"ผู้ใดมีพระวัดรังษี ผู้นั้นชีวีไม่วางวาย"

ในห้อง 'วิธีดูพระเครื่อง-เครื่องรางของขลัง' ตั้งกระทู้โดย 24hrs, 19 สิงหาคม 2013.

  1. 24hrs

    24hrs เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 กันยายน 2012
    โพสต์:
    1,200
    ค่าพลัง:
    +2,491
    ฝากทุกท่านช่วยดูให้ด้วยครับ กรุวัดรังษีองค์นี้จะผ่านหรือไม่ครับ

    [​IMG]

    ขออณุญาติท่านอ.ราม วัชรประดิษฐ์ สำหรับข้อมูลที่ไดนำมาเผยแพร่ด้วยครับ







    พระวัดรังษี

    "ในอดีตพระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งถึงของดีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า ผู้ใดมีพระวัดรังษี ผู้นั้นชีวีไม่วางวาย"



    ถ้ากล่าวถึง “พระวัดรังษี” หลายคนคงรู้จักดี เนื่องจากเป็นพระที่มีชื่อเสียงมากและเป็นที่นิยมสูงในอดีต ดังพระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งของการกล่าวถึงของดีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า "ผู้ใดมีพระวัดรังษี ผู้นั้นชีวีไม่วางวาย" ซึ่งนับเป็นคำกล่าวที่ไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ ก็สามารถบ่งบอกถึงคุณค่าของพระวัดรังษีอย่างที่จะหาพระวัดใดเทียบเท่าได้แล้ว ทำให้สนนราคาเช่าหาในช่วงนั้นแพงกว่าพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมถึง 3-4 เท่าทีเดียว ณ ปัจจุบัน ถือเป็นพระเครื่องที่หายากมาก

    เดิมบริเวณ “วัดบวรนิเวศวิหาร” เป็นที่ตั้งของวัด 2 วัดซึ่งอยู่ติดกัน คือ วัดบวรนิเวศและวัดรังษี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาปวเรศฯ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ก็ใกล้ชิดสนิทสนมกับ ท่านเจ้าคุณธรรมกิติ เจ้าอาวาสวัดรังษี มาก ไปมาหาสู่เพื่อแลกเปลี่ยนและศึกษาหาความรู้กันเป็นประจำ ต่อมาเมื่อท่านเจ้าคุณธรรมกิติมรณภาพ สมเด็จพระสังฆราช กรมพระยาปวเรศฯ จึงรวมวัดรังษีเข้ากับวัดบวรนิเวศ ตั้งชื่อใหม่ว่า "วัดบวรรังษี" ซึ่งก็คือ "วัดบวรนิเวศวิหาร"

    พระวัดรังษี นั้น แบ่งแยกได้ทั้งหมด 4 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ เนื้อผงขาว พิมพ์ใหญ่ เนื้อผงดำ ลงรักล่องชาดและปิดทอง หลังกดตรายันต์ พิมพ์กลาง เนื้อผงขาว ศิลปะหน้าตักจะเหมือนเลข 8 แนวนอน และพิมพ์เล็ก เนื้อผงขาว ศิลปะหน้าตักเหมือนเลข 8 แนวนอน นอกจากนี้ ในแต่ละพิมพ์ก็มีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ให้สังเกตอีกมาก อาทิ พระวัดรังษี เนื้อผงขาว ทั้งพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก นั้น มีทั้งชนิดปิดทองและไม่ปิดทอง

    ข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ กรรมวิธีการปิดทองของพระวัดรังษีจะแตกต่างจากพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งจะนำองค์พระจุ่มรักก่อนแล้วจึงปิดด้วยทองคำเปลว แต่สำหรับพระวัดรังษีของท่านเจ้าคุณธรรมกิติ นั้น ไม่มีการจุ่มรัก ท่านเจ้าคุณฯ จะใช้ทองคำเปลวปิดลงบนแม่พิมพ์ก่อนแล้วจึงกดพิมพ์ เมื่อถอดพระออกทองคำเปลวก็จะติดบนองค์พระ กรรมวิธีดังกล่าวนี้จึงทำให้ทองคำเปลวติดไม่แน่นนัก เมื่อผ่านกาลเวลายาวนานถึงปัจจุบันเป็นร้อยปี องค์พระจึงมีทองเปลวติดอยู่บ้างและหลุดลอกไปบ้าง ด้านเนื้อมวลสารที่ใช้สร้างองค์พระก็จะมีลักษณะแห้งและหดตัวมาก ทำให้เส้นสายต่างๆ บนองค์พระเกิดเป็นเส้นนูนและคมชัดเจน เส้นนูนแต่ละเส้นตรงรอยที่ติดกับพื้นขององค์พระจะเป็นร่องของการหดตัวคอดกิ่วเหมือนเอาเส้นขนมจีนไปวางเรียงไว้ ถ้าพิจารณาพุทธลักษณะโดยรวมแล้วค่อนข้างจะเหมือนกับพระกริ่งที่มีศิลปะแม่พิมพ์ลึกมาก ดังนั้น แนวทางการพิจารณาน่าเริ่มจากการจดจำภาพรวมของลักษณะหน้าตา ลำตัว แขน มือ หน้าตัก และฐาน รวมทั้งเนื้อมวลสารและเอกลักษณ์ของพื้นผิวขององค์พระก่อน แต่ที่สำคัญขอเน้นเรื่อง “หน้าตา” เหมือนกับเราจดจำคนนั่นแหละ พบเห็นหน้ากันบ่อยๆ ก็จะคุ้นตาชินตา ยกตัวอย่างพระวัดรังษี พิมพ์ใหญ่

