การประพฤติวุฏฐานวิธี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 5 พฤษภาคม 2020.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,588
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,017
    LpBoonreungSaratho.jpg
    การประพฤติวุฏฐานวิธี
    โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
    ตั้งแต่วันแรกที่เราได้เข้าพรรษามาจนถึงบัดนี้ ยังไม่ได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง การประพฤติวุฏฐานวิธี มาถวายความรู้แด่ท่านทั้งหลาย เพราะโอกาสและสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย

    เหตุนั้น วันนี้จึงจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง การประพฤติวุฏฐานวิธี มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

    สำหรับการประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ ท่านครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะพูดมาก เพราะว่าเราได้รู้ได้เข้าใจในเรื่องประพฤติวุฏฐานวิธีแล้ว แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้บวชใหม่ บางรูปก็บวชยังไม่ถึงเดือน หรือสองเดือนก็มี หรือสามเดือนก็มี

    บางท่านบวชแล้วก็เข้าพรรษา เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้บางสิ่งบางประการอาจจะขาดตกบกพร่อง เกี่ยวกับการประพฤติวุฏฐานวิธี เหตุนั้น ครูบาอาจารย์ผู้เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ให้ถือเสียว่าเป็นการสงเคราะห์แก่ผู้บวชใหม่ก็แล้วกัน

    คำว่า วุฏฐานวิธี คือ ระเบียบเพื่อออกจากอาบัติ ท่านแจกไว้ ๔ ประการ คือ

    ๑. ปริวาส คือผู้ที่บวชมาแล้ว ต้องครุกาบัติ คือ อาบัติสังฆาทิเสส หากว่าตนไม่ได้ปกปิดอาบัติไว้ เราจะขอปริวาส ไม่ต้องนับราตรี เสร็จแล้วก็ขอขึ้นมานัตต์ แล้วก็อยู่มานัตต์ แต่สำหรับผู้ที่ต้องครุกาบัติแล้วปกปิดไว้ ๓ วัน ก็จะต้องอยู่ปริวาสครบ ๓ วันเสียก่อนจึงจะขอมานัตต์ได้

    หรือว่าเราบวชมาแล้ว ๑ ปี ๒ ปี หรือ ๓ ปี ได้ปกปิดอาบัติไว้ เมื่อเราปกปิดอาบัติไว้อย่างนี้ ก็ต้องอยู่ให้ครบที่เราปกปิดไว้ ๑ ปี ๒ ปี หรือ ๓ ปี ครบแล้วจึงขอมานัตต์ ขึ้นมานัตต์ได้

    แต่บางท่านที่เคยบวชเคยปฏิบัติมาแล้ว ก็อาจจะสงสัยเป็นบางสิ่งบางประการ คือตนได้บวชมาแล้ว อาจจะบวชมาเป็นหลายๆ ปี แต่ไม่มีโอกาสจะประพฤติวุฏฐานวิธี เมื่อมีโอกาสมีเวลาประพฤติวุฏฐานวิธี แต่บังเอิญครูบาอาจารย์ผู้เป็นประมุขประธานงานนั้นให้เราอยู่ปริวาสเพียง ๓ วัน ทั้งๆ ที่ต้องอาบัติมาหลายวัน หลายเดือน หลายปี แต่เมื่อมีการอยู่ปริวาสแล้วก็ให้เข้าปริวาสเพียง ๓ วัน เสร็จแล้วก็ให้ขอมานัตต์ ให้ขึ้นมานัตต์ ท่านทั้งหลาย เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก หลายๆ ท่านก็คิดว่าการอยู่ปริวาสเพียง ๓ วันนั้นจะไม่บริสุทธิ์

    ข้อนี้ หากว่าเราบวชมาแล้วเคยปลงอาบัติทุกวันๆ เหมือนดังปลงอยู่ในขณะนี้แหละ บางทีท่านผู้ที่เข้าปริวาส ทำวัตรเสร็จแล้วก็ปลงอาบัติว่า สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ….เป็นต้น

    หากว่าเราไม่มีโอกาสที่จะบอกในขณะนี้ เพราะเหตุบางสิ่งบางอย่างไม่เอื้ออำนวย หรือมันขัดข้อง แต่เจตนาที่จะปกปิดไม่มี เช่น เราต้องครุกาบัติแล้ว เราตั้งใจที่จะบอก จะไม่ปกปิด แต่สิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย แม้อยากบอกอยู่ แต่ไม่สามารถที่จะบอกได้ อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการปกปิดอาบัติ เมื่อเราได้ปลงอาบัติไว้อย่างนี้ๆ เหมือนอย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ถือว่าเราบอกไว้แล้ว บอกอาบัติไว้แล้ว ไม่ถือว่าเป็นการปกปิด

