>>> อวดรู้ (รู้แล้วได้อะไร) <<<

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย nouk, 19 กรกฎาคม 2012.

  1. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้าที่ 1

    ๑. อัญญตราเถรีคาถา

    [๔๐๒] ได้ยินว่า ภิกษุณีเถรีองค์หนึ่งไม่ปรากฏชื่อได้ภาษิตคาถาไว้
    อย่างนี้ว่า :-

    ดูก่อนพระเถรี ท่านจงเอาท่อนผ้าทำจีวรนุ่งห่ม แล้วพักผ่อนให้สบายเถิด เพราะราคะของท่านสงบแล้ว เหมือนผักดองแห้งอยู่ในหม้อ.

    จบอัญญตราเถรีคาถา
     
  2. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    อรรถกถาอัญญตราเถรีคาถา

    เมื่อภิกษุณีสงฆ์ตั้งมั่นดีเป็นปึกแผ่นอย่างนี้แล้ว เหล่าหญิงมีตระกูลสะใภ้ของตระกูล และกุมาริกาในตระกูลทั้งหลาย ในคามนิคมชนบทและราชธานีนั้น ๆ ได้ฟังความที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ดีแล้ว ความที่พระธรรมเป็นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว และความที่พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว มีความเลื่อมใสในพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง และเกิดความสังเวชในสังสารวัฏ จึงขออนุญาตสามี บิดามารดา และญาติของตน ๆ บวชถวายชีวิตในพระศาสนาและครั้นบวชแล้วเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลและอาจาระ ได้รับโอวาทในสำนักของพระศาสดาด้วยของพระเถระเหล่านั้นด้วย เพียรพยายามอยู่ ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต ก็คาถาทั้งหลายที่พระเถรีภาษิตในที่นั้น ๆ ด้วยอำนาจเปล่งอุทานเป็นต้นเหล่านั้น ภายหลังพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายร่วมกันยกขึ้นสู่สังคีติ จัดเป็นเอกนิบาตเป็นต้น คาถาเหล่านี้ชื่อเถรีคาถา การแบ่งคาถาเหล่านั้นเป็นนิบาตเป็นต้น ได้กล่าวไว้แล้วให้หนหลังนั่นแล บรรดานิบาตเหล่านั้น เอกนิบาตเป็นนิบาตแรก แม้ในเอกนิบาตนั้น คาถานี้ว่า

    ดูก่อนพระเถรี ท่านจงเอาท่อนผ้าทำจีวร
    นุ่งห่ม แล้วพักผ่อนให้สบายเถิด เพราะราคะของ
    ท่านสงบแล้ว เหมือนผักดองแห้งอยู่ในหม้อ ดังนี้
    เป็นคาถาแรก คาถานั้นเกิดขึ้นอย่างไร
     
  3. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    เล่ากันมาว่า ในอดีตกาล กุลธิดาคนหนึ่งเลื่อมใสยิ่งในพระศาสนาในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามโกนาคมนะ นิมนต์พระศาสดา ในวันที่สองให้สร้างมณฑปกิ่งไม้ ลาดทราย ผูกเพดานข้างบน บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้นแล้วให้คนไปกราบทูลกาลแด่พระศาสดา พระศาสดาเสด็จไปที่มณฑปนั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ กุลธิดานั้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า อังคาสด้วยของเคี้ยวของบริโภคอย่างประณีตแล้วให้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสวยเสร็จลดพระหัตถ์ลงจากบาตร ครองไตรจีวร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาแก่นางแล้วเสด็จหลีกไป

    กุลธิดานั้นทำบุญตลอดอายุ เวลาสิ้นอายุบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ในสุคติภูมิทั้งหลายนั่นเองตลอด ๑ พุทธันดรในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามกัสสปะ บังเกิดในตระกูลคฤหบดี พอรู้เดียงสาก็เกิดความสังเวชในสังสารวัฏ จึงบรรพชาอุปสมบทในพระศาสนา บวชเป็นภิกษุณีอยู่สองหมื่นปี ตายทั้งที่เป็นปุถุชนบังเกิดในสวรรค์ เสวยสมบัติในสวรรค์ตลอด ๑ พุทธันดรบังเกิดในตระกูลกษัตริย์มหาศาล กรุงเวสาลี ในพุทธุปปาทกาลนี้ คนทั้งหลายเรียกเธอว่า เถริกา เพราะมีรูปร่างสมส่วน เธอเจริญวัย บิดามารดาให้แก่ขัตติยกุมารผู้มีชาติเสมอกันโดยตระกูลและประเทศเป็นต้น

    เธอบูชาสามีเหมือนเทวดาอยู่ ได้ศรัทธาในพระศาสนาคราวพระศาสดาเสด็จกรุงเวสาลี ย่อมาเธอได้ฟังธรรมในสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี เกิดชอบใจบรรพชา บอกแก่สามีว่า จักบวช สามีไม่อนุญาต แต่เพราะเธอสร้างบุญบารมีมา เธอพิจารณาธรรมตามที่ได้ฟัง กำหนดรูปธรรมและอรูปธรรมประกอบวิปัสสนาอยู่เนือง ๆ.
     
  4. philosophi

    philosophi เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    883
    ค่าพลัง:
    +1,896
    ซาบซึ้งในบทความ(สำนวนภาษาของท่าน อ่านแล้วกระทบใจ) สาธุครับ
     
  5. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อเธอหุงหาอาหารอยู่ในครัวใหญ่ เปลวไฟใหญ่ได้ตั้งขึ้น เปลวไฟนั้นทำให้ภาชนะที่สิ้นเกิดเสียงเปรี๊ยะ ๆ เธอเห็นดังนั้นจึงยึดข้อนั้นแหละเป็นอารม ใคร่ครวญความไม่เที่ยงที่ปรากฏขึ้นอย่างดียิ่ง จากนั้นได้ยกความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้นในครัวนั้น เจริญวิปัสสนา ขวนขวายโดยลำดับ ได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผลตามลำดับแห่งมรรค ตั้งแต่นั้นมา

    เธอไม่ใช้เสื้อผ้าที่สวยงามหรือเครื่องประดับ เมื่อสามีถามว่า นางผู้เจริญเพราะเหตุไรเดี๋ยวนี้ เธอจึงไม่ใช่เสื้อผ้าที่สวยงามหรือเครื่องประดับเหมือนเมื่อก่อน นางจึงบอกว่าตนไม่ควรอยู่เป็นคฤหัสถ์ แล้วขออนุญาตบวช สามีนำเธอไปสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมีด้วยบริวารใหญ่ กล่าวว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า โปรดบวชให้นางนี้เถิด เหมือนวิสาขอุบาสกนำธรรมทินนาไปฉะนั้น.

    ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีให้นางบรรพชาอุปสมบทแล้ว นำไปวิหารแสดงแก่พระศาสดา เมื่อทำอารมณ์ที่เห็นตามปกตินั่นเองให้แจ่มแจ้งแก่นาง ตรัสพระคาถานี้ว่า

    ดูก่อนเถรี เธอจงเอาท่อนผ้าทำจีวรนุ่งห่มแล้ว พักผ่อนให้สบายเถิด เพราะราคะของเธอสงบแล้วเหมือนผักดองแห่งอยู่ในหม้อ.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุข แสดงภาวนปุงสกะ. บทว่า สุปาหิ เป็นคำสั่ง. บทว่า เถริเก เป็นคำเรียก. บทว่า กตฺวา โจเฬน ปารุตา เป็นคำประกอบด้วยความมักน้อย. บทว่า อุปสนฺโต หิ เต ราโค เป็นคำประกาศผลการปฏิบัติ. บทว่า สุกฺขฑาก ว เป็นคำแสดงความไม่มีสาระแห่งกิเลสที่พึงให้สงบ. บทว่า กุมฺภิย เป็นคำแสดงความไม่เที่ยงคือว่างเปล่าของหม้อที่ใส่ผักดองนั้น.
     
  6. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    อนึ่ง บทว่า สุข นี้ เป็นชื่อของสิ่งที่ปรารถนา ความว่า มีสุขปราศจากทุกข์. ก็บทว่า สุปาหิ นี้ เป็นคำแสดงการผ่อนอิริยาบถสี่ ความว่า เพราะฉะนั้น ท่านจงสำเร็จอิริยาบถทั้งสี่ตามสบายทีเดียว คือจงอยู่อย่างสบาย.

    บทว่า เถริเก นี้เป็นบทประกาศชื่อของพระเถรีนั้นก็จริง แต่ก็มีความว่า ถึงความเป็นผู้มั่นในพระศาสนาที่มั่น เพราะภาวะที่รู้ตามเนื้อความได้เป็นส่วนมาก คือประกอบด้วยธรรมมีศีลเป็นต้นอันมั่น.

    บทว่า กตฺวา โจเฬน ปารุตา ความว่า จงเอาท่อนผ้าบังสุกุลทำจีวรปกปิดสรีระ คือนุ่งและห่มผ้านั้น. ศัพท์ในบทว่า อุปสนฺโต หิ เต ราโค มีเนื้อความว่า เหตุ อธิบายว่า เพราะกามราคะที่เกิดในสันดานของท่านสงบแล้ว คือถูกเผาด้วยไฟคืออนาคามิมรรคญาณ บัดนี้ท่านจงเผาราคะที่ยังเหลืออยู่นั้นด้วยไฟคือมรรคญาณอันเลิศ พักผ่อนให้สบายเถิด.

    บทว่า สุกฺขฑาก ว กุมฺภิย ความว่า ย่อมสงบเหมือนผักดองเล็กน้อย ในภาชนะร้อนนั้น เขาเคี่ยวด้วยเปลวไฟแรงร้อนแห้งไป. อีกอย่างหนึ่ง เหมือนเมื่อเอาผักดองเจือน้ำ ขึ้นตั้งเคี่ยวบนเตา เมื่อน้ำยังมีอยู่ ผักดองนั้นย่อมเดือดพล่าน แต่เมื่อหมดน้ำ ย่อมสงบนิ่งฉันใด กามราคะ ในสันดานของท่านสงบแล้ว ท่านจงทำกิเลสแม้ที่เหลืออยู่ให้สงบแล้ว พักผ่อนให้สบายเถิด ฉันนั้น.
     
  7. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    พระเถรีบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในเวลาจบคาถา เพราะอินทรีย์แก่กล้าและเพราะพระศาสดาเทศนาไพเราะ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า

    เราสร้างมณฑปถวายพระพุทธเจ้าโกนาคมนะและได้ถวายพระสถูปอันบวรแด่พระพุทธเจ้าผู้เผ่าพันธุ์มนุษย์ เราไปในที่ใด ๆ เป็นชนบทก็ตาม นิคมและราชธานีก็ตาม ย่อมมีคนบูชาในที่นั้น ๆ ทุกแห่ง นี้เป็นผลของการทำบุญ เราเผากิเลสแล้ว ภพทั้งหมดเราถอนได้แล้ว เราตัดเครื่องผูกพัน เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ ดังช้างพังตัดเชือกแล้ว การมาเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐของเรา เป็นการมาดีแล้วหนอ เราได้บรรลุวิชชาสามตามลำดับ เราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทาสี่ วิโมกข์ทั้งแปดและอภิญญาหก เราทำให้แจ้งแล้ว เราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.

    ครั้นได้บรรลุพระอรหัตแล้ว พระเถรีเมื่อเปล่งอุทานได้ภาษิตคาถานั้นทีเดียว เหตุนั้น คาถานี้จึงได้เป็นคาถาของพระเถรีนั้น.

    ด้วยคาถาที่พระเถรีกล่าวในที่นั้น เป็นอันกำหนดราคะได้อย่างไม่เหลือ เพราะบรรลุความสงบนั้นได้ด้วยมรรคอันเลิศ. และที่กล่าวถึงความสงบกิเลสทั้งหมดในที่นี้ ก็ด้วยความสงบราคะนั่นเอง ฉะนั้นพึงเห็นข้อนั้น เพราะกิเลสธรรมทั้งหมดสงบได้ เพราะตั้งอยู่ร่วมกัน. สมจริงดังที่กล่าวไว้ว่า

    โมหะใดเกิดร่วมกับอุทธัจจะและวิจิกิจฉา อันเรารู้แล้ว โมหะนั้นก็รวมกันกับราคะ เพราะตั้งอยู่ร่วมกันโดยการละ. เหมือนอย่างว่า ความสงบแห่งสังกิเลสทั้งปวงท่านกล่าวไว้ในที่นี้ ฉันใด แม้ในที่ทุกแห่งท่านก็กล่าวความสงบแห่งสังกิเลสเหล่านั้น ฉันนั้น ฉะนั้นพึงทราบโดยที่สงบกิเลสได้สำเร็จในตอนต้น ด้วยตทังคปหานะละด้วยองค์นั้นๆ ในขณะแห่งสมถะและวิปัสสนาด้วยวิกขัมภนปหานะละด้วยข่มไว้ ในขณะแห่งมรรคด้วยสมุจเฉทปหานะละด้วยถอนขึ้น ในขณะแห่งผลด้วยปฏิปัสสัทธิปหานะ ละด้วยสงบระงับ ความสำเร็จแห่งปหานะทั้งสี่ พึงทราบด้วยความสงบนั้น.