    “พระวัดรังษี พิมพ์ใหญ่” ทั้งเนื้อผงขาว และเนื้อผงสีดำ ลงรักล่องชาดและปิดทอง หลังกดตรายันต์ มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ องค์พระประธาน ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระบาทข้างขวาขององค์พระที่ทับอยู่บนพระบาทข้างซ้ายจะลึกเห็นเป็นลำน่องอย่างชัดเจน สาเหตุมาจากการหดตัวขององค์พระนั่นเอง ขอบแม่พิมพ์เส้นนอกเป็นเส้นโค้ง เส้นในเป็นเม็ด ส่วนปีกขอบจะปลิ้นขึ้นและเป็นสันคม บริเวณกึ่งกลางของพระกรรณ จะมีลักษณะยุบลง และส่วนปลายพระกรรณ มีเม็ดยื่นทั้งสองข้าง พระกรด้านซ้ายขององค์พระถือคนโทน้ำมนต์ พระอังคุฐ มีลักษณะเหมือนก้ามปู ผ้าทิพย์ ที่อยู่ระหว่างพระเพลาและฐานขององค์พระจะลึกและเป็นสันคมมาก ดอกบัวด้านล่างข้างขวาสุดขององค์พระไม่ติดขอบบนของฐาน พิมพ์ด้านหลัง นูนเหมือนหลังเบี้ย ปรากฏรอยเหมือนลายเส้นหัวแม่มือ ขอบด้านหลังจะคมและม้วนไปข้างหน้า และส่วนที่แตกต่างคือพระวัดรังษี พิมพ์ใหญ่ เนื้อผงสีดำ ลงรักล่องชาดและปิดทอง หลังกดตรายันต์ นั้น นอกจากจะลงรักล่องชาดและปิดทอง แล้ว ด้านหลังจะมีตรายันต์ประทับอยู่ด้วย เป็นต้น
     
  2. landslott

    landslott เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 กรกฎาคม 2012
    โพสต์:
    144
    ค่าพลัง:
    +225
    นอกจากเป็นพระแท้ดูง่ายแล้ว ยังเป็นพิมพ์ใหญ่นิยมสวย คม ชัด ลึก เสียด้วยครับ อย่างที่ท่านอาจารย์รามว่าไว้เป็นพระที่หายากมากๆหายากกว่าพระสมเด็จเสียอีก เนื่องจากมีการสร้างที่น้อยกว่าเยอะ และมีประวัติที่คนรุ่นก่อนเล่าขานสืบต่อกันมาในเรื่องพุทธคุณอันสุดยอด ยินดีกับท่านด้วยครับ
     
  3. jaturong_tun

    jaturong_tun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กุมภาพันธ์ 2011
    โพสต์:
    1,879
    ค่าพลัง:
    +2,473

    [​IMG]
    [​IMG]
    [​IMG]

    องค์ของผมคงดูยาก ด้วยความที่อยากรู้ผิวภายในว่าเป็นอย่างไร ทำให้ผมล้างรักชาดที่องค์พระออกด้วยทินเนอร์ ล้างไม่เป็นจึงได้สภาพแบบนี้ ถ้าดูเฉพาะพิมพ์จะได้ไหมครับ 5555
     
  4. เด็กโก-ลก

    เด็กโก-ลก เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    1,374
    ค่าพลัง:
    +3,061
    ดูเฉพาะพิมพ์ให้แท้มั๊ง เรื่องล้างทินเนอร์ไม่ต้องกลัว

    บางขุนพรหมที่บ้านผม ลองล้างทินเนอร์เพื่อพิสูจน์ว่าคราบกรุของแท้ไม่ได้ทำจากกาววิทยาศาสตร์ ใส่ๆทุกวันโดนเหงื่อ5ปีกว่า ก็คืนสภาพมา 80%

    ของท่านใส่ๆทุกวัน ซัก 5-10ปี ผิวคงกลับเอง
     
  5. jaturong_tun

    jaturong_tun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กุมภาพันธ์ 2011
    โพสต์:
    1,879
    ค่าพลัง:
    +2,473
    ขอบคุณพี่เด็ก-โกลก ที่ร่วมเมนท์ครับ รบกวนถามครับว่า การใส่ทุกวันให้ผิวกลับนั้น องค์พระต้องเลี่ยมใส่กรอบหรือว่าเลี่ยมพลาสติกเปิดหน้าหลัง หรือทำอย่างไรครับ ขอบคุณครับ
     
  6. 24hrs

    24hrs เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 กันยายน 2012
    โพสต์:
    1,200
    ค่าพลัง:
    +2,491
    ขอบคุณอย่างสูงครับท่าน landslott พอทราบว่าเป็นพระที่หายากมากแต่โชคดีที่ได้มาครอบครองโดยไม่เสียตังเลย ก็ยิ่งรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งครับ
     
  7. 24hrs

    24hrs เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 กันยายน 2012
    โพสต์:
    1,200
    ค่าพลัง:
    +2,491
    ในสายตาอันน้อยนิด ผมว่าดูสวยกว่าของผมเยอะ ตาเรียวจมูกกลมเกลี้ยงปากจิ้มลิ้ม ผิวพรรณขาวสวยดูเหมือนสาวแรกแย้มทีเดียวครับ (ยังดีไม่เหมือนของเพื่อนผม มันล้างหลวงพ่อเงินวัดห้วยเขนด้วยวิกซอล ล้างเสร็จจำพระตัวเองไม่ได้เลย)
     
  8. 24hrs

    24hrs เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 กันยายน 2012
    โพสต์:
    1,200
    ค่าพลัง:
    +2,491
    ใช่เลยครับ ต้องใช้เวลาขนาดนั้นทีเดียว ผมว่าถ้าใส่กรอบแบบเปิดหน้าหลังคงเก่าเร็วขึ้นนะครับ
     
  9. 24hrs

    24hrs เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 กันยายน 2012
    โพสต์:
    1,200
    ค่าพลัง:
    +2,491
    ลองเช็คตำหนิพิมพ์ตามนี้ก็ได้ครับ

    พระวัดรังษี เป็นพระเนื้อผง สันนิฐานว่าสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2437 โดยพระธรรมกิตติ (แจ้ง) เจ้าอาวาสรูปสุดท้ายของวัดรังษี ผู้เป็นพระเถระที่ทรงคุณวิเศษทางด้านคาถาอาคมขลังเชี่ยวชาญในด้านกรรมฐานและรอบรู้ในพระไตรปิฎกอย่างยอดเยี่ยมรูปหนึ่งในสมัยนั้นท่านได้สร้างพระเครื่องเนื้อผงขึ้นมาหลายพิมพ์ด้วยกัน ซึ่งก็พระวัดรังษีที่เรากำลังพูดถึงนี่เอง พระวัดรังษีมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบพิมพ์ ซึ่งรายละเอียดของพิมพ์ทรงพระวัดรังษีในแต่ละพิมพ์นั้น อาจารย์สมศักดิ์ จวงสวัสดิ์ ผู้ชำนาญการพระเครื่องชั้นนำของเมืองไทยได้ทำการศึกษาไว้อย่างละเอียดดังนี้



