยกถือโดยประการทั้งปวง หรืออะไรอื่นก็ตามแล้วแต่จะเรียก แต่รวมความว่าเป็นที่สิ้นสุด หรือเป็นที่จบลงโดยเด็ดขาดของสังสารวัฏฏ์ กล่าวคือกระแสของความทุกข์ ซึ่งเรานิยมเรียกภาวะเช่นนี้ว่าเป็นการลุถึงนิพพาน.ทั้งหมดนี้เป็นการแสดง ให้เห็นได้ว่าปฏินิสสัคคะคือการสลัดคืนนั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรกับ ความหมายของคำว่านิพพาน.

    ส่วน ปัญหาที่ว่าทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าปฏินัสสัคคานุปัสสี กล่าวคือผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำนั้น อธิบายว่าผู้ปฏิบัติอานาปานสติมาจนถึงขั้นนี้แล้ว จะต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในการกำหนดพิจารณากันเสียใหม่ คือย้ายให้สูงขึ้นไป ให้เกิดมีความรู้สึกชัดแจ้งในการสลัดคือนของตน. คือหลังจากเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เกิดความพอใจในการที่คลายความยึดถือหรือในความดับแห่งสังขารทั้งปวงแล้ว ทำจิตให้วางเฉยต่อสังขารทั้งหลาย ที่ได้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของว่างอย่างแท้จริงอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก.ทางที่ดีที่สุดเขาจะต้องย้อนไปเจริญอานาปานสติขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่ขั้นที่หนึ่ง แล้วค่อยเพ่งพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ นับตั้งแต่ลมหายใจ นิมิตและองค์ฌานขึ้นมาจนถึงธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือดยตรงเช่นสุข เวทนาในฌานและจิตที่กำหนดสิ่งต่าง ๆ ให้เห็นโดยความเป็นของควรสลัดคืน หรือต้องสลัดคืนอย่างที่ไม่ควรจะยึดถือไว้แต่ประการใดเลย ;แล้วเพ่งพิจารณาไปในทำนองที่สิ่งเหล่านั้นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนจิตระกอบอยู่ด้วยความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ต่อสิ่งเหล่านั้น ประกอบอยู่ด้วยธรรมเป็นที่ดับแห่งสิ่งเหล่านั้น คือความเห็นแจ่มแจ้ง ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง จนกระทั่งได้ปล่อยวาง หรือว่างจากความยึดถือในสิ่งเหล่านั้นยิ่งขึ้นไปตามลำดับจนกว่าจะถึงที่สุด แห่งกิจที่ต้องทำ คือปล่อยวางด้วยสมุจเฉทวิมุตติจริง ๆ.

    แม้ในระยะต้น ๆ ที่ยังเป็นเพียงตทังควิมุตติ คือพอสักว่ามาทำอานาปานสติ จิตปล่อยวางเองก็ดี และในขณะแห่งวิกขัมภนวิมุตติ คือจิตประกอบอยู่ด้วยฌานเต็มที่มีการปล่อยวางไปด้วยอำนาจของฌานนั้นจนตลอด เวลาแห่งฌานก็ดี ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องพยายามกระทำด้วยความระมัดระวัง อย่างสุขุมแยบคายที่สุดอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออกจริง ๆ. เมื่อกระทำอยู่ดังนี้ จะเป็นารกระทำที่กำหนดอารมณ์อะไรก็ตามในระดับไหนก็ตาม ล้วนแต่ได้ชื่อว่าเป็นปฏินิสสัคคานุปัสสีด้วยกันทั้งนั้น.เมื่อกระทำอยู่ ดังนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเจริญธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน-ภาวนาขั้นสุดท้ายเป็น ภาวนาที่แท้จริง ประมวลมาได้ซึ่งสโมธานธรรม ๒๙ ประการในระดับสูงสุดของการปฏิบัติบำเพ็ญอานาปานสติ ในขั้นที่เป็นวิปัสสนาภาวนาโดยสมบูรณ์.
     
