หนังสือโพธิธรรมทีปนี1 พระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย saksit5455, 3 กันยายน 2011.

  1. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการแด่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ พระองค์ผู้ทรงมีพระมหากรุณาแผ่ไปในไตรภพและพระนพโลกุตรธรรมอันล้ำเลิศ กับทั้งพระอริยสงฆ์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐด้วยเศียรเกล้าแล้ว จักขออภิวาทนบไหว้ บรรดาท่านบูรพาจารย์ทั้งหลาย ผู้ทรงไว้ซึ่งญาณและพระคุณอันบริสุทธิ์ ด้วยคารวะเป็นอย่างยิ่งแล้ว จักรจนาเรียบเรียงกถา ซึ่งตั้งชื่อว่า โพธิธรรมทีปนีเพื่อแสดงถึงธรรมเป็นที่ตรัสรู้ คือพระจตุราริยสัจธรรมอันเป็นธรรมวิเศษ ซึ่งปรากฎมีในบวรพุทธศาสนา ฉะนั้น ขอเหล่าชนผู้มีปัญญาทั้งหลาย จงตั้งใจสดับอรรถวัณนาของข้าพเจ้า ซึ่งจัำกพรรณนาในโอกาสต่อไปนี้ด้วยดี เทอญ

    อารัมภบท

    เบื้องวชิรบัลลังก์อาสน์ ซึ่งมีความสูงถึง ๑๔ ศอกภายใต้พระมหาโพธิพฤกษมณฑล อันมีลำต้นสูงตั้งแต่โคนถึงค่าคบประมาณได้ ๕๐ ศอก และมีสาขาเป็นพุ่มตลอดถึงยอด ก็สูงขึ้นไปประมาณได้อีก ๕๐ ศอกนั้น ขณะนี้มีพระมหาสมณเจ้าผู้มีศักดาใหญ่พระองค์หนึ่ง ผู้ซึ่งทรงคู้พระเพลาเข้าเป็นบัลลังก์สมาธิ กำลังตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติมั่นเฉพาะพระอานาปานสติกรรมฐานอยู่อย่างแน่วแน่ โดยมีพระประสงค์ใคร่จักได้ตรัสแด่พระสยมภูโพธิญาณเสวยพระพุทธสมบัติ องค์พระมหาสมณเจ้าวงศ์กษัตริย์ผู้มีบุญญาภินิหารนั้น พระองค์ทรงนิสีทนาการสมาธิท่ามกลางวชิรบัลลังก์ ทรงยังลำต้นพระมหาโพธิพฤกษ์อันงามประดุจท่อมเงินให้สถิตอยู่เบื้องหลังแห่งพระองค์ ทรงรุ่งเรืองด้วยพระรัศมีโอภาสไพโรจน์อร่าม งดงามด้วยพระสุวรรณประภาอันพวยพุ่งออกจากพระวรกายเป็นอัศจรรย์

    ด้วยว่าเพลานั้น เป็นยามสนธยามหามงคลสมัย แห่งไพสาขบุรณมีดิถีเพ็ญ พระจันทร์เสวยวิสาขนักขัตฤกษ์ ฉะนั้นจึงปรากฎว่าเป็นยามสนธยามหามงคลสมัยอันอร่ามไพโรจน์ได้ด้วยรัศมี ๓ ประการ ซึ่งบังเกิดมาจวบบรรจบขึ้นในขณะเดียวกันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก คือ
    ๑. พระสุริยมณฑล อันแผดแสงเป็นสีแดงจ้าดวงกลมโตโอภาสด้วยสหัสรังสี ในยามสุริยายอแสงสันธโยบาตนี้ ก็ค่อยเคลื่อนคล้อยต่ำตกลงไปทีละ้น้อยๆ ในปัจฉิมทิศ คือทิศตะวันตก แลดูประหนึ่งกงแห่งจักรแก้วอันงามเพริศแพร้ว ซึ่งกำลังค่อยๆ เคลื่อนแคล้วจมลงไปในขีรสาครทะเลน้ำนม