    พระวัดรังษีพิมพ์ใหญ่
    พุทธลักษณะทั่วไป

    พระวัดรังษี พิมพ์ใหญ่เป็นพระเนื้อปูนปั้นสีขาวอมเหลือง ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธลักษณะเป็นปางมารวิชัย ประทับนั่งปางขัดสมาธิเพชร แบบเข่าบ่วง ประทับนั่งภายในซุ้มครอบแก้ว บนอาสนะแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีบัวตูมเจ็ดกลีบ มีนิสีทนะ (ผ้าปูรองนั่ง) ค่อนข้างหนา มีลักษณะเหมือนกลีบบัวเล็บข้างรองรับ และโผล่ก้นออกมาเห็นได้ชัดเจน พระหัตถ์ซ้ายถือบาตรน้ำมนต์ พระหัตถ์ขวาทำปางมารวิชัย โดยวางพาดเข่าลึกเข่ามาตรงแนวหน้าแข้งเรียกว่า "เข่านอก" พระพักตร์ปรากฏมีพระเนตร พระกรรณ พระนาสิก และพระโอษฐ์ ชัดเจนมาก ด้านหลังอูมเป็นหลังเบี้ย ไม่ตัดกรอบพิมพ์


    พระวัดรังษี พิมพ์ใหญ่ เป็นพระเนื้อปูนปั้นแบบครึ่งซึก ด้านหลังอูมไม่ตัดขอบพิมพ์ รูปทรงกรอบเหมือนพระซุ้มกอ หรือแบบเล็บมือ ได้รับความนิยมมาก มองภาพรวมเป็นพระที่มีความสวยงามมาก และเป็นพระที่หายาก โดยเฉพาะพระสวย ๆ ราคาเช่าหาอยู่ในหลักแสน และของปลอมในท้องตลาดมีอยู่มากเช่นกัน ดังนั้นการเช่าหาจึงต้องใช้ความรอบคอบและระมัดระวังเป็นพิเศษอย่างน้อยก็ควรได้มีการศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ไว้เป็นเบื้องต้น ซึ่งรายละเอียดทางพิมพ์ทรงของพระวัดรังษี พิมพ์ใหญ่ มีดังนี้


    พระเกตุ (ยอดพระเศียร) พระเกตุตุ้มปลายแหลมขึ้นจดซุ้มครอบแก้ว โคนพระเกตุใหญ่ตั้งอยู่บนกระหย่อมเมาฬี ที่มีต่อมแป้นใหญ่รับกับพระเศียร

    พระเศียรและพระพักตร์ พระเศียรและพระพักตร์มีรูปทรงแบบผลมะตูม มีกระจังหน้าบุบเป็นขอบของไรพระศกเป็นเส้นค้อนข้างหนวดวาดเป็นกรอบพระเศียร พระเศียรเบื้องบนรับกับจังหวะของพระเมาฬีสวยงามมาก มีพระขนง พระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ และพระกรรณ ชัดเจนมาก ดังรายละเอียดดังนี้


    พระขนง (คิ้ว) คิ้วโก่งคล้ายวงพระจันทร์ เป็นเส้นหนาต่อกันรับกับพระเนตร

    พระเนตร (ตา) ตาโต เป็นศิลปะตาเนื้อ มีลักษณะเหมือนเม็ดงา วางขวางอยู่ใต้คิ้ว เปลือกตาบน มนโค้งรับกับคิ้ว เปลือกตาล่างโค้งเล็กน้อย มองภาพรวมคล้ายหลับตาทำสมาธิ

    พระนาสิก (จมูก) จมูกบานใหญ่ ใต้จมูกเป็นเส้นตัดเกือบตรง

    พระโอษฐ์ (ปาก ) ปากจู๋เหมือนปากปลากัด ตามแบบอย่างของศิลปะรัตนโกสินทร์ รูปทรงของปากเป็นวงรีหนา คล้ายปากกระจับ ส่วนบนโค้งลักษณะเดียวกับเปลือกตาด้านบน ส่วนด้านล่างโค้งน้อย ๆ เช่นเดียวกับขอบตาล่าง ตรงกลางเป็นร่องปากลึกและขอบมุมของปากเป็นมุมแหลมเหมือนปากกระจับ

    พระกรรณ (ใบหู) ใบหูกางเป็นเส้นหน้าตรงกลางมองดูบิดหักมุมคล้ายผูกโบตรงกลางคอดหักมุม ด้านบนหนากว้างและเบนเข้าแนบแก้มตรงปลายแหลม ถัดมาเป็นติ่งของใบหูยาวลงเบื้องล่างไปจดไหล่ใบหูด้านซ้ายของพระ (ขวามือเรา) ยาวลงจดเส้นสังฆาฏิ

    พระหนุ (คาง) เป็นแบบคางหยัก เป็นปมคล้ายพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ส่วนใต้ของคางป้าน

    พระศอ (คอ) คอมีลักษณะเป็นคลื่นบาง ๆ ในลักษณะกลืนหาย



    พระอังสา และพระอุระ พระอังสา (แนวไหล่) กว้าง และโค้งมนลงมาเป็นแนววงแขนวงนอก และวงในเป็นซอกแขน และลำตัวที่ลึกมาก โดยเฉพาะตรงใต้พระกัจฉะ (รักแร้) ลึกมาก หน้าอกกว้างอวบอูมล่ำสันที่หน้าอกมีกล้ามเนื้อพระถันทั้งสองด้าน ถัดลงไปเป็นลำพระองค์ (ลำตัว) ที่กลมมนต่อจากใต้พระถันลงมายังพระอุทร (ท้อง) ผายออกเป็นตะโพกน้อย ๆ แล้วกลืนหายตรงใต้บาตรน้ำมนต์เหนือพระหัตถ์ซ้ายที่ถือบาตรน้ำมนต์