    เพราะเหตุไร

    เพราะว่า การที่ว่าปลงอาบัตินั้น ก็ถือว่าบอกทั้งที่เป็นลหุกาบัติ บอกทั้งที่เป็นครุกาบัติแล้ว ข้อนี้ ถ้าว่าเราทั้งหลายเรียนรู้และเข้าใจ เราจะรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ เช่น พระอุปัชฌาย์หรืออาจารย์อย่างนี้ เราจะซึ้งในพระคุณของท่านผู้ที่ได้แต่งโคลงเกี่ยวกับปลงอาบัติไว้ คือท่านมีเจตนารมณ์ให้ผู้ที่ปลงอาบัตินั้นได้บอกทั้งที่เป็นลหุกาบัติ ทั้งครุกาบัติ

    เมื่อได้บอกว่า สัพพา ตา…แล้ว ในส่วนที่เป็นลหุกาบัตินั้นก็เป็นอันว่าหมดไป บริสุทธิ์ไป หมายความว่า อาบัติเหล่าใดที่เป็นลหุกาบัติ เช่นว่า ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาษิต ก็ถือว่าบริสุทธิ์ แต่ในส่วนใดที่เป็นครุกาบัติ ก็ถือว่าได้บอกไว้แล้ว ไม่ได้ปกปิด

    เพราะเหตุไร

    เพราะว่า ที่เราปลงอาบัติว่า สัพพา ครุลหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ นั้น ความหมายก็คือ เราขอเปิดเผยบอกอาบัติทั้งปวง ทั้งที่เป็นลหุกาบัติ ทั้งที่เป็นครุกาบัติ เหตุนั้น แม้ว่าเราอยากปกปิด ก็ไม่เป็นอันปกปิด คือว่า ได้บอกไว้แล้ว

    สำหรับองค์ประกอบของการอยู่ปริวาส คือ

    ๑) สหวาโส ห้ามเข้าอยู่ร่วมชายคากับพระที่เป็นปกตัตตะ บ้านเราเรียกว่า อาจารย์กรรม (หมายถึงพระที่ไม่ได้เข้าปริวาสด้วย) เราจะอยู่ร่วมกับอาจารย์กรรมนั้นไม่ได้ ต้องแยก เว้นไว้แต่เราปลงวัตร (เก็บวัตรแล้ว) เหมือนกับที่เราได้ปลงกันทุกวันนี้ ในขณะที่เราปลงวัตรนั้น เราอาจจะอยู่ร่วมชายคา ปะรำ หรือกุฏิ อะไรทำนองนี้ได้

    หากว่าจำเป็นเราก็อยู่ร่วมได้ ไม่ถือว่าขาด แต่ถ้าว่าไม่จำเป็นก็อย่าอยู่ร่วม แม้ว่าเราปลงวัตรแล้ว เราต้องลดทิฐิมานะ ต้องถ่อมตัว จะทำให้การประพฤติวุฏฐานวิธีมันบริสุทธิ์เร็วขึ้น ข้อนี้ แม้แต่พวกเราทั้งหลายผู้เข้าปริวาสด้วยกัน เช่นพวกเราทั้งหลาย ขณะนี้เราขึ้น(สมาทาน) วัตรแล้ว เมื่อเราขึ้นวัตรแล้ว เราจะอยู่ร่วมชายคากับพระอาจารย์กรรมหรือปกตัตตะภิกษุนั้นไม่ได้

    ถ้าอยู่ร่วมชายคากันก็ถือว่าวัตรขาด แต่ชายคานี้ ไม่ได้หมายเอาร่มไม้ ร่มไม้น่ะท่านไม่ได้ห้าม แต่อีกอย่างหนึ่ง สำหรับท่านที่เข้าปริวาสด้วยกันก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่เราจะไปนอนร่วมกุฏิที่อยู่ปริวาสร่วมกัน ถึงมันมีโอกาสมีเวลาอยู่ หมายความว่า แม้พระวินัยไม่ปรับอาบัติก็จริงอยู่ แต่เราต้องสังวรระวัง ถ้าไม่จำเป็นเราอย่าไปอยู่ร่วมชายคาแม้กับผู้ที่อยู่ปริวาสด้วยกัน ขอให้ต่างคนต่างอยู่ เพราะว่าเราสมาทานและก็บอกวัตรแล้ว ถ้าไม่จำเป็นเราอย่าไปอยู่ร่วมกุฏิเดียวกัน และก็ห้ามเหยียดกายร่วมกันในกุฏิที่เราอยู่นั้น

