ผีในรอยพุทธ

ในห้อง 'เรื่องผี' ตั้งกระทู้โดย Lukhgai, 30 มกราคม 2009.

  1. Lukhgai

    Lukhgai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    3,000
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +8,239
    ความเชื่อเรื่องผีกับพุทธยืนยงมาช้านาน ทว่าอะไรคือทางแยกของความเชื่อทั้งสอง
    กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : คณะเดินทางราว 30 ชีวิต ทยอยย่ำเท้าเรียงหนึ่งไปตามทางเดินเล็กๆ ชายป่าในพื้นที่วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร (วัดเขาศาลา) อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เป็นระยะทางประมาณ 300 เมตร เป้าหมายของการเดินทางคือการชมรอยพระพุทธบาทที่เพิ่งค้นพบใหม่บนโขดหินรูปทรงแบน ซึ่งตั้งอยู่บนฐานหินสูง

    ใต้ฐานหินมีกิ่งไม้ต่างขนาดจำนวนมหาศาลวางค้ำไว้ ตามคติการค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนและเป็นมงคลแก่ชีวิตดังเช่นการค้ำโพธิ์ สมาชิกในคณะบางคนตระเวนหาตอไม้ขนาดเขื่องมาค้ำ บางคนลงทุนเดินฝ่าป่าลึกเพื่อค้นหาไม้ที่ใหญ่กว่ามาค้ำเช่นกัน <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width=180 align=right bgColor=#ffffdd border=0><TBODY><TR><TD class=difcursor vAlign=top align=middle width=180>[​IMG]</TD></TR><TR><TD align=middle width=180>. (ซ้าย) ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม สองนักปราชญ์ขณะสนทนาเรื่องผีๆ ที่บ้านเมืองบัว

    </TD></TR></TBODY></TABLE>

    ถึงจุดนี้ คณะเดินทางต้องผลัดกันปีนบันไดไม้ไผ่ที่พาดกับฐานหินเพื่อขึ้นไปชมรอยพระพุทธบาทอย่างใกล้ชิด

    บนแผ่นหินปรากฏรอยพระพุทธบาทข้างขวา ตรงฝ่าพระบาทมีภาพแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ แบบไม่ลำดับประเภท มีทั้งสัตว์บก สัตว์ปีก และสัตว์น้ำ เช่น นกต่างๆ งู ม้า เต่า กระต่าย แมว ตะขาบ แมงป่อง วัว นกเงือก ปู ปลา กุ้ง ฯลฯ และมีการแกะสลักรูปดอกบัวคว่ำบัวหงายตรงกลางฝ่าพระบาทด้วย นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นลักษณะมงคล 108 โดยมีสัตว์มงคลท้องถิ่นประกอบ ลวดลายดอกบัวคว่ำบัวหงายมีรูปแบบสมัยลพบุรีหรือแบบขอมเมืองพระนคร จึงน่าจะมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 ลงมา

    รอยพระบาทบัวเชด <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width=180 align=left bgColor=#ffffdd border=0><TBODY><TR><TD class=difcursor vAlign=top align=middle width=180>[​IMG]</TD></TR><TR><TD align=middle width=180>ร่องรอยปราสาทขอมที่บ้านเมืองบัว

    </TD></TR></TBODY></TABLE></B>
    รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักชาติพันธุ์วรรณนาอาวุโส วิเคราะห์ไว้ในบทความประกอบสูจิบัตร 'ท่องเที่ยวทางเลือกกับสยามมิชลิน ตอน ผีกับพุทธ มนุษย์ 3,000 ปี' (จ.ร้อยเอ็ด, จ.สุรินทร์ จัดโดย บริษัท สยามมิชลิน จำกัด เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา) เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ว่าเรียกชื่อตามชื่ออำเภอที่พบ รอยพระพุทธบาทบัวเชดเพิ่งถูกค้นพบเมื่อปีก่อนโดยคนท้องถิ่น ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับพุทธศาสนาเถรวาทในท้องถิ่นอีสานใต้ นอกจากนี้ยังพบรอยพระพุทธบาทอีกแห่งที่ช่องบานาเระ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ น่าเสียดายที่คณะเดินทางไม่สามารถเยี่ยมชมรอยพระพุทธบาทที่ช่องบานาเระได้เนื่องจากอยู่ติดชายแดนกัมพูชา และยังมีกับระเบิดหลงเหลืออีกมาก