    ๒. พระจันทรมณฑล อันส่องแสงเป็นสีนวลอร่ามไพโรจน์จำรัสด้วยศศิรังสี ในยามนี้ก็ค่อยโผล่ผุดขึ้นมาทีละน้อยๆ ในป่าจีนทิศแห่งโลกธาตุและดูประหนึ่งกงแห่งจักรเงินอันงดงามน่าเพลิดเพลินเป็นที่เจริญนัยนาและดวงใจ ซึ่งกำลังค่อยๆ โผล่ผุดผอ่งขึ้นมาในอัมพรประเทศ

    ๓. พระสุวรรณประภามณฑล คือพระรัศมีสีทองเหลืองอร่าม อันพวยพุ่งออกมาจากพระวรกายแห่งพระมหาสมณเจ้า ซึ่งกำลังทรงเข้าที่จำเริญพระสมาธิภาวนาในยามนี้ ก็รุ่งเรืองโอภาสพรรณรายงดงามจับตาเหลือที่จักพรรณนา ปรากฎมีขึ้นในบริเวณมหาโพธิพฤกษมณฑล ณ ท่ามกลางโลกธาตุ แลดุประหนึ่งว่า เพลานี้สถานที่บริเวณมหาโพธิพฤกษมณฑลนั้นกำลังจมอยู่ในกนกธาราสายธารน้ำทอง
    ก็รัศมีทั้งผอง กล่าวคือรัศมีแห่งพระสุริยายอแสงสันธโยบาตก็ดี รัศมีแห่งดวงนิสากรพระจันทร์อันแจ่มจำรัสก็ดี รัศมีแห่งพระสุวรรณประภามณฑล อันพวยพุ่งออกมาจากพระวรกายแห่งพระมหาสมณเจ้าผู้ทรงเข้าที่จำเริญพระสมาธิภาวนาก็ดี รัศมีทั้ง ๓ ประการเป็นอัศจรรย์นี้ จักปรากฎบังเกิดมีขึ้นโดยพร้อมเพรียงกันในยามเดียวกันนั้น ย่อมเป็นภาวการณ์ที่หาได้โดยยากยิ่งเป็นหนักหนา ฉะนั้นกาลนี้จึงได้เรียกว่า "มหามงคลกาล"

    เมื่อมหามงคลกาลพลันปรากฎขึ้นเป็นอัศจรรย์เช่นนี้ ก็ย่อมจะเป็นนิมิตมงคลชี้ให้รู้ทีเดียวว่า ในไม่ช้านี้แล้ว จักมีองค์สมเด็จพระประทีปแก้วสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกอย่างเที่ยงแท้

    ก็แลใครผู้ใดหรือ คือผู้มีพุทธบารมีจักได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะมหามงคลกาลครั้งนี้


    พระศรีศากยมุนีโคดม

    ท่านผู้มีพระพุทธบารมีสมควรที่จักได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะมหามงคลกาลครั้งนี้นั้น ก็มิใช่ท่านผู้วิเศษอื่นไกลที่ไหนโดยที่แท้คือพระมหาสมณเจ้าองค์ที่สถิตอยู่เหนือวชิรบัลลังก์อาสน์ ภายใต้มหาโพธิพฤกษ์ ซึ่งกำลังทรงจำเริญพระสมาธิภาวนามีพระรังสีสุวรรณพวยพุ่งออกมาจากพระวรกายเป็นอัศจรรย์นั่นเอง! ชีวประวัติโดยย่อของพระองค์ท่านก่อนที่จะมาสถิตจำเริญพระสมาธิภาวนาอยู่ ณ เบื้องวชิรบัลลังก์อาสน์นี้ก็มีอยู่ว่า