  13. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    สำหรับจตุกกะที่สี่นี้ จัดเป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานภาวนาด้วยกันทั้งนั้น. ขั้นแรกพิจารณาความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งสรุปรวมลงได้เป็นสุญญตา มีความหมายสำคัญอยู่ตรงที่ว่างอย่างไม่น่ายึดถือ ขืนยึดถือก็เป็นทุกข์.ขั้นต่อมากำหนดพิจารณา ในการทำความจางคลายจากความยึดถือ ต่อสิ่งเหล่านั้นเพราะเกลียดกลัวโทษ กล่าวคือ ความทุกข์อันเกิดมาจากความยึดถือ. ขั้นต่อมาอีกกำหนดพิจารณาไปในทำนองที่จะให้เห็นว่า มันมิได้มีตัวตนอยู่จริงไปทั้งหมดทั้งสิ้นหรือทุกสิ่งทุกอย่าง การยึดถือเป็นยึดถือลม ๆ แล้ง ๆ เพราะว่าตัวผู้ยึดถือก็ไม่ได้มีตัวจริง สิ่งที่ถูกยึดถือก็ไม่ได้มีตัวจริง แล้วการยึดถือมันจะมีตัวจริงได้อย่างไร ;พิจารณาไปในทางที่จะดับตัวตนของสิ่งทั้งปวงเสียโดยสิ้นเชิง. ส่วนขั้นที่สี่อันเป็นขั้นสุดท้ายนั้น กำหนดพิจารณาไปในทางที่สมมติเรียกได้ว่า บัดนี้ได้สลัดทิ้งสิ่งเหล่านั้นออกไปหมดแล้ว ด้วยการทำให้มันว่างลงไปได้จริง ๆ คือสิ่งทั้งปวงเป็นของว่างไปแล้ว และ จิตก็มีอาการที่สมมติเรียกว่า “เข้านิพพานเสียแล้ว” คือสลายตัวไปในความว่างหรือสุญญตานั้น ไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นตัวตน เพื่อยึดถืออะไร ๆ ว่าเป็นของตนอีกต่อไปเลย.

    การปฏิบัติหมวดนี้ ได้ชื่อว่าพิจารณาธรรม ก็เพราะพิจารณาที่ตัวธรรม ๔ ประการโดยตรง คือพิจารณาที่ อนิจจตา วิราคะ นิโรธะ และปฏินิสสัคคะ โดยนัยดังที่กล่าวแล้วต่างจากจตุกกะที่หนึ่ง เพราะในที่นั้นพิจารณากายคือลมหายใจ ;ต่างจากจตุกกะที่สอง เพราะในที่นั้นพิจารณาเวทนาโดยประการต่าง ๆ ; ต่างจากจตุกกะที่สาม เพราะในที่นั้นพิจารณาที่จิตโดยวิธีต่าง ๆ ; ส่วนในที่นี้เป็นการพิจารณาที่ธรรม กล่าวคือ สภาวะธรรมดา ที่เป็นความจริงของสิ่งทั้งปวง ที่รู้แล้วให้จิตหลุดพ้นจากทุกข์ได้ ต่างกันเป็นชั้น ๆ ดังนี้.
     
  14. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ประมวลจตุกกะทั้งสี่

    จตุกกะที่หนึ่งเป็นสมถภาวนาล้วน ส่วนจตุกกะที่สองและที่สามเป็นสมถภาวนาที่เจือกันกับวิปัสสนาภาวนาส่วนจตุ กกะที่สี่นี้ เป็นวิปัสสนาภาวนาถึงที่สุด.สมถภาวนา คือการกำหนดโดยอารมณ์หรือนิมิต เพื่อความตั้งมั่นแห่งจิต มีผลถึงที่สุดเป็นฌาน ; ส่วนวิปัสสนาภาวนานั้น กำหนดโดยลักษณะคือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำจิตให้รู้แจ้งเห็นแจ้งในสิ่งทั้งปวงมีผลถึงที่สุดเป็นญาณ : เป็นอันว่าอานาปานสติทั้ง ๑๖ วัตถุนี้ ตั้งต้นขึ้นมาด้วยการอบรมจิตให้มีกำลังแห่งฌานด้วยจตุกกะที่หนึ่ง แล้วอบรมกำลังแห่งญาณให้เกิดขึ้นผสมกำลังแห่งฌานในจตุกกะที่สอง ที่สาม โดยทัดเทียมกัน และกำลังแห่งญาณเดินออกหน้ากำลังแห่งฌาน ทวียิ่งขึ้นไปจนถึงที่สุดในจตุกกะที่สี่ จนสามารถทำลายอวิชชาได้จริงในลำดับนั้น.
     
