การศึกษาของไทย กับ พุทธศาสนาเขียนเองโดย telwada

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย telwada, 6 กันยายน 2010.

  1. telwada

    telwada เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,606
    ค่าพลัง:
    +1,817
    การศึกษาของไทย กับ พุทธศาสนา
    ชนชาติไทย เป็นกลุ่มคนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศจีนตอนใต้ มีอยู่หลายกลุ่ม หลายเผ่า เช่น ไทยดำ,ไทยขาว,ไทยใหญ่(ไทยอาหม)ไทยลื้อ,ไทยเขิน,และไทยน้อย อันเป็นเผ่าคนไทยในปัจจุบัน อพยพเดินทางมาจนถึงดินแดนปัจจุบันนี้ ซึ่งเดิมมีกลุ่มชน อาศัยอยู่ในบริเวณนี้กระจัดกระจายหลายกลุ่ม เช่น ละว้า ขอม เป็นต้น
    ชนเผ่าหรือชนชาติต่างๆไม่ว่าจะอยู่ ณ.ที่แห่งใด ล้วนย่อมมีการเล่าเรียนศึกษา และหรือได้รับการเล่าเรียนศึกษาสืบทอดต่อๆกันในหลากหลายสาขาวิชา การศึกษาในสมัยโบราณนั้น ส่วนใหญ่มีการแบ่งกลุ่มสำหรับการรับการศึกษา เช่น กลุ่มชั้นปกครอง กลุ่มประชาชนทั่วๆไป แต่ละกลุ่มนั้นจะมีการศึกษาหรือได้รับการศึกษา ที่แตกต่างกันไปตามความจำเป็นในการครองเรือน หรือตามความจำเป็นในการดำรงชีวิต ซึ่งในยุคก่อนที่จะมีศาสนา กลุ่มชนเหล่านั้น ก็มีการศึกษาทั้งในด้าน อักษรศาสตร์, ยุทธศาสตร์, การปกครอง,พาณิชย์ศาสตร์, โหราศาสตร์,แพทย์แผนโบราณ, ดนตรี, ขับร้อง, การอุตสาหกรรม, หัตถกรรม, ศิลปกรรมต่างๆ ตลอดรวมไปถึง การทำอาหาร,การเย็บปักถักร้อย,การสร้างวัสดุเครื่องมือในการเลี้ยงชีพด้านการประมง,ล่าสัตว์,เกษตรกรรม,และยังหมายรวมถึง วิธีหรือวิชาการประกอบอาชีพด้านต่างๆเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือดำรงชีวิตในสังคมนั้นๆ การเล่าเรียนศึกษาในด้านต่างๆตามที่ได้กล่าวไป ย่อมมีการเรียนรู้หรือศึกษาตามฐานันดร ตามถิ่นที่อยู่อาศัย ตามลักษณะภูมิประเทศ และลักษณะภูมิอากาศ อันจะเป็นปัจจัยหรือเป็นเครื่องกำหนดให้กลุ่มชนแต่ละกลุ่มชน จำเป็นต้องเรียนรู้ศึกษาในวิชาการหรือหลักการหรือวิธีปฏิบัติ ตามสาขาวิชาเหล่านั้นเพื่อการดำรงชีพตามสังคมนั้นๆ หรือเพื่อการเลี้ยงชีพ
    ตามประวัติศาสตร์ที่ปรากฎ ประเทศไทยได้เกิดขึ้นโดยเริ่มนับเอาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นต้นมา ซึ่งแท้จริงแล้วชนชาติไทย หรือชนเผ่าไทยได้อาศัยอยู่มาก่อนจะมี กรุงสุโขทัยแล้ว ต่อมาเมื่อ พ่อขุนรามคำแหง ได้รวบรวมกลุ่มคนไทย และหัวเมืองต่างๆ พร้อมกับได้สร้าง กรุงสุโขทัย เป็นราชธานีคือ เป็นเมืองหลวงแห่งแรกของไทย ประเทศไทยจึงถือเอาการสถาปนา กรุงสุโขทัย เป็นราชธานี เป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นการเกิดขึ้นของประเทศไทย ประมาณปี พ.ศ. ๑๗๙๑ เป็นต้นมา
