ความคิดและชีวิตที่มีธรรมกำกับของ'เจ้ย' อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ในห้อง 'พุทธศาสนากับคนดัง' ตั้งกระทู้โดย paang, 9 กรกฎาคม 2010.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,326
    <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width="100%"><TBODY><TR><TD background=/images/linedot_vert3.gif width=4>[​IMG]</TD><TD vAlign=top align=middle><TABLE border=0 cellSpacing=7 width="100%"><TBODY><TR><TD vAlign=top align=middle><TABLE border=0 cellSpacing=0 cellPadding=0 width="100%"><TBODY><TR><TD class=body vAlign=baseline align=left>
    [​IMG]



    'เจ้ย’ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เจ้าของผลงาน “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส มาสดๆร้อนๆ และก่อนหน้านี้ ใน พ.ศ.2551 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบอิสริยาภรณ์ฝรั่งเศสชั้น Chevalier des Arts et des Lettres ให้แก่เขา

    ศิลปินศิลปาธร พ.ศ. 2548 ศิษย์เก่าในระดับปริญญาตรี จากคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และระดับปริญญาโท ด้านภาพยนตร์ จากสถาบันศิลปะชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา บอกกับ ‘ธรรมลีลา’ ว่า เขาเติบโตมาในบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ และมีความสนใจในหลักธรรมคำสอนและแนวทางของศาสนาพุทธ ในแง่ที่นำมา ทดลองปฏิบัติจริง

    “ผมเป็นพุทธแบบ practical เพราะสนใจด้านวิทยาศาสตร์ จึงทำให้สนใจว่าแนวทางปฏิบัติแบบพุทธช่วยอะไรได้ ในด้านการพัฒนาตัวเอง อย่างช่วงที่ความคิดมันตันมากๆ ตอนนั้นกำลังเขียนบทอยู่ที่เชียงใหม่ ไปทำสมาธิที่วัดทุกเย็น ประมาณชั่วโมงครึ่ง มันช่วยได้มาก เพราะกลับมาก็เขียนบทได้ปรู๊ดปร๊าดเลย”

    อย่างไรก็ตาม การเข้าวัดเพื่อไปทำสมาธิก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาทำเป็นนิสัย เพราะส่วนใหญ่แล้วจะทำอยู่ที่บ้านมากกว่า โดยเลือกใช้แนวทางยุบหนอพองหนอ, พุทธโธ และแนวทางการนับเลขอย่างง่ายๆ โดยนับจากเลขหนึ่งถึงเลขเก้า แล้วนับถอยหลังจากเลขเก้ากลับมาที่เลขหนึ่งอีกที ซึ่งเป็นแนวทางที่เขาจำไม่ได้แล้วว่าได้มาจากสำนักไหน หรือไม่ก็อาจจะคิดขึ้นเอง แต่ที่แน่ๆแนวทางนี้และแนวทางยุบหนอพองหนอ รวมทั้งพุทธโธ ช่วยเขาได้ในแง่ของ การเตือนตัวเองให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน และยังส่งผลให้สมองได้ทำหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ

    “ผมคิดว่าสมองของคนเรามีประสิทธิภาพมากกว่า ที่เรากำลังใช้มันอยู่ในตอนนี้ ถ้าเรารู้จักใช้เป็น และสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราใช้เป็น ก็คือการนั่งสมาธินี่แหละ แม้ผมจะยังนั่งไม่ถึงจุดที่สูงที่สุด ดังเช่นนักปฏิบัติสมาธิบางคน แต่ผมก็เชื่อว่ามันคือวิทยาศาสตร์”

    นอกจากเคยบวชหน้าไฟให้พ่อ ที่ผ่านมาเขาเคยมีความคิดที่จะบวชอีกครั้ง เพราะเชื่อว่า การบวชน่าจะทำให้ชีวิตสงบลง แต่สุดท้ายก็มีอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องงาน ที่มาขัดขวาง ทำให้ไม่ได้บวชเรื่อยมา จนถึงตอนนี้ที่เขาไม่ได้มีความคิดอยากบวชอยู่ในสมองแล้ว เพราะไม่ได้สนใจเรื่องพิธีกรรม แต่สนใจเรื่องการปฏิบัติมากกว่า

