บทความให้กำลังใจ(ไม่มีคำว่าสายเกินไป)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,730
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ฝึกจิตเพื่อชีวิตที่ผาสุก
    พระไพศาล วิสาโล
    มีนักธุรกิจหญิงคนหนึ่งเป็นโรคหัวใจ ต้องผ่าตัด เมื่อเธอขึ้นไปบนเตียงผ่าตัดแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังไม่ได้สั่งเสียธุระเรื่องหนึ่งกับลูกน้อง เป็นเรื่องสำคัญเสียด้วย ต้องรีบสั่งเสีย เพราะไม่รู้ว่าการผ่าตัดครั้งนี้เธอจะรอดหรือไม่ ความวิตกกังวลทำให้เธอไม่ยอมสลบทั้ง ๆ ที่หมอวางยาสลบแล้ว ยาสลบทำอะไรเธอไม่ได้เลย หมอก็แปลกใจว่าทำไมไม่สลบ จนกระทั่งเธอขอยืมโทรศัพท์มือถือจากหมอ พอสั่งเสียลูกน้องจนเสร็จ เธอก็สลบไปเลย แล้วก็ผ่าตัดได้สำเร็จเรียบร้อย

    ถ้าจิตของคนเรามีความกังวล ไม่ปล่อย ไม่วาง บางครั้งยาก็เอาไม่อยู่ ร่างกายจะตื่นอยู่ตลอดเวลา แต่พอเสร็จธุระ ความกังวลหมดไป กายก็สลบ ชี้ให้เห็นว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

    ถ้าหากว่าเราไม่หมั่นฝึกจิต หรือดูแลใส่ใจจิตของเรา จิตก็สามารถที่จะอาละวาด หรือซ้ำเติมเราได้ เพราะมันมีพลัง อะไรก็ไม่สามารถต้านทานได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากเราฝึกใจให้ดี ก็อาจทำในสิ่งที่ไม่น่าเชื่อได้เหมือนกัน

    คุณหมอสุมาลี นิมมานนิตย์ เป็นหมอผู้เชี่ยวชาญโรคไตของศิริราช ท่านเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ท่านเล่าว่ามีคนไข้อยู่คนหนึ่ง ป่วยเป็นโรคพุ่มพวง หรือโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง(SLE) คือภูมิต้านทานมันทำอวัยวะตัวเอง เรียกง่าย ๆ ว่าร่างกายไม่เป็นมิตรกับตัวเอง ตอนอายุสิบสองเคยถูกหมอคนหนึ่งฉีดยาที่ไขสันหลัง หมอคงมือหนัก และอาจจะไม่มีจิตวิทยา ทำให้เด็กเจ็บมาก เจ็บจนเกลียดหมอและกลัวเข็มฉีดยา ถึงกับด่าหมอและร้องกรี๊ดจนชัก เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง บางครั้งก็หมดสติไปเลย ต่อมาแม่พาเธอไปรักษาที่ศิริราช ได้รู้จักกับคุณหมอสุมาลี คุณหมอพูดคุยกับเธอ จนเกิดความคุ้นเคย เช่น ไต่ถามเธอว่าร้องไห้เรื่องอะไร โกรธใคร มีเรื่องเครียดหรือไม่ เวลาเด็กตอบว่าฝันร้าย คุณหมอก็ให้เด็กวาดรูปให้ดู สิ่งที่คุณหมอทำคือช่วยให้เด็กกลับมาดูความรู้สึกของตัว และเข้าใจความกลัวของตัว

    พอเธอโตขึ้นคุณหมอก็สอนวิธีเดินจงกรม แล้วพาไปเข้าคอร์สเจริญสติ หลังจากนั้นเธอก็รู้สึกดีขึ้น ไม่เครียด ความดันไม่ขึ้น และไม่กลัวเข็มฉีดยา เวลาฟอกไต ต้องใช้เข็มขนาดใหญ่กว่าตะปู เธอก็นิ่งมาก มองเข็มโดยไม่มีอาการอะไร แถมยังกำหนดลมหายใจจนหลับไป จากเด็กที่กลัวเข็มจนเป็นลม ตอนหลังก็สามารถดูเข็มฉีดยาแทงเข้าร่างกายตัวเองได้

    เมื่อถึงวันที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนไต ปรากฏว่าเธอแพ้ยาระงับปวดอย่างหนักจนอาเจียน แผลระบม หมอไม่รู้จะทำอย่างไรดี แต่เธอบอกว่า ไม่เป็นไรหมอ ขอยาพาราหนึ่งเม็ด เธอกินพาราเสร็จก็กำหนดลมหายใจเข้าออกจนหลับไป ปรากฏว่าหมอสามารถผ่าตัดต่อไปได้จนสำเร็จ โดยไม่มีเสียงร้องเจ็บจากเธอเลย หมออัศจรรย์ใจมาก กลายเป็นกรณีศึกษาว่าอำนาจจิตมีพลังมาก ถ้าใช้ให้เป็น ก็สามารถช่วยให้เราอยู่กับความเจ็บปวดได้ โดยไม่มีอาการทุกข์ทรมาน