    ในยุคสมัยก่อนจะเกิดกรุงสุโขทัยนั้น กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคแถบนี้ มีการนับถือหรือศรัทธา คือมีความเชื่อในเรื่องของ ผี (ผีปู่ย่า ผีบรรพบุรุษ ผีบ้านผีเรือน ผีป่า นางไม้ ผีเจ้าที่เจ้าทาง ผีภูเขา ผีน้ำ เป็นต้น) บางกลุ่มชนก็นับถือดวงดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ต่อมา เมื่อศาสนาพราหมณ์ได้แผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาคแถบนี้กลุ่มชนทั้งหลายเหล่านั้น ก็หันไปนับถือและมีความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ เพิ่มเข้าไปนอกเหนือจากการที่มีความเชื่อหรือมีการนับถือที่มีอยู่เดิม ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะศาสนาพราหมณ์ ไม่ขัดต่อความศรัทธาหรือไม่ขัดต่อความเชื่อที่กลุ่มชนเหล่านั้นมีอยู่เดิม เรียกว่า ไปด้วยกันได้ ดังนั้นกลุ่มชนเหล่านั้นจึงนับถือหรือมีความศรัทธาทั้งในศาสนาพราหมณ์ และมีความนับถือหรือศรัทธาในรากฐานความเชื่อเดิมๆไปพร้อมๆกัน แต่ก็มีการแบ่งแยกในการทำพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ กับพิธีกรรมของการศรัทธาหรือนับถือผี,หรือดวงดาวฯที่มีอยู่เดิม ไปตามลักษณะฐานันดรของแต่ละบุคคลแต่ละครอบครัวในกลุ่มชนเหล่านั้น
    ต่อมาเมื่อ พุทธศาสนาได้เกิดขึ้น และแผ่ขยายมายังภูมิภาคแถบนี้ กลุ่มชนหลายๆกลุ่มชนบ้างก็ได้รวมตัวกัน รวบรวมกัน มีอาณาเขต เป็นเมือง เป็นแคว้น เป็นประเทศ กันบ้างแล้ว เมือง,แคว้น,ประเทศ เหล่านั้น ต่างก็มีการเรียนการสอน อันป็นการเรียนการสอน หรือการศึกษา ในวิชาการ หลักการ ตามสาขาวิชาต่าง ๆ กันอยู่แล้ว ซึ่งเหล่าบรรดา เมือง,แคว้น,ประเทศเหล่านั้น ล้วนมีภาษาพูด เขียน เป็นของตัวเอง มาก่อนประเทศไทย คือมีมาก่อนกรุงสุโขทัย ต่อมาเมื่อพ่อขุนรามคำแหง ได้สถาปนา กรุงสุโขทัย เป็นราชธานี จึงได้รับเอาพุทธศาสนา หรือถ้าจะกล่าวตามความเป็นจริง ก็คือ ได้รวบรวมเอา พุทธศาสนา เข้าไว้ในกรุงสุโขทัยด้วย เพราะพุทธศาสนา ได้แพร่ขยายเข้ามาในภูมิภาคแถบนี้ก่อนแล้ว ดังนั้น ในสมัยกรุงสุโขทัย จึงมีการเรียนการสอนการศึกษา ทั้งทางด้าน หลักวิชาการ หรือหลักการ หรือหลักปฏิบัติ ในสาขาวิชา ต่างๆ อย่างหนึ่ง และมีการเล่าเรียนศึกษา ในด้านพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่ง
    การศึกษาในยุคสมัยสุโขทัยนั้น ผู้ชายไทยเกือบทุกคนหากจะเล่าเรียนเขียนอ่าน และเล่าเรียน ศิลปวิทยาการ ศิลปการต่อสู้ การแพทย์ และอื่นๆอีกหลายวิชา ล้วนต้องไปเล่าเรียนในวัดเรียนกับพระสงฆ์แทบทั้งสิ้น และภาษาที่ใช้เล่าเรียนเขียนอ่านในยุคนั้นสันนิษฐานว่าใช้บาลีในพุทธศาสนาเป็นรากฐานในการเล่าเรียนเขียนอ่าน ต่อมาเมื่อ พ่อขุนรามคำแหง มหาราช ได้ทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมาใช้ (พ.ศ.