    บรรดาปหานะทั้งสี่นั้น ความสำเร็จแห่งสีลสัมปทา ท่านแสดงด้วยตทังคปหานะ ความสำเร็จแห่งสมาธิสัมปทา ท่านแสดงด้วยวิกขัมภนปหานะ ความสำเร็จแห่งปัญญาสัมปทาท่านแสดงด้วยปหานะนอกนี้ โดยความสำเร็จคือบรรลุด้วยปหานะ. พระโยคาวจรยังการบรรลุสัจฉิกิริยา และการบรรลุปริญญาให้สำเร็จเหมือนยังการบรรลุภาวนาให้สำเร็จนั่นเอง เพราะไม่มีสิ่งนั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีแล บัณฑิตพึงทราบว่า สิกขา ๓ ท่านประกาศด้วยความสำเร็จคือการบรรลุ ๔ ความงาม ๓ อย่างท่านประกาศด้วยการปฏิบัติ วิสุทธิ ๗ ที่บริบูรณ์ท่านประกาศด้วยคาถานี้. พระเถรีองค์หนึ่งไม่มีใครรู้จัก คือไม่ปรากฏชื่อและโคตรเป็นต้น อธิบายว่า ภิกษุณีผู้เป็นเถรี ถึงพร้อมด้วยลักษณะองค์หนึ่งได้ภาษิตคาถานี้.

    จบ อรรถกถาอัญญตราเถรีคาถา
     
  8. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ปัญจกนิบาต ๓. สีหาเถรีคาถา

    ที่มา:http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=441

    ๓. สีหาเถรีคาถา

    คาถาว่า อโยนิโสมนสิการา เป็นต้นเป็นคาถาของพระเถรีชื่อสีหา.

    แม้พระเถรีชื่อสีหาองค์นี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในพุทธุปปาทกาลนี้ เป็นธิดาของน้องสาวสีหเสนาบดี กรุงเวสาลี ญาติพี่น้องทั้งหลายตั้งชื่อให้ว่า สีหา เพราะตั้งตามชื่อลุงของเธอ.

    นางสีหานั้นรู้ความแล้ว วันหนึ่ง พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่สีหเสนาบดี เธอฟังธรรมนั้นได้ศรัทธา ขออนุญาตบิดามารดาบวช ครั้นบวชแล้วแม้เริ่มวิปัสสนาก็ไม่อาจทำจิตที่พล่านไปในอารมณ์อันกว้างใหญ่ภายนอกให้กลับได้ ถูกมิจฉาวิตกเบียดเบียนอยู่ ๗ ปี ไม่ได้ความชื่นจิตจึงคิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยชีวิตอันลามกของเรานี้ เราจักผูกคอตายดังนี้ ถือบ่วงคล้องที่กิ่งไม้แล้วสวมบ่วงนั้นที่คอของตน น้อมจิตไปในวิปัสสนาด้วยอำนาจบุญกุศลที่ตนสั่งสมไว้ในก่อน ด้วยความเป็นผู้มีภพมีในที่สุด บ่วงที่ผูกได้อยู่ตรงที่คอ.

    พระเถรีนั้นเจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายในขณะนั้นเอง เพราะญาณแก่กล้าแล้ว บ่วงที่ผูกคอไว้หลุดออกพร้อมกับเวลาที่บรรลุพระอรหัตนั่นแหละ

    พระเถรีตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า

    เมื่อก่อนข้าพเจ้าถูกกามราคะเบียดเบียน มีจิตฟุ้งซ่าน
    ทำจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ เพราะไม่มนสิการโดยอุบายที่แยบคาย
    ข้าพเจ้าถูกกิเลสกลุ้มรุมเป็นไปตามความเข้าใจใน
    กามคุณว่าเป็นสุข ตกอยู่ในอำนาจของจิตอันสัมปยุตด้วยราคะ จึงไม่ได้ความสงบจิต
    ข้าพเจ้าเป็นผู้ผอมเหลืองปราศจากผิวพรรณอยู่ ๗ ปี
    มีแต่ทุกข์ ไม่ได้ความสุขทั้งกลางวันกลางคืน เพราะเหตุนั้น
    ข้าพเจ้าจึงถือเชือกเข้าไปสู่ราวป่า ด้วยคิดว่าจะผูกคอตายเสีย
    ในที่นี้ ดีกว่าที่จะกลับไปสู่ความเป็นคฤหัสถ์อีก ข้าพเจ้าทำบ่วง
    ให้มั่น ผูกที่กิ่งไม้แล้วสวมบ่วงที่คอ ทันใดนั้น จิตของข้าพเจ้า
    ก็หลุดพ้นจากกิเลส.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 กรกฎาคม 2013
  9. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโยนิโสมนสิการา ได้แก่ เพราะไม่มนสิการโดยอุบาย คือเพราะถือคลาดเคลื่อนในสิ่งที่ไม่งามว่างาม.

    บทว่า กามราเคน อทฺทิตา ความว่า ถูกฉันทราคะในกามคุณทั้งหลายบีบคั้น.

    บทว่า อโหสึ อุทฺธตา ปุพฺเพ จิตฺเต อวสวตฺตินี ความว่า เมื่อก่อน เมื่อจิตของข้าพเจ้าไม่เป็นไปในอำนาจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีจิตฟุ้งซ่าน คือมีจิตฟุ้งซ่านในอารมณ์ต่างๆ คือมีจิตไม่ตั้งมั่น.

    บทว่า ปริยุฏฺฐิตา กิเลเสหิ สุขสญฺญานิวตฺตินี ความว่า อันกิเลสทั้งหลายมีกามราคะเป็นต้นที่ถึงความกลุ้มรุมครอบงำแล้ว มีปกติเป็นไปตามกามสัญญาที่เป็นไปในรูปเป็นต้นว่างาม

    บทว่า สมํ จิตฺตสฺส นาลภึ ราคจิตฺตวสานุคา ความว่า ไปตามอำนาจของจิตที่สัมปยุตด้วยกามราคะ จึงไม่ได้ความสงบแห่งจิต คือความสงบใจ คือความที่จิตมีอารมณ์เดียว แม้เล็กน้อย.

    บทว่า กิสาปณฺฑุวิวณฺณา จ ความว่า เป็นผู้ผอมคือมีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น เหลืองขึ้นๆ เพราะความเป็นผู้กระสันอย่างนี้ เพราะเหตุนั้นแหละจึงเป็นผู้ปราศจากผิวพรรณ คือผู้มีผิวพรรณไปปราศแล้ว.

    บทว่า สตฺต วสฺสานิ แปลว่า ตลอด ๗ ปี.

    บทว่า จาริหํ แปลว่า ข้าพเจ้าเที่ยวไปแล้ว.

