เรื่องเด่น คู่ศึกในการปฏิบัติธรรม

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 28 มิถุนายน 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,793
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,564
    ค่าพลัง:
    +26,402
    59D23662-E3F8-4550-9986-E3E1F5F84A61.jpeg

    วันนี้จะกล่าวถึงคู่ศึกในการปฏิบัติธรรมของเรา ก็คือสังโยชน์ที่เป็นเครื่องร้อยรัดเราให้ติดอยู่กับวัฏสงสาร และบารมี ๑๐ ที่จะช่วยให้พวกเราหลุดพ้นจากวัฏสงสารนี้

    สังโยชน์ ๑๐ นั้นเริ่มต้นด้วยสักกายทิฐิ ก็คือมีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา เป็นความเห็นที่ยึดถือปักมั่นแน่นแฟ้นมานับชาติไม่ถ้วน ถ้าใครบอกว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ก็มักจะคิดว่าคนนั้นบ้า ข้อที่ ๒ คือ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติธรรม ว่าทำแล้วจะได้อย่างนั้นหรือไม่ ทำแล้วจะได้อย่างนี้หรือไม่ มัวแต่คิดฟุ้งซ่านอยู่ เลยไม่ได้ปฏิบัติเสียที

    ข้อที่ ๓ คือ สีลัพพตปรามาส การรักษาศีลอย่างไม่จริงไม่จัง ถ้าตราบใดที่เรายังไม่รักษาศีลให้จริงจัง โอกาสที่เราจะหลุดพ้นก็เป็นไปไม่ได้ ข้อที่ ๔ คือ กามฉันทะ ได้แก่ ความยินดีในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสในระหว่างเพศ ข้อที่ ๕ คือ ปฏิฆะ อารมณ์กระทบที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้เราไม่ชอบใจ เป็นต้นเหตุของโทสะ

    ข้อต่อไป คือ รูปราคะ และ อรูปราคะ คือการติดในรูปและในสิ่งที่ไม่ใช่รูป ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ในส่วนที่ติดง่ายที่สุดก็คือฌานสมาบัติ ทั้งในส่วนของรูปฌานและอรูปฌาน เพราะเกิดความสุขเยือกเย็นเนื่องจากกดกิเลสดับลงได้ชั่วคราว ทำให้บุคคลที่ไม่เคยเข้าถึงยึดติดได้ง่าย ข้อที่ ๘ คือ มานะ ความถือตัวถือตนว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา เป็นต้น ข้อที่ ๙ คือ อุทธัจจะ ความคิดฟุ้งซ่าน อยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ และข้อสุดท้าย คือ อวิชชา ความเขลาที่ไม่รู้ถึงสาเหตุของความทุกข์ เลยทำให้เราไปยึดถือมั่นหมายจนเกิดความทุกข์ต่าง ๆ ขึ้นมา

    ในส่วนของบารมี ๑๐ นั้น เริ่มตั้งแต่ทานบารมี การให้ทาน ศีลบารมี การรักษาศีล เนกขัมมบารมี การถือศีล ๘ หรือว่าปฏิบัติธรรมในลักษณะของการถือพรหมจรรย์อยู่คนเดียว ปัญญาบารมี คือการที่เรามีปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงตามสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนมา แล้วสภาพจิตยอมรับตามนั้น วิริยบารมี คือความพากเพียร บากบั่น ไม่ท้อถอย ไปไม่ถึงจุดหมายไม่เลิกอย่างเด็ดขาด ขันติบารมี คือความอดทน อดกลั้น จนกว่าจะบรรลุถึงผลที่เราต้องการ

    สัจจบารมี คือความตั้งใจจริง แน่วแน่ไม่แปรผัน อธิษฐานบารมี คือการที่เรากำหนดใจมั่น ว่าต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อที่จะได้เป็นเป้าหมายในการที่เราจะมุ่งตรงไปในจุดนั้น ๆ เมตตาบารมี คือการรักเขาเสมอด้วยตัวเรา เอาใจเขามาใส่ใจเรา เราไม่ชอบสิ่งใดก็อย่าทำสิ่งนั้นกับคนอื่น เราชอบสิ่งใดให้ทำสิ่งนั้นกับคนอื่น อุเบกขาบารมี คือการที่เรารู้จักปล่อยวาง โดยเฉพาะการปล่อยวางในกายสังขารนี้ ไม่ไปยึดถือมั่นหมายมากมายนัก รู้เห็นตามความเป็นจริงแล้วว่าร่างกายสักแต่ว่าเป็นรูป สักแต่ว่าเป็นธาตุ ให้เราอาศัยอยู่ชั่วคราว