  15. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    เขาอยู่ในโลก แต่มิได้เป็นคนของโลก

    " He is a man in the world yet not of the world. "

    ลักษณะของผู้บรรลุธรรม มิได้ผิดแผกแตกต่างในรูปลักษณะไปจากปุถุชนเลย พระพุทธเจ้าและบรรดาพระสาวกนั้น เมื่อตรัสรู้ธรรมแล้ว ก็ยังทรงมีพระจริยาวัตรเช่นบุคคลธรรมดาทุกประการ เรียกง่ายๆ ว่า ยังรู้จักหิว รู้จักปวดตามธรรมชาติ รู้สึกหนาวร้อนตามภูมิอากาศที่ผันแปรไป และยังต้องการอาหารและที่อยู่อาศัย ฯลฯ เช่นเดียวกับมนุษย์ปุถุชนนั้นๆ เช่นนี้จึงเรียกว่าผู้บรรลุธรรมเหล่านั้นยังอยู่ในโลก ก็เป็นไปตามกฏของโลก

    ความแตกต่างที่ทำให้ผู้บรรลุธรรมแตกต่างไป อยู่ที่สภาวะจิต ความไม่ยึดติดเกาะเกี่ยวกับโลกีย์วิสัยเช่นนี้ เขาจึงไม่ข้องกับโลก เรียกได้ว่าแม้จะอยู่ในโลกีย์วิสัยก็มิได้เป็นคนของโลก เมื่อเกิดความพลัดพรากปุถุชนจะทุกข์โศก เพราะความไม่เข้าใจในธรรมชาติของสรรพสิ่ง ในขณะที่ผู้บรรลุธรรมจะสามารถวางเฉย ไม่ตกเป็นทาสของความทุกข์ เพราะจิตของเขาเป็นอิสระเสียแล้ว ด้วยเข้าถึงความเป็นไปที่แท้จริงของธรรมชาตินั่นเอง เหตุนี้ เขาจึงมิได้เป็นคนของโลก

    สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
     
  16. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    รายพระนามพระโพธิสัตว์

    ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/รายพระนามพระโพธิสัตว์

    พระโพธิสัตว์ คือบุคคลที่บำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต พระโพธิสัตว์สำคัญตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายมหายานมีดังนี้

    พระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์
    (จีน: 地藏, Di Zang, เกาหลี: Ji Zang, ญี่ปุ่น: Jizo, ทิเบต: Sai Nyingpo, เวียดนาม: Địa Tạng) พระโพธิสัตว์แห่งสัตว์นรกทั้งปวง หรือพระโพธิสัตว์ผู้มีมหาปณิธาน

    พระคคนคัญชะโพธิสัตว์
    สัญลักษณ์คือต้นกัลปพฤกษ์ หัตถ์ขวายกขึ้น หัตถ์ซ้ายวางบนสะโพก กายสีเหลือง มี 2 กร

    พระคันธหัสติโพธิสัตว์
    กายสีเขียวหรือขาวอมเขียว 2 กร มือขวาทำปางประทานพร มือซ้ายถืองาช้าง วางบนดอกบัวหรือถือสังข์

    พระจันทรประภาโพธิสัตว์
    พระโพธิสัตว์ผู้เป็นสาวกของพระไภษัชยคุรุ สัญลักษณ์คือดวงจันทร์วางบนดอกบัว หัตถ์ขวาประทานพร หัตถ์ซ้ายถือพระจันทร์บนดอกบัว กายสีขาว 2 กร

    พระจุณฑิอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
    พระโพธิสัตว์ผู้แยกตัวมาจากพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือเจ้าแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์ ทุกกรล้วนมีสิ่งของไม่เหมือนกัน บ้างก็แตกต่างกันไป กายสีเหลืองหรือขาว 3 เนตร 18 กร

    พระชญาณเกตุโพธิสัตว์
    กายสีเหลืองหรือฟ้า 2 กร มือขวาถือธงกับเพชรพลอย มือซ้ายทำท่าประทานพร
     
  17. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    พระชาลินีประภาโพธิสัตว์
    สัญลักษณ์คือวงกลมแห่งดวงอาทิตย์ หัตถ์ขวาประทานพร หัตถ์ซ้ายถือพระอาทิตย์บนดอกบัว กายสีแดง มี 2 กร

    ไตรโลกยวิชยะ
    วิทยราชแห่งทิศตะวันออก ผู้ทำหน้าที่คุ้มครองพระอักโษภยะพุทธะในศาสนาพุทธแบบทิเบต มหายานบางกลุ่มถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์เอกเทศ ไม่ได้จัดอยู่ในสกุลของพระธยานิพุทธะองค์ใด

    พระนางตารา
    (จีน: 度母, Du Mu) - พระโพธิสัตว์ฝ่ายหญิงในพระพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน เป็นตัวแทนของคุณธรรมแห่งความสำเร็จในกิจการทั้งปวง ถือกันว่าเป็นร่างสำแดงภาคหนึ่งของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