    เนื้อหาในบทความดังกล่าวระบุว่าการสลักรอยพระพุทธบาทลงบนโขดหินนั้น สะท้อนถึงความคิดและความเชื่อในตำแหน่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติที่มีมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพิงหินดังกล่าวอาจเป็นแหล่งประกอบพิธีกรรมของพระภิกษุทางพุทธศาสนาที่มีสำนักอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอาจเรียกว่าสำนักพระป่าตามคติของพระภิกษุอรัญวาสีของภาคอีสานตั้งแต่สมัยทวารวดี
    ตอนท้ายบทความอาจารย์ศรีศักรตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้ <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width=180 align=right bgColor=#ffffdd border=0><TBODY><TR><TD class=difcursor vAlign=top align=middle width=180>[​IMG]</TD></TR><TR><TD align=middle width=180>แม่ใหญ่มนรัตน์ แท่น แม่จ้ำร่างทรงผีประจำบ้านเมืองบัว

    </TD></TR></TBODY></TABLE>

    ...คนที่มาทำพิธีกรรมกราบไหว้รอยพระพุทธบาทนี้คือใคร คนเมืองหรือคนเผ่า ก็คงไม่ใช่คนเผ่าไท เผ่าลาว และเผ่าเขมร แล้วเป็นใคร ถ้าจะเดาคนเผ่าเหล่านี้ก็น่าจะเป็นคนในเผ่าพันธุ์มอญ-เขมร ที่ทางลาวเรียก 'ข่า' ทางเหนือเรียก 'ลัวะ' อะไรทำนองนั้น แต่ในเขตอีสานใต้นี้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องคงน่าจะเป็นพวก 'กูย' พวก 'เยอ' ที่น่าจะเคลื่อนย้ายเข้ามาแต่โบราณแล้ว แต่คนเหล่านี้ไม่ได้เลี้ยงช้างจึงไม่เรียกว่า 'ส่วย' หากมีอาชีพทำการเพาะปลูกและเก็บของป่า...
    ...ยังมีอีกแนวทางหนึ่งในการทำความเข้าใจกับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ น่าจะเป็นอาการแรกของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หันมานับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของหลักธรรมคำสอนทางปรัชญา หากเน้นในด้านพิธีกรรมเป็นสำคัญ โดยใช้สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สมบูรณ์ในตัวเอง...

    รอยพระพุทธบาทบัวเชดบนโขดหินจึงเป็นหลักฐานอีกประการหนึ่งที่แสดงถึงลักษณะการปรับปรนความเชื่อเกี่ยวกับผีของคนพื้นเมืองดั้งเดิมในแถบอีสานกับศาสนาพุทธที่เข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18
    เป็นหลักฐานที่ทำให้คนปัจจุบันได้ตั้งคำถามและค้นคว้าคำตอบ ว่าการผสมผสานระหว่างผีกับพุทธในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนโฉมไปจากอดีตเพียงใด

    เบื้องลึก 'ผี-ไสยฯ-พุทธ'
    ดูเหมือนความเข้าใจของผู้คนทั่วไปในปัจจุบันเกี่ยวกับคำว่า 'ผี' นั้นจะวนเวียนอยู่กับเรื่องวิญญาณหลังความตาย แต่ในทัศนะของนักประวัติศาสตร์อาวุโสอย่าง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เลือกให้คำนิยามผีว่าเป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ มีหน้าที่กำกับธรรมชาติหรือชะตากรรมมนุษย์ให้เป็นไปหรือไม่เป็นไปตามที่มนุษย์ประสงค์

    ดร.นิธิ มองว่าปัจจุบันนักวิชาการบางสำนักนิยมแบ่งระหว่างผีกับเทพ กล่าวคือผีเป็นอำนาจเหนือธรรมชาติให้เกิดสิ่งที่เราไม่ต้องการ ขณะที่เทพคือผีที่ทำให้เกิดสิ่งที่ต้องการ ทั้งที่ในอดีตไม่มีการแบ่งชัดเจนเช่นนั้น

    "ผมเข้าใจว่าความคิดเรื่องผีคือวิญญาณมนุษย์น่าจะมาจากฝรั่ง เพราะว่าคำว่าผีหรือวิญญาณในความหมายที่เป็นสาระยั่งยืนมั่นคง ตัวเราตายไปแล้วแต่วิญญาณยังอยู่ไม่มีในศาสนาพุทธ"
    นักคิดท่านเดิมอธิบายว่าในบรรดาผีทั้งหมด ผีที่น่าสนใจมากคือผีบรรพบุรุษ อันเป็นความคิดความเชื่อเก่าแก่ สามารถพบได้ในทุกวัฒนธรรมของโลก