    “ผมคิดว่าการทำสมาธิมันอาจจะเหมาะกับเรามากกว่า ตอนนี้ไม่คิดอยากจะบวชแล้ว คิดว่ามันเป็นเรื่องของพิธีกรรม ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราไม่สนใจ ชีวิตของคนเรามันเปลี่ยนไปเรื่อยไง แต่ไม่แน่..ในอนาคตอาจจะต้องการบวชก็ได้”

    และหากเวลานั้นมาถึง เขาก็อยากบวชในรั้ววัดของพระนักปฏิบัติสักแห่งที่ไม่ต้องมีชื่อเสียงมาก เพราะไม่อยากยึดติดที่ตัวบุคคล

    “คงจะบวชกับพระสายปฏิบัติ ที่เน้นความอิสระ เน้นการปฏิบัติ”

    กระนั้นเขาก็เคยติดตามอ่านงานเขียนของพระที่มีชื่อเสียงหลายรูปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม แห่งวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี, พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี), ท่านติช นัท ฮันห์(พระสงฆ์ชาวเวียดนาม) ฯลฯ และยังเคยส่งจดหมายไปปุจฉาเกี่ยวกับเรื่องที่สงสัยให้พระบางรูปช่วยวิสัชนาอีกด้วย ซึ่งคำตอบที่ได้ก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

    “เคยเขียนไปถามว่า ถ้าเราทำภาพยนตร์แล้วคนไม่เห็นคุณค่า เราควรจะทำอย่างไร ควรจะทำต่อไปไหม หรือว่าควรจะไปทำอย่างอื่น พระท่านตอบประมาณว่า ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นเพชร แต่คนอื่นเห็นว่ามันเป็นตม เป็นขยะ ก็ไม่ควรทำ ไปทำอย่างอื่นที่มันมีค่าต่อสังคมดีกว่า ซึ่งผมรู้สึกว่า ฉันไม่เห็นด้วย และยังรู้สึกขัดๆอยู่

    จนได้ไปอ่านหนังสือของท่านติช นัท ฮันห์ เจอประโยคที่ว่า ถ้าคุณทำสิ่งใด แล้วสังคมหรือใครไม่เห็นค่า คุณก็ต้องทำต่อไป คุณไม่ต้องสนใจ ตราบใดที่คุณเห็นค่าของมัน คุณควรจะทำมันอาจจะเป็นขยะก็ได้ ใครจะไปรู้ แต่ว่าในเมื่อคุณเห็นค่า มันอาจจะมีคนเห็นค่าก็ได้ในอนาคต ซึ่งอันนี้ผมรู้สึกว่า อืม.. ครับ ผมเห็นด้วยครับ ก็เป็นการเห็นด้วยที่พยายามเอาใจตัวเองเหมือนกัน (หัวเราะ) และเรื่องของธรรมะก็คงมีหลายมุมมอง”

    หนังสือธรรมะเล่มล่าสุดที่เขาได้อ่านและรู้สึกว่านำมาปรับใช้กับชีวิตและงานที่ทำอยู่ได้มาก คือหนังสือชื่อศิลปะแห่งอำนาจ (THE ART OF POWER) ผลงานเขียนของท่านติช นัท ฮันห์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ที่มิตรสหายซื้อให้เป็นของขวัญและเขาก็ไปหาซื้อฉบับภาษาอังกฤษ มาอ่านอีกเล่ม มันเตือนให้เขารู้จักใช้อำนาจที่มีอยู่ไปในทางที่ถูกต้อง

    “ช่วงที่ได้อ่าน เป็นช่วงที่กำลังถ่ายหนังพอดี และหนังสือเล่มนี้มันเหมือนช่วยไม่ให้เราหลุด เพราะการเป็นผู้กำกับบางครั้งมันเป็นการแสดงอีโก้ของเราออกมาว่า ฉันต้องการอย่างนั้น ฉันต้องการอย่างนี้ เพราะมันเป็นหนังเราไง เราก็จะแสดงอำนาจว่าเราต้องการแบบนั้นแบบนี้ ฉะนั้นหนังสือเล่มนี้มันช่วยเราได้ ว่าเราจะหาจุดสมดุลของอำนาจที่เรามีและควรจะแสดงออกไปอย่างไร”