    สมมติว่า กุฏิห้องกัมมัฏฐานเราเล็กๆ อย่างนี้ ขึ้นไปแล้วก็ไปนอนเหยียดกายร่วมกันอยู่ในกุฏินั้นก็ถือว่าขาด ท่านครูบาอาจารย์ท่านถือขลังกัน (คือถือเข้มงวดไว้ก่อน) เพราะเหตุนั้น ตอนเย็นเราสมาทานวัตรแล้วก็รักษาวัตรให้ดี หากว่าไม่จำเป็นก็อย่าไปขึ้นกุฏิร่วมกัน อย่าไปอยู่ในกุฏิร่วมกัน เพราะว่ามันไม่สวยไม่งาม หรือมองแล้วมันทะแม่งทะแม่ง ให้ต่างคนต่างอยู่ สังวรระวังให้ดี

    ๒) วิปปวาโส อยู่ปราศจากสงฆ์ ในขณะที่อยู่ปริวาสนี้ เราอยู่กับพระภิกษุผู้เป็นปกตัตตะรูปเดียวนั้นได้ คือว่าเราอยู่ที่ไหนๆ ต้องมีพระภิกษุผู้เป็นปกตัตตะหรือพระที่เป็นปกตินั้นอย่างน้อย ๑ รูปอยู่เป็นเพื่อน

    เราอยู่ปราศจากภิกษุรูปใดรูปหนึ่งนั้นไม่ได้ หรือว่าจำเป็นที่เราจะไปธุระที่โน้นบ้าง ที่นี้บ้าง เช่นว่า เราจะไปเขมราฐ ไปอุบลฯ อย่างนี้ ต้องมีพระภิกษุผู้ปกตัตตะ หรือว่าอาจารย์กรรมนั้นไปด้วย ๑ รูป จึงจะใช้ได้

    ถ้าว่าเราไปแต่เราคนเดียว ก็ถือว่าบกพร่อง เรื่องอย่างนี้ก็ขอให้สังวรให้ดี บางทีไปบางแห่งในเครือข่ายของพวกเราทั้งหลาย หลวงพ่อเคยท้วงติงหลายๆ ครั้ง เวลาเราปลงวัตรแล้ว เห็นมีแต่พระลูกกรรมนั่นแหละ ไปอุบลฯ บ้าง ไปเขมราฐบ้าง ไปตระการฯ บ้าง ไปโน้นไปนี้บ้าง เสร็จแล้วก็กลับมา แล้วก็มาขอสมาทานวัตร ขึ้นวัตรใหม่ อย่างนี้ไม่สมควร เพราะเวลาที่เราปลงวัตรแล้ว เราจะไปที่ไหนๆ ก็ต้องมีพระภิกษุผู้เป็นปกตัตตะอย่างน้อย ๑ รูปไปด้วย แต่ถ้าเป็นมานัตต์แล้ว ต้องมี ๔ รูปไปเป็นเพื่อน จึงจะใช้ได้

    ๓) อนาโรจนา หมายความว่า ผู้ที่เข้าปริวาสนั้น ต้องบอกวัตรที่ตนประพฤติปฏิบัติอยู่นั้นแก่พระภิกษุผู้ที่ตนยังไม่ได้บอก เช่นว่า มีพระอาคันตุกะมา มาจากโน้นจากนี้ เราก็ต้องบอกท่าน เหมือนกับเราบอกวัตรทุกวันนี้แหละ แต่พระรูปใดที่เราบอกแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องบอกอีก เพราะปริวาสนี้บอกเพียงครั้งเดียวก็ถือว่าใช้ได้แล้ว เว้นไว้แต่พระภิกษุอาคันตุกะจรมา พระภิกษุจรมาแต่ที่โน้นบ้างที่นี้บ้าง เราก็ต้องบอก องค์ประกอบทั้ง ๓ ประการนี้ ผู้ที่ประพฤติวุฏฐานวิธีอยู่ปริวาสต้องทำให้สมบูรณ์ ถ้าบกพร่องข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่าขาด ต่อไปก็

    ๒. มานัตต์ แปลว่า นับราตรี คือ มานัตต์นี้ต้องประพฤติอยู่ ๖ ราตรี หมายความว่า ต้องอยู่ ๖ ราตรี เมื่อครบ ๖ ราตรีแล้วจึงจะขออัพภานได้

    อีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่า เราอยู่ครบ ๖ ราตรีแล้ว แต่เราเผื่อไว้เป็นราตรีที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ก็ได้ ท่านไม่ว่ากระไร ไม่เป็นรัตติเฉท คือว่าเราอยู่ครบ ๖ ราตรีแล้ว ราตรีที่ ๗ นี้ หากว่าขาดตกบกพร่อง ท่านก็ไม่ปรับอาบัติ ไม่ถือว่าขาด เพราะที่กำหนดก็เพียง ๖ ราตรี ถ้าเป็นราตรีที่ ๗ ไม่ปรับอาบัติ ก็ไม่ถือว่าวัตรขาด เพราะเป็นเพียงเราชดเชย

    ๓. ปฏิกัสสนา กิริยาที่เรียกเข้าหาอาบัติเดิม หมายความว่า ในขณะที่เราอยู่ปริวาส ในขณะที่อยู่ปริวาสนั้น บังเอิญเราต้องครุกาบัติใหม่อีกตัวใดตัวหนึ่ง แล้วก็ปกปิดไว้ ถ้าเราปกปิดไว้ ๕ วัน ก็ต้องเข้าปฏิกัสสนา คือ เรียกเข้าหาอาบัติเดิม เราปกปิดไว้ ๕ วัน ก็ต้องอยู่ปริวาสไปอีก ๕ วัน ครบ ๕ วันแล้วจึงจะขอมานัตต์ได้

    (ในห้วงมานัตต์) ถ้าว่าเราต้องครุกาบัติตัวใดตัวหนึ่งแล้วไม่ได้ปกปิดไว้ คือไม่ได้ข้ามคืน ไม่ได้ข้ามราตรี ไม่ได้ปกปิดไว้ เราบอกว่าเราต้องอาบัติ แล้วก็ขอมานัตต์ แล้วก็ประพฤติมานัตต์ได้ ท่านไม่หักราตรี เพราะว่ายังไม่ข้ามคืน เพราะไม่ได้ปกปิด

    แต่ที่ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ ถือว่าแม้ไม่ข้ามคืนก็ตาม ต้องขอปริวาส อย่างน้อยต้องอยู่ปริวาส ๑ คืนเสียก่อนแล้วจึงขอมานัตต์ได้ อีกอย่างหนึ่ง หากว่าเราอยู่ปริวาสครบกำหนดแล้วก็ขึ้นมานัตต์ ในขณะที่ประพฤติมานัตต์นั้นบังเอิญไปต้องครุกาบัติซ้อนอีก จึงต้องขอปฏิกัสสนา คือ เรียก(ชัก)เข้าหาอาบัติเดิมอีก

    ถ้าเราต้องครุกาบัติอีกในขณะที่ประพฤติมานัตต์อยู่นั้น หากว่าปกปิดไว้เท่าไร กี่วัน เราก็ต้องขอปฏิกัสสนาประพฤติมานัตต์อยู่ให้ครบกับราตรีที่เราปกปิดไว้เสียก่อน ครบกำหนดเสียก่อนแล้วจึงจะขึ้น(เริ่มนับราตรีใน)มานัตต์ได้ อันนี้เป็นกฎของปฏิกัสสนา

    ๔. อัพภาน นี้คือ การเรียกเข้าหาหมู่ เป็นความรับผิดชอบของสงฆ์ เมื่อเราทั้งหลายประพฤติมานัตต์ครบกำหนดแล้ว ต้องไปขออัพภานในสงฆ์ วีสติวรรค คือมีพระภิกษุจำนวน ๒๐ รูป (เป็นอย่างน้อย) แล้วก็ขออัพภาน อันนี้เป็นลักษณะของการประพฤติวุฏฐานวิธีโดยย่อ

    ทีนี้ ถ้าการประพฤติวุฏฐานวิธีไม่สำเร็จ สมมติว่าเราต้องอาบัติแล้ว อยู่ปริวาสกรรม ยังไม่ได้ขึ้นมานัตต์เลย เราอยู่ปริวาสกรรม ยังอีก ๕ วันจะครบกำหนด จึงจะขึ้นมานัตต์ได้ บังเอิญเราสิกขาลาเพศไป ภายหลังกลับมาบวชใหม่ ก็อยู่ปริวาสเท่ากับที่เราปกปิดไว้ ๕ วันเสียก่อน จึงจะขึ้นมานัตต์ได้