    "คำถามที่ตามมาคือถ้าบรรพบุรุษตายแล้วไม่สูญจะไปอยู่ไหน คำตอบสำหรับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือไปอยู่ในดินแดนของบรรพบุรุษ ดินแดนของบรรพบุรุษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เราพบคืออยู่บนยอดเขา และอยู่อีกฝั่งหนึ่งของทะเล ในกลองมโหระทึกที่ขุดพบในเวียดนามมีภาพเรือและมีอะไรไม่ทราบกลมๆ อยู่กลางเรือ เข้าใจว่าเป็นการบรรทุกวิญญาณไปอีกฝั่งหนึ่งของอะไรก็ไม่รู้ อาจเป็นอีกฝั่งของทะเล ของแม่น้ำ ของอะไรก็แล้วแต่ สรุปว่าเป็นดินแดนที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์"

    นอกจากนี้แนวคิดเรื่องผีบรรพบุรุษอาจผนวกกับความคิดเกี่ยวกับเทวดาหรือพระเจ้าที่เป็นสากลได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อศาสนาฮินดูแผ่เข้ามาก็สามารถนำผีบรรพบุรุษไปปะปนกับพระศิวะ หรือพระวิษณุได้

    "เมื่อคนไทยหันมานับถือศาสนาพุทธ เราเอาความเชื่อเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษมาปะปนกับความคิดทางพุทธ บุญบั้งไฟเป็นตัวอย่าง เป็นการยิงบั้งไฟให้แถนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เป็นเรื่องความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง"

    ดร.นิธิ อธิบายเกี่ยวกับไสยศาสตร์ด้วยว่าเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้สื่อสารกับผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ
    "เราสามารถอาศัยอำนาจของผีเข้ามาแทรกแซงธรรมชาติหรือชะตากรรมเราได้ ถ้าเรารู้วิธีสื่อสารกับผีหรือเทพ วิธีต่างๆ นี้มีหลายอย่าง เช่น การสวดมนต์ หรือการเล่นกับเสียงนั่นเอง คือทำให้เกิดอำนาจลี้ลับบางอย่างที่มาจากเสียง เราจะพบได้ว่าการเล่นกับเสียงนี้พบได้ในทุกวัฒนธรรมเพราะเป็นสิ่งที่สนุกดี อย่างน้อยมีเฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่สามารถทำเสียงได้แปลกๆ ถ้าดูคัมภีร์ไตรเวทของพราหมณ์ ฤๅษีชีไพรก็จะเล่นกับเสียง เช่น การเปล่งเสียงคำว่าธรรมะจะทำให้เราไปผนวกกับพระพรหมได้ อันที่สองอาจเรียกว่าการเข้าภวังค์ ที่ไม่ใช่สมาธิ การเข้าภวังค์เปลี่ยนสถานะของคนนั้นให้กลายเป็นสถานะแปลกๆ ไม่เหมือนปกติ เช่น อาจมีประสาทสัมผัสที่ไวขึ้น ความมึนเมาก็ใช่ ในศาสนาพราหมณ์โบราณจะมีการกินน้ำโสม ฝรั่งเชื่อว่ามันเป็นเถาวัลย์ชนิดหนึ่งที่คั้นแล้วได้น้ำที่กินแล้วเมา ภาวะมึนเมาคล้ายการเข้าภวังค์ ในท้าวฮุ่งขุนเจืองเขาจะกินเหล้ากันเยอะมากทั้งหญิงทั้งชาย และจะชูจอกสูงๆ เดี๋ยวนี้เรายังใช้เหล้าไหว้สังเวยเจ้าหรือผี"

    วิธีการสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงร่างกาย เช่น การย้อมฟัน การทาสีผิว เครื่องนุ่งห่มต่างๆ ทำให้เกิดอำนาจในการควบคุมธรรมชาติหรือแทรกแซงชีวิตได้ นอกจากนี้ยังรวมเรื่องระเบียบการดำเนินชีวิตต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานของศาสนาในเวลาต่อมา วิธีการสื่อสารกับผีที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ พิธีกรรม