    พระนาคารชุนะ
    (จีน: 龍樹, Long Shu, เวียดนาม: Long Thọ) - ผู้ก่อตั้งนิกายมัธยมกะ อันเป็นนิกายย่อยของศาสนาพุทธมหายาน ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระโพธิสัตว์

    นิโอ
    ผู้พิทักษ์ที่เข้มแข็ง 2 องค์ของพระพุทธเจ้า มักปรากฏอยู่ที่ประตูทางเข้าวัดพุทธศาสนาหลายแห่งในญี่ปุ่นและเกาหลี มีรูปลักษณ์ดั่งนักมวยปล้ำที่ดูน่าสะพรึงกลัว นิโอทั้งสองนี้เป็นร่างสำแดงของพระวัชรปาณีโพธิสัตว์

    พระนางปรัชญาปารมิตา
    เป็นพระโพธิสัตว์ที่เป็นบุคลาธิษฐานของพระสูตรสำคัญของมหายานคือมหาปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรที่มีบทบาทสำคัญตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 -12 มีฐานะเป็นมารดาของพระพุทธเจ้า หรือเป็นภาคสำแดงของ พระอักโษภยะพุทธะ เป็นสัญลักษณ์ของสุญตา

    พระปัทมปาณิโพธิสัตว์
    พระปัทมสัมภวะ
    (จีน: 蓮華生上師, Lianhuasheng Shang Shi, ทิเบต: Padma Jungne หรือ Guru Rinpoche) - พระลามะในนิกายวัชรยานซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นพระโพธิสัตว์ มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในทิเบตและภูฏาน นิกายญิงมาปะถือว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง

    พระประติภานกูฏโพธิสัตว์
    กายสีเหลือง เขียว หรือ แดง มือขวาถือแส้ มือซ้ายวางบนเพลา มี 2 กร

    พระภัทรปาลโพธิสัตว์
    กายสีแดงหรือขาว มี 2 กร มือขวาทำปางประทานพร มือซ้ายถือเพชรพลอย

    พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์
    (จีน: 大勢至, Da Shì Zhì, เกาหลี: Dae Sae Zhi, ญี่ปุ่น: Seishi, เวียดนาม: Đại Thế Chí) - พระโพธิสัตว์ผู้เป็นตัวแทนของกำลังแห่งปัญญา ปรากฏอยู่เบื้องซ้ายของพระอมิตาภพุทธะ เป็นที่นับถือในนิกายสุขาวดี
     
  18. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    พระมัญชุศรีโพธิสัตว์
    (จีน: 文殊, Wen Shu, เกาหลี: Moon Soo, ญี่ปุ่น: Monju, ทิเบต: Jampal Yang, เวียดนาม: Văn Thù) - พระโพธิสัตว์แห่งปัญญา

    พระรัตนปาณีโพธิสัตว์
    นางวสุธระ
    พระโพธิสัตว์แห่งความอุดมสมบูรณ์ นับถือกันมากในประเทศเนปาล

    พระวัชรครรภโพธิสัตว์
    สัญลักษณ์คือหนังสือ มือขวาถือวัชระ มือซ้ายถือหนังสือ กายสีฟ้า มี 2กร

    พระวัชรปาณีโพธิสัตว์
    (จีน: 金剛手, Jin Gang Shou, เกาหลี: Kum Kang Soo, ญี่ปุ่น:Shukongojin, ทิเบต: Channa Dorje) - พระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธมหายานยุคต้น เป็นประมุขของพระโพธิสัตว์ผู้ค้ำครองพระพุทธเจ้าและเหล่าพระมนุสสิโพธิสัตว์ มีความเชื่อมโยงกับพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์และนิโอคงโงริกิชิ กล่าวกันว่าพระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจแห่งพระตถาคตทั้งห้า

    พระวิศวปาณีโพธิสัตว์
    พระเวทโพธิสัตว์ (พระสกันทะ)
    (จีน: 韋馱, Wei Tuo) - เทพธรรมบาลผู้คุ้มครองธรรมในพุทธศาสนา มีส่วนที่เชื่อมโยงกับพระวัชรปาณีโพธิสัตว์ คุณลักษณะตรงกับพระสกันทะ (พระขันธกุมาร) ซึ่งเป็นเทพในศาสนาฮินดู โดยมากนิยมนับถือในศาสนาพุทธแบบจีน

    พระศานติเทวะ
    พระภิกษุมหายานในช่วงราวพุทธศตวรรษ 13 (คริสต์ศตวรรษที่ 8) ผู้เขียนตำราเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ชื่อ "โพธิสัตตวจารยาวตาร" (หนทางสู่การบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์)