    องค์พระมหาสมณเจ้าผู้มีพุทธบารมีอันยิ่งใหญ่นี้ เดิมทีเป็นพระราชกุมารในขัตติยวงศ์ ทรงพระนามว่า "สมเด็จเจ้าฟ้าชายอังคีรสราชกุมาร" หรืออีกพระนามหนึ่งว่า "สมเด็จเจ้าฟ้าชายสิทธัตถราชกุมาร" โดยทรงเป็นพระโอรสแห่งสมเด็จพระสิริมหามายาราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าสุทโธทนมหาราชผู้ทรงเป็นนฤบดีจอมชนแห่งกรุงกบิลพัศดิ์บุรี ด้วยอำนาจพระพุทธบารมีที่พระองค์ทรงสร้างสมมาแต่อดีตชาติเต็มเปี่ยมสมบูรณ์แล้ว ฉะนั้นเมื่อทรงจำเริญวัยวัฒนาการขึ้น จึงให้ทรงบังเกิดดวงปัญญามากมายไปด้วยสิริสมบัติใหญ่ โดยมิได้ทรงอาลัยไยดี แต่ลำพังพระองค์เดีียวท่องเที่ยวไปในราวอรัญ ทรงบากบั่นกระทำความเพียรเพื่อที่จักบรรลุธรรมวิเศษ คือพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเป็นสามารถ ด้วยวิธีการอันหลากหลาย แทบว่าพระชนมชีพจักวางวายปลิดปลงลงเป็นหลายหน แต่พระองค์ทรงพลีพระชนม์เข้าแลกกับพระโพธิญษณโดยการบำเพ็ญอยู่นานถึง ๖ พรรษา ก็หาได้บรรลุธรรมวิเศษสมประสงค์ไม่ ในที่สุดจึงทรงเลิกกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฎิ์นั้นเสีย หันมาบำเพ็ญเป็นมัชฌิมาปฏิปทาโดยทรงพระอุตสาหะจำเริญพระสมาธิภาวนา สถิตอยู่เหนือวชิรบัลลังก์อาสน์อันมีปรากฎขึ้นด้วยบุญญาธิการภายใต้มหาโพธิมณฑล เริ่มต้นตั้งพระหฤทัยเป็นสัตยาธิษฐานว่า
    "ถ้ากมลสันดานแห่งอาตมะนี้ ยังไม่พ้นจากอาสวกิเลากามคุณตราบใด ถึงแม้มาตรว่าหฤทัยและเนื้อหนังทั้งเอ็นสมองอัฐิจะแห้งเหือด ตลอดถึงเลือดและมันข้นจนทั่วสรีรกายก็ดี ธรรมวิเศษล้ำเลิศอันใดที่เป็นวิสัยอันบุคคลจะพึงได้ด้วยเรี่ยวแรงและความเีพียรแห่งบุรุษ เมื่อยังไม่บรรลุถึงธรรมวิเศษอันนั้น การที่อาตมะจักคลายจากพับแพนงเชิงสมาธิบัลลังก์นี้เป็นอันไม่มี! อันยังมิได้บรรลุซึ่งพระโพธิญาณแล้วไซร้ อาตมะจักไม่ทำลายสมาธิบัลลังก์วิเศษนี้เลยเป็นอันขาด อาตมะคงเพียรให้บรรลุโพธิธรรมเสวยพระพุทธาภิเษกสมบัติบนวชิรบัลลังก์อาสน์นี้ให้จงได้"
    ทรงตั้งพระหฤทัยเป็นสัตยาธิษฐานดังนี้แล้ว ก็ทรงจำเริญพระสมาธิภาวนาเรื่อยมา บังเกิดสมาธิญาณแก่กล้ามีสุวรรณประภาพวยพุ่งออกจากพระวรกาย จวบจนถึงสมัยพระสุริยายอแสงเป็นมหามงคลกาลในขณะนี้