    "ขอให้สังเกตว่าไสยศาสตร์ก็คือการหาวิธีการจากฐานความรู้เรื่องผีเพื่อใช้ควบคุมในทางโลกียะทั้งหลาย พูดแบบนี้ทำให้นึกถึงเทคโนโลยี ซึ่งอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้บังคับควบคุมธรรมชาตินั่นเอง กล่าวอีกอย่างได้ว่าไสยศาสตร์ก็คือเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง แต่เป็นเทคโนโลยีที่อาศัยฐานความรู้เรื่องผี ไม่เหมือนเทคโนโลยีปัจจุบันที่อาศัยฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์"
    ประเด็นต่อเนื่องที่ ดร.นิธิ ตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ เกิดผู้เชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในอดีตอาจหมายถึงหมอผี หมอดู หมอช้าง หรือจ้ำ ขณะปัจจุบันเปลี่ยนเป็นนักสัตวแพทย์ วิศวกร ฯลฯ ผู้กุมความรู้เหล่านี้ต้องผ่านการฝึกหัดและมักจะมีอำนาจในทางวัฒนธรรมและการเมืองสูงมาก
    "ไม่ต่างจากนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันที่มีอำนาจในทางวัฒนธรรมและทางการเมืองสูงมาก เขาสั่งให้เรากินไข่ก็ต้องกิน สั่งให้เราอย่ากินไข่ เราก็ต้องไม่กิน เป็นต้น ทางอ้อมมันส่งผลต่อการเมืองด้วย เช่น นมที่เรากินมีคนค้นพบในอเมริกาว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่อุตสาหกรรมนมในสหรัฐอเมริกาสามารถผลักดันนโยบายให้ทุกคนต้องกินนม เลยมาบังคับปากเราด้วยว่า เราเองก็ต้องกินนมด้วย"

    ศีลธรรมกำกับไสยฯ
    ต่อคำถามที่ว่าการเข้ามาของพุทธศาสนามีผลกระทบต่อความเชื่อเรื่องผีอย่างไรนั้น ดร.นิธิแจกแจงว่าศาสนาพุทธเข้ามาในสังคมบ้านเราประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นพุทธลัทธิเถรวาทจากลังกาที่มีการปฏิรูปศาสนาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 แล้วแพร่มาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
    "ในความคิดของผมคิดว่าศาสนาพุทธกับศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของมวลชน มีพิธีกรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มากกว่าศาสนาโบราณที่นับถือกันเฉพาะคนชั้นสูงแล้วก็ไปสร้างกู่ สร้างปราสาท ขณะที่พุทธกับอิสลามไม่ค่อยมีความแตกต่างระหว่างประชาชนกับผู้ปกครอง อาจกล่าวได้ว่าพุทธแบบนี้เป็นศาสนามวลชน เป็นศาสนาแรกในดินแดนแถบนี้"

    ด้วยพื้นฐานในการเข้าถึงคนทุกกลุ่มเหล่า ศาสนาใหม่นี้จึงพยายามกลืนตัวเองกับความเชื่อดั้งเดิมของมวลชน นั่นคือความเชื่อเรื่องผี แม้ไม่ได้ผนวกไว้ในหลักธรรมแต่ยอมรับให้ปฏิบัติต่อไปได้ ยกเว้นพิธีกรรมบางอย่างที่ขัดหลักธรรมเกินไป ดังกรณีกลุ่มชาวลัวะทางเหนือที่มีการฆ่าควายมาสังเวยผี ศาสนาพุทธจะห้ามปราม

    "คนไทยเชื่อว่าพุทธกับไสยฯ แยกออกจากกันไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง ผมคิดว่ามันแยกได้ชัดพอสมควรและมีความสำคัญที่ต้องแยกด้วย" ดร.นิธิ กล่าวย้ำก่อนอธิบายว่าเมื่อศาสนาพุทธเข้ามาใหม่ ศาสนาผีได้ทำหน้าที่กำกับระเบียบของสังคมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในระดับครัวเรือนหรือชุมชน
    "ผีมีหน้าที่ในการกำกับควบคุมเรื่องทางสังคมอย่างมาก ขณะที่พุทธศาสนาในประเทศไทยไม่ค่อยมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับสังคมเท่าไร ความจริงมันมี ถ้าอ่านงานของพระไพศาล วิสาโล ท่านจะยกเรื่องกฎเกณฑ์กติกาที่เกี่ยวกับสังคมเยอะ แต่พอดีเมืองไทยไม่ค่อยเน้น เพราะมีผีทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว พระก็มาเน้นหน้าที่ของศีลธรรมในจิตใจของคน คือคล้ายๆ มีเรื่องแบ่ง เมื่อไรเกี่ยวกับจิตใจของบุคคลเป็นเรื่องของพุทธ เมื่อไรเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎระเบียบสังคมเป็นเรื่องของผี จนเรามาเลิกความเชื่อเรื่องผีประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 อาจจะเพราะอายฝรั่ง หรืออะไรก็แล้วแต่"