    พระนางศิตาตปัตร
    พระโพธิสัตว์ผู้เป็นเทพยดาแห่งฉัตรขาว เป็นผู้คุ้มภัยจากอันตรายเหนือธรรมชาติ

    พระศรีอริยเมตไตรย
    (จีน: 彌勒, Mi Le, เกาหลี: Mi Ruk, ญี่ปุ่น: Miroku, เวียดนาม: Di Lạc) - พระโพธิสัตว์ผู้ที่จะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าลำดับที่ 5 ในภัทรกัปป์ต่อจากพระโคตมพุทธเจ้า เป็นที่รู้จักจากความมีมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ เป็นที่นับถือทั่วไปทั้งในฝ่ายเถรวาทและมหายาน

    พระสมันตภัทรโพธิสัตว์
    (จีน: 普賢, Pu Xian, เกาหลี: Bo Hyun, ญี่ปุ่น: Fugen, ทิเบต: Kuntu Zangpo, เวียดนาม: Phổ Hiền) - พระโพธิสัตว์ผู้เป็นตัวแทนของความกรุณาและสมาธิที่ดิ่งลึกของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์

    พระสรรวนิวรณวิษกัมภินโพธิสัตว์
    กายสีขาวหรือฟ้า มี 2 กร มือขวาทำญาณมุทรา มือซ้ายทำท่าปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร

    พระสรรวโศกตโมนิรฆาตมตีโพธิสัตว์
    กายสีเหลืองอ่อนหรือเหลือง มี 2 กร มือขวาถือคฑา มือซ้ายวางบนสะโพก

    พระสรรวาปายัญชหะโพธิสัตว์
    กายสีขาว 2 กร ทำท่าขจัดบาป หรือถือขอสับช้างทั้งสองมือ

    พระสุปุษปจันทระ
    พระโพธิสัตว์ซึ่งถูกกล่าวถึงในตำรา "โพธิสัตตวจารยาวตาร" ของพระศานติเทวะ

    พระสุรยไวโรจนโพธิสัตว์
    (Ch: 日光, Ri Guang, เกาหลี: Il Guang, Jp: Nikkō) - 1 ใน 2 พระโพธิสัตว์ผู้เป็นสาวกของพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต

    พระสังฆารามโพธิสัตว์
    (จีน: 伽藍, Qie Lan, เวียดนาม: Già Lam) - เรียกอีกอย่างว่า "พระวิหารบาลโพธิสัตว์" เป็นพระโพธิสัตว์ที่นับถือเฉพาะในความเชื่อแบบพุทธ-เต๋า ของจีน คำว่าสังฆารามโพธิสัตว์นั้นอ้างอิงถึงกลุ่มเทพที่ทำหน้าที่คุ้มครองวัดและพิทักษ์พุทธศาสนา แต่นามนี้มักจะถูกใช้อ้างอิงถึงกวนอู ผู้เป็นแม่ทัพในตำนานยุคสามก๊ก ซึ่งได้กลายเป็นเทพธรรมบาลด้วยการประกาศตนเป็นชาวพุทธและตั้งปณิธานในการคุ้มครองศาสนาไว้

    พระสาครมติโพธิสัตว์
    สัญลักษณ์คือสังข์หรือคลื่น ยื่นพระหัตถ์ไปข้างหน้า ทำนิ้วเป็นรูปคลื่น กายสีขาว มี 2 กร

    พระสุรังคมโพธิสัตว์
    กายสีขาว 2 กร มือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายวางบนสะโพก

    พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
    (จีน: 觀音, Guan Yin, เกาหลี: Guan Um, ญี่ปุ่น: Kannon, ทิเบต: Chenrezig, เวียดนาม: Quán Thế Âm) - พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา ผู้สดับเสียงคร่ำครวญในโลกและคอยช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ข้ามวัฏสงสาร เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลที่สุดในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

    พระอักษมยมติโพธิสัตว์
    สัญลักษณ์คือพระขรรค์หรือหม้อน้ำ มือขวาประทานพร มือซ้ายทาบบนทาบบนพระอุระ กายสีเหลืองหรือขาว มี 2 กร

    พระอากาศครรภโพธิสัตว์
    (จีน: 虛空藏, Xu Kong Zang,เกาหลี: Huh Gong Zang, ญี่ปุ่น: Kokuzo) - พระโพธิสัตว์แห่งความปิติอันไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเกิดจากการช่วยเหลือสรรพสัตว์จำนวนมากพ้นประมาณ สัญลักษณ์คือพระอาทิตย์ มือขวาถือเพชรพลอย มือซ้ายถือดวงแก้ว กายสีเขียว มี 2 กร