    เบื้องขวาขององค์พระ (ซ้ายมือเรา) มีเส้นขอบจีวรปรากฏเป็นเส้นบาง ๆ ลากมาจากเบื้องซ้ายจากแนวเส้นสังฆาฏิ วิ่งผ่านแนวพระพันเป็นขอบบาง ๆ ลงใต้พระกัจฉะขวา เส้นสังฆาฏิเป็นแผ่นหนาพาดจากไหล่ตรงแนวใบหูซ้าย ลากลงมาจดกับปลายแหลมของบาตรน้ำมนต์เอวเป็นลำกลมมีลักษณะลงพุงน้อย ๆ มีบาตรน้ำมนต์อยู่ตรงพระอุทรตรงแนวพระนาภี

    พระพาหา (วงแขน) วงแขนประทับนั่งปางมาวิชัย พระพาหาซ้าย (ขวามือเรา) ท่อนบนอวบอูมกลม วงนอกโค้งน้อย ๆ วงในตรงซอกแขนเป็นแนวตรงแล้วหักมุมตรงข้อศอก พับเทลงมาหน้าตักเป็นมุมลาดเท ประมาณ 45 องศา ถึงฝ่ามือที่ถือบาตรน้ำมนต์ ทรงบัวตูมปลายแหลมอยู่เบื้องบน เลยจากฝ่ามือเป็นฝ่าพระบาทซ้ายที่โผล่ขึ้นมาบนหัวเข่าขวาของพระ (ซ้ายมือเรา) สอดเข้าไปใต้วงแขนขวาเลยไปเสมอหัวเข่าขวา พระพาหาขวา (ซ้ายมือเรา) เป็นท่อนแขนท่อนบนที่อวบอูมกลมหนา ลาดเทออกห่างจากลำพระองค์เล็กน้อย แล้วหักมุมตรงข้อพับเข้ามาเป็นลำแขนท่อนล่างจนถึงฝ่ามือที่พาดลงจับเข้าลึกเข้ามาตรงหน้าแข้ง ตามศิลปะเรียกว่า ปางมารวิชัย แบบเข่านอก

    พระเพลา (หน้าตัก) ประทับนั่งแบบขัดสมาธิเพชร ขาขวาทับขาซ้ายไขว่กัน ขาขวาที่ทับบนขาซ้ายถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นเส้นขอบจีวรเป็นสันหนาที่หน้าแข้ง ถัดขึ้นไปเป็นฝ่าพระบาทขวาของพระที่หนามาก ซ้อนทับอยู่เบื้องบน พระเพลาซ้าย (ขาซ้าย) เป็นปมหัวเข่าที่หนามาก สอดปลายพระบาทเข้าใต้ขาขวาในลักษณะไขว้กันแล้วโผล่ปลายพระบาทขึ้นมาใต้ลำแขนเหนือเข่าขวาขององค์พระ (ซ้ายมือเรา) ปลายพระบาทยาวเกือบเท่าเข่าขวา

    นิสีทนะ (ผ้าปูรองนั่ง) ผ้าปูรองนั่งค่อนข้างหนามีลักษณะคล้ายบัวจาวตาล หรือบัวเล็บช้าง รองรับอยู่ใต้พระเพลา กลีบบัวจาวตาลโผล่กลีบลาดเทเอียงมาจากใต้พระเพลาลงมาหาอาสนะ

    อาสนะ (ฐานพระ) เป็นหน้ากระดานทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวเสมอเข่าทั้งสองข้างมีกรอบเส้นลวดล้อมเป็นเส้นคู่อีกชั้นหนึ่งภายในกรอบสี่เหลี่ยมมีกลีบบัวตูมปลายแหลมเกล็กลีบเรียงเป็นแถวโตเท่ากันทุกเม็ดด้านใต้ของอาสนะมีเนื้อเกินที่หนาพอสมควรเป็นขอบของอาสนะด้านล่าง

    กรอบซุ้มครอบแก้ว เป็นซุ้มเส้นลวดขนาดเล็ก ปลายยอดซุ้มแหลมตีกรอบรอบองค์พระ ด้านใต้เป็นเส้นปิดซุ้มที่หนา

    ด้านหลัง ของพระอูมแบบหลังเบี้ย ด้านหลังไม่มีจารอักขระเลขยันต์บางองค์มักพบปลายนิ้วมือด้วย ด้านหลังมีปีกเหลือเนื่องจากไม่มีการตัดกรอบ


    --------------------------------------------------------------------------------

    พระวัดรังษีพิมพ์กลาง

    สำหรับพระวัดรังษี พิมพ์กลางนี้ ในวงการพระยังถือว่าเป็นพิมพ์ใหญ่เช่นกัน แต่ผู้เขียน (อ.สมศักดิ์ จวงสวัสดิ์) คิดว่าควรจะแยกเป็นอีกพิมพ์หนึ่งใหญ่ชัดเจนยิ่งขึ้นเพราะเห็นว่าองค์พระเป็นแม่พิมพ์เล็กกว่ากันและองค์พระก็เล็กย่อมเยากว่า และอีกประการหนึ่ง เรามีพระวัดรังษี พิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก แล้วก็ควรจะมีพระวัดรังษี พิมพ์กลางด้วยจึงจะเข้าชุดกัน


    พุทธลักษณะทั่วไป

    พระวัดรังษี พิมพ์กลางเป็นพระปูนปั้นผสมผงใบลานเผาสีดำ ลงรักปิดทองล่องชาดทุกองค์ รูปทรงขององค์พระจะเหมือนกับพระวัดรังษี พิมพ์ใหญ่ทุกประการ แต่มีขนาดแม่พิมพ์เล็ก ย่อมเยากว่ากันเล็กน้อยโดยเฉพาะพระพักตร์ และลำพระองค์ดูผอมชะลูดกว่ากันเล็กน้อย รูปทรงของแม่พิมพ์พระวัดรังษี พิมพ์กลาง คล้ายเล็บมือ ทรงสูงมองดูสูงชะลูดกว่าวัดรังษี พิมพ์ใหญ่ด้านหลังอูมแบบหลังเบี้ย มีอักขระเลขยันต์บรรจุภายในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส กดประทับลงด้านหลังคล้ายพระสมเด็จอรหังสีแดงของวัดสร้อยทองที่เรียกว่าหลัง "โต๊ะกัง" ไม่ตัดกรอบแม่พิมพ์ จึงพบว่าปีกข้างองค์พระมักมีเนื้อเกิน


    องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัย ภายในซุ้มครอบแก้วเส้นเล็กแบบเส้นลวด พระหัตถ์ซ้ายวางหงาย ถือบาตรน้ำมนต์เหนือพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางพาดพระชานุ (หัวเข่า) แบบเข่านอก พระเพลาประทับนั่งขัดสมาธิเพชรลักษณะไขว้กันคล้ายเข่าบ่วง ใต้พระเพลามีนิสีทนะ เหมือนบัวกลีบจาวตาลรองรับโผล่ก้นออกมาเห็นเป็นกลีบสองกลีบ อาสนะ เป็นแท่นสี่เหลี่ยมแบนหน้ากระดานทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างเสมอเข่าทั้งสองด้าน ภายในกรอบ สี่เหลี่ยมของแท่นอาสนะมีบัวเจ็ดกลีบเรียงเป็นแถวเท่ากันทุกกลีบ


    รายละเอียดทางพิมพ์ทรง


    พระวัดรังษี พิมพ์กลาง เป็นพระที่หายากมากพบเห็นเป็นจำนวนน้อย สัดส่วนต่าง ๆ ของพิมพ์ทรงและองค์พระเท่าที่พบจะเล็กและตื้นกว่าพิมพ์ใหญ่ ดังรายละเอียดของพิมพ์ทรงดังนี้


    พระเกตุ เป็นเกตุตุ้มปลายแหลมยาวขึ้นจดซุ้ม ตั้งอยู่บนกระหย่อม เมาฬีที่เป็นปมใหญ่ มีลักษณะแป้น

    พระเศียรและพระพักตร์ ทรงผมมะตูมคางเสี้ยม มีพระขนง พระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ ชัดเจน

    พระขนง มีลักษณะหนาโก่งต่อกันสองข้าง รับกับพระเนตร

    พระเนตร เป็นตาเนื้อ เปลือกตาบนโค้งตามพระขนง เปลือกตาล่างโค้งน้อย ๆ คล้ายหลับตาทำสมาธิ

    พระนาสิก บานใหญ่ ใต้จมูกเป็นเส้นตัดเกือบตรง

    พระโอษฐ์ ปากจู๋หนาเหมือน ปากปลากัด ตามแบบศิลปะรัตนโกสินทร์และอยุธยา รูปทรงของปากหนาเป็นปากกระจับ ส่วนบนโค้งขึ้นมาก ช่วงล่างโค้งเล็กน้อยบรรจบกันเป็นวงของช่องปาก ตรงกลางเป็นร่องปากที่ลึกมาก ขอบปากเป็นมุมแหลมเหมือนปากกระจับ

    พระกรรณ ค่อนข้างหนาและกางออกข้างมีลักษณะบิดคอดกลางเหมือนโบแนบชิดติดกับพระปราง ช่วงล่างปลายหูเป็นติ่งคล้ายหยอดน้ำยาวเกือบจดบ่า ปลายพระกรรณช่วงบนแบนแหลมและบิดตรงกลาง ปลายพระกรรณซ้ายยาวบรรจบกับสังฆาฏิ

    พระหนุ เป็นแบบคางหยิก เป็นปมคล้ายพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ส่วนใต้คางเสี้ยมแหลมหรือป้านน้อย ๆ

    พระศอ มีลักษณะเป็นคลื่นบาง ๆ พอสังเกตเห็น

    พระอังสา (แนวไหล่) และลำพระองค์ มีแนวไหล่กว้างและโค้งมนลงมาเป็นแนววงแขนนอกและวงแขนในเป็นซอกแขนและลำตัวที่ลึกมาก โดยเฉพาะตรงใต้พระกัจฉะลึกมาก พระอุระ กว้างอวบอูมล่ำสัน ที่หน้าอกมีกล้ามเนื้อพระถันทั้งสองด้าน ถัดลงไปเป็นลำพระองค์ที่กลมมนต่อจากใต้พระถันลงมายังพระอุทร (ท้อง) แล้วผายออกเป็นสะโพกน้อย ๆ แล้วกลืนหายตรงใต้บาตรน้ำมนต์และบาตรน้ำมนต์นี้วางอยู่บนมือซ้ายเบื้องขวาขององค์พระ (ซ้ายมือเรา) มีเส้นขอบจีวรปรากฏเป็นเส้นบาง ๆ ลงใต้พระกัจฉะขวา เส้นสังฆาฏิเป็นแผ่นหนาพาดจากไหล่ตรงแนวใบหูซ้ายลากลงมาจดกับปลายแหลมของบาตรน้ำมนต์ เอวเป็นลำกลมมีลักษณะลงพุงน้อย ๆ มีบาตรน้ำมนต์น้ำมนต์อยู่ตรงพระอุทรตรงแนวพระนาภี

    พระพาหา วงแขนประทับนั่งปางมารวิชัย พระพาหาซ้ายท่อนบนอวบอูมกลม วงนอกโค้งน้อย ๆ วงในตรงซอกแขนเป็นแนวตรงแล้วหักมุมตรงข้อศอกพับเทลงมาที่หน้าตักเป็นมุมลาดเทประมาณ 45 องศา ถึงฝ่ามือที่ถือบาตรน้ำมนต์ทรงบัวตูมปลายแหลม ถัดจากฝ่ามือไปทางขวา เว้นระยะเล็กน้อยเป็นฝ่าพระบาทซ้ายที่โผล่ขึ้นมาบนหัวเข่าขวาของพระ สูงระดับเดียวกับพระบาทขวา แล้วสอดเข่าไปใต้แขนขวา ทะลุแขนเลยไปเสมอหัวเข่าขวา พระพาหาขวา (ซ้ายมือเรา) เป็นท่อนแขนท่อนบนที่อวบอูมกลมหนาลาดเทออกห่างจากลำพระองค์เล็กน้อยแล้วกักมุมแปเข้าหาลำพระองค์เล็กน้อยตรงข้อพับ เข้ามาเป็นลำแขนท่อนล่างจนถึงฝ่ามือที่พาดลงจับเข้าลึกเข้ามาตรงพระชงฆ์ขวา (หน้าแข้ง) ตามศิลปะเรียกว่า "เข่านอก" ปางมารวิชัย