    บทว่า นาหํ ทิวา วา รตฺตึ วา สุขํ วินฺทึ สุทุกฺขิตา ความว่า ข้าพเจ้าถึงทุกข์ ด้วยกิเลสทุกข์ใน ๗ ปีอย่างนี้ ไม่ได้ความสุขของสมณะทั้งกลางวันทั้งกลางคืน.

    บทว่า ตโต ได้แก่ เพราะไม่ได้ความสุขของสมณะในเพราะความกลุ้มรุมของกิเลส.

    บทว่า รชฺชุ ํ คเหตฺวาน ปาวิสึ วนมนฺตรํ ความว่า ถือเชือกบ่วงเข้าไปยังราวป่า หากจะมีผู้ถามว่า เข้าไปทำไม (พึงตอบว่า).

    บทว่า วรํ เม อิธ อุพฺพนฺธํ ยญฺจ หีนํ ปุนาจเร ความว่า เพราะข้าพเจ้าไม่อาจบำเพ็ญสมณธรรม พึงกลับมาประพฤติ คือพึงประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ คือพึงดำรงเพศที่ทรามคือความเป็นคฤหัสถ์อีก ฉะนั้นข้าพเจ้าผูกคอตายเสียในราวป่านี้ ดีกว่าคือประเสริฐกว่าด้วยคุณตั้งร้อยตั้งพัน.

    บทว่า อถ จิตฺตํ วิมุจฺจิ เม ความว่า ข้าพเจ้าสวมบ่วงที่ผูกกับกิ่งไม้เข้าที่คอในกาลใด ในกาลนั้นคือในลำดับนั่นเอง จิตของข้าพเจ้าหลุดพ้น คือได้หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งปวงตามลำดับมรรค เพราะสืบต่อด้วยวุฏฐานคามินีวิปัสสนาและมรรค.

    จบอรรถกถาสีหาเถรีคาถาที่ ๓
     
  10. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้าที่ 76

    ที่มา: พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้าที่ 51

    เถรีคาถา ติกนิบาต
    ว่าด้วยคาถาต่าง ๆ ในติกนิบาต


    ๑. อัญญตราสามาเถรีคาถา๑

    [๔๓๐] ตั้งแต่ข้าพเจ้าบวชมาแล้ว ๒๕ พรรษา ข้าพเจ้าไม่รู้สึกกว่าได้ความสงบจิตในกาลไหน ๆ เลย ข้าพเจ้าทำใจให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ จึงไม่ได้ความสงบใจ ต่อจากนั้น ข้าพเจ้า ระลึกถึงคำสอนของพระชินเจ้า จึงได้ถึงความสังเวช ข้าพเจ้าอันความทุกข์เป็นอันมาก ถูกต้องแล้ว ยินดีแล้วในความไม่ประมาท บรรลุความสิ้นตัณหาแล้ว ได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว วันนี้เป็นราตรีที่ ๗ นับแต่วันที่ข้าพเจ้าทำตัณหาให้แห้งสนิทแล้ว.

    จบ อัญญตราสามาเถรีคาถา
     
  11. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    การพิจารณาขันธ์ 5 (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต)

    พระธรรมเจดีย์ : สาธุ ข้าพเจ้าเข้าใจได้ความในเรื่องนี้ชัดเจนดีแล้ว แต่ขันธ์ 5 นั้นยังไม่ได้ความว่า จะเกิดขึ้นที่ละอย่างสองอย่าง หรือว่าต้องเกิดพร้อมกันทั้ง 5 ขันธ์

    พระอาจารย์มั่น : ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 5 ขันธ์

    พระธรรมเจดีย์ : ขันธ์ 5 ที่เกิดพร้อมกันนั้น มีลักษณะอย่างไร? และความดับไปมีอาการอย่างไร? ขอให้ชี้ตัวอย่างให้ขาวสักหน่อย

    พระอาจารย์มั่น : เช่นเวลาเรานึกถึงรูปคนหรือรูปสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง อาการที่นึกขึ้นนั้นเป็นลักษณะของสังขารขันธ์ รูปร่างหรือสิ่งของเหล่านั้นมาปรากฎขึ้นในใจนี่เป็นลักษณะของรูปสัญญา ความรู้ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นนี่เป็นลักษณะของมโนวิญญาณ สุขหรือทุกข์หรืออุเบกขาที่เกิดขึ้นในคราวนั้น นี่เป็นลักษณะของเวทนา มหาภูตรูป หรืออุปาทายรูปที่ปรากฎอยู่นั้น เป็นลักษณะของรูป อย่างนี้เรียกว่าความเกิดขึ้นแห่งขันธ์พร้อมกันทั้ง 5 เมื่ออาการ 5 อย่างเหล่านั้นดับไป เป็นความดับไปแห่งขันธ์ทั้ง 5

    พระธรรมเจดีย์ : ส่วนนามทั้ง 4 เกิดขึ้นและดับไปพอจะเห็นด้วย แต่ที่ว่ารูปดับไปนั้นยังไม่เข้าใจ?

    พระอาจารย์มั่น : ส่วนรูปนั้นมีความแปรปรวนอยู่เสมอเช่นของเก่าเสื่อมไป ของใหม่เกิดแทนแต่ทว่าไม่เห็นเองเพราะรูปสันตติ รูปที่ติดต่อเนื่องกันบังเสีย จึงแลไม่เห็น แต่ก็ลองนึกดูถึงรูปตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันนี้เปลี่ยนไปแล้วสักเท่าไร ถ้ารูปไม่ดับก็คงไม่มีเวลาแก่แลเวลาตาย

    พระธรรมเจดีย์ :ถ้าเราสังเกตขันธ์ 5 ว่าเวลาเกิดขึ้นแลดับไปนั้น จะสังเกตอย่าไรจึงจะเห็นได้ แลที่ว่าขันธ์สิ้นไปเสื่อมไปนั้นมีลักษณะอย่างไร เพราะว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นได้อีกดูเป็นของคงที่ไม่เห็นมีความเสื่อม