    พระพุทธบัญญัตินี่เด็ดขาดนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นไม่ทรงให้อภัย แต่ว่าทรงให้เกียรติ ราตรีเท่าใดที่เราได้บอกแล้ว ได้เข้าปริวาสแล้ว ก็ถือว่าแล้วไป สมมุติว่าเราต้องอาบัติแล้วปกปิดไว้ ปกปิดไว้ ๗ วันอย่างนี้ หากว่าเข้าปริวาสไปแล้ว ๒ วัน แล้วกลับมาบวชใหม่ มาขออยู่ปริวาสใหม่ เราก็ขอปริวาสเพิ่มอีก ๕ วัน เพื่ออยู่ให้ครบกำหนด ๗ วันเสียก่อน จึงจะขอมานัตต์ได้

    นี่นะพระพุทธเจ้าไม่ยอม คือไม่ทรงอนุญาต แต่ทรงให้เกียรติ ที่เข้าปริวาสแล้วก็ถือว่าเป็นเข้าไปแล้ว แต่ที่เหลืออยู่ก็ต้องอยู่อีกให้ครบกำหนดเสียก่อนจึงจะขอขึ้นมานัตต์ได้

    อีกอย่างหนึ่ง ในขณะที่เราอยู่มานัตต์มา ๓ ราตรีแล้ว อีกสามราตรีก็จะได้ขออัพภาน แต่บังเอิญในขณะนั้น เราสึกขาลาเพศไปเสียก่อน ภายหลังกลับมาบวชใหม่ เราก็ต้องขอมานัตต์และก็อยู่มานัตต์ให้ครบ ๓ วันที่เราปกปิดไว้เสียก่อน จึงจะขออัพภานได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงให้เกียรติ คือที่อยู่มานัตต์แล้วสามราตรีนั้นก็ถือว่าผ่านไป ให้เกียรติไป แต่ ๓ ราตรีที่ยังเหลืออยู่ ต้องประพฤติมานัตต์ใหม่ให้ครบ แล้วจึงจะขออัพภานได้

    โทษของครุกาบัติ สมมุติว่าเราทั้งหลายที่บวชมาแล้ว ต้องครุกาบัติ ไม่ได้อยู่ปริวาสเลย หมายถึงว่า ไม่ได้อยู่มานัตต์ อะไรก็ไม่ได้อยู่ หากว่าเราสึกขาลาเพศไป แล้วก็ไปมีครอบครัว บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เรากระทำไว้เมื่อเป็นพระก็จะติดตามเราไป

    หากว่าบุญวาสนาบารมีของเรามันน้อย ไม่สามารถจะคุ้มครองครอบครัวได้ บาปครุกาบัติตัวนี้จะให้ผลทันที บางทีไปมีครอบครัวแล้วครอบครัวระส่ำระสาย อยู่ไม่มีความผาสุก เดี๋ยวก็เจ็บโน้นปวดนี้ อะไรจิปาถะ บ้านแตกสาแหรกขาด อะไรร้อยแปดพันประการ

    หลวงพ่อเคยเตือนบ่อยๆ เมื่อลูกศิษย์ลูกหาที่บวชเข้ามาแล้วสึกขาลาเพศไป ไปมีครอบครัว ครอบครัวอยู่ไม่เป็นสุข ระส่ำระส่าย หลวงพ่อก็ได้แนะนำพร่ำเตือนว่า ถ้าว่าเป็นไปได้ เรามาบวชสัก ๑๕ วัน หรือ ๑๐ วัน เข้าปริวาสกับครูบาอาจารย์เสียก่อน แล้วค่อยสึกไป บางทีจะเป็นเหตุปัจจัยให้เราอยู่ได้สบายอย่างนั้นอย่างนี้ต่อไป

    บางคนก็มาบวชด้วยอยู่ปริวาสด้วย เสร็จแล้วก็สึกขาลาเพศไป เมื่อสึกขาลาเพศไป ครอบครัวก็อยู่เป็นสุข อยู่กันอย่างผาสุก อันนี้บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง เล็กๆ น้อยๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ส่วนมากพวกเรามองข้าม เหตุนั้น ญาติโยมชาวบ้านทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ครองฆราวาส ส่วนมากครอบครัวจะระส่ำระส่าย เจ็บที่โน้นปวดที่นี้ ทำมาค้าขายก็ไม่ขึ้น ทำมาค้าขายไม่มีร่ำรวย อะไรจิปาถะ เพราะว่าบาปกรรมตัวนี้มันติดตามไป