    จิตนั้นมีพลังมาก อยู่ที่ว่าเราจะใช้ไปทางไหน ถ้าปล่อยจิตให้จมอยู่กับความกลัว ความตื่นตระหนก มันก็สามารถทำให้เราตายได้ง่าย ๆ เพราะว่าร่างกายแย่ลงจนไม่ทำงาน ถ้ามีความกังวล ยาก็เอาไม่อยู่ แต่ถ้ามีความสงบ มีสมาธิ มีสติ กายเจ็บแค่ไหน จิตก็เอาอยู่ จิตนั้นมีพลัง สามารถทำให้กายซึ่งท้อแท้หรือปวกเปียก กลับมามีพลังขึ้นมาได้

    เมื่อสักประมาณเจ็ดสิบปีก่อน มีนักบินชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ขับเครื่องบินตกแถวเทือกเขาแอนดิส แถวละตินอเมริกา เป็นภูเขาสูง มีหิมะปกคลุมตลอดเทือกเขา นักบินคนนี้รอดตาย แต่ต้องกระเสือกกระสนเดินฝ่าหิมะเป็นเวลาสามวันสามคืน แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววของผู้คนหรือชุมชน เขาเหนื่อยล้าเต็มที แต่ก็รู้ว่าถ้าหยุดเดินเมื่อไรจะต้องตายแน่ ๆ เขาจึงพยายามรวบรวมกำลัง เดินไปให้ได้ไกลที่สุด พอเดินไปได้พักใหญ่ก็หมดแรง คิดว่าตายแน่ เขาทำใจไว้แล้วว่าจะต้องตาย ในใจก็นึกอำลาลูกเมีย แล้วจู่ ๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่าถ้าตายอยู่ตรงนี้คงหาศพได้ยาก จะเกิดปัญหาตามมากับครอบครัว เพราะตามกฎหมายของฝรั่งเศส ถ้าหาศพไม่เจอจะเรียกว่าตายแล้วไม่ได้ ต้องรออีกสี่ปี ศาลจึงประกาศให้เป็นบุคคลสูญหาย จากนั้นคนในครอบครัวถึงจะได้เงินประกันชีวิต
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,730
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    นักบินคนนั้นไม่อยากลูกเมียต้องรอถึงสี่ปีกว่าจะได้เงินประกันชีวิต เขาจึงคิดว่าทำอย่างไรให้มีคนหาศพตนเองได้ง่ายขึ้น มองไปข้างหน้าประมาณร้อยเมตร ก็เห็นหินก้อนใหญ่อยู่ก้อนหนึ่ง เขาคิดว่าถ้าไปนอนตายบนหินก้อนนั้น หากมีคนมาตามหาศพเขาก็คงจะเจอง่าย เขาจึงรวบรวมกำลังเป็นครั้งสุดท้าย กระเสือกกระสนไปให้ถึงหินก้อนนั้น แต่พอถึงหินก้อนนั้นแล้วว เขากลับมีกำลังเดินต่อไปได้อีกเก้าสิบ กิโลเมตร จนมีคนพบเขา และช่วยให้เขารอดตายในที่สุด

    จากเดิมที่คิดว่าแค่ร้อยเมตรไม่รู้จะเดินไหวหรือเปล่า ในที่สุดเขากลับมีเรี่ยวแรงเดินไปได้เกือบ ร้อย กิโลเมตร เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะใจล้วน ๆ ก็ว่าได้ ความรักลูก รักเมีย ไม่อยากให้คนเหล่านั้นลำบาก ทำให้เขามีเรี่ยวแรง เกิดกำลังใจ จนสามารถเดินไปได้อีกไกล อย่างที่ตัวเองและคนอื่น ๆ ก็ไม่คิดว่าจะทำได้

    ในทางตรงข้ามแม้ว่าร่างกายยังไหว แต่ถ้าใจไม่สู้ ร่างกายก็คงจะไม่ไหว เหมือนกับกรณีผู้ป่วยด้วยโรคพยาธิปากขอ แต่หมดเรี่ยวแรง เรื่องเหล่านี้ชี้ว่าใจนั้นสำคัญมาก

