มาฝึกกสิณตอนนี้จะสายไปหรือเปล่า ?

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 5 กันยายน 2008.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,171
    ถาม : มาฝึกกสิณตอนนี้รู้สึกว่าจะสายไปหรือเปล่า ?

    ตอบ : ไม่มีคำว่าสาย พร้อมจะเริ่มเมื่อไหร่ก็เอาได้เลย การปฏิบัติทุกอย่างลงมือเมื่อไหร่เป็นคุณแก่ตัวเมื่อนั้น

    ถาม : ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น แล้วการที่มาเล่นกสิณนี่จะถูกทางมั้ยครับ ?

    ตอบ : กรรมฐานทุกกองในกรรมฐาน ๔๐ หรือมหาสติปัฏฐานก็ตาม ถูกทางทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราจะขมวดปลายมันเป็นมั้ย ? เราเล่นกสิณพอถึงวาระสุดท้ายเราก็พิจารณาเป็นวิปัสสนาญาณว่ารูปภาพกสิณจริงๆ มันก็มีความไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แรกๆ มันก็เป็นภาพของอุคหนิมิตคือ เป็นรูปกสิณตามนั้น หลังจากนั้นมาก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป จากสีเดิมก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ กลายเป็นสีขาวจากสีขาวก็เจิดจ้าไป ถึงวาระสุดท้ายก็อธิษฐานให้มาก็ได้ให้ไปก็ได้ มันไม่มีความเที่ยงแ้ท้แน่นอนแม้แต่อย่างเดียว

    ถ้าเราตั้งความปรารถนาว่าจะให้มันดำรงอยู่ตลอดกาลสมัย เราก็ประกอบไปด้วยความทุกข์ แล้วในที่สุดแม้กระทั่งตัวเราเองที่เป็นผู้ทรงกสิณอยู่เราก็ตาย ภาพกสิณที่เราเห็นก็สลายตัวได้ วัตถุที่เราเอามาทำเป็นดวงกสิณ ก็สลายตัวได้ มันไม่มีอะไรเหลืออยู่ ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรดำรงอยู่ได้เกิดมาเมื่อไหร่ก็ต้องเจอกับสภาพเช่นนี้ มีความไม่เที่ยง มีความเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้เป็นปกติ แล้วเราจะเกิดมาให้ทุกข์ทำไม ขมวดท้ายเป็นมันไปนิพพานได้ทุกกอง เอากองไหนดีล่ะ ?

    ถาม : เตโชกสิณนี่เขามองเปลวไฟหรือว่าเขามองแสงไฟครับ คือว่าหาอะไรมาครอบจนเป็นจุดเป็นแสง ?

    ตอบ : ถ้าหากว่าเป็นกองไฟใหญ่สมัยก่อนเขาให้ใช้ผ้าตัดเป็นวงกลม แล้วก็วางให้ตรงกับกองไฟให้ลักษณะเป็นวงหลมไว้ สนใจแต่สภาพของไฟในวงกลมนั้น มันจะเป็นแสงอย่างไร มีสีอย่างไร มีขีดอย่างไร มีเส้นอย่างไรไม่เอา

    แต่ถ้าหากว่าเราเพ่งเทียนหรือเพ่งตะเกียง ก็จำลักษณะของดวงไฟมันไว้เท่านั้น เปลวไฟมันจะมีลักษณะอย่างไร ขอบมันจะเป็นอย่างไร สีสรรมันจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปใส่ใจ จำเฉพาะดวงไฟมันเท่านั้น พอคล่องตัวมากๆ แล้วอะไรก็ได้

    สมัยที่ทำอยู่เด็กๆ นี่โอ๊ย....มันมากเลยเพราะว่าบ้านอยู่ต่างจังหวัดไฟฟ้าไม่มี ก็เอาตะเกียงจุดในมุ้ง ถ้าจุดตะเกียงโดยไม่มีเหตุผล เจอไม้เรียวแน่ๆ ก็เอาหนังสือมา นั่งตัวตรงแหน็วเลย แต่ตาไม่ได้ดูหนังสือหรอก ดูตะเกียงแล้วก็จำภาพเอา แล้วถึงเวลาต้องไปทำหน้าที่หุงข้าว ไฟทั้งเตาก็เป็นดวงกสิณของเราได้ ถ้าหากว่าจับคล่องตัวแล้วมันไม่มีปัญหาอะไรเลย

    ถาม : คือว่าเราไม่ต้องไปเพ่งว่ามันเป็นรูปอย่างไร ?