    พระอาจารย์มั่น : พูดกับคนที่ไม่เคยเห็นความจริงนั้น ช่างน่าขันเสียเหลือเกิน วิธีสังเกตขันธ์ 5 นั้น ก็ต้องศึกษาให้รู้จักอาการขันธ์ตามความเป็นจริง แล้วก็มีสติสงบความคิดอื่นเสียหมดแล้ว จนเป็นอารมณ์อันเดียวที่เรียกว่าสมาธิ ในเวลานั้นความคิดอะไรๆไม่มีแล้ว ส่วนรูปนั้นหมายลมหายใจ ส่วนเวทนาก็มีแต่ปีติหรือสุข ส่วนสัญญาก็เป็นธรรมสัญญาอย่างเดียว ส่วนสังขารเวลานั้นเป็นสติกับสมาธิ หรือวิตกวิจารณ์อยู่ ส่วนวิญญาณก็เป็นแต่ความรู้อยู่ในเรื่องที่สงบนั้น ในเวลานั้นขันธ์ 5 เข้าไปรวมอยู่เป็นอารมณ์เดียว ในเวลานั้นต้องสังเกตอารมณ์ปัจจุบัน ที่ปรากฎอยู่เป็นความเกิดขึ้นแห่งขันธ์ พออารมณ์ปัจจุบันนั้นดับไปเป็นความดับไปแห่งนามขันธ์ ส่วนรูปนั้นเช่นลมหายใจออกมาแล้ว พอหายใจกลับเข้าไป ลมหายใจออกนั้นก็ดับไปแล้ว ครั้นกลับมาหายใจออกอีก ลมหายใจเข้าก็ดับไปแล้ว นี่แหละเป็นความดับไปแห่งขันธ์ทั้ง 5 แล้วปรากฎขึ้นมาอีก ก็เป็นความเกิดขึ้นทุกๆอามรมณ์แลขันธ์ 5 ที่เกิดขึ้นดับไป ไม่ใช่ดับไปเปล่าๆ รูปชีวิตอินทรีย์ความเป็นอยู่ของนามขันธ์ทั้ง 5 เมื่ออารมณ์ดับไปครั้งหนึ่ง ชีวิตแลอายุของขันธ์ทั้ง 5 สิ้นไปหมดทุกๆอารมณ์

    พระธรรมเจดีย์ : วิธีสังเกตอาการขันธ์ที่สิ้นไปเสื่อมไปนั้น หมายเอาหรือคิดเอา?

    พระอาจารย์มั่น : หมายเอาก็เป็นสัญญา คิดเอาก็เป็นเจตนา เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมายไม่ใช่คิด ต้องเข้าไปเห็นความจริงที่ปรากฎเฉพาะหน้า จึงจะเป็นปัญญาได้
     
  12. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    พระธรรมเจดีย์ : ถ้าเช่นนั้นจะดูความสิ้นไปเสื่อมไปของขันธ์ทั้ง 5 มิต้องตั้งพิธีทำใจให้เป็นสมาธิทุกคราวไปหรือ?

    พระอาจารย์มั่น : ถ้ายังไม่เคยเห็นความจริง ก็ต้องตั้งพิธีเช่นนี้ร่ำไป
    ถ้าเคยเห็นความจริงเสียแล้วก็ไม่ต้องตั้งพิธีทำใจให้เป็นสมาธิทุกคราวก็ได้ แต่พอมีสติขึ้น ความจริงก็ปรากฎเพราะเคยเห็นแลรู้จักความจริงเสียแล้ว เมื่อมีสติรู้ตัวขึ้นมาเวลาใด ก็เป็นสมถวิปัสสนากำกับกันไปทุกคราว

    พระธรรมเจดีย์ : ที่ว่าชีวิตแลอายุขันธ์สิ้นไปเสื่อมไปนั้นคือ สิ้นไปเสื่อมไปอย่างไร?

    พระอาจารย์มั่น : เช่นเราจะมีลมหายใจอยู่ได้สัก 100 หน ก็จะตาย ถ้าหายใจเสียหนหนึ่งแล้ว ก็คงเหลืออีก 99 หน หรือเราจะคิดจะนึกอะไรได้สัก 100 หน เมื่อคิดนึกเสียหนหนึ่งแล้ว คงเหลืออีก 99 หน ถ้าเป็นคนอายุยืนก็หายใจอยู่ได้มากหน หรือคิดนึกอะไรๆอยู่ได้มากหน ถ้าเป็นคนอายุสั้น ก็มีลมหายใจและคิดนึกอะไรๆอยู่ได้น้อยหน ที่สุดก็หมดลงวันหนึ่ง เพราะจะต้องตายเป็นธรรมดา

    พระธรรมเจดีย์ : ถ้าเราจะหมายจะคิดอยู่ในเรื่องความจริงของขันธ์อย่างนี้ จะเป็นปัญญาไหม?

    พระอาจารย์มั่น : ถ้าคิดเอาหมายเอา ก็เป็นสมถะ ที่เรียกว่ามรณัสสติ เพราะปัญญานั้น ไม่ใช่เรื่องหมายหรือเรื่องคิด เป็นเรื่องของความเห็นอารมณ์ปัจจุบันที่ปรากฎเฉพาะหน้าราวกับตาเห็นรูปจึงจะเป็นปัญญา

    พระธรรมเจดีย์ :เมื่อจิตสงบแล้ว ก็คอยสังเกตดูอาการขันธ์ที่เป็นอารมณ์ปัจจุบัน เพื่อจะให้เห็นความจริง นั่นเป็นเจตนาใช่ไหม?

    พระอาจารย์มั่น : เวลานั้นเป็นเจตนาจริงอยู่ แต่ความจริงก็ยังไม่ปรากฎ เวลาที่ความจริงปรากฎขึ้นนั้นพ้นเจตนาทีเดียว ไม่เจตนาเลย เป็นความเห็นที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษต่อจากจิตที่สงบแล้ว

    พระธรรมเจดีย์ : จิตคู่กับเจตสิก ใจคู่กับธัมมารมณ์ มโนธาตุคู่กับธรรมธาตุ 3 คู่นี้เหมือนกันหรือต่างกัน?

    พระอาจารย์มั่น : เหมือนกัน เพราะว่าจิตกับมโนธาตุกับใจนั้นอย่างเดียวกัน ส่วนใจนั้นเป็นภาษาไทย ภาษาบาลีท่านเรียกว่ามโน เจตสิกนั้นก็ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร ธัมมารมณ์นั้นก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร ธรรมธาตุนั้นก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร

    พระธรรมเจดีย์ : ใจนั้นทำไมจึงไม่ใคร่ปรากฎ เวลาที่สังเกตดูก็เห็นแต่เหล่าธัมมารมณ์ คือ เวทนาบ้าง สัญญาบ้าง สังขารบ้าง มโนวิญญาณความรู้ทางใจบ้าง เพราะเหตุไร ใจจึงไม่ปรากฎเหมือนเหล่าธัมมารมณ์ กับมโนวิญญาณ?

    พระอาจารย์มั่น : ใจนั้นเป็นของละเอียด เห็นได้ยาก พอพวกเจตสิกธรรมที่เป็นเหล่าธัมมารมณ์มากระทบเข้าก็เกิดมโนวิญญาณ ถูกผสมเป็นมโนสัมผัสเสียทีเดียว จึงแลไม่เห็นมโนธาตุได้

    คัดลอกมาจากบางส่วนของ หนังสือธรรมะทรงคุณค่า ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา
     
  13. Norlnorrakuln

    Norlnorrakuln เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    3,813
    ค่าพลัง:
    +15,095
    ถ้าเปลี่ยนชื่อกระทู้ใหม่ว่า"นานาสาระธรรมจัดสรร"ก็น่าจะดีนะ!
     