    เหตุนั้นก็พึงสังวรให้ดี ถ้าว่าเราจะสึกขาลาเพศ หรือว่าลูกศิษย์ลูกหาเราจะสึกขาลาเพศ ก็ขอให้เขาได้ประพฤติวุฏฐานวิธีจบเสียก่อน แล้วจึงค่อยสึกขาลาเพศไป ครอบครัวจะอยู่เป็นสุข

    อีกอย่างหนึ่ง หากว่าเราต้องครุกาบัติแล้วยังไม่ได้ทำให้บริสุทธิ์ คือยังไม่ได้อยู่กรรม หากว่าเรามีโอกาสไปเจริญสมถกัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะได้ฌาน หากเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่เมื่อเราต้องครุกาบัติแล้ว ได้อยู่ปริวาสเหมือนกันกับอยู่ในขณะนี้แหละ เมื่อเราอยู่ปริวาสอย่างนี้แล้ว การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานก็สามารถผ่านการปฏิบัติไปได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นมานัตต์หรืออัพภาน

    คือเวลาเราเข้าปริวาส เราขอปริวาสแล้วก็อยู่ปริวาส(ครบราตรีตามที่ปกปิดไว้)แล้ว เราก็ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานผ่านไปได้ หากว่าเป็นสมถกัมมัฏฐานก็สามารถที่จะได้ฌาน หากว่าเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้

    สรุปว่า อานิสงส์ของการอยู่ปริวาสกรรมมีเป็นอเนกประการ แต่ขอสรุปสั้นๆ ว่า การที่เราอยู่ปริวาสกรรมอย่างนี้ สามารถที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด

    ๑. สีลวิสุทธิ คือทำให้ศีลของเราบริสุทธิ์ จะเป็นศีล ๕ ก็ตาม ศีลอุโบสถ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ตาม ศีลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เมื่อเราอยู่ปริวาสแล้ว จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บริสุทธิ์ได้ เรียกว่า สีลวิสุทธิ ทำให้ศีลของเราบริสุทธิ์ได้

    ๒. จิตตวิสุทธิ ทำให้จิตของเราบริสุทธิ์ได้ เมื่อใดเราต้องครุกาบัติแล้ว เราได้อยู่ปริวาสแล้ว เมื่อเราอยู่ปริวาสปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปด้วยอย่างนี้ จิตใจของเราก็ไม่ระส่ำระสาย ไม่วิปฏิสาร ไม่เดือดร้อน จิตใจเป็นปกติ จิตใจสงบ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราบริสุทธิ์ได้ เรียกว่า จิตตวิสุทธิ และเมื่อจิตของเราบริสุทธิ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด

    ๓. ทิฏฐิวิสุทธิ คือเกิดปัญญาขึ้นมา เห็นรูป เห็นนาม เห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ มีความเห็นบริสุทธิ์ ทำความเห็นของเราให้บริสุทธิ์ได้

    ๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ เมื่อทิฏฐิของเราวิสุทธิ์แล้ว ทิฏฐิวิสุทธิตัวนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีความเห็นถูกต้อง ไม่กังขาสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่สงสัยในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ ไม่หลงใหลอยู่ในอำนาจของวิปัสสนูปกิเลส จะทำความเห็นของเราให้ถูกต้องและดำเนินไปในทางที่ถูกได้

    ๕. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่อกังขาวิตรณวิสุทธิสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือความเห็นว่าการปฏิบัติอยู่นี้มันถูกหรือมันผิด จะรู้ทันทีว่า เอ้อ ทางที่เราปฏิบัติอยู่นี้ถูก ทางนี้ผิด แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    และก็เห็นความเกิดความดับของรูปนาม รูปนามเกิดก็รู้ รูปนามดับก็รู้ หมดความเคลือบแคลงสังสัย หลังจากนั้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ดำเนินไปตามลำดับ จะเห็นความดับของรูปนาม เห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เบื่อหน่ายในรูปในนาม หาทางออก ทางหนี ทางหลุด ทางพ้นไปจากรูปจากนาม

    จิตใจเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย เพื่อบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน หลังจากนั้น เมื่อปฏิบัติไปจิตใจของผู้ปฏิบัติก็จะสงบ เยือกเย็น ไม่วิปฏิสาร ไม่เดือดร้อน ไม่ระส่ำระสาย จิตใจก็เป็นปกติ ร่าเริง เบิกบาน อยู่ตลอดเวลา มีความวางเฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่ถูกกิเลสตัณหาเข้าครอบงำ