    พระอโมฆทรรศินโพธิสัตว์
    กายสีเหลือง 2 กร มือขวาถือดอกบัว มือซ้ายวางบนสะโพก
     
  19. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    กาลามสูตร

    ที่มา : https://sites.google.com/site/gotodhama/ka-lam-sutr

    กาลามสูตร คือ พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตติยนิคม แคว้นโกศล (เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตติยสูตร หรือเกสปุตตสูตร ก็มี กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ 10 ประการ ได้แก่

    ๑. มา อนุสฺสเวน
    อย่ารับเอามาเชื่อโดยการฟังบอกต่อ ๆ กันมา มันเป็นอาการของคนไร้สมอง หรือสมองขี้เลื่อย

    ๒. มา ปรมฺปราย
    อย่ารับเอามาเชื่อโดยที่มีการทำตาม ๆ สืบ ๆ กันมา เห็นเขาทำอะไร ก็ทำตาม ๆ กันไป

    ดังนิทานเรื่องกระต่ายตื่นตูม ที่สัตว์ทั้งหลายเห็นกระต่ายวิ่งมาอย่างสุดกำลัง ก็ขวนกันวิ่งตาม จนหกล้มคอหักตกเหวตายกันเป็นอันมาก วิปัสสนาที่สักว่าทำตาม ๆ กันมา ก็มีผลอย่างนี้.

    ๓. มา อิติกิราย
    อย่ารับเอามาเชื่อคาทเสียงที่กำลังเล่าลืออยู่อย่างกระฉ่อนบ้าน หรือกระฉ่อนโลก ซึ่งเรียกว่า "ตื่นข่าว" มันเป็นเรื่องของคนโง่ ไม่ยอมใช้สติปัญญาของตน.

    ๔. มา ปิฏกสมุปทาเนน
    อย่ารับเอามาเชื่อด้วยเหตุเพียงว่ามีที่อ้างในปิฎก. คำว่า ปิฎก หมายถึงสิ่งที่ได้เขียนหรือจารึกลงไปแล้วในวัตถุสำหรับการเขียน ที่ยังจำ ๆ กันไว้ด้วยความทรงจำยังไม่เรียกว่า ปิฎก.

    ปิฎก เป็นสังขารชนิดหนึ่งที่อยู่ในกำมือของมนุษย์ ทำขึ้นได้ ปรับปรุงได้ เปลี่ยนแปลงได้ โดยมือของมนุษย์ จึงไม่อาจถือเอาได้ตามตัวอักษรเสมอไป ต้องใช้วิจารณญาณให้เห็นว่า คำที่กล่าวนั้นจะใช้ในการดับทุกข์ได้อย่างไร นิกายพุทธศาสนาแต่ละนิกาย ก็มีปิฎกที่ไม่ตรงกัน.

    ๕. มา ตกฺกเหตุ อย่าเชื่อโดยเหตุที่ว่ามันถูกต้องตามเหตุผลทางตักกะ ซึ่งเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่ง ที่ใช้คเป็นเครื่องคำนวนหาความจริง ตักกะ คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า Logic ซึ่งมันก็ยังผิดได้ถ้าข้อมูลมันผิด หรือวิธีการคำนวนมันพลาด.

    ๖. มา นยเหตุ อย่าเชื่อโดยเหตุที่ว่ามันถูกต้องตามเหตุผลทางนยะ ซึ่งเราเรียกกันในเวลานี้ว่า ฟิโลโซฟี่ ซึ่งไดให้คำแปลว่า ปรัชญา. ชาวอินเดียไม่ยอมรับ เพราะมันเป็นทรรศนะหนึ่ง ๆ มิใช่ปัญญาอันสูงสุดหรือเด็ดขาด

    ๗. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเชื่อหรือรับเอามาเชื่อด้วยการตรึกตามอาการ ที่เราเรียกกันสมัยนี้ว่า คอมม่อนเซ้นส์ ซึ่งเป็นเพียงความคิดชั่วแวบตามความเคยชิน แต่เราก็ชอบใช้กันมากจนเป็นนิสัยไปก็มี นักปราชญ์ผู้อวดดีชอบใช้วิธีนี้กันมาก และถือว่าเก่ง.

    ๘. มา ทิฏฐนิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าเชื่อด้วยเหตุผลเพียงสักว่าข้อความนั้นมันทนได้ หรือเข้ากันได้กับความเห็นของตนซึ่งมีอยู่เดิม ซึ่งมันก็ผิดได้อยู่นั่นเอง หรือวิธีพิสูจน์และทดสอบมันไม่ถูกต้อง มันก็ไม่เข้าถึงความจริงได้

    ข้อนี้มีวิธีการคล้ายกับวิถีทางวิทยาศาสตร์ แต่มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ไปไม่ได้ เพราะไม่มีการพิสูจน์และทดลองที่เพียงพอ.