  14. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    อยากจะเปลี่ยนเหมือนกันค่ะ แต่ทำไม่เป็นหนอ คริคริ
     
  15. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    มาร 5

    พอดี ตื่นมาตอนเช้าเหมือนจะได้ยินอะไรมารๆ นี่แหละค่ะ ก็เลยขอนำเสนอเรื่องมาร สำหรับนักปฏิบัติธรรมทุกท่าน พึงระวังไว้

    สมเด็จพระญาณสังวร
    สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
    วัดบวรนิเวศวิหาร

    คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
    [อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ]

    บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

    พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาที่เราทั้งหลายได้สวดสรรเสริญพระคุณ หรือกำหนดใจสรรเสริญพระคุณ ด้วยบทว่า พุทโธ อยู่เป็นประจำ และแม้ในการทำสมาธิก็กำหนดจิตว่าพุทโธ ไปพร้อมกับลมหายใจเข้าออกเป็นต้น พุทโธ พระผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จึงเป็นบทพระพุทธคุณที่เราทั้งหลายได้กล่าวเรียกถึง หรือกำหนดใจถึงพระพุทธเจ้า ก็คือพุทโธนี้เอง จึงเป็นคำที่เราทั้งหลายรู้จัก และเข้าใจว่าหมายถึงองค์สมเด็จพระบรมศาสดา

    แต่ว่าความเข้าใจนั้นย่อมมีต่างๆ กัน เข้าใจด้วยความรู้ทางตาทางหู คือได้อ่านได้ฟังเรื่องพระพุทธเจ้าพระพุทธศาสนา อันนับว่าเป็นปริยัติ และได้รู้จักเข้าใจด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน โดยย่อก็คือปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา และรู้จักเข้าใจด้วยผลของการปฏิบัติ

    จนถึงขั้นที่ตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา หรือผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้ อันเป็นความรู้ความเห็นขั้นผลของการปฏิบัติ อันกล่าวได้ว่าเป็นขั้นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม

    ดวงตาเห็นธรรม

    อันธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมนั้น ท่านแสดงไว้ถึงดวงตาเห็นธรรมที่บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะ ว่าท่านได้ฟังปฐมเทศนาแล้ว ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ดั่งนี้ ก็เป็นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม และเมื่อได้ดวงตาเห็นธรรม ก็ย่อมได้ดวงตาเห็นพระพุทธะ พระผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะธรรมะที่ทรงแสดงสั่งสอน เป็นสัจจะคือความจริงทั้งสิ้น

    มารในพุทธศาสนา

    พระพุทธะ พระองค์มิได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธะโดยง่ายดาย และแม้เมื่อตรัสรู้แล้ว ก็มิใช่ว่าจะทรงดำรงอยู่โดยง่ายดาย จะทรงประกาศพระพุทธศาสนาโดยง่ายดาย เพราะมีสิ่งขัดขวาง หรือผู้ขัดขวางมาโดยลำดับ ก็คือมาร ที่เราทั้งหลายผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะได้ยินได้ฟังเรื่องมารที่มาผจญพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าก็ทรงผจญมาร ทรงชนะมาร จึงได้ตรัสรู้พระธรรมเป็นพระพุทธเจ้า ดังที่มีแสดงเรื่องพระพุทธเจ้าผจญมาร และนิยมเขียนภาพพระพุทธเจ้าผจญมารที่เห็นกันอยู่

    และแม้เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว มารพ่ายแพ้ขัดขวางพระองค์มิให้ไม่ตรัสรู้ไม่ได้ ก็ยังไม่หมดความพยายาม ยังได้ทูลขอให้พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน แต่พระองค์ก็มิได้รับคำทูลของมาร เพราะทรงมีพระมหากรุณาต่อโลก

    ทรงทำสังขาราธิษฐาน คืออธิษฐานตั้งพระทัย ดำรงพระชนมายุสังขาร เพื่อประกาศพระศาสนา ให้พระสัทธรรมตั้งมั่นลงในโลก ประดิษฐานพุทธบริษัทขึ้นในโลก และก็ได้ทรงปฏิบัติตามที่ทรงอธิษฐานพระหทัย เสด็จประกาศพระพุทธศาสนา ประดิษฐานพุทธบริษัท ตลอดเวลาที่แสดงไว้ว่า ๔๕ ปี

    ในระหว่างนี้ก็ยังมีแสดงไว้ว่ามารก็ได้เข้ามาทำการขัดขวางต่างๆ หรือว่าทูลส่งเสริมไปในทางผิดต่างๆ อีกหลายครั้งหลายคราว จนถึงเมื่อมีพระชนม์พรรษา ๘๐ ประกาศพระพุทธศาสนามาได้ ๔๕ ปี มารก็ยังได้เข้าทูลขอให้เสด็จดับขันธปรินิพพาน เพราะได้ทรงปฏิบัติประกาศพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นขึ้นในโลก ประดิษฐานพุทธบริษัท ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ขึ้นในโลกสำเร็จ ตามที่ได้ทรงทำสังขาราธิษฐานแล้ว พระพุทธองค์จึงได้ตรัสรับ ว่าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในเวลาต่อจากที่ตรัสรับนั้นอีกไม่นาน คือทรงรับในวันเพ็ญเดือนมาฆะ และก็ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เป็นเวลา ๓ เดือน เรื่องมารมีเล่าไว้ดั่งนี้
     
  16. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    เทพบุตรมาร

    เทพบุตรมาร

    และก็มีแสดงไว้ว่ามารเป็นเทพบุตร สถิตย์อยู่ในสวรรค์ชั้นที่ ๖ โดยเป็นหัวหน้าของเทพชั้นนี้กลุ่มหนึ่ง อันเป็นฝ่ายมาร และในชั้นนี้ก็ยังมีเทพอีกกลุ่มหนึ่งมีหัวหน้าอีกองค์หนึ่ง เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับมาร และยังได้มีแสดงไว้ในคัมภีร์ที่น่าจะมีแต่งขึ้นต่อมาภายหลัง ว่าต่อไปในอนาคตมารก็จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่ง โดยปริยายที่แสดงนี้ ก็แสดงว่ามารเป็นเทพ หรือเป็นเทวบุตรองค์หนึ่ง หรือท่านหนึ่ง หรือผู้หนึ่ง และเมื่อพิจารณาดูตามเหตุผลในข้อที่ว่าจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปนั้น