    ในส่วนของบารมี ๑๐ นั้น เรามีหน้าที่ทำให้เต็ม ทบทวนอยู่บ่อย ๆ ว่าข้อไหนบกพร่อง แล้วก็พยายามเสริมสร้างให้เต็มขึ้นมา แต่ในส่วนของสังโยชน์ ๑๐ นั้น เราต้องตัด ต้องละให้ได้ ซึ่งตัวสำคัญที่สุด ก็คือ สักกายทิฐิ ความยึดถือมั่นหมายว่า ร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา เพราะว่าถ้าไปยึดถือมั่นหมายเมื่อไร ก็แปลว่าอวิชชาซึ่งเป็นสังโยชน์ตัวสุดท้าย ครอบงำเราอยู่เต็ม ๆ และขณะเดียว ตัวรูปราคะคือการยินดีในรูป ก็เข้าครอบงำเราอยู่เต็ม ๆ เพราะไปยึดถือร่างกายที่เป็นรูปและนามประกอบกันขึ้นมา ตัวมานะก็จะเกิดขึ้น เพราะไปยึดมั่นถือมั่น

    ดังนั้น...ตัวสักกายทิฐิตัวเดียว ทำให้เกิดสังโยชน์ใหญ่อีกหลายตัวตามมาได้ การที่เราจะตัดสักกายทิฐิ คือความเห็นว่าเป็นเรา เป็นของเรา ก็คือ ต้องพินิจพิจารณาให้เห็นจริงว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบขึ้นมา ให้เราอาศัยอยู่ชั่วคราวตามบุญตามบาปที่สร้างมา เมื่อถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังไป ถ้ายังไม่ถอนความพอใจออก ก็ต้องเกิดมามีร่างกายนี้ใหม่อีก

    ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะเห็นจริง และคลายความยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเราได้ ตัวอื่นก็จะกลายเป็นของง่าย เพราะว่าเราจะหายจากความลังเลสงสัย เพราะเห็นชัดแล้วว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ก็จะตั้งหน้าตั้งตารักษาศีลให้บริสุทธิ์ เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างจริงใจ เห็นว่ารูปฌานและอรูปฌานเป็นเพียงเครื่องมือให้เราก้าวล่วงพ้นจากกองทุกข์ไปเท่านั้น

    ในบรรดาส่วนที่เกี่ยวข้องกับกามารมณ์ และการกระทบกระทั่งต่าง ๆ เกิดขึ้นเพราะมีร่างกายนี้เป็นเหตุ ถ้าเราละร่างกายนี้เสีย ไม่ยึดมั่นถือมั่น อารมณ์กระทบต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่มี ถ้าคลายความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายได้ ตัวมานะก็ลดลงไป ถ้าหากว่าเราปฏิบัติธรรมมาถึงขึ้นนี้ ตัวอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านก็เหลือน้อยเต็มที ก็เหลืออยู่อย่างเดียวคืออวิชชา ที่เรายังไปยึดถือมั่นหมายอยู่ เพราะว่ายังมีความยินดี ยังมีความพอใจในสิ่งต่าง ๆ ทันทีที่เราเกิดความยินดี ก็จะเกิดความอยากมีอยากได้ตามมา ดังนั้น...ต้องเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงสมบัติของโลก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรให้เรายึดถือมั่นหมายได้ ไม่สามารถที่จะหอบข้ามชาติข้ามภพไปได้

    ถ้าสามารถถอนความพอใจ ความยึดมั่นในตรงนี้ลงไปได้ เราก็สามารถที่จะตัดกิเลสเป็นสมุทเฉทปหาน คือละสังโยชน์ใหญ่ทั้งหมดลงได้ ก้าวล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน ดังนั้น...นักปฏิบัติธรรมทุกคนควรจะรู้ว่า ศัตรูของเราคือสังโยชน์นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร และมิตรร่วมรบของเราก็คือบารมี ๑๐ นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วก็ทำการเสริมสร้างบารมี ๑๐ ให้เต็ม ละสังโยชน์ ๑๐ ให้ได้ เราก็สามารถก้าวล่วงพ้นจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานดังใจปรารถนา

    ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันอาทิตย์ที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

    ที่มา : www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...