    เมื่อ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ สมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ มีความรู้ความเห็นดำเนินไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ญาณที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔ ไป หลังจากนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคควิถี เมื่อมัคควิถีเกิดโดยสมบูรณ์ เรียกว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ คือมีความเห็นบริสุทธิ์ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคคญาณ ผลญาณ สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานตามกำลังของมรรคได้ อันนี้เป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการประพฤติวุฏฐานวิธี

    อีกอย่างหนึ่ง สำหรับบางท่านที่เคยบวชเป็นสามเณรมาก่อน แล้วก็อยู่ต่อมาอายุครบบวชพระก็บวชพระอย่างนี้ เมื่อเราบวชพระเสร็จแล้ว มีเวลาก็ควรประพฤติวุฏฐานวิธี คืออยู่ปริวาสกรรมเสียด้วย

    การอยู่ปริวาสกรรมครั้งแรกนี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บริสุทธิ์เฉพาะในสมัยที่เราเป็นพระเท่านั้น ส่วนสมัยที่เป็นสามเณรยังไม่บริสุทธิ์ เหตุนั้น เมื่อเราออกจากอัพภานกรรมแล้ว ต้องอยู่ปริวาสเป็นการชดเชยอีกครั้งหนึ่ง ครบแล้วขึ้นมานัตต์แล้วก็ขออัพภาน จึงจะบริสุทธิ์ได้ทั้งที่เป็นพระทั้งที่เป็นเณร อันนี้เรียกว่าเป็นเกร็ดความรู้พิเศษ

    ท่านทั้งหลาย สำหรับครูบาอาจารย์ก็พอที่จะทำเนา เมื่อเราประพฤติวุฏฐานวิธี เข้าปริวาส อยู่มานัตต์ ขออัพภานแล้ว จึงจะบริสุทธิ์ แต่สำหรับญาติโยม เช่น อุบาสก อุบาสิกา เป็นปะขาว แม่ชีก็ดี เป็นสามเณรก็ดี เราไม่มีโอกาสที่จะบอกวัตรกับท่านเหมือนกันกับที่บอกทุกวันนี้ เราจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร ศีลของเราจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร และบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เราทำมาก่อนแล้ว จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร นี่เป็นปัญหาที่เราต้องคิดอีกอย่างหนึ่ง

    ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย แม้ว่าเราจะเป็นพระก็ตาม เป็นสามเณรก็ตาม เป็นโยมผู้หญิงผู้ชายก็ตาม เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ตาม เป็นปะขาวแม่ชีก็ตาม เหตุปัจจัยจะให้เกิดความบริสุทธิ์นั้น ดำเนินไปตามวิถีเดียวกัน ดำเนินไปในทางเดียวกัน คือจะเป็นพระก็ตาม เป็นเณรก็ตาม เป็นโยมผู้ชาย ผู้หญิง ปะขาว แม่ชี ในขณะที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นี้

    บางทีในขณะที่เราบอกวัตรก็ตาม ในขณะที่เราเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ก็ตาม ในขณะนั้น เมื่อสติสัมปชัญญะของเราแก่กล้าแล้ว องค์ประกอบต่างๆ สมบูรณ์แล้ว คือศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี สมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิถีของเราเกิดขึ้นตามลำดับของมันได้ เช่น ในขณะที่เราเดินจงกรมอยู่ก็ดี นั่งสมาธิอยู่ก็ดี ในขณะนั้น รูปนามปรากฏชัดเจนขึ้นมา เห็นรูปนามปรากฏชัดเจนขึ้นมา เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้นมาในขณะใด

    ขณะนั้น ชวนจิต ของเราดวงที่ ๑ ก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้จิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นมา คือ สัมปฏิจฉนจิต เกิดขึ้นมารับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วโวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป

    เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิตก็จะเกิดขึ้นมา เมื่อชวนจิตเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเสพพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ชั่ว ๗ ขณะ แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต นำเอาไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลงสู่ภวังค์ เมื่อพระไตรลักษณ์ลงสู่ภวังค์แล้ว ภวังคจิต นั้นก็ทำหน้าที่รักษาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เอาไว้ในภวังคจิต