    พระเพลา ประทับนั่งปางสมาธิเพชรพระชงฆ์ ขวาประทับพระชงฆ์ซ้ายไขว่กันเหมือนเครื่องหมายคูณ พระชงฆ์ขวาตั้งแต่พระชานุ (เข่า) ไปถึงปลายพระบาทหนามากซ้อนทับอยู่บนพระชงฆ์ซ้ายแสดงฝ่าพระบาทหงายขึ้นหนามากบนพระ ชานุซ้ายพระชงฆ์ซ้ายเริ่มจากปมพระชานุซ้าย และพระบาทซ้ายที่หนามากสอดเข้าใต้พระชงฆ์ขวาแล้วโผล่พระบาทขึ้นมาทับพระเพลาด้านขวา พระบาทลอดใต้แขนขวายาวเสมอพระชานุขวา และปลายพระบาทซ้ายยกสูงเท้ากับพระบาทขวา

    นิสีทนะ ผ้าปูรองนั่งค่อนข้างหนา มีลักษณะคล้ายกลีบบัวจาวตาล หรือบัวเล็บช้างรองรับอยู่ใต้พระเพลา กลีบบัวจาวตาลโผล่กลีบลาดเทเอียงมาจากใต้พระเพลาลงมาหาอาสนะเป็นสองลอน

    อาสนะ เป็นหน้ากระดานทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวเสมอเข่าทั้งสองข้าง มีกรอบเส้นลวดล้อมเป็นเส้นคู่อีกชั้นหนึ่งภายในกรอบสี่เหลี่ยมมีกลีบบัวตูมปลายแหลมเจ็ดกลีบเรียงเป็นแถวโตเท่ากันทุกกลีบด้านใต้ของอาสนะมีขีดเนื้อเกินที่หนาพอสมควร เป็นขอบของอาสนะด้านล่าง หรือเส้นปิดซุ้ม บางองค์มองดูเป็นเส้นคู่

    กรอบซุ้มครอบแก้ว เป็นซุ้มเส้นลวดคู่ขนาดเล็กสูงปลายยอดซุ้มแหลม ซุ้มภายในหนา ซุ้มภายนอกบางลดหลั่นกัน ตีกรอบล้อมองค์พระเสาซุ้มอยู่ห่างจากอาสนะเห็นได้ชัด บางองค์เนื้อไม่ล้นพิมพ์จะเห็นเป็นซุ้มชั้นเดียว

    ด้านหลัง ขององค์พระมีลักษณะอูมแบบหลังเบี้ย มีตราประทับลึกลงไปในเนื้อด้านหลังเป็นทรงกรอบสี่เหลี่ยมด้านเท่า ภายในกรอบสี่เหลี่ยม มีอักขระขอมประทับอยู่ภายใน ซึ่งเท่าที่ปรากฏมีทั้งแบบอักขระขอมตัวเดียว และอักขระขอม 2 ตัว ดังตัวอย่างจากรูปนี้เป็นอักขระตัวเดียวอ่านว่า "พะ"

    ลักษณะของเนื้อพระวัดรังษี พิมพ์กลาง เป็นเนื้อปูนปั้นผสมผงใบลานเผาสีดำลงรักปิดทองล่องชาดทุกองค์ เนื้อค่อนข้างละเอียดแกร่งมาก มีมวลสารสีขาวขุ่นแบบพระสมเด็จ วัดระฆังฯ ผสมอยู่ด้วย



    --------------------------------------------------------------------------------

    พระวัดรังษีพิมพ์เล็ก
    พุทธลักษณะทั่วไป

    พระวัดรังษี พิมพ์เล็กเป็นพระเนื้อปูนปั้นสีขาวอมเหลืองแบบพระแก่น้ำมันตังอิ้ว ส่วนมากเท่าที่พบ พระจะลงรักปิดทองทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นรักเก่าสีดำและรักสีน้ำตาล องค์พระมีลักษระรูปทรงผิดแผกไปจากพระวัดรังษีพิมพ์ใหญ่และพิมพ์กลางมาก กล่าวคือองค์พระจะเล็กและบางกว่ากันมากรูปทรงคล้ายเล็บมือปลายแหลม มีกรอบเส้นลวดสองชั้น องค์พระประทับนั่งปางสมาธิภายในซุ้มครอบแก้วเส้นเล็กแบบเส้นลวดเป็นเส้นคู่วิ่งขนานกัน เส้นในเป็นเส้นหนา เส้นนอกเป็นเส้นบางและภายในซุ้มครอบแก้วมีลักษระเป็นแอ่งท้องกะทะตื้น ๆ องค์พระล่ำต้อ วงแขนหนีบเส้นหนา ปางสมาธิ แขนทรงสี่เหลี่ยมไหล่ยกแขนขวามีกล้ามเนื้อลูกหนูตรงโคนแขน (Biceps) ชัดเจนมาก ประสานพระหัตถ์ ขวาทับซ้าย และมือซ้ายห้อยลงล่างเหนือพระเพลา พระเพลานั่งปางสมาธิเพชรแบบเข่าบ่วง ขามีลักษณะไขว้กัน พระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย ไขว้กันชัดเจนมาก ประทับนั่งบนอาสนะบัวปลายแหลม 4 กลีบ มีนิสีทนะเป็นปื้นบาง ๆ มีลักษณะคล้ายกลีบบัวจาวตาลรองรับอยู่ใต้พระเพลา


    พระวัดรังษีพิมพ์เล็ก มี 2 ขนาดคือขนาดเล็ก ฐานกว้างประมาณ 1.5 ซ.ม. สูงประมาณ 2.5 ซ.ม. และขนาดเล็กที่สุด คือ ช่วงฐานกว้างประมาณ 1.3 ซ.ม. ความสูงประมาณ 2.2 ซ.ม. ไม่รวมปีก ความหนาประมาณ 0.8 - 1.0 ซ.ม. รูปทรงของพระเหมือนกันทุกประการ ส่วนด้านหลังเป็นหลังอูมแบบหลังเบี้ย ไม่มีอักขระเลขยันต์และไม่ตัดกรอบแม่พิมพ์


    รายละเอียดพิมพ์ทรง


    พระเกตุ เป็นเกตุตุ้มปลายแหลมยาวขึ้นจดซุ้ม ตั้งอยู่บนกระหย่อมเมาฬี เป็นปมใหญ่ทรงแป้น

    พระเศียร และพระพักตร์ เป็นทรงหม้อตาลมีทั้งแบบคางเสี้ยมและคางแป้นไม่มีรายละเอียดของพระเนตร พระนาสิกและพระโอษฐ์