๑๘๒๖) จึงได้มีการเล่าเรียนเขียนอ่านภาษาไทย ซึ่งก็ผสมผสานการเรียนไปกับภาษาบาลี เรื่อยมาจนถึงยุคกรุงศรีอยุธยา จึงมีการแบ่งแยกการเล่าเรียนศึกษาเป็นฝ่ายอาณาจักร และเป็นฝ่ายพุทธจักร เพราะในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติมากมาย ประกอบกับได้มีพวกมิชชันนารี หรือนักบวชสอนศาสนาคริสต์ ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนา ในยุคนั้นได้มีการเล่าเรียนศึกษา ในวิชาสามัญทั่วไป วิชาชีพต่างๆ วิชาหัตถกรรม การบ้านการเรือน ทั้งนี้ยังรวมไปถึง การเล่าเรียนศึกษาที่มีอยู่เดิมซึ่งผู้ชายไทยส่วนใหญ่ก็มักจะได้เล่าเรียนในวัดจากพระสงฆ์ผู้คงแก่เรียนบ้าง เล่าเรียนจากชุมชนจากบ้าน จากบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือจากผู้มีวิชาความรู้ ที่ตั้งเป็นสำนักเรียน ประการสำคัญประการหนึ่งในยุคกรุงศรีอยุธยานี้ ได้มีการสร้างแบบเรียนขึ้นมาบ้างแล้ว จวบจนมาถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้แยกการเรียนภาษาไทย กับ ภาษาบาลีออกจากกันตามลำดับโดยเด็ดขาด และแยกการศึกษาเป็นฝ่าย อาณาจักร กับฝ่ายพุทธจักร กล่าวคือ ฝ่ายอาณาจักร ก็จะมีการศึกษาเล่าเรียน ตามแบบเรียน ที่ได้มีการแต่งและเรียบเรียงขึ้นใหม่ อีกทั้งยังได้มีการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ ดาราศาสตร์ ฯลฯ และมีวิวัฒนาการ พัฒนาการในการเรียนการสอน มาตามลำดับ จนมาถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการแยกการเรียนการสอนหรือการศึกษา เป็นอาณาจักร และพุทธจักร คนไทยส่วนใหญ่ ในสมัยนั้นล้วนได้รับการเรียนรู้ ได้รับการศึกษาจากวัด จากพระสงฆ์ จากการบวชเรียน จนถึงขนาดมีกฎเกณฑ์ของทางราชการกำหนดไว้ว่า ผู้ใดจะเข้ารับราชการต้องผ่านการบวชเรียนมาก่อน จึงกลายเป็นวัฒนธรรมประเพณี ที่ชายไทยต้องบวชเรียนเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ ซึ่งการบวชเรียนมาก่อนจึงจะสามารถเข้ารับราชการได้นั้น แท้จริงแล้วเริ่มมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
    แบบเรียนภาษาไทย ได้เริ่มมีการแต่งขึ้นครั้งแรก นอกเหนือจากการประดิษฐ์อักษรไทยโดย พ่อขุนรามคำแหง เกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยา แบบเรียนภาษาไทยในสมัยนั้น เป็นแบบเรียนที่เรียบเรียงแต่งขึ้นตามแบบอย่างการเรียนภาษาบาลี เพราะได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ แบบเรียนจึงเป็นไปในแนวทางนั้น ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้มีการสร้างแบบเรียนขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง “ และต่อมา ได้มีการแต่งแบบเรียนเร็วสำหรับการเรียนการสอนภาษาไทยขึ้นใหม่อีก โดย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นแบบเรียนที่ใช้หลักการทางพุทธศาสนา เพื่อทำให้ผู้เรียนที่เป็นเด็กตั้งแต่ชั้นมูล หรืออนุบาลจนถึง ประถมศึกษาปีที่ ๒ ได้มีพื้นฐาน หรือรากฐาน ทั้งในด้านภาษาไทย และในด้านวิวัฒนาการหรือพัฒนาการทางสมองสติปัญญา ทำให้รู้จักแยกแยะ วิเคราะห์ พิจารณา ใช้ความคิด ความจำ รู้จักปรุงแต่ง คือการผสมอักษร ผสมสระ วรรณยุกต์ ตัวสะกด อีกทั้งยังทำให้เกิดความคิดความจำพื้นฐาน ในอันที่จะเล่าเรียนศึกษาในหลักวิชาต่างๆได้อย่างกว้างขวาง เป็นแบบเรียนที่เหมาะสมกับเด็กไทย เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เหมาะสมต่อสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ,ภาษา,ศาสนา,ฯ อีกทั้งเกี่ยวข้องกับหลักโภชนาการของเด็กไทยอีกด้วย” และด้วยการเรียนการสอนตามแบบเรียนเร็วที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงแต่งนั้น คนไทยในสมัยนั้น แม้จบ เพียง ป.๔ ก็สามารถ ที่จะประกอบอาชีพต่างๆ เช่น ครู ข้าราชการ และอื่นๆได้เป็นอย่างดี อย่างนี้เป็นต้น
    เมื่อมาถึงยุคการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในเวลาต่อมา ตามความเชื่อของพวกคลั่งไคล้ ชาวต่างชาติจนเกินไป หลักสูตรการเรียนการสอน ตำราหรือแบบเรียน วิธีการในการเรียนการสอนของเด็กไทยในชั้นพื้นฐาน ก็ถูกเปลี่ยนไป ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงกาล เพราะคิดว่าหลักสูตรการศึกษา หรือตำราเรียนหรือวิธีการเรียนการสอนของชาวต่างชาติดีกว่า โดยไม่ได้คำนึงถึง ลักษณะสภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ,สังคม,สภาพภูมิประเทศ,ภูมิอากาศ,ภาษา,โภชนาการ,ศาสนา,ฯ ซึ่งความจริงแล้ว หลักสูตรการเรียนการสอน ตำราเรียนหรือแบบเรียน ตั้งแต่ชั้นมูล หรือ อนุบาล จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ควรใช้หลักสูตรเดิม ใช้การเรียนการสอนแบบเดิม ใช้แบบเรียนหรือตำราเรียนแบบเดิม แต่ผสมผสานหลักสูตรทันสมัยเข้าไปบ้าง จนถึง ประถมศึกษาปีที่ ๓ จึงมีการเรียนการสอนแบบบูรณาการชั้นพื้นฐาน เด็กไทยสมัยนี้ สะกดคำไทย อ่านภาษาไทย ได้ไม่ดีเท่าที่ควร และเป็นส่วนใหญ่ด้วย อีกทั้งยังไม่รู้จักการ คิดพิจารณา,ไม่รู้จักการวิเคราะห์ความน่าจะเป็น,ไม่รู้จักการวิเคราะห์ว่าควรใช้หรือไม่ควรใช้,ไม่รู้จักวิเคราะห์ว่า สมควรหรือไม่สมควร, ไม่รู้จักการประพฤติปฏิบัติทั้งทางกาย วาจา และใจ อย่างมีเหตุผล เพราะหลักสูตรการศึกษา แบบเรียน ตำราเรียน วิธีการเรียนการสอน ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยความไม่รู้ของพวกผู้มีความคิดว่า หลักสูตรหรือแบบเรียนหรือวิธีการเรียนการสอนของชาวต่างชาติดีกว่า แต่แท้จริงแล้ว แบบเรียนหรือหลักการเรียนการสอนของไทยที่มีมาแต่เดิมนั้น เป็นหลักการในการเรียนการสอนอันได้ดัดแปลงมาจากหลักพุทธศาสนา เพื่อให้ผู้เรียนในระดับตั้งแต่ชั้นมูลหรือชั้นอนุบาลจนถึงประถมปีที่ ๒ ได้เรียนได้ฝึก เพื่อให้เกิดพื้นฐานพัฒนาทางด้านจิตใจและพัฒนาทางด้านสมองสติปัญญา ทั้งด้าน ความคิด ความจำ การวิเคราะห์ความน่าจะเป็น,การวิเคราะห์ว่าควรใช้,การวิเคราะห์ว่าสมควรหรือไม่สมควรอย่างนี้เป็นต้น ที่ได้กล่าวไป เป็นการกล่าวถึง การเรียนการสอนวิชาภาษาไทยชั้นพื้นฐาน ส่วนวิชาอื่นๆ เช่น วิชา เลขคณิต และอื่นๆ ย่อมต้องมีอยู่แล้ว เพราะวิชาเลขคณิต การบวก,ลบ,คูณ,หาร ในสมัยสุโขทัย และสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็มีการเรียนการสอนเป็นปกติกันอยู่แล้ว