    และในขณะที่พระไตรลักษณ์ปวัตติไปจนถึงภวังคจิต (พระไตรลักษณ์นั้น) ก็จะทำหน้าที่ประหารกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เช่นว่า อนุสัย ๑๐ หรือกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ที่ติดตามเรามาแต่หลายภพ หลายชาติ หลายกัป หลายกัลป์ ก็จะถูกพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นทำลายหรือประหัตประหารให้ดับไป สิ้นไป สูญไป ตามกำลังของมรรค

    อันนี้เป็นลักษณะ หรือว่าเป็นการ(ตอบคำถามที่ว่า) ที่เราอยู่ปริวาสปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร ท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจ

    สรุปว่า เมื่อใดเราเข้าปริวาสปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างนี้แล้ว จนสามารถยังพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เกิดขึ้น เมื่อพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะปวัตติไปตามวิถีของจิต ลงสู่ภวังค์ เมื่อถึงภวังค์แล้ว ก็จะทำหน้าที่ประหารหรือทำลายกิเลสทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในขันธสันดานของเราให้ดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดานของเราได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่บวชเป็นสามเณรก็ดี เป็นปะขาว แม่ชี ทายก อุบาสก อุบาสิกาก็ดี อย่าได้น้อยใจว่า เราไม่ได้เป็นพระ ไม่มีโอกาสเข้ากรรมหรือบอกวัตรกับท่านได้อย่างนั้นอย่างนี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้คิดเช่นนั้น เพราะว่าการที่เราทั้งหลายอยู่ปริวาสปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้สมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บริสุทธิ์ได้ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

    ท่านทั้งหลาย สำหรับการบอกวัตรเหมือนกัน ท่านทั้งหลายอาจรู้สึกรำคาญในการบอกวัตร เดี๋ยวก็บอกวัตรๆ เช้าก็บอกวัตร ค่ำก็บอกวัตร ท่านทั้งหลายอาจจะถือว่าเป็นเรื่องลำบากยุ่งยาก บางทีก็ไม่มีการปลง(เก็บ)วัตรเลย ทั้งวันทั้งคืน ก็อยู่ปริวาสตลอดไป หรืออยู่มานัตต์ตลอดไป

    บางท่านอาจเกิดความเครียดขึ้นมา ไม่สบาย เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา ท่านทั้งหลายอย่าได้คิดเช่นนั้นเลย เพราะว่าการบอกวัตรนี้ ยิ่งบอกเท่าไรก็ยิ่งทำให้เกิดความบริสุทธิ์ อย่างวันนี้ ครูบาอาจารย์รูปโน้นมา รูปนี้มา มาจากวัดโน้น มาจากวัดนี้ ก็เหมือนกันกับพระเจ้ามาโปรด เพราะว่า ในขณะที่เราบอกวัตรแก่ท่านนั้น จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ศีลของเราบริสุทธิ์ขึ้น

    เหมือนกันกับเราซักผ้าอย่างนี้ เราซักผ้า ซักบ่อยๆ ผ้าของเราก็บริสุทธิ์ หรือว่าเราอาบน้ำถูสบู่ ถูบ่อยๆ ก็ทำให้คราบสกปรกของเรามันหมดไป มันก็สะอาดขึ้นมาแทนที่ หรือว่าแก้วของเรามันสกปรก มันเลอะเทอะ เราเอาผงซักฟอกมาขัดบ่อยๆ ขัดไปๆ คราบสกปรกมันก็หมดไปๆ ความสะอาดก็เกิดขึ้นมาแทนที่ ข้อนี้ฉันใด

    เมื่อเราทั้งหลายต้องครุกาบัติแล้วประพฤติวุฏฐานวิธีอย่างนี้ เราบอก(วัตร)บ่อยเท่าไรๆ ก็ยิ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บริสุทธิ์ ให้ศีลของเราบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป เหตุนั้น การบอกวัตรนั้น ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่ามันเป็นของพร่ำเพรื่อ ทำให้เกิดความเครียดความเบื่อหน่าย ไม่อยากมาบอกอะไรทำนองนี้ ขอให้ระวังให้ดี

    เอาล่ะท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้นำเอาเรื่อง การประพฤติวุฏฐานวิธี มาบรรยายเพื่อประกอบความรู้ของท่านทั้งหลาย เล็กๆ น้อยๆ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา หากว่ายังมีปัญหาอะไรขัดข้องในจิตในใจ มีโอกาสมีเวลาก็ค่อยไถ่ถามกัน สำหรับวันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
    - . EndLineMoving.gif

    :- https://www.watpitch.com/dhamma-for-performing/2390/
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 5 พฤษภาคม 2020

แชร์หน้านี้

Loading...