    ก็น่าเห็นว่ามีเหตุผลอยู่บ้าง โดยที่ผู้จะไปเกิดเป็นเทพนั้น ก็ไปเกิดได้ด้วยอำนาจของกรรมที่เป็นกุศล หรืออำนาจของบุญ จะต้องมีทานมีศีลเป็นเหตุที่จะไปเกิดในสวรรค์ได้ เพราะฉะนั้น เทพที่เป็นมารดังกล่าวนี้ก็จะต้องทำบุญทำกุศลไว้ไม่น้อย จึงไปเกิดในสวรรค์ชั้นที่ ๖ ได้ แต่ว่าเป็นฝ่ายที่มุ่งมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ ไม่ต้องการนิพพานสมบัติ

    เพราะฉะนั้น จึงปรากฏในเรื่องว่ามารที่เล่านี้ ก็มิได้เที่ยวทำบาปทำกรรมอะไรแก่ใคร มุ่งที่จะป้องกันมิให้พระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น คือต้องที่จะให้พระโพธิสัตว์ไม่พ้นไปจากอำนาจของตน เมื่อไม่ตรัสรู้พระองค์ก็ต้องอยู่ในอำนาจของมาร แต่เมื่อตรัสรู้แล้วพระองค์ก็ทรงพ้นจากอำนาจของมาร มารทำอะไรไม่ได้ และเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วยังทรงแสดงธรรมะสั่งสอน โปรดให้เวไนยนิกรบรรลุมรรคผลนิพพานตามอีกเป็นอันมาก ก็ทำให้บุคคลเป็นอันมาก ตลอดถึงเทพเป็นอันมาก ผู้บรรลุมรรคผลนิพพาน พ้นไปจากอำนาจของมาร มารจึงขวนขวายป้องกัน มิให้ใครๆ พ้นไปจากอำนาจของมารเท่านั้น ก็คือพ้นไปจากอำนาจของโลก พ้นไปจากอำนาจของกิเลส

    เพราะฉะนั้น หากมารเป็นเทพดังกล่าวก็เป็นวิสัยที่จะเป็นเทพได้ ในเมื่อทำบุญทำกุศลมามาก ส่วนทานส่วนศีลเพื่อมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ และมารก็ไม่ได้ไปขัดขวางใคร ผู้ที่ทำบุญทำกุศลเพื่อมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ ขัดขวางแต่ผู้ที่ปฏิบัติให้พ้นจากอำนาจของโลก คืออำนาจของกิเลสเท่านั้น ต้องการที่จะให้ติดอยู่ในโลก จะเป็นมนุษย์เป็นสวรรค์ก็ตาม ก็ยังติดอยู่ในอำนาจของโลก ยังไม่เป็นโลกุตรเหนือโลก

    เมื่อเป็นมรรคเป็นผลนิพพานละกิเลสได้นั่นแหละ จึงจะเป็นโลกุตรเหนือโลก

    เมื่ออยู่เหนือโลกก็เป็นอันว่าพ้นจากอำนาจของโลก คือของกิเลสและของทุกข์ทั้งหลายในโลก มารก็จึงขัดขวางใครๆ ที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานสมบัติเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อละมิจฉาทิฏฐิในข้อนี้ได้ ก็สามารถที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานต่อไปได้ และข้อนี้ใครๆ ก็ตาม เมื่อยังติดอยู่ในมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ ก็บรรลุถึงนิพพานสมบัติไม่ได้เช่นเดียวกัน และในการที่จะบรรลุถึงมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติได้ ก็ต้องประกอบการบุญการกุศล จึงจะบรรลุได้ ถ้าประกอบการเป็นบาปเป็นการอกุศลต่างๆ ก็ต้องไปอบาย คือคติที่เป็นทุกข์ต่างๆ ไร้ความสุขความเจริญ
     
  17. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ขันธ์มาร กิเลสมาร

    ขันธ์มาร กิเลสมาร

    ตามที่แสดงมานี้ เรื่องมารจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันมาถึงกิเลสเป็นต้น ก็สมกับที่ได้มีตรัสแสดงไว้ถึงมาร ๕ คือขันธ์มาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร และท่านก็แสดงอธิบายว่าขันธ์มาร มารคือขันธ์ ขันธ์ก็คือขันธ์ ๕ อันได้แก่ขันธ์คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อลงก็เป็นนามขันธ์รูปขันธ์ หรือที่เรียกว่านามรูป กล่าวโดยย่อก็คือกายใจของทุกๆ คนนี้เอง ได้ชื่อว่าเป็นมาร ที่แปลว่าผู้ทำให้ตาย หรือผู้ทำลาย

    กิเลสมาร มารคือกิเลสที่แปลว่าเครื่องเศร้าหมองจิต อันได้แก่กิเลสกองราคะหรือโลภะโทสะโมหะเป็นต้น บรรดาที่เป็นเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งหมด ทั้งที่เป็นอย่างหยาบอย่างกลางอย่างละเอียด ได้ชื่อว่าเป็นมาร คือเป็นผู้ทำให้ตาย หรือทำลาย
     
  18. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    อภิสังขารมาร มัจจุมาร

    อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร อันได้แก่ความปรุงแต่ง หมายถึงปรุงแต่งทางใจ คือเจตนาความจงใจต่างๆ จนถึงปรุงแต่งทางกายทางวาจาและทางใจ เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

    มัจจุมาร มารคือมัจจุ อันได้แก่ความตาย ก็เป็นมารคือเป็นผู้ทำให้ตาย หรือผู้ทำลายชีวิต เทวบุตรมาร มารคือเทวบุตร โดยทั่วไปก็คือเทวดาที่เป็นมาร หรือเทพที่เป็นมารดังที่กล่าวมาข้างต้น
     
  19. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    มารย่อมเนื่องด้วยกิเลส

    ในข้อนี้เมื่อจับพิจารณาดูแล้ว ก็จะเห็นว่าทุกๆ ข้อนั้นที่ชื่อว่าเป็นมาร ก็ย่อมเนื่องด้วยกิเลส เนื่องด้วยโลภ อันเป็นชื่อของทุกข์ อันเป็นชื่อของกิเลสทุกข้อ ตั้งแต่ข้อที่ ๑ ขันธ์มาร มารคือขันธ์ ขันธ์คือขันธ์ ๕ หรือว่านามรูปนี้ ที่เป็นมารก็เมื่อยังเป็น อุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา หรือ อุปาทานนามรูป นามรูปที่ยึดถือดั่งนั้น เมื่อเป็นอุปาทานขันธ์จึงเป็นมารคือเป็นผู้ฆ่า ผู้ทำให้ตาย หรือผู้ทำลาย เพราะเหตุว่า ฆ่าหรือทำลายต่อมรรคผลนิพพาน ทำให้ปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงนิพพานสมบัติไม่ได้ ก็ได้แค่มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ต่อเมื่อละอุปาทานความยึดถือว่าตัวเราของเราในขันธ์เสียได้ นั่นแหละจึงจะบรรลุนิพพานสมบัติได้ และเมื่อบรรลุนิพพานสมบัติแล้วดังพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ขันธ์ก็ไม่เป็นขันธมารของพระองค์ แต่ว่าเป็นขันธ์หรือเป็นนามรูปที่เป็นธรรมชาติธรรมดา