    ด้วยเหตุนี้ คนเราไม่ว่าเจอเหตุเภทภัยอย่างไร ถ้าหากว่าใจเราเข้มแข็ง หรือได้รับการฝึกมาอย่างดี ก็สามารถประคองตนจนฟันฝ่าเหตุร้ายต่าง ๆ ไปได้ แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องรอดตายทุกครั้งไป เพราะบางครั้งมันก็สุดวิสัย เช่น เป็นมะเร็ง บางครั้งแม้ใจจะสู้ หรือใจยังเป็นปกติอยู่ แต่ร่างกายมันไม่ไหว ก็อาจจะไม่รอด แต่ว่าในระหว่างที่ป่วย ใจก็ไม่ได้ทุกข์ทรมาน

    จิตที่ไม่ได้รับการดูแลหรือฝึกฝน จะเข้าไปซ้ำเติมตัวเราให้ทุกข์มากขึ้น แทนที่จะป่วยกายอย่างเดียว กลับต้องป่วยใจด้วย แทนที่จะเสียทรัพย์อย่างเดียว ก็ต้องเสียสุขภาพจิตด้วย ไม่เป็นอันทำงาน เสียงานเสียการ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เสียสุขภาพ อารมณ์ไม่ดี ใครมาหยอกมาล้อก็โกรธ ด่า ทะเลาะเบาะแว้งกัน เลยเสียเพื่อน แทนที่จะเสียแค่หนึ่งอย่างก็เสียสี่อย่าง อย่างนี้เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง เวลามีเหตุร้ายเกิดขึ้น เราจะเสียอะไรอีกหลายอย่างตามมา ถ้าไม่ฝึกจิตไว้ แต่ถ้าเราฝึกจิตเอาไว้เป็นอย่างดี เมื่อป่วยก็จะป่วยอย่างเดียว คือป่วยกาย ไม่ป่วยใจ เมื่อเสียก็เสียอย่างเดียว คือเสียทรัพย์ แต่อย่างอื่นไม่เสีย เมื่องานล้มเหลวก็ล้มเหลวเฉพาะงาน แต่ตัวเองไม่ล้มเหลว

    หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ท่านทำงานเยอะมาก นอกจากสอนกรรมฐานแล้วว ท่านยังทำงานพัฒนาชุมชน ช่วยเหลือชาวบ้านบ้าน เช่น ทำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สร้างสหกรณ์ข้าวเพื่อช่วยชาวบ้านที่ยากจน ชักชวนชาวบ้านทำเกษตรแบบผสมผสาน ฝึกอาชีพให้ชาวบ้าน นอกเหนือจากการสอนวิปัสสนากรรมฐาน ท่านทำงานเหล่านี้มาสิบกว่าปี หลายคนมาดูงานท่านแล้วถามว่างานของหลวงพ่อสำเร็จหรือไม่ ท่านตอบว่า “งานของหลวงพ่อล้มเหลว แต่ตัวหลวงพ่อไม่ล้มเหลว” หมายความว่าแม้งานจะล้มเหลว แต่ใจท่านไม่เป็นทุกข์

    คนส่วนใหญ่ ถ้างานล้มเหลว ก็จะรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวด้วย คือเป็นทุกข์ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เรียกว่าล้มเหลวทั้งงาน ล้มเหลวทั้งตัวเอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะจิตมันไปซ้ำเติมตัวเอง

    คนที่ฝึกจิตไว้เป็นอย่างดี เมื่องานล้มเหลว ตัวเองก็ยังมีความสุขได้ ยังกินได้ นอนหลับ ยังมีกำลังใจทำงานต่อ นี้คือสิ่งที่เราทำได้ หากเรียนรู้เรื่องจิตใจของเรา และพยายามพัฒนาจิตใจ โดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่ อาทิ สติ สมาธิ ขันติ วิริยะ เหล่านี้เป็นศักยภาพที่มีอยู่แล้วในจิตใจของเรา ถ้าเราพัฒนาจิต จิตก็จะมีคุณภาพ และช่วยให้เรามีความสุข เจอทุกข์ก็ไม่แพ้พ่าย
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256105.html
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,730
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ทำบุญแต่ห่างธรรม
    พระไพศาล วิสาโล
    เคยเข้าใจกันว่าการทำบุญเป็นเรื่องของคนรุ่นปู่ย่าตายายหรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ เมื่อคนเหล่านี้แก่ตัวหรือล้มหายตายจากไป การทำบุญก็จะลดน้อยถอยลง แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้การทำบุญไม่ได้ลดน้อยลงเลย หรือถึงลดน้อยลงก็ไม่มากนัก คนรุ่นลูกซึ่งบัดนี้กลายเป็นพ่อคนแม่คนก็ยังนิยมทำบุญกันอยู่ สิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งก็คือปัจจุบันเครื่องสังฆทานหาได้ง่ายตามห้างใหญ่ ๆ ไม่ได้กระจุกอยู่ในร้านสังฆทานหรือเสาชิงช้าดังแต่ก่อน