    ครั้นล่วงเข้า ราตรีปฐมยาม พระองค์ผู้มีสมาธิภาวนาอันแก่กล้า ก็สามารถยังฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้น ได้บรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ = ญาณเครื่องระลึกถึงชาติก่อนได้ คือในขณะนี้พระองค์ทรงสามารถระลึกชาติในอดีตหนหลังได้ตั้งแต่ ๑-๒ ชาติ ๑๐-๒๐ ชาติ ๑๐๐-๑,๐๐๐ ชาติ ๑๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ ชาติเรื่อยไป จนถึงสังวัฏฏกัป-วิวัฏฏกัป-สังวัฏฏ-วิวัฏฏกัปเป็นอันมาก โดยทรงรู้อย่างแจ้งประจักษ์ว่า ในชาตินั้นพระองค์เกิดในประเทศนั้น มีชื่อและโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณและมีอาหารอย่างนั้น ดังนี้เป็นต้น

    ครั้นล่วงเข้า ราตรีมัชฌิมยาม พระองค์ก็ได้บรรลุจตูปปาตญาณ = ญาณเครื่องรู้แจ้งในจุติและอุบัติเหตุแห่งสัตว์ทั้งหลาย คือในขณะนี้พระองค์ทรงสามารถเห็นสัตว์ทั้งหลายที่กำลังจุติตายไปและกำลังอุบัติเกิดขึ้นใหม่ในโลกทั้งหลาย โดยทรงเห็นอย่างแจ้งประจักษ์ ด้วยอำนาจแห่งทิพยจักษุอันบริสุทธิ์วิเศษกว่าสามัญมนุษย์จักษุวิสัยว่า สัตว์ทั้งหลายได้พากันล้มตายลงไปแล้ว ต่างผู้ต่างก็ไปเกิดในสภาพต่างๆ กัน เลวบ้าง ประณีตบ้าง มีผิวพรรณงามบ้าง ไม่งามบ้าง ถึงซึ่งความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง แตกต่างกันไป ตามสมควรแก่กรรมแห่งตนที่ได้กระทำไว้

    ครั้นล่วงเข้า ราตรีปัจฉิมยาม พระองค์ก็ทรงหยั่งพระญาณลงพิจารณาในปัจจยาการอันเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งพระบรมสรรเพชญพุทธเจ้าทุกพระองค์เคยกระทำมา โดยทรงพิจารณาพระปฏิจจสมุปบาทธรรมอันล้ำลึก ในกรณีที่พระองค์จักทรงได้มีโอกาสพิจารณาพระปฏิจจสมุปบาทธรรมอันล้ำลึกนี้ ก็โดยสาเหตุที่พระองค์ทรงสิ้นความสงสัยในสันดานพระองค์เอง และทรงสิ้นความสงสัยในสันดานสัตว์เหล่าอื่น อันเป็นผลแห่งญาณก่อนๆ ที่ได้ทรงบรรลุมาแล้ว คือ

    เมื่อพระองค์ได้ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณในตอนปฐมยามนั้น ไ้ด้ทรงเห็นพระองค์เองจุติจากชาตินั้นไปเกิดในชาติโน้น จุติจากชาติโน้นมาเกิดในชาตินี้ แต่งทรงเ้ฝ้าตายเกิดอยู่อย่างนี้หลายชาติหลายภพ เป็นนักหนา เมื่อทรงเห็นโดยประจักษ์อย่างแจ้งชัดเช่นนี้ ความสงสัยในสันดานของพระองค์ในกรณีที่ว่า "พระองค์เองต้องทรงตายเกิดอย่างซ้ำซากอย่างนั้น" ตลอดกาลอันยาวนนานจริงหรืไม่? ความสงสัยดังนี้ ย่อมจะหมดไปโดยแท้ นี่แหละเรียกว่า ทรงสิ้นความสงสัยในสันดานของพระองค์เอง ด้วยอำนาจแห่ง ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