    เมื่อเด็กเยาวชนไทย ไม่มีพื้นฐานหรือพัฒนาการทางด้านสมอง,ในด้านจิตใจ,ด้านความจำ,ความคิด การวิเคราะห์ อีกทั้งไม่สามารถนำความรู้ที่มีอยู่มาผสมผสาน หรือปรุงแต่ง ให้เกิดเป็นความรอบรู้ อย่างต่อเนื่อง จึงไม่สามารถเรียนหรือเข้าใจในภาษาไทย และเรียนหรือศึกษาในวิชาการต่างๆได้ดีเท่าที่ควร ประการที่สำคัญ เด็กไทย ห่างไกลจากธรรมะ เพราะตามแบบเรียนในสมัยก่อนนั้น เป็นแบบเรียนที่แฝงไว้ซึ่งธรรมะ สามารถสร้างพื้นฐานทางสภาพจิตใจและสมองของเด็กไทย ให้รู้จักคิด วิเคราะห์ จดจำ อีกทั้งการสอนการปฏิบัติธรรมะในสถานศึกษา ก็ผิดวิธี ได้แต่สอน ปฏิบัติสมาธิ แล้วบอกกับเด็กหรือเยาวชนว่า เป็นการปฏิบัติธรรม แทนที่จะนำเด็กหรือเยาวชนไปวัดหรือนิมนต์พระสงฆ์ มาเทศนาธรรม ให้รู้จักวิธีการปฏิบัติธรรมะอย่างแท้จริง เป็นการปลูกฝังให้เด็กหรือเยาวชนไทยรักษาวัฒนธรรมประเพณี รักษาศาสนา นอกเหนือจากการเรียนจากตำราเรียนหรือหลักสูตรที่มีอยู่
    เมื่อเด็กหรือเยาวชนไทย ไม่มีพื้นฐานหรือขาดพื้นฐานทางด้านจิตใจ สมอง ความคิด พฤติกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมทางด้านการศึกษา ,พฤติกรรมทางสังคมของเด็กไทย ก็ย่อมเบี่ยงเบนไปเป็นธรรมดา ควรรีบแก้ไข ไม่ใช่มานั่งคิดแก้ไขปัญหาแบบมีสมองเหมือนเด็กที่มีความคิดเบี่ยงเบน เช่น “ถ้าเด็กหรือนักเรียนนักศึกษาทำผิด จะเอาโทษบิดามารดาบ้าง ,หรือ ถ้าเด็กหรือนักเรียนนักศึกษาทำผิดจะปิดสถานศึกษาบ้าง” ขอให้ท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของไทย ได้ใช้วิจารณญาณ คิดพิจารณา ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และควรได้แก้ไขอย่างเร่งด่วน อีกทั้งควรระลึกไว้เสมอว่า “ลักษณะสภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ,สังคม,สภาพภูมิประเทศ,ภูมิอากาศ,ภาษา,โภชนาการ,ศาสนา, ฯ” เป็นปัจจัย หรือเป็นสิ่งเกื้อหนุน หรือเป็นอุปสรรคในการใช้แบบเรียน ในการใช้หลักสูตร ในการใช้วิธีการเรียนการสอน สำหรับการเล่าเรียนศึกษา
    จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์ ผู้เขียน
    ๑ ถึง ๖ กันยายน ๒๕๕๓
    (บทความประกอบการเขียน ๑.ประวัติการศึกษาไทย ของ พิศมัย วิธีธรรม)
    ( ๒. วิวัฒนาการ การศึกษาไทย โดย กระทรวงศึกษาธิการ,๒๐๐ ปีของการศึกษาไทย)
     
  2. tay pps

    tay pps เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    67
    ค่าพลัง:
    +377
    เยี่ยมครับ เยี่ยมจริงๆ:cool: ชอบมากๆ สุดยอดมนุษย์
     

แชร์หน้านี้

Loading...