    การนิยมทำบุญตามวัดวาอารามนั้นเป็นเรื่องดี หากเป็นการต่อยอดจากความดีที่เคยทำกันเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว แต่หากการทำบุญดังกล่าวกลับทำให้ความดีที่เคยทำหรือพึงกระทำลดน้อยถอยลง ก็คงจะถือว่าเป็นเรื่องดีไม่ได้ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ นี้คือแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น

    ครอบครัวหนึ่งมีแม่ที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ การดูแลแม่ตกเป็นหน้าที่ของลูกสาวคนสุดท้อง ซึ่งทิ้งอาชีพการงานมาพยาบาลแม่นานนับสิบปี โดยที่พี่ ๆ แทบจะไม่ได้มาช่วยเหลือเลยนอกจากให้เงินค่าดูแล วันหนึ่งน้องสาวมีธุระนอกบ้าน จึงขอให้พี่สาวมาช่วยดูแลแม่แทนเธอสักวัน คำตอบที่ได้รับจากพี่สาวคือ ไม่ว่างเพราะจะไปทำบุญที่วัดแห่งหนึ่งชานเมือง

    การที่พี่สาวอยากทำบุญที่วัดนั้นเป็นเรื่องน่าอนุโมทนา แต่ไม่ถูกต้องแน่หากเข้าใจว่าการทำบุญต้องทำที่วัดหรือทำกับพระเท่านั้น การดูแลแม่ก็เป็นการทำบุญเช่นกัน คำตอบดังกล่าวของพี่สาวสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจเกี่ยวกับบุญที่คับแคบและคลาดเคลื่อน ซึ่งเกิดกับผู้คนเป็นจำนวนมาก จะว่าไปแล้วก่อนที่จะทำบุญกับพระที่วัด สิ่งหนึ่งที่ควรทำคือการทำบุญกับพ่อแม่ที่บ้าน การไปทำบุญกับพระ โดยไม่สนใจพ่อแม่ที่เจ็บป่วยนั้น ย่อมไม่ใช่วิสัยของผู้ใฝ่ธรรม

    บางรายพ่อแม่ไม่ถึงกับเจ็บป่วย แต่ก็ชรามาก แม้กระนั้นลูกก็ปล่อยให้พ่อแม่ทำงานบ้านตามลำพัง ทั้งกวาดบ้าน ทำครัว ล้างจาน ซักผ้า ส่วนลูกแค่ไปทำงานหาเงิน กลับมาบ้านก็ขลุกอยู่ในห้องของตัว เสาร์อาทิตย์ก็เข้าวัดทำบุญหรือไปปฏิบัติธรรม ไม่สนใจช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ที่บ้านเลย จนบางคราวพ่อแม่เหนื่อยถึงกับเป็นลม เพื่อนบ้านอดสงสัยไม่ได้ว่าความใฝ่บุญกับความกตัญญูนั้นเป็นคนละเรื่องกันหรือ

    มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้อยู่ว่าการดูแลพ่อแม่นั้นเป็นบุญอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังนิยมทำบุญกับพระมากกว่าที่จะทำบุญกับพ่อแม่ เหตุผลก็เพราะว่า การทำบุญกับพระนั้น ทำได้ง่ายกว่า กล่าวคือเพียงแต่ถวายเงินเท่านั้น และใช้เวลาไม่นาน ขณะที่การทำบุญกับพ่อแม่ นั้น ต้องใช้ทั้งแรงและเวลา เช่น ช่วยทำงานบ้าน ล้างจาน ทำอาหารให้กิน หากท่านเจ็บป่วย ก็ต้องเช็ดตัว ป้อนข้าว บางครั้งก็ต้องอุ้มขึ้นและลงเตียง คนทุกวันนี้ชอบอะไรที่สะดวก ง่าย และเร็ว การทำบุญกับพระจึงเป็นที่นิยมมากกว่าการทำบุญกับพ่อแม่
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,730
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    ที่สำคัญคือความเชื่อว่าถ้าทำบุญกับพระ โดยเฉพาะพระที่มีคุณวิเศษหรือเกจิอาจารย์ ก็จะทำให้เกิดอานิสงส์มาก เช่น มั่งมี ประสบโชค ซึ่งบางสำนักสรุปเป็นคำขวัญว่า “รอดตาย หายป่วย ร่ำรวย มีชื่อเสียง” ขณะที่มีความเข้าใจกันว่าการดูแลพ่อแม่ ซึ่งเป็นคนธรรมดานั้นไม่ทำให้เกิดอานิสงส์ดังกล่าว พูดอีกอย่างคือ การทำบุญกับพระนั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่า (ไม่ต่างจากการซื้อหุ้นตัวสวย ๆ ) อีกทั้งยังสามารถถ่ายรูปขึ้นเฟซบุ๊คให้ผู้คนชื่นชมสรรเสริญได้ ขณะที่การดูแลพ่อแม่นั้นไม่ใช่โอกาสที่จะทำอย่างนั้นได้ง่าย ๆ หรือบ่อย ๆ