    พระกรรณ ค่อนข้างเป็นเส้นหนา และกางออกด้านข้าง มีลักษณะคอดกลาง เหมือนโบว์ หรือบายศรี ตรงช่วงที่งอคอดกลางแนบชิดติดกับพระปราง ช่วงล่างปลายหูเป็นติ่งคล้ายหยดน้ำ ยาวเกือบจดบ่าปลายพระกรรณช่วงบนแบนกว่าช่วงล่าง ปลายแหลมตรงกลางบิดขึ้นบน พระกรรณซ้ายช่วงล่างยาวบรรจบกับเส้นสังฆาฏิ ช่วงบนยาวและกางกว้างกว่าพระกรรณซ้าย พระกรรณขวาตรงกลางเป็นติ่งยื่นติดแก้ม

    พระศอ มีลักษณะเป็นคลื่นบาง ๆ พอสังเกตเห็น คอไม่ยาว

    พระอังสา พระอุระ และลำพระองค์ (แนวไหล่ หน้าอก ลำตัว และหน้าท้อง) แนวไหล่ตั้งตรงลำคอมองดูเป็นแอ่งกระทะน้อย ๆ แนวไหล่กว้างและโค้งมนลงมาเป็นวงแขนวงนอก และวงใน ซอกแขนและลำตัวลึกพองามซอกพระกัจฉะแคบ พระกัจฉะทรงแหลมลึกสมตัว หน้าอกกว้างมองดูแบนกว่า พระวัดรังษีพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์กลาง ไม่แสดงกล้ามเนื้อพระถัน แต่จะแสดงขอบของลำพระองค์ตั้งแต่ใต้พระกัจฉะลงมาเป็นขอบพระถันต่ำลงมาเป็นขอบพระอุทร และหน้าท้องที่ค่อนข้างแบนผายขอบพระอุทรมา เป็นเอวและสะโพกที่ค่อนข้างกว้าง มองดูเหมือนคนลงพุงน้อย ๆ ที่หน้าท้องปรากฏมีพระนาภี (สะดือ) เป็นรูกลม มีขอบหนามาก อยู่เหนือฝ่ามือขวาเหมือนท่านทรงถือบาตรน้ำมนต์ เหนือพระนาภี ขึ้นไปเป็นเส้นสังฆาฏิยาวขึ้นพาดบ่าและไปบรรจบกับปลายพระกรรณ การเน้นเส้นสังฆาฏิให้ชัดเจนเน้นด้วยร่องรางรอบสังฆาฏิทั้งสองข้างจนถึงบ่า และมีเส้นขอบจีวรเป็นร่องเล็ก ๆ วาดลงที่ซอกรักแร้ขวา ใต้พระนาภีและพระอุทรแสดงเป็นลอนท้องโดยวาดเป็นร่องลึกพองาม เป็นรูปคล้ายเครื่องหมายวงเล็บปีกกา {…} ใช้เป็นขอบของหน้าท้องช่วงล่าง ตรงปลายแหลมของวงเล็บปีกกาจะอยู่ตรงใต้พระนาภีพอดี เป็นตำหนิพิมพ์ที่ใช้สังเกตุส่วนพิมพ์เล็กสุดไม่ค่อยแสดงรายละเอียดให้เห็น

    พระพาหา วงแขนประทับนั่งปางสมาธิ วงแขนกว้างมองภาพรวมเป็นทรงสี่เหลี่ยมด้านเท่า ส่วนพิมพ์เล็กสุดปลายมือที่ประสานกันเป็นทรงแหลม

    พระพาหาซ้าย ท่อนบนอวบอูม วงนอกโค้งน้อย ๆ วงในตรงซอกแขนเป็นแนวตรงไม่แสดงกล้ามเนื้อลูกหนูที่โคนแขนชัดเจนนัก แล้วหักมุมข้อศอกลาดเทลงมาหาหน้าตักเป็นเส้นค่อย ๆ เรียวเล็กจนถึงฝ่ามือ หักฝ่ามือแยกลงล่างไม่ซ้อนมือกับมือขวาที่ตรงหน้าตัก

    พระพาหาขวา (ซ้ายมือเรา) ท่อนบนอวบอูม วงนอกโค้งน้อย ๆ พองาม วงแขนด้านในซอกแขนแสดงแสดงกล้ามเนื้อลูกหนูที่กลมใหญ่ และชัดเจนมาก แล้วลากลงหักมุมข้อพับเข้ามาเป็นลำแขนท่อนล่าง ค่อย ๆ เรียวเล็กจนถึงปลายฝ่ามือที่ค่อนข้างแบนและหงายฝ่ามือไปบรรจบกับมือซ้ายตรงข้อมือพอดี ทำให้ดูวงแขนเป็นทรงสี่เหลี่ยมลบมุม

    พระเพลา พระเพลา ประทับนั่งปางสมาธิเพชร พระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้ายไขว้กันเป็นวงเรียกว่าเข่าบ่วง พระชงฆ์ขวาวาดเป็นวงโค้งตั้งแต่พระชานุ (หัวเข่า) ไปจนถึงปลายพระบาท วาดซ้อนทับพระชงฆ์ซ้ายเหมือนเลข 8 ตะแคง แสดงให้เห็นฝ่าพระบาทขวาหงายขึ้นบนหน้าตัก หรือตรงวงกลมซ้าย พระชงฆ์ซ้าย (ขวามือเรา) วาดเป็นวงกลมกลมจากพระชานุซ้ายเป็นปมหัวเข่า ค่อนข้างหนากว่าพระชานุขวา แล้ววาดพระชงฆ์ซ้ายสอดเข้าใต้พระชงฆ์ขวาไปโผล่บนหน้าตัก

    นิสีทนะ ผ้าปูรอง นั่งเป็นปื้นบาง ๆ ยกขอบขึ้นเป็นรูปลักษณะคล้ายกลีบบัวจาวตาล หรือรูปหัวใจส่วนบน หรือบัวเล็บช้าง รองรับอยู่ใต้พระเพลาเป็นขอบบาง ๆ โผล่ปลายกลีบตรงส่วนที่ขยักเอียงยื่นออกมาจากใต้พระเพลามาเสมอขอบบัวที่เป็นอาสนะ