    จุดเปลี่ยนในการเลือกรับอารยธรรมตะวันตกในช่วงสมัยดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมมากมาย เรื่องผีกับพุทธก็เช่นกัน

    "ศาสนาพุทธยังเน้นเรื่องบุคคล ส่วนศีลธรรมทางสังคมมันหายไปเพราะไม่มีใครนับถือผีอีกแล้ว ทางเลือกมีสองทางคือถ้าจะเลิกความเชื่อเรื่องผี หนึ่งเราต้องทำกฎหมายให้ดีขึ้น เพราะกฎหมายคือศีลธรรมทางสังคม แต่เราก็ไม่ได้ทำ หรือสองเอาศีลธรรมทางสังคมของพุทธศาสนามาเน้น ซึ่งเราก็ไม่ได้ทำอีก ศาสนาพุทธไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีของไสยศาสตร์ บางทีพระเป็นคนสักยันต์ให้ด้วย เท่าๆ กับการที่ศาสนาพุทธก็ไม่ปฏิเสธอิทธิฤทธิ์ของวิทยาศาสตร์ แต่ศาสนาพุทธสนใจว่าเทคโนโลยีของไสยฯ นั้น คนคนนั้นจะเอาเทคโนโลยีไปใช้ทำอะไร ศาสนาพุทธจะทำหน้าที่ควบคุมสิ่งนี้ นักไสยศาสตร์สมัยก่อนจะมีศีลธรรมกำกับ เช่น คุณอยากมีอิทธิฤทธิ์ คุณต้องถือศีล 5 หรือศีล 8 นอกจากนั้นยังมีศีลธรรมของไสยศาสตร์เอง เช่น ห้ามลอดผ้านุ่งผู้หญิงคืออย่ามัวเมาในกาม อะไรต่างๆ"
    ดร.นิธิ สรุปว่าเทคโนโลยีโบราณมีศีลธรรมกำกับ แต่เมื่อเลิกเชื่อเทคโนโลยีแบบนั้น หันมาเชื่อเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่มีศีลธรรมกำกับจึงเกิดปัญหาทางสังคม

    "ถ้าคุณเรียนเคมีไม่มีใครบอกว่าคุณต้องถือศีล 5 ก่อน คุณก็เอาวิชาเคมีไปผสมอะไรหลอกใครก็ไม่เป็นไร ความเป็นจริงนักวิทยาศาสตร์โลกตะวันตกมีความเข้าใจเรื่องนี้แล้ว มีความพยายามพัฒนาศีลธรรมกับวิทยาศาสตร์ เช่น นักวิทยาศาสตร์ต้องเคารพความจริง แค่ข้อเดียวก็จะทำให้เกิดศีลธรรมอื่นๆ ตามมาอีกเยอะ แต่เผอิญนักวิทยาศาสตร์ในเมืองไทย ถ้าใช้คำของอาจารย์สุกรี เจริญสุข ก็บอกว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์โหล คือไม่เคยคิดถึงเรื่องเหล่านี้ เลยกลายเป็นช่างไปหมด ไม่ได้คิดถึงหัวใจของวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยเลยนำไปสู่ความฉิบหายเยอะมาก เพราะขาดทั้งศีลธรรมทางศาสนา และศีลธรรมในตัวของมันเอง" ปุจฉาเกี่ยวกับ 'ผีพันธุ์ใหม่ไร้ศีลธรรม' ในโลกปัจจุบันจึงเป็นประเด็นต่อเนื่องที่คณะเดินทาง 'ตามหาผีในรอยพุทธ' จำต้องตั้งวงวิสาสะกันในโอกาสต่อไป ยุวดี มณีกุล

    [​IMG]http://www.bangkokbiznews.com/2007/11/13/WW06_WW06_news.php?newsid=201597
     

แชร์หน้านี้

Loading...