    มีหลายคนให้เหตุผลว่า การไปทำบุญที่วัด หรือการไปปฏิบัติธรรม ก็เป็นการช่วยพ่อแม่อย่างหนึ่ง นั่นคือ ส่งบุญไปให้ท่าน บางรายพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเจ็บป่วย แทนที่จะช่วยพยาบาลท่าน กลับเลือกที่จะไปปฏิบัติธรรมนานเป็นเดือน แล้วใช้วิธีแผ่เมตตาหรือส่งบุญมาให้ท่านเพื่อให้หายป่วยไว ๆ เขาคงลืมไปว่า พุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่อง “การทำจิต”เท่านั้น แต่ยังสอนเรื่อง “การทำกิจ” ด้วย กล่าวคือ นอกจากน้อมจิตแผ่เมตตาตามหลักพรหมวิหาร ๔ แล้ว ควรบำเพ็ญธรรมตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ด้วย ซึ่งข้อหนึ่งได้แก่ อัตถจริยา นั่นคือ การลงมือช่วยเหลือ เช่น ดูแลหรือพยาบาลท่าน แม้จะดูแลทางกายได้ไม่ดีเท่าหมอหรือพยาบาล แต่ก็สามารถให้ความช่วยเหลือทางจิตใจได้ ยิ่งมีประสบการณ์ทางธรรมมามาก ก็ยิ่งอยู่ในวิสัยที่จะให้คำแนะนำทางจิตใจแก่ผู้ป่วยได้ดีกว่าผู้อื่น ซึ่งช่วยให้ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย หรือรักษาใจให้เป็นปกติได้ นี้เป็นการกระทำที่ให้ประโยชน์หรืออานิสงส์มากกว่าการส่งบุญมาให้หลายเท่า

    อันที่จริงจริยวัตรของพระพุทธองค์เป็นแบบอย่างให้แก่เราได้ในเรื่องนี้ เมื่อทรงทราบว่ามีผู้ประสบทุกข์ เช่น เจ็บป่วย ไม่มีครั้งใดเลยที่พระองค์จะส่งบุญไปให้เขาเหล่านั้น สิ่งที่พระพุทธองค์ทำคือ เสด็จไปช่วยเหลือเขาเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง เช่น พยาบาล (ดังกรณีพระติสสะ) หรือให้คำแนะนำทางธรรม (ดังกรณีนกุลบิดาและทีฆาวุอุบาสก) พระอรหันต์ทั้งหลายก็ทำเช่นเดียวกัน

    การทำบุญนั้นมีความหมายกว้างขวางกว่าการให้ทาน และการช่วยเหลือผู้คนนั้นเราสามารถทำได้มากกว่าการส่งบุญไปให้เขา แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากกำลังใช้การทำบุญเป็นข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงการทำความดีขั้นพื้นฐาน มิใช่แค่ละเลยการทำดีต่อผู้ประสบทุกข์ที่เป็นคนแปลกหน้าเท่านั้น หากยังละเลยที่จะกตัญญูต่อบุพการีหรือผู้มีพระคุณ

    ใช่หรือไม่ว่าการทำบุญของผู้คนจำนวนไม่น้อยทุกวันนี้ แรงผลักดันสำคัญคือ ประโยชน์ส่วนตน เช่น หวังความมั่งมี ร่ำรวย โชคลาภ หาใช่ความมีน้ำใจ หรือความตั้งใจที่จะลดละกิเลสไม่ เมื่อมีความเห็นแก่ตัวเป็นแรงจูงใจในการทำบุญ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมเขาจึงละเลยได้แม้กระทั่งการช่วยเหลือบุพาการี

    เป็นเพราะไม่รู้เท่าทันแรงจูงใจดังกล่าว ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ การทำบุญของคนไทยจำนวนไม่น้อยจึงกลายเป็นการเดินห่างจากธรรม สวนทางกับบุญที่แท้จริง และสร้างปัญหาให้แก่สังคม

    :- https://visalo.org/article/jitvivat255904.html
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,730
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ไม่มีคำว่าสายเกินไป
    พระไพศาล วิสาโล
    กานดาวศรี มีอาชีพพยาบาล คราวหนึ่งป่วยหนักถึงขั้นโคม่าเนื่องจากครรภ์เป็นพิษ เธอเล่าว่าในขณะที่หมดสติอยู่นั้น เธอได้ยินเสียงผู้คนรอบตัว และรู้ว่าหมอและพยาบาล พูดอะไรกันบ้างขณะที่อยู่ข้างเตียงเธอ