    มาถึงกิเลสมารข้อ ๒ ก็เช่นเดียวกัน กิเลสนั้นย่อมเป็นมารโดยตรง เมื่อยังละกิเลสไม่ได้ก็บรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้ คือเมื่อยังติดอยู่ในกิเลส ยังยินดีพอใจอยู่ในกิเลส ก็บรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้ ต่อเมื่อละกิเลสได้ กิเลสก็ไม่เป็นมารที่จะขัดขวางต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน

    อภิสังขารคือปรุงแต่งทางใจทางจิต เป็นเจตนา ตลอดจนถึงก่อกรรม เป็นการกระทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็เช่นเดียวกัน กรรมที่ชั่วหรือว่าส่วนชั่วก็เป็นมารต่อส่วนดี แม้กรรมที่เป็นส่วนดีก็เป็นมารต่อส่วนที่เป็นอเนญชะ คือที่เป็นกลางๆ ที่เป็นความสงบ แม้กรรมที่เป็นกลางๆ เป็นอเนญชะ เช่นเป็นฌาน ถ้าติดอยู่ก็เป็นมารต่อปัญญา ที่จะให้ตรัสรู้ถึงมรรคผลนิพพาน และการที่ยังมีปรุงแต่งอยู่ก็เพราะว่ายังมีกิเลส เพราะฉะนั้นการปรุงแต่ง จึงหมายถึงว่ายังมีกิเลส จึงต้องปรุงแต่ง และเมื่อละกิเลสได้ ก็ละการปรุงแต่งได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันว่าไม่มีการปรุงแต่งที่เรียกเป็นมารต่อไป

    มัจจุคือความตายก็เช่นเดียวกัน ที่คนเราทุกๆ คนรู้สึกว่าความตายเป็นผู้ทำลายชีวิต ก็เพราะว่ายังมีอุปาทานยึดถืออยู่ในขันธ์ในชีวิต ว่าเป็นเราเป็นของเรา จึงรู้สึกว่าความตายนั้นเป็นตัวมารคือเป็นผู้ทำให้ตายโดยตรง เป็นผู้ฆ่าโดยตรง คือว่าฆ่าชีวิตหรือทำลายชีวิตนี้โดยตรง เพราะยังมีความยึดถืออยู่ในชีวิตว่าเป็นเราเป็นของเรา เพราะฉะนั้นจึงทำให้ทุกๆ คนซึ่งเป็นสามัญชนต้องกลัวตาย มรณะภัยคือความกลัวต่อความตายนั้นย่อมมีอยู่แก่จิตสามัญทั่วไป ก็เพราะยังมีความยึดถืออยู่ในชีวิตว่าเป็นเราเป็นของเราดังที่กล่าวมานั้น ฉะนั้นเมื่อละความยึดถือในชีวิตได้ ว่าเป็นเราเป็นของเรา คือว่าละกิเลสได้ ละความยึดถือในขันธ์ได้ มัจจุคือความตายก็ไม่เป็นมาร

    แต่ว่าเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับความเกิดซึ่งเป็นธรรมดา ความแก่ซึ่งเป็นธรรมดา ความเจ็บไข้ซึ่งเป็นธรรมดา ความตายก็เป็นธรรมดาเช่นเดียวกัน
     
  20. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ความเกิด ความตาย

    คนเราชอบความเกิดถือว่าเป็นมงคล แต่ว่าความตายถือว่าเป็นความสูญสิ้น และไม่ถือว่าเป็นมงคล แต่อันที่จริงนั้นเหมือนกัน ทั้งเกิดทั้งแก่ทั้งเจ็บทั้งตาย เป็นธรรมดาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว คือพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านไม่ยึดถือขันธ์ ไม่ยึดถือชีวิต เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นมารของท่าน แต่เป็นธรรมดา เช่นเดียวกับชีวิตที่ดำรงอยู่นี้ ก็เป็นธรรมดา เมื่อธาตุทั้งหลายยังประชุมกันอยู่ ชีวิตนี้ก็ยังดำรงอยู่ ก็เป็นธรรมดา เมื่อธาตุทั้งหลายแตกสลาย ชีวิตนี้ก็ดับ ก็เป็นธรรมดา เป็นของธรรมดาสามัญ ก็ไม่เป็นมารของท่าน

    คราวนี้มาถึงเทวบุตรมาร มารคือเทวบุตร ก็มักอธิบายถึงเทพที่เป็นมารดังที่กล่าวมาโดยลำดับ แต่โดยที่ทุกๆ ข้อนั้น หรือแม้ที่เล่าถึงมารโดยเป็นเทพ ก็สัมพันธ์มาถึงกิเลส สัมพันธ์มาถึงโลก อันหมายถึงตัวทุกข์ และตัวกิเลสนี้เอง เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ จึงได้ทรงอธิบายว่าหมายถึงรูปธรรมทั้งปวง จะเป็นรูปธรรมที่เป็นมนุษย์ก็ตาม เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม เป็นอะไรก็ตาม หรือเป็นวัตถุต่างๆ ก็ตาม เช่นเป็นรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่ยึดถือ เป็นที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือแม้ไม่เป็นที่ปรารถนาพอใจ เป็นที่ตั้งของกิเลสกองโลภกองโกรธกองหลง เหล่านี้ก็รวมเข้าในคำว่าเทวบุตรมารทั้งนั้น

    กับทั้งได้ฟังกระแสรับสั่งของสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าเทวบุตรมารนั้น ควรจะหมายถึงความที่อยากไปเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา หรือความที่อยากไปเกิดเป็นเทวดาเป็นเทพ ก็เป็นตัวกิเลสด้วยกัน เมื่ออธิบายดั่งนี้ ย่อมจะมีความสัมพันธ์กันหมดทั้ง ๕ ข้อ ทั้ง ๔ ข้อข้างต้นนั้นก็หมายรวมเข้าไปในตัวกิเลส แม้ข้อ ๕ นี้เองก็ควรจะหมายรวม ... (ข้อความขาดนิดหน่อย)
     

แชร์หน้านี้

Loading...