    อาสนะ เป็นฐานชั้นเดียว มีลักษณะเป็นกลีบบัวเล็ก ปลายแหลม ประมาณ 7 กลีบอยู่ใต้พระเพลา และอยู่ชิดขอบพิมพ์เบื้องล่าง

    กรอบซุ้มครอบแก้ว เป็นซุ้มเส้นลวดกลม มีลักษณะเป็นเส้นคู่วิ่งขนานกันเป็นทรงกลีบบัวปลายแหลมเหมือนเล็บมือตีกรอบล้อมรอบองค์พระเส้นซุ้มภายในเป็นเส้นหนาล้อมรอบองค์พระส่วนที่องค์พระประทับภายในซุ้มชั้นในเป็นแอ่งท้องกระทะ ซุ้มครอบแก้วเส้นนอกเป็นปีกของกรอบพิมพ์ การเดินซุ้มชั้นในเสาซุ้มอยู่ติดกับฐานบัวทั้งสอง การเดินซุ้มชั้นนอกเดินเส้นล้อมรอบกรอบชั้นในทั้งหมดรวมทั้งใต้อาสนะด้วย

    ด้านหลัง ด้านหลังของพระวัดรังษี พิมพ์เล็ก มีลักษณะอูมเป็นหลังเบี้ย ด้านข้างไม่ตัดขอบ ด้านหลังมักไม่ค่อยพบลายมือเหมือนกับพระวัดรังษี พิมพ์ใหญ่ ด้านล่างของด้านหลังพระ มักมีรอยย่นพับขึ้นเหมือนกับพระรอด เนื่องจากการถอดพิมพ์ออกจากแม่พิมพ์แรงจนทำให้เนื้อพระที่ยังนิ่มในขณะพิมพ์อยู่ขึ้นขอบล่างตรงก้นของขอบพิมพ์พระมีเนื้อเกินแม่พิมพ์มองดูเป็นสองชั้น และมีการแต่งกดเนื้อส่วนที่เกินแม่พิมพ์มองดูเป็นสองชั้น และมีการแต่งกดเนื้อส่วนที่เกินแม่พิมพ์ให้ดูมนเรียบร้อย

    ขอขอบคุณ : อ.สมศักดิ์ จวงสวัสดิ์
     
  10. เด็กโก-ลก

    เด็กโก-ลก เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    1,374
    ค่าพลัง:
    +3,061
    อันนี้ครับ บางขุนพรหมกรุใหม่ที่สภาพตอนแรกเมื่อ 30ปีก่อนพ่อผมได้มาจากขี้ดินไม่รู้พิมพ์ตอนแรกทั้งล้าง+กรอ ล้างเป็น 10เที่ยว จนเซียนเก่าท่านพระจันทร์ให้มาท้าพิสูจน์เอาไปแช่ทินเนอร์ว่าไม่ละลาย จนได้ลงความเห็นว่าคราบกรุของแท้ชัวร์ๆ สมัยนั้นกาวตราช้างยังไม่มีนะครับ

    นี้คือสภาพปัจจุบันครับ ดูด้านข้างที่ไม่โดนเหงื่อสิครับกระด้างเหมือนของท่านไหม เอามาใส่ประมาณ 5-6ปี พ่อผมใส่มั่งบางทีก็ฝากผมใส่ไปตอนไปเล่นเพื่อให้โดนเหงื่อ จำได้ว่าใส่ตลับเงินธรรมดาครับไม่ใส่พลาสติก พระเก๊-แท้ช่างมันนะครับให้ดูเอาเอง แต่ให้ดูผิวพระดีกว่า สภาพหลังใส่มา 5-6ปี แล้วตอนหลังเอาไปใส่เซฟประมาณ10ปีไม่ได้แขวน ตอนแรกที่เอาไปใส่หลังแช่ทินเนอร์ผิวเสียแย่กว่าของท่านอีก เข้าขั้นอุบาทว์เลย ประมาณว่ากระด้างสุดๆจนนึกว่าปูนปลาสเตอร์เลอะคราบอะไรซักอย่าง ข้อเสียภาพนี้ยิงแฟลชแรงไปของจริงตอนนี้ดูสวยงามหนึกนุ่มกว่านี้เยอะ

    ใส่ตลับแบบเปิดผิวหน้าหลังไม่ดีครับทำให้ผิวช้ำไม่สวยดูด้านกระด่างๆ ให้พระค่อยๆโดนเหงื่อทีละนิดเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามกาลเวลาจะดีกว่าครับ อันนี้พ่อผมสอนมา

    ปล.พระวัดรังษีองค์นี้ถ้าปล่อยไม่แพงหลักหมื่นนิดๆ นัดดูองค์จริง แล้วถ้าผมชอบคุยกับผมได้นะ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 20 สิงหาคม 2013
  11. mahesakrungrod2527

    mahesakrungrod2527 สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กุมภาพันธ์ 2014
    โพสต์:
    3
    ค่าพลัง:
    +0
    พระวัดรังษี

    มีคนบอกว่าเป็นพระวัดรังษี ... พ่อได้มาจากก๋ง 30กว่าปีแล้วครับ ..และพ่อก็พึ่งให้ผมมา

    <a href="http://image.ohozaa.com/view2/xTboFkOFv5BZkYFM" target="_blank"><img border="0" src="http://image.ohozaa.com/t/6cf/GIobbz.JPG" /></a>

    <a href="http://image.ohozaa.com/view2/xTboHOFru6I9T9Ln" target="_blank"><img border="0" src="http://image.ohozaa.com/t/54b/vABLqO.JPG" /></a>
     
  12. jaru

    jaru เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 พฤศจิกายน 2006
    โพสต์:
    586
    ค่าพลัง:
    +710
    ขออนุญาติ ขุดกระทู้นะครับ

    รบกวนเพื่อนๆ สมาชิดช่วยดู พระวัดรังษีองค์นี้ด้วยครับ
    เก๊-แท้ ประการใดครับ ผมไม่เคยเห็นขอแท้ๆ เลยไม่รู้ว่า
    ขอแท้เป็นแบบไหนครับ
    รบกวน...ขอความรู้ ไว้เป็นวัคซีนหน่อยครับ


    [​IMG]

    ขอบคุณสำหรับทุกความเห็น...และทุกคำแนะนำด้วยครับ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...