    ประสบการณ์เกือบ ๓๐ ปีในการเป็นพยาบาล ทำให้เธอรู้ว่ามีผู้ป่วยขั้นโคม่าหลายคนที่มีประสบการณ์คล้ายเธอ บางคนเล่าว่าได้ยินเสียงพระสวดมนต์จากเครื่องอัดเสียงที่ลูกเปิดไว้ข้างศีรษะขณะที่หมดสติ บางคนมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำพูดของญาติมิตร เช่น น้ำตาไหล หรือถึงกับพนมมือ

    ตามความเข้าใจของคนทั่วไป ผู้ที่หมดสติหรือเข้าสู่ภาวะโคม่า ย่อมไม่สามารถรับรู้อะไรได้ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรกับเขา ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้หรือมีทีท่าตอบสนอง แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อย่างน้อยก็มิได้เป็นเช่นนั้นในทุกกรณี การที่เขาไม่สามารถตอบสนองออกมาได้ มิได้หมายความว่า เขาไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย เป็นแต่ร่างกายของเขาไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้อย่างคนทั่วไปเท่านั้น

    มีผู้ป่วยบางคนที่ล้มป่วยเนื่องจากสมองขาดเลือด จนเข้าสู่ภาวะโคม่า มีสภาพไม่ต่างจาก “ผัก” และมีโอกาสที่จะฟื้นขึ้นมาได้น้อยมาก แต่ในที่สุดก็ฟื้นขึ้นมาได้ เขาเล่าว่าในช่วงที่หมดสติอยู่นั้น เคยถูกหมอทดสอบด้วยการบิดและบีบนิ้วหัวแม่เท้าของเขา เขารู้สึกเจ็บปวดมากจนร้องขึ้นมาว่า “หยุดได้แล้ว ๆ” แต่เขาก็ไม่สามารถพูดหรือแสดงอาการเจ็บปวดออกมาได้ ผลคือหมอยังคงบิดและบีบต่อไป ก่อนจะเลิกบีบเขายังได้ยินหมอพูดว่า “ผู้ป่วยคนนี้เป็นผักแบบยืดเยื้อ”

    มิเพียงแต่ได้ยินหรือรู้สึกทางกายเท่านั้น ผู้ป่วยในภาวะโคม่ายังสามารถ “เห็น”ได้ด้วย คริสเติล เป็นเด็กชาวอเมริกันอายุ ๗ ขวบ มีคนพบเธอหลังจากจมอยู่ใต้สระน้ำเป็นเวลา ๒๐ นาที อาการของเธอเพียบหนัก นอกจากจะอยู่ในภาวะโคม่าแล้ว การตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกนพบว่าสมองของเธอบวมมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อีกทั้งเลือดของเธอก็มีความเป็นกรดสูงมาก บ่งชี้ว่าเธอใกล้จะเสียชีวิตแล้ว หมอยอมรับว่ามาถึงจุดนี้แล้วก็ทำอะไรแทบไม่ได้แล้ว

    แต่แล้วเธอก็ฟื้นขึ้นมาหลังจากโคม่าได้ ๓ วัน ทันทีที่เห็นหมอเข้ามาในห้อง เธอก็ทักหมอผู้นั้นทันที เพราะเธอ “เห็น” หมอคนนี้ในขณะที่ยังหมดสติอยู่ เธอยังพูดถึงลักษณะของหมออีกคนที่รักษาเธอได้อย่างถูกต้อง แม้ว่ายังไม่ได้พบกันเลยก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังพรรณนาลักษณะของห้องฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งอุปกรณ์และผู้คนที่อยู่ในห้องนั้น

    เมื่อปี ๒๕๔๔ วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษฉบับหนึ่งกล่าวถึงผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลอย่างรีบด่วน หมอทำการช่วยเหลือด้วยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ แต่ก่อนที่จะใส่ท่อช่วยหายใจพยาบาลได้ถอดฟันปลอมของเขาออก ในที่สุดหัวใจเขาก็เต้นเป็นปกติ หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เมื่อผู้ป่วยรายนี้เห็นหน้าพยาบาลคนที่ถอดฟันปลอมให้ เขาก็จำเธอได้ทันที และถามว่า “คุณเป็นคนถอดฟันปลอมให้ผมใช่ไหมครับ” ใช่แต่เท่านั้นเขายังเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นได้อย่างถูกต้อง