    ๙. มา ถพพรูปตาย อย่าเชื่อด้วยเหตุเพียงสักว่า ผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อ ลักษณะภายนอกกับความรู้จริงในภายในไม่เป็นสิ่งเดียวกันได้ คือผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อ แต่พูดผิด ๆ ก็มีอยู่ถมไป แม้สิ่งที่เรียกกันว่าคอมพิวเตอร์สมัยนี้ก็ระวังให้ดี ๆ เพราะคนเป็นผู้ให้ข้อมูลหรือใช้มัน อาจจะให้ผิด ๆ หรือใช้มันผิด ๆ ก็ได้, อย่าบูชาคอมพิวเตอร์กันนัก มันจะผิดหลัก กาลามสูตร ข้อนี้.

    ๑๐. มา สมโณ โน ครู-ติ อย่าเชื่อด้วยเหตุเพียงสักว่า สมณะ (ผู้พูด) นี้เป็นครูของเรา, พระพุทธประสงค์อันสำคัญเกี่ยวกับข้อนี้ ก็คือไม่ต้องการให้ใครเป็นทาสทางปัญญาของใคร แม้แก่พระองค์เอง. ทรงย้ำบ่อย ๆ ในข้อนี้ และมีสาวกเช่นพระสารีบุตร ก็กล่าวยืนยันในการปฏิบัติเช่นนี้ คือไม่เชื่อทันทีที่ได้ฟังพระพุทธดำรัส แต่เชื่อเมื่อได้ใคร่ครวญด้วยเหตุผลอันเพียงพอและได้ลองปฏิบัติดูแล้ว.

    จงดูเถิด มีศาสดาไหนในโลกที่ให้เสรีภาพแก่สาวกหรือผู้ฟังอย่างสูงสุดเช่นนี้ ดังนั้น พุทธศาสนาจึงไม่มี Dogmatic System คือการบังคับให้เชื่อโดยไม่ให้สิทธิในการใช้เหตุผลของตนเอง, นี่แหละคือความพิเศษสูงสุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้ไม่ต้องตกเป็นทาสทางสติปัญญาของผู้ใด ดังกล่าวแล้ว

    คนไทยเรา อย่าสมัครเป็นทาสทางสติปัญญาของชาวตะวันตกเหมือนที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันให้มากนักเลย หรือจะไม่เป็นเสียเลยก็จะเป็นการดีที่สุด.
     
  20. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    การสอนของพระพุทธองค์ กับกาลามสูตร

    ที่มา : ����͹�ͧ��оط�ͧ�� �Ѻ������ٵ�

    บันทึกไว้เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ พ.ค. ๒๕๓๕ มีความสำคัญว่า....

    คนในปัจจุบันนี้มักจะเอาความเห็น (ทิฏฐิ) ของตนเอง หรือเอาปัญญาของตนเอง เป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนา เพราะคิดว่าตนเองฉลาด เป็นนักปราชญ์ทางพุทธ อ้างเหตุผลของตนเองหลายแง่หลายมุม ชักแม่น้ำทั้ง ๕ เพื่อให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านคล้อยตามตน ที่เห็นชัด ๆ ก็คือ กาลามสูตร พูดกันมาหลายร้อยครั้ง รวมทั้งพวกนักวิชาการ ทางโลก ก็นำมาพูดอ้างตามให้ประชาชนชาวพุทธฟัง

    ผมจึงขออนุญาตให้แนวคิดไว้ เป็นส่วนตัว ดังนี้ (ส่วนตัวหมายถึง จะเชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ มิได้บังคับ)

    ๑. พระพุทธองค์ทรงสอนพุทธบริษัท เฉพาะผู้มีศรัทธาในพระองค์เท่านั้น ไม่เคยสอนใครที่เขาไม่ศรัทธาในพระองค์ แม้แต่พระพุทธบิดาในขณะที่ยังไม่ศรัทธาในความเป็นพระพุทธเจ้าของพระองค์

    ๒. ทรงสอนตามจริต นิสัย และกรรมของคน ซึ่งแตกต่างกัน ไม่สอนมั่ว ๆ แบบในปัจจุบัน ขอยกตัวอย่าง สัก ๒ จริต คือ