    เมื่อพระองค์ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณในตอนมัชฌิมยามนั้น ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายซึ่งกำลังตายและกำลังเกิดกันมากมายนักหนาทุกเวลานาที ในสถานที่ต่างๆ กันเป็นอลหม่าน เมื่อทรงเห็นโดยประจักษ์อย่างแจ่มชัดเช่นนี้ ความสงสัยในสันดานแห่งสัตว์เหล่าอื่นในกรณีที่ว่า "สัตว์เหล่าอื่นต้องตายเกิดและเกิดตายกันอยู่เสมอ" ตลอดเวลาไม่ว่างเว้นเป็นเวลานานแสนนานจริงหรือไม่? ความสงสัยดังนี้ย่อมจะหมดไปโดยแท้ นี้แหละเรียกว่าทรงสิ้นความสงสัยในสันดานของสัตว์เหล่าอื่น ด้วยอำนาจแห่งจุตูปปาตญาณ

    เมื่อพระองค์ทรงสิ้นความสงสัยในสันดานแห่งพระองค์และสันดานแห่งสัตว์เหล่าอื่น ซึ่งมีความเกิดความตายอยู่เป็นประจำซ้ำซากดังกล่าวมาแล้ว ก็ทรงสังเวชสลดพระหฤทัย จึงทรงหยั่งพระญาณลงพิจารณาปัจจยาการหรือปฏิจจสมุปบาทธรรมอันล้ำลึก คือในชั้นแรกทรงปรารภ ชรามรณะ ความแก่และความตายขึ้นเป็นอารมณ์ปฐมเหตุก่อนแล้วก็ทรงทราบเป็นลำดับต่อไปว่า

    ชรามรณะ มีได้ก็เพราะชาติ
    ชาติ มีได้ก็เพราะ ภพ
    ภพ มีได้ก็เพราะ อุปาทาน
    อุปาทาน มีได้ก็เพราะตัณหา
    ตัณหา มีได้ก็เพราะเวทนา
    เวทนา มีได้ก็เพราะผัสสะ
    ผัสสะ มีได้ก็เพราะสฬายตนะ
    สฬายตนะ มีได้ก้เพราะ นามรูป
    นามรูป มีได้ก็เพราะวิญญาณ
    วิญญาณ มีได้ก็เพราะ สังขาร
    สังขาร มีได้ก็เพราะอวิชชา
    แล้วจึงทรงพิจารณาซึ่งที่ดับแห่งสภาวธรรมเหล่านี้สืบต่อไปว่า

    เมื่ออวิชชาดับสูญแล้ว สังขารก็ดับตาม
    เมื่อสังขารดับสูญแล้ว วิญญาณก็ดับตาม
    เมื่อวิญญาณดับสูญแล้ว นามรูปก้ดับตาม
    เมื่อนามรูป ดับสูญแล้ว สฬายตนะ ก็ดับตาม
    เมื่อสฬายตนะดับสูญแล้ว ผัสสะ ก็ดับตาม
    เมื่อเวทนาดับสูญแล้ว ตัณหาก็ดับตาม
    เมื่อตัณหาดับสูญแล้ว อุปาทานก็ดับตาม
    เมื่ออุปาทานดับสูญแล้ว ภพก็ดับตาม
    เมื่อภพดับสูญแล้ว ชาติก็ดับตาม
    เมื่อชาติดับสูญแล้ว ชรามรณะก็ดับตาม
    แล้วก็ทรงพิจารณาทบทวนถอยหลังลงไป เพื่อให้แน่นอนเด็ดขาดอีกสืบไปว่า "ชรามรณะ นี้มิใช่เกิดจากอะไร โดยที่แท้เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะ "ชาติ" เป็นปัจจัย คือเป็นตัวเหตุ และ "ชาติ"นี้ก็มิใช่เกิดมาจากอะไร โดยที่แท้ย่อมเกิดขึ้นมาได้เพราะ "ภพ" ..."สังขาร" นั้นมิใช่เกิดมาจากอะไร โดยที่แท้ย่อมเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย คือเป็นตัวเหตุ" เป็นอันว่า บัดนี้พระองค์ผู้มีพุทธบารมีได้ทรงค้นพบแล้วว่า ตัวเหตุใหญ่ยิ่งสุดยอดที่มีอำนาจบันดาลให้สัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารอย่างไม่มีวันสิ้นสุดนั้นก็คือ "อวิชชา"นี่เอง