    ทั้งสองกรณีข้างต้น ผู้ป่วยล้วนหมดสติไร้สัมปฤดี สมองอยู่ในสภาพไม่ปกติเพราะขาดอากาศ แต่เขา “เห็น” ผู้คนและสถานที่รอบตัวได้อย่างไร เขาไม่ได้เห็นด้วยตาอย่างแน่นอน อีกทั้งไม่ได้รับรู้ด้วยระบบประสาทหรือสมองอย่างในภาวะปกติด้วย ทั้งสองกรณีเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเขาจะเห็นด้วย “ใจ”
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,730
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    ทั้งสองกรณีมิใช่กรณีพิเศษหรือยกเว้น มีรายงานการวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าผู้ป่วยในภาวะโคม่ายังสามารถรับรู้ได้ เช่น รายงานของนายแพทย์พิมฟอน ลอมเมล ซึ่งได้สัมภาษณ์ผู้ป่วย ๓๔๓ รายที่รอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้น ข้อสรุปที่ออกมาก็คือ ผู้ป่วยร้อยละ ๑๘ จดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะไร้ความรู้สึกตัวได้อย่างแม่นยำ รายงานอีกชิ้นหนึ่งของนักวิจัยชาวอังกฤษพบว่าผู้ป่วยร้อยละ ๑๑ สามารถจดจำเหตุการณ์ขณะหมดสติได้

    ตัวอย่างที่กล่าวมาบ่งชี้ว่าการรับรู้โลกภายนอกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่สมองเท่านั้น เราสามารถได้ยิน รู้สึก หรือเห็นได้แม้ในภาวะที่สมองไม่อาจทำงานอย่างปกติได้ หากการรับรู้รวมทั้งความจำได้หมายรู้เป็นเรื่องของจิต นั่นก็หมายความว่าจิตไม่ได้ผูกติดกับสมอง หากเป็นอีกส่วนหนึ่งที่แยกต่างหากจากสมอง แต่ทำงานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จิตอาจรับรู้หรือมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยผ่านสมอง แต่ก็มิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ในภาวะที่สมองหยุดทำงานหรือมิอาจทำงานได้อย่างปกติ จิตก็ยังสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ แต่อาจไม่ชัดเจนเท่าในยามปกติ อีกทั้งไม่อาจบัญชาให้ร่างกายมีปฏิกริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกได้ แม้จิตปรารถนาจะทำเช่นนั้นก็ตาม กระนั้นก็ตามมีบางกรณีที่ผู้ป่วยสามารถแสดงปฏิกิริยาตอบสนองได้ หากจิตถูกกระตุ้นเร้าเพียงพอดังกรณีที่จะกล่าวต่อไป

    จิตกับสมองสัมพันธ์กันอย่างไร จิตเกิดจากสมอง หรือเป็นอีกส่วนที่แยกจากสมอง เหล่านี้เป็นประเด็นที่ยังคงโต้เถียงกันอีกนาน แต่นั่นก็ไม่สำคัญสำหรับคนเท่าไปเท่ากับความจริงที่ว่า ผู้ที่หมดสติหรืออยู่ในภาวะโคม่านั้น ยังมีความสามารถที่จะรับรู้ได้ ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก เพราะนั่นหมายความว่า ผู้ที่อยู่รอบตัวผู้ป่วยยังสามารถมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้ป่วยได้ คำพูดหรือการกระทำของหมอ พยาบาล และญาติผู้ป่วย อาจส่งผลในทางบวกหรือลบต่อผู้ป่วยก็ได้ ดังนั้นหากปรารถนาดีต่อผู้ป่วย จึงควรปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่หมดสติประหนึ่งคนปกติ แม้เขาจะอยู่ในภาวะอย่าง “ผัก” ก็ตาม

    มีหลายกรณีที่คำพูดของญาติมิตรสามารถส่งผลในทางบวกต่อผู้ป่วยที่หมดสติ จนเขาสามารถแสดงอาการรับรู้ออกมาได้ หรือถึงกับรู้สึกตัวขึ้นมาได้ มีเรื่องเล่าว่าติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนาม เคยไปเยี่ยมอัลเฟรด แฮสเลอร์ มิตรชาวอเมริกันที่อยู่ในภาวะโคม่าและใกล้จะหมดลม ท่านนัทฮันห์ได้นั่งข้างเตียงอัลเฟรด และพูดถึงประสบการณ์อันน่าประทับใจที่ทั้งสองได้ผ่านมาร่วมกันเมื่อครั้งเรียกร้องสันติภาพในเวียดนาม ท่านพูดอยู่ประมาณ ๔๐ นาที เมื่อพูดจบ อัลเฟรดก็ลืมตาขึ้นแล้วพูดว่า “วิเศษ ๆ” จากนั้นก็หลับตา สองชั่วโมงหลังจากนั้นเขาก็จากไปอย่างสงบ