    ๒.๑ พวกพุทธจริต คือ ฉลาดมาก หรือ อุคติตัญญู (พวกดอกบัวพ้นน้ำ กำลังจะบานอยู่แล้ว) พระสารีบุตรทรงสอนเวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน, พระโมคคัลลาน์ทรงสอนเรื่องธาตุ ๔ และท่านภาหิยะทรงสอนให้ตัดรูปตัวเดียว ก็จบกิจในพุทธศาสนา สิ่งใดที่เขามีอยู่แล้วในตนแล้ว พระองค์จะไม่สอน สอนตรงจุดที่เขายังติดอยู่เท่านั้น ทุกคนก็มีดวงตาเห็นธรรมตามลำดับ จนจบกิจในพุทธศาสนาทุกราย สำหรับพวกพุทธจริตนี้ส่วนใหญ่ จะมีโทสะจริตควบคู่ไปด้วย ทรงให้ใช้กรรมฐาน ๔ กอง คือ ธาตุ ๔ , อาหารปฎิกูลสัญญา มรณานุสสติ และ อุปสามานุสสติ.

    ๒.๒ พวกศรัทธาจริต ซึ่งส่วนใหญ่มีโมหะจริตและวิตกจริตควบคู่ไปด้วย ทรงให้ใช้กรรมฐาน ๖ กอง คือ พุทธา-ธัมมา-สังฆา-สีลา-จาคา และเทวตานุสสติ เป็นหลักเพราะทั้ง ๖ ข้อ ล้วนแต่ให้ยึดความดีหรือบุญไว้เป็นหลักใหญ่ กันนรกไว้ก่อนทั้งสิ้น พวกศรัทธาจริตมักเชื่อง่าย จึงถูกต้ม-ตุ๋นง่าย ถ้าไปพบอาจารย์ที่ เป็นมิจฉาทิฏฐิด้วย ก็มีผลลงนรกหมด ถ้าไปพบอาจารย์ที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็โชคดี ท่านจะสอนให้ยึดบุญ เกาะบุญหรือความดีไว้เป็นหลัก จึงกั้นนรกได้อย่างดี

    ๓. จากเหตุผลในข้อที่ ๒ ทำให้วันนี้จิตของผมเข้าใจชัดเจนว่าพระองค์ทราบด้วยพุทธญาณว่า พวกชาวกาลามะมีศรัทธาจริตและมีโมหะจริตควบคู่ด้วย คือ เชื่อง่ายเพราะโง่หรือขาดปัญญา จึงให้หลักไว้ ๑๐ ประการ คือ

    ๓.๑ อย่าพึ่งยึดถือ เพราะได้ยินได้ฟังมา (อย่าเชื่อโดยขาดการพิจารณาด้วยปัญญาก่อน)

    ๓.๒ อย่าพึ่งยึดถือ เพราะถ้อยคำที่สืบ ๆ กันมา (เขาเล่าว่าโดยตนไม่ได้เห็นกับตา ไม่ได้ยินกับหูของตนเอง)

    ๓.๓ อย่าพึ่งยึดถือเพราะตื่นข่าว (หลงเชื่อโดยขาดสติ-ปัญญา แบบกระต่ายตื่นตูม มีมงคลตื่นข่าว)

    ๓.๔ อย่าพึ่งยึดถือโดยอ้างตำรา (ตำราที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีอยู่มากมายในปัจจุบัน)

    ๓.๕ อย่าพึ่งยึดถือโดยการเดา (การเดาส่ง เดาสุ่ม คือความโง่ พุทธศาสนาห้ามเดาเพราะมีโทษสูง)

    ๓.๖ อย่าพึ่งยึดถือโดยการคาดคะเน (คือ คิดเอาเองโดยไม่รับผิดชอบ แบบพวกโหร พวกห้อยทั้งหลาย)

    ๓.๗ อย่าพึ่งยึดถือโดยตรึกตามอาการ (คือ คิดเอาด้วยเหตุผล ด้วยโลกียปัญญา ซึ่งเป็นสัญญาล้วน ๆ )

    ๓.๘ อย่าพึ่งยึดถือโดยถูกกับทิฏฐิของตน (เพราะว่าเป็นอุปาทานที่ตนยังไม่หมดอารมณ์ ๒ คือ ราคะกับปฏิฆะ)

    ๓.๙ อย่าพึ่งยึดถือผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ (เพราะมีศรัทธาจริตขาดปัญญาจึงมีความลำเอียงหรืออคติ)

    ๓.๑๐ อย่าพึ่งยึดถือสมณะนั้นเป็นครูของตน

    (เพราะมีอุปาทานยึดติดในบุคคล ไม่ยึดพระธรรม)
     

แชร์หน้านี้

Loading...