    ธรรมะอาจช่วยไขปัญหาชีวิตได้ทุกกรณี แต่อาจไม่สามารถชี้วัดหรือกำหนดให้โลกศิลปะโดยเฉพาะโลกของภาพยนตร์ เป็นไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งบางครั้งเขาก็ยอมรับว่ารู้สึกสับสน จนต้องหาคำตอบให้ตัวเอง

    “มันเป็นเรื่องของการที่เราสร้างโลกใบหนึ่งขึ้นมา และเป็นโลกของผู้กำกับเอง ขณะเดียวกันหนังของผมมันเป็นเรื่องของความทรงจำทั้งนั้นเลย ความทรงจำที่เราอยากบันทึกไว้ แต่ขณะเดียวกันผมรู้สึกว่า บางครั้งมันอาจจะขัดกับคำสอนที่ว่าต้องปล่อยวาง ต้องอยู่กับปัจจุบัน อะไรอย่างนี้”

    ในทุกปี บริษัท Kick the Machine ที่เขาดูแลอยู่ จะมีกิจกรรมไปช่วยเหลือสังคม เช่น วัดพระบาทน้ำพุ จ. ลพบุรี และส่วนตัวเขาแม้จะไม่ได้เคร่งครัดกับตัวเองในเรื่องของการทำบุญทำทาน เหมือนเช่นเมื่อก่อนที่หากปล่อยปลาดุกก็จะไม่กินปลาดุก แต่เขาก็พยายามใช้ชีวิตให้อยู่ในขอบเขตที่ว่า คิดดี พูดดี ทำดี

    “เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเรา เราคิดดี พูดดี ทำดี ไม่ขี้โม้ ไม่โกหก หรือว่าไม่ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน เราทำในมุมที่เราคิดว่ามันถูกต้อง แค่นั้นก็พอแล้ว”

    ส่วนหลักธรรมของพุทธศาสนาที่นำมาปรับใช้กับชีวิตมากที่สุดคือ หลักกาลามสูตร อันเป็นหลัก 10 ประการ ที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชนว่า ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณหรือโทษ หรือดีไม่ดีก่อนที่จะเชื่อ

    “หลักนี้ผมว่ามันเหมาะมากกับการใช้ชีวิตในสังคมไทย เพราะว่ามันเป็นสังคมที่มีเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่ออยู่เยอะ พอเรายึดหลักธรรมนี้เราก็จะไม่ไปยึดติดกับอะไรมาก”

    ตัวอย่างเช่น เรื่องของคนที่ระลึกชาติได้ แม้มันจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างภาพยนตร์เรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” และสามารถคว้ารางวัลจากเวทีโลก แต่เขาก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่าคนจะสามารถระลึกชาติได้จริง แม้จะรู้ว่ามีหลักฐานยืนยัน แต่มันก็เป็นเรื่องที่เขาไม่ได้ลงมือพิสูจน์ด้วยตัวเอง

    “ตอนที่ทำเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ ได้ไปสัมภาษณ์พระที่ท่านทำวิจัย ทำวิทยานิพนธ์เรื่องคนที่ระลึกชาติได้ในที่ต่างๆ แล้วก็ไปเจอน้องผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งอยู่ขอนแก่น เขาระลึกชาติได้ เจอญาติของลุงบุญมี ฯลฯ ไม่ใช่ว่าผมไม่เชื่อ รู้ว่ามีหลักฐาน แต่ผมไม่ได้พิสูจน์เอง จึงไม่สามารถบอกได้ว่า ผมเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ การระลึกชาติได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

    ตอนแรกผมเชื่อ แต่ยิ่งทำไป รู้สึกว่า เอ้... เราจะเชื่อทำไม แค่เขาบอกให้ฟัง แต่เขาจะโกหกเราทำไม เพราะมันก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องโกหกอยู่แล้ว แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ผมควรจะต้องรู้เอง ต้องสัมผัสได้เอง”

    ที่ผ่านมาภาพยนตร์บางเรื่องของเขาที่ มีฉากเกี่ยวกับพระสงฆ์อยู่ด้วย เคยถูกองค์กรพุทธบ้านเราเซ็นเซอร์ ถึงเวลานี้เขาก็ยังยืนยันว่าเขาต้องการสะท้อนเรื่องของเปลือกภายนอกที่คนยึดติด ไม่ได้ต้องการทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย

    และในอนาคตเขาก็ยังคงมีความคิดที่อยากจะนำเรื่องราวเกี่ยวกับเปลือกนอกมาสะท้อนผ่านภาพยนตร์ของเขาอีก

    “เรื่องของเปลือก เรื่องของสังคมที่เราอยู่ตอนนี้ ว่ามันมีส่วนผลักดันอะไรบ้าง อย่างที่ผมบอกในการแถลงข่าวที่เมืองคานส์ ว่าสังคมไทยของเรามันเป็นสังคมที่รุนแรงนะ ซึ่งหลายคนก็ไม่เห็นด้วย ทำไมพูดอย่างนั้น ทำไมไปทำให้ภาพพจน์ของประเทศเสียไป

    แต่ความจริงแล้ว มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไง ถ้าเทียบกับหลายๆประเทศ บ้านเรารุนแรงนะ แล้วเรื่องเสรีภาพของสื่อมันน้อยมากๆ เพราะฉะนั้นการที่ผมพยายามสร้างหนังแบบนี้ หนังที่พูดถึงเรื่องความจริง แทนที่เราจะสร้างภาพ สร้างหน้ากากขึ้นมา เพื่อที่จะดึงเงิน ต่างประเทศเข้ามาด้านการท่องเที่ยวหรือสร้างภาพพจน์ อะไรก็ตาม

    ในเมื่อรัฐยังเป็นโลกที่สามอยู่ เราก็ต้องพยายามที่จะแก้มันด้วยภาพยนตร์ ในแง่ที่ว่า ถ้าเราคิดว่าสังคมนี้มันรุนแรงอย่างไร เราก็ต้องพูดออกมา ต้องเสนอออกมา แต่เราก็ไม่สามารถที่จะนำเสนอตรงๆได้ขนาดนั้น แต่ต้องทำให้คนตระหนัก ได้พูดกันว่า เออ...มันยังมีคนอีกหลายกลุ่มนะที่ถูกกระทำ และจริงๆแล้ว เมืองไทยมันไม่ ใช่ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวตลอด เดี๋ยวนี้น้ำก็เน่าเสียหมด แล้ว(หัวเราะ) และชาวนาเองก็ลำบากนะ และมีการสร้างภาพ แม้แต่ในโรงเรียนประถม ผมเชื่อว่า ถ้าเราพูดความจริงแล้ว เราจะสามารถแก้ไขอะไรได้ เหมือนในภาพยนตร์สารคดี หรือว่าในหลายๆประเทศ ที่เขาหันหน้ามาพูดกันจริงๆ เฮ้ย...ปัญหามันคืออย่างนี้นะ มันไม่ใช่การสวมหน้ากาก”

    มุมมองที่มีต่อพระสงฆ์ในปัจจุบัน เขามองว่า พระสงฆ์ก็คือคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีความหลากหลาย มีทั้งด้านที่ดีและไม่ดีให้ได้รับรู้ และเขาไม่ได้มองว่าข่าวด้านอื้อฉาวของพระสงฆ์จะเป็นเรื่องผิดปกติ ที่ทำให้ชาวพุทธเช่นเขาต้องเสียหน้า

    “มันก็ธรรมดา เราไม่ได้รู้สึกเสียหน้าว่าเป็นเมืองพุทธ แล้วทำไมพระสงฆ์มาทำอย่างนี้ ซึ่งโอเคมันก็เป็นเรื่องที่น่าประณาม แต่อยากให้มองว่า นี่ก็เป็นปัญหาส่วนหนึ่งของสังคม ที่เราต้องช่วยกันแก้ไข”

    และเช่นกันแม้เขาจะไม่อาจสรุปได้ว่า ศาสนาพุทธกำลังถูกทำให้เสื่อมศรัทธาลงไปจริงหรือไม่ แต่เขาก็เห็นว่า ความเสื่อมที่สัมผัสได้น่าจะเป็นเรื่องของเปลือกภาย นอกที่มีอยู่มากกว่า เพราะถึงอย่างไรศาสนาพุทธก็ยังเป็น ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนจำนวนมาก

    “ตอนนี้มีหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาออกมาเยอะมาก แล้วคนมันโหยหา ส่วนความเสื่อม มันอาจจะเป็นความเสื่อมของภาพภายนอกของเปลือก และพุทธของผมเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ไง เรื่องของการปฏิบัติ ผมสวดมนต์ตอนกลางคืน เพื่อให้นอนหลับ เพื่อให้มันเคลียร์สมอง

    ผมเลยมองว่า พุทธเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ความเสื่อม น่าจะเป็นเรื่องของภาพพจน์ เรื่องสื่อที่มันขยายขึ้น มันมีอินเตอร์เน็ต แล้วก็มีข่าวให้ได้อ่านได้ฟังถี่ขึ้น ง่ายขึ้น ซึ่งในอดีตจนถึงปัจจุบัน พระอาจจะข่มขืนสีกามาตั้งนานแล้ว แต่พอมันมีข่าวมากขึ้นและเป็นข่าวที่ขายได้ดีด้วย สื่อก็เลยลงกันใหญ่ คือความจริงมันอาจจะเหมือนเดิมก็ได้”

    สิ่งที่ผู้กำกับรางวัลปาล์มทองคำ อยากจะฝากถึงพุทธศาสนิกชนด้วยกันคือ อยากให้ทุกคนรักตัวเอง รักเพื่อนบ้าน แล้วความรักของเรามันจะส่งผลไปถึงสิ่งที่อยู่ไกลตัว นั่นก็คือการรักชาติในที่สุด

    “อยากให้รักตัวเองให้มากขึ้น ถ้าเรารักตัวเอง รักเพื่อน บ้าน รักสังคมที่เราอยู่ แค่นี้การรักชาติในจินตนาการของเรามันก็จะดีขึ้นมาเอง”

    ที่มาของภาพยนตร์ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’

    ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) เป็นภาพยนตร์ไทยนอกกระแส ที่ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งเป็นผลงานเรื่องที่ 6 ของเขา และเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้

    ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องเชิงเหนือจริง การนั่ง สมาธิ สะกดจิต และระลึกชาติ โดยกล่าวถึงลุงบุญมีที่กำลังล้มป่วยด้วยอาการไตวาย ลุงบุญมีรู้ว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึง 48 ชั่วโมง และเชื่อว่าความเจ็บป่วยที่เป็นอยู่อาจเกี่ยวกับกรรมที่เขาเคยฆ่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ตายไปหลายราย เขาถูกภรรยาที่ตายไปมา หลอกหลอนในสภาพผู้บริบาลรักษา ลูกชายที่หายสาบสูญไปนานก็กลับมาจากป่าในสภาพที่คล้ายลิง เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ลุงบุญมีสามารถระลึกชาติได้ และติดตามไปยังสถานที่ที่เกี่ยวของกับอดีตชาติของเขา ก่อนจะเสียชีวิตไปพร้อมๆกับการสนทนาถึงเรื่องราวของชีวิตตนเอง ที่กินเวลานานหลายร้อยปี

    อภิชาติพงศ์เคยกล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดภาพยตร์เรื่องนี้ว่า

    “แรงบันดาลใจมันมาจากหนังสือเรื่องหนึ่งที่แจกในวัดข้างๆ บ้านผมที่ขอนแก่น ความจริงก็ได้หนังสือเล่มนี้มานานแล้ว ก่อนที่จะทำหนังเรื่อง “สัตว์ประหลาด” อีก ก็คิดอยากจะทำมานาน แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะทำออกมาเป็นหนังยังไง จนพอเวลาผ่านไปนาน ได้มาเห็นหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง แล้วก็เดินทางไปอีสานเพื่อไปทำโปรเจคศิลปะ Primitive ได้ไปเจอพระที่วัดและได้คุยรายละเอียดกันมากขึ้น ท่านก็แนะนำให้ไปคุยกับคนอีกคนที่ระลึกชาติได้”

    (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 116 กรกฎาคม 2553 โดย พรพิมล)
    </TD></TR></TBODY></TABLE></TD></TR></TBODY></TABLE>Dhamma and Life - Manager Online</TD></TR></TBODY></TABLE>
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...