    ตอบ : ไม่ต้องหรอก นึกถึงลักษณะของมันแล้วจำเอาไว้แค่นั้นเอง แล้วก็นึกว่าไฟ ๆ ๆ ถ้าภาษาบาลีเขาเรียก เตโชกสิณัง เตโชกสิณัง นึกถึงลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนา แล้วกำหนดจดจำเอาไว้ลืมตามองแล้วหลับตาลงนึกถึงนะ มันจะเห็นได้แว๊บหนึ่ง จำลักษณะมันได้แว๊บหนึ่ง พอลักษณะเลือนไปก็ลืมตาดูแล้วหลับตาลงนึกถึงพร้อมคำภาวนา ไม่ใช่ไปนั่งจ้องมันนะ

    คำว่ากสิณแปลว่าเพ่งคือให้มันติดตาติดใจ ไม่ใช่ว่าไปนั่งจ้องในลักษณะใช้สายตาเพ่งอย่างนั้นใช้ไม่ได้ อย่างนี้เรามองแล้วหลับตามันจะจำได้อยู่แป๊บหนึ่ง แล้วพอหายไปแล้วก็ลืมตามองดูใหม่ เป็นหมื่นเป็นแสนครั้งหลังจากที่มันติดตา แล้วหลับตาอยู่ก็นึกถึงได้ ลืมตาอยู่ก็นึกถึงได้แล้ว

    คราวนี้ก็สำคัญตรงประคับประคองให้ดี เผลอเมื่อไหร่มันหาย ตอนนั้นสนุกมากเหมือนเลี้ยงลูกแก้วบนปลายเข็ม ต้องคอยระวังอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกเลย หลังจากนั้นภาพกสิณก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย จากเปลวจะกลายจากสีเข้มก็จะมีสีอ่อนลงๆ เป็นสีเหลืองอ่อน กลายเป็นสีขาวๆ ทึบก็จะกลายเป็นขาวใสขึ้นๆ จนกระทั่งใสสว่างเหมือนอย่างกับเรามองดวงอาทิตย์ทั้งดวง ทีนี้ก็อธิษฐานให้ใหญ่ให้เล็ก ถ้าอธิษฐานให้เล็กได้ใหญ่ได้ก็ขออธิษฐานให้ใช้ผลของกสิณได้

    ถาม : ถ้าหากผมปฏิบัตินี่จะใช้เวลาเท่าไหร่ครับ ?

    ตอบ : เวลาขึ้นอยู่กับเราเอง ถ้าปฏิบัติถูกก็เร็ว ปฏิบัติผิดก็ช้า มันจะมีตัวมัชฌิมาปฏิปทาพอเหมาะพอดีของเรา พอเหมาะพอดีนี่มันไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ไม่ได้บอกว่าต้อง ๕๐% เป๊ะ มันเป็นการพอเหมาะพอดีกับตัวของเราเอง ซึ่งเกิดจากบุญญาบารมีต่างๆ ของเราที่สร้างสมมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บวกกับสภาพร่างกายด้วย

    อย่างเช่นว่าคนอื่นนั่งกันที ๓ วัน ๓ คืนพอดี แต่ของเราอาจจะครึ่งชั่วโมงมากกว่านั้นเราก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้นตัวพอเหมาะพอดีเราต้องหามันให้เจอว่าพอมันเหมาะพอดีตรงไหน ถ้าทำได้พอเหมาะพอดี ผลมันก็จะก้าวหน้าเร็วมาก ถ้าทำเกินร่างกายมันเครียดเกินไปจิตใจเป็นกังวลอยู่กับร่างกายมันก็ก้าวหน้ายาก

    จริงๆ แล้ว มันไม่มีอะไรหรอก ทำให้มันพอเหมาะพอดีพอควรแค่นั้นเอง ตัวนี้มันต้องค้นเอง พูดให้ฟังนี่มันง่าย ค้นเองนี่มันยาก ถึงเวลามันลงตัวโช๊ะลงไป เราจำอารมณ์นั้นได้ ต่อไปทำเมื่อไหร่เราก็ได้เมื่อนั้นแหละ ยากที่ครั้งแรกเท่านั้น ตั้งหน้าตั้งตาทำจริงๆ จังๆ ของเราน่ะทำแล้วไม่รักษาอารมณ์ให้ต่อเนื่อง ทำๆ ทิ้งๆ ว่ายน้ำไปเสร็จเรียบร้อยก็ปล่อยให้ลอยตามน้ำ ลอยตามน้ำเสร็จนึกอยากจะว่ายขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ว่ายใหม่อีก ได้แต่งานไมได้ผลงานเพิ่มขึ้นเลย ว่ายเมื่อไหร่มันก็เท่าเดิม ดีไม่ดีเหนื่อยมากๆ น้อยกว่าเดิมซะอีก เป็นคนขยันมาก ขยันทำงานแต่ไม่ได้ผลงานอะไรเพิ่มเลย ต้องทำให้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ถ้าทำต่อเนื่องแล้วผลก็จะเกิดเร็วเพราะเท่ากับว่าได้ระยะทางเพิ่มขึ้น ในที่สุดมันก็จะถึงจุดหมายที่ต้องการ

    ถาม : เวลาทำงานใจมันก็ต้องคิดอยู่กับงานนี่ ?

    ตอบ : ก็คิดไปซิ เวลาทำงานใจอยู่กับงานมันเป็นสมาธิอยู่แล้ว เวลาว่างก็ค่อยย้อนมาอยู่กับกรรมฐาน ไม่ใช่เวลาว่างแล้วเราก็มาคิด ๆ ๆ ต่อ เราต้องหยุดให้เป็น แล้วลากมันออกมาให้ได้ หมดเวลางานแล้วกองไว้ที่ทำงานนั่นแหละ




    สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เดือนมีนาคม ๒๕๔๕
    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ





    .
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 7 ตุลาคม 2013
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...