    ขณะนี้ แม้ว่พระองค์จะได้ทรงค้นพบสภาวธรรมอันล้ำลึก เกินวิสัยคนธรรมดาสามัญจักมีปัญยาหยั่งรู้ได้ดังกล่าวมาแล้วก็ดี ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังไม่ได้สำเร็จธรรมวิเศษเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสสัมพุทธเจ้า! ฉะนั้นพระองค์จึงทรงหยั่งพระญาณลงพิจารณาตัวเหตุอันยิ่งใหญที่พระองค์ทรงค้นพบ คือ "อวิชชา" ทรงพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถ่องแท้ ในที่สุดก็ทรงทราบว่า "อวิชชา" คือตัวโมหะนี้ ย่อมมีปกติครอบงำจิตสันดานทำให้มือมนปกปิดกำบังดวงปัญญามิได้เห็นแจ้งในพระไตรลักษณญาร และมิให้เห็แจ้งในพระจตุราริยสัจธรรม

    เมื่อทรงทราบด้วยพระญาณอันประเสริฐสุดเช่นนี้แล้ว พระองค์ผู้มีพระทัยผ่องแผ้ว ใกล้จะได้ตรัสรู้ในชั่วระยะเวลาไม่นานนี้ ก็มีพระมนัสมั่นคง น้อมตรงไปเพื่อที่จะบรรลุอาสวักขยญาณ = ญานเป็นไปที่สิ้นไปแห่งอาสวกิเลส คือในขณะนี้พระองค์ทรงกระทำวิธีการในอันที่จะกำจัดอวิชชาหรือโมหะ ซึ่งเป็นม่านมืดปกปิดกำบังดวงปัญญามิให้เห็นแจ้งในพระไตรลักษณญาณและพระจตุราริยสัจธรรมนั้น โดยวิธีการคือทรงเจริญพระวิปัสสนาภาวนา เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งเบญจขันธ์หรือรุปนาม ตามอำนาจแห่งพระไตรลักษณ์แล้ว พระวิปัสสนาญาณของพระองค์ท่านก็ก้าวหน้าเจริญขึ้นโดยลำดับๆ จนกระทั่งถึงเพลาตามพรุณสมัยไขแสงทองส่องอร่ามฟ้า พระองค์ผู้ทรงพระอุตส่าห์สร้างพระพุทธบารมีมานานก็ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ กำจัดอวิชชาหรือโมหะได้อย่างเด็ดขาด ทรงเห็นแจ้งในพระจตุราริยสัจโดยประจักษ์ ดังสูญสิ้นอาสวกิเลสเป็นสมุทเฉทปหาน สำเร็จเป็นองค์ "สมเด็จพระมิ่งมงกุฏศรีศากยมุนีโคดมบรมศาสดาจารย์" ทรงเป็นผู้ควรแก่การเคารพบูชาแห่งเทวดาและมนุาย์ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง

    สิ่งที่ตรัสรู้

    โดยการติดตามกถาถ้อยคำที่กล่าวมานี้ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายก็คงจักทราบได้เป็นอย่างดีแล้วว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้คืออะไร? ถูกแล้ว สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นก็คือ พระจตุราริยสัจธรรม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพระอริยสัจ ๔ พระจตุราริยสัจธรรมนี่เองที่เป็นธรรมผลักดันให้พระองค์พ้นจากความเป็นบุคคลธรรมดาสามัญ ขึ้นไปสู่ความเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยพุทธสมบัติอันประเสริฐสุด ทั้งนี้ ก็เพราะพระองค์ทรงสามารถกำจัดตัวเหตุแห่งกองทุกข์อันยิ่งใหญ่คืออวิชชาหรือโมหะให้ขาดหายหลุดออกไปแล้ว ทรงเห็นแจ้งชัดในพระจตุราริยสัจธรรมหรืออริยสัจทั้ง ๔ คือ

    ๑. ทุกข์
    ๒. เหตุแห่งทุกข์
    ๓. ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
    ๔. ทางให้ถึงความดับไม่มีเหลือแห่งทุกข์

    พระองค์ทรงเห็นอริยสัจธรรมทั้ง ๔ นี้อย่างแจ้งชัดเจน โดยประจักษ์ถึงความสูญสิ้นอาสวกิเลส เป็นสมุทเฉทปหานได้โดยประการทั้งปวง เพื่อความมั่นใจในกรณีนี้ ขอท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงทราบจากพระพุทธฎีกา ทรงพระกรุณาตรัสเล่าถึงประสบการณ์ของพระองค์เอง ตอนนี้ ไว้ใน บาลีโพธิราชกุมารสูตร และบาลีมหาวาร ดังต่อไปนี้
    เราตถาคตน้อมจิตไปเฉพาะต่ออาสวักขยญาณแล้ว เราตถาคตรู้แจ้งชัดตามความเป็นจริงว่า "นี่ทุกข์, นี่เหตุแห่งทุกข์, นี่ความดับไมเหลือแห่งทุกข์, นี่ทางให้ถึงความดับไม่มีเหลือแห่งทุกข์.... เมื่อเราตถาคตรู้แจ้งอยู่อย่างนี้ เห็นแจ้งอยู่อย่างนี้จิตก็พ้นจากกามาสวะ -ภวาสวะ - อวิชชาสวะ ครั้นจิตพ้นวิเศษแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าจิตพ้นแล้ว เราตถาคตรู้ชัดว่าชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้วกิจที่ต้องทำได้สำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความหลุดพ้นอย่างนี้มิได้มีอีกแล้ว

    "ดูกร เธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ตราบใดที่ญาณทัศนะเครื่องรู้เห็นตามความเป็นจริงของเราในอริยสัจทั้ง ๔ เหล่านี้ ยังไม่เป็นญาณทัศนะที่บริสุทธิ์สะอาดด้วยดี ตราบนั้น เราตถาคตก็ยังไม่ปฏิญญาว่า ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่งอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นที่รู้กันในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์

    "ดูกร เธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย เมื่อใดญาณทัศนะเครื่องรู้เห็นตามความเป็นจริงของเราในอริยสัจทั้ง ๔ เหล่านี้เป็นญาณทัศนะที่บริสุทธิ์สะอาดด้วยดี เมื่อนั้นเราตถาคตปฏิญญาว่าเป็นผู้ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณให้เป็นรู้กันในมนุษย์โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์" ดังนี้

    พระพุทธฎีกาที่อัญเชิญมานี้ ย่อมเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า โพธิธรรมอันวิเศษที่พระองค์ทรงแสวงหานานและทรงได้บรรลุสมประสงค์ ณ วชิรบัลลังก์อาสน์ ภายใต้มหาโพธิพฤกษมณฑลนั้น ก็คือพระจตุราริยสัจธรรม นี่เอง! ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฎว่าในกาลต่อมา เมื่อพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาปรารถนาจักแสดงพระธรรมเทศนาโปรดแก่สัตว์โลก พระธรรมเทศนากัณฑ์แรกของพระองค์อันมีชื่อว่า "พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร" ซึ่งทรงแสดงโปรดแก่พระปัญจวัคคีย์นั้น ก็มีเนื้อความเน้นหนักไปในพระจตุราริยสัจธรรมทั้งสิ้น และพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงในกาลภายหลังต่อมาอีกมากมาย แม้จะมีโวหารผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง แต่เมื่อว่าโดยใจความแล้ว ก็ย่อมมีพระจตุราริยสัจธรรมหรือโพธิธรรมเป็นจุดมุ่งหมาย ฉะนั้น จึงอาจที่จักกล่าวได้ว่า พระธรรมเทศนาของพระองค์อันมีจำนวนถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ซึ่งเรียกว่า พระไตรปิฎก นั้น ย่อมมีจตุราริยสัจธรรมหรือโพธิธรรมนี้เป็นจุดมุ่งหมาย คือย่อมมีใจความประมวลลงที่พระจตุราริยสัจธรรมนี้ทั้งสิ้น

    โดยเหตุที่พระจตุราริยสัจธรรมหรือโพธิธรรมนี้ ทรงไว้ซึ่งความสำคัญอย่างเอกอุในพระบวรพุทธศาสนาเช่นนี้ จึงเป็นการสมควรที่ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย จักได้หยิบยกเอาธรรมวิเศษสุดนี้มาศึกษาพิจารณาเพื่อเป็นเครื่องเรืองปัญญาแห่งตนเป็นอย่างยิ่งใช่หรือไม่? ก็ด้วยความตั้งใจที่จะเสนอธรรมวิเศษคือพระจตุราริยสัจธรรมหรือโพธิธรรมนี้ให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายไ้ด้รับไว้พิจารณานี้เอง จึงได้คิดรจนาเรียบเรียงโพธิธรรมทีปนี นี้ขึ้น ตั้งใจว่าจะพรรณนาไปตามกำลังสติปัญญาอันเล็กน้อย แต่ทว่ามากไปด้วยน้ำใจอันเลื่อมใสในพระสัทธรรมคำสอนแห่งองค์พระสรรเพชญบรมศาสดา ฉะนั้น หากท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายมีความสนใจใคร่จักทราบอรรถาธิบายเรื่อง พระจตุราริยสัจธรรมหรือโพธิธรรมนี้ว่าจะมีประการใดบ้างแล้ว ก็ขอจงมีใจผ่องแผ้วอุตสาหะติดตามต่อไปด้วยดี บทที่ ๑

    อริยสัจภาคปริยัตศึกษา

    บัดนี้ จักพรรรณนาถึงพระอริยสัจในภาคปริยัติศึกษา เพื่อจักชี้แจงให้ทราบว่าพระอริยสัจมีความหมายอย่างไร และมีอรรถาธิบายว่าอย่างไรบ้าง ดังนี้เป็นต้น อันเป็นเรื่องที่พวกเราผู้เป็นมนุษย์ซี่งเกิดมาในยุคที่พระบวรพุทธศาสนากำลังปรากฎอยู่ในโลกนี้ควรจักรับทราบเอาไว้เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ก็เพราะว่า พระอริยสัจธรรมนี้เป็นธรรมอันวิเศษประเสริฐสุด ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำเอามาประกาศเปิดเผยแก่ชาวโลกด้วยน้ำพระทัยอันประกอบด้วยความกรุณาใหญ่ หวังจักให้ชาวโลกทั้งหลายได้ทราบความจริงที่ถูกปกปิดมานาน พึงทราบไว้ที่นี้ว่า ตราบใดที่โลกว่างจากพระบวรพุทธศาสนา ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกแล้ว ตราบนั้นพระอริยสัจธรรมย่อมจะถูกปกปิดกำบังไว้ ไม่มีใครสามารถที่จะนำมาเแสดงแก่ชาวโลกได้เลย ในกรณีที่พระอริยสัจธรรมถูกปิดบังไว้ ในตอนที่โลกว่างจากพระบวรพุทธศาสนานี้ ขอให้ท่านผู้มีปัญยาทั้งหลาย