    สารคดีของบีบีซีเรื่อง “Human Body” ที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้พูดถึง ไวโอล่า หญิงวัย ๕๘ ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง จนถึงกับหมดสติ หมอไม่สามารถช่วยให้ฟื้นขึ้นมาได้ จนในที่สุดลูกชายก็พูดกับแม่ว่า “แม่ต้องฟื้นนะ เพราะพ่อกำลังจะพาผู้หญิงอีกคนไปเที่ยว” พอพูดจบ ไวโอล่าก็เปิดตาและรู้สึกตัวขึ้นมาทันที เธอเล่าว่าเธอยอมไม่ได้ที่สามีจะควงผู้หญิงอื่นไปเที่ยว

    อีกกรณีหนึ่งซึ่ง “วีรกร ตรีเศศ” นักเขียนประจำมติชนสุดสัปดาห์ ได้อ้างดร.สมศักดิ์ ชูโต อีกทีว่า หญิงฝรั่งผู้หนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองไทยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนหมดสติ อาการหนักมาก ถูกนำส่งโรงพยาบาล แต่ไม่มีใครคิดว่าจะรอด ขณะที่หมอและบุรุษพยาบาลกำลังช่วยชีวิตเธออยู่นั้น มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “อีนี่ไม่น่าตายเลย นมมันสวย” ปรากฏว่าเธอได้ยินและมีกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมาว่า ฉันต้องไม่ตาย ในที่สุดก็กลับฟื้นขึ้นมาได้

    ผู้ป่วยขั้นโคม่าที่ฟื้นขึ้นมาก็มี แต่ที่ไม่ฟื้นเลยก็มาก เพราะสังขารไม่อำนวยแล้ว แต่ไม่ว่าผลในท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในขณะที่เขายังหมดสติอยู่นั่น อย่าลืมว่าเขายังสามารถรับรู้อะไรได้ ดังนั้นญาติมิตรจึงยังสามารถช่วยเขาได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านจิตใจ เช่น ช่วยให้เขาคลายความวิตกกังวลหรือความหวาดกลัว ด้วยการพูดให้เขาเบาใจ รำลึกถึงบุญกุศลหรือความดีที่เขาเคยบำเพ็ญ หรือน้อมใจให้รำลึกถึงพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ และคลายความกังวลเกี่ยวกับลูกหลานหรือคนรัก การพูดถึงประสบการณ์ในอดีตที่เขาประทับใจหรือภูมิใจ ก็ช่วยเขาได้เช่นกัน

    ในอีกด้านหนึ่งก็ควรระมัดระวังคำพูดหรือการกระทำที่จะทำให้เขาเป็นทุกข์ เช่น ทะเลาะวิวาทกัน หรือร่ำไห้คร่ำครวญข้างเตียง หรือพูดถึงความเจ็บป่วยของเขาในทางที่ไม่สร้างสรรค์

    ตราบใดที่ผู้ป่วยยังมีลมหายใจอยู่ ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่เราจะทำสิ่งดี ๆ ให้เขา ไม่ว่าการช่วยเขาทำบุญถวายสังฆทาน ขออโหสิกรรมจากเขา หรือเอ่ยปากให้อภัยเขา (หากคิดว่าความรู้สึกผิดยังค้างคาใจเขาอยู่) หรือแม้แต่การบอกความในใจบางอย่างให้เขารับรู้

    หญิงชราผู้หนึ่งนั่งเศร้าซึมข้างเตียงสามีซึ่งอยู่ใกล้ตายและอยู่ในภาวะโคม่า เธอเสียใจที่ไม่เคยบอกสามีว่าเธอรักเขาเพียงใด มาได้คิดก็สายเสียแล้วเพราะเขาหมดสติไม่ตอบสนองใด ๆ แต่พยาบาลแนะให้เธอพูดทุกอย่างที่อยากพูดเพราะเขายังอาจได้ยินคำพูดของเธอได้ เธอจึงขออยู่กับเขาอย่างเงียบ ๆ แล้วบอกเขาว่า เธอรักเขาอย่างสุดซึ้ง และมีความสุขที่ได้อยู่กับเขา หลังจากนั้นเธอก็กล่าวคำอำลาว่า “ยากมากเลยที่ฉันจะอยู่โดยไม่มีเธอ แต่ฉันไม่อยากเห็นเธอทุกข์ทรมานอีกต่อไป ฉะนั้นหากเธอจะจากไป ก็ขอให้จากไปเถิด” พูดจบ สามีของเธอก็หายใจเฮือกยาวออกมาและสิ้นชีวิตอย่างสงบ

    สำหรับผู้ป่วยที่หมดสติ ความดีงามที่สื่อตรงจากใจถึงใจนั้นมีอานุภาพเหลือประมาณ สามารถเยียวยาความทุกข์และเป็นกำลังใจให้เขาก้าวสู่ความตายได้อย่างสงบ ชนิดที่เงินจำนวนมหาศาลและเทคโนโลอันล้ำเลิศมิอาจทำได้

    :- https://visalo.org/article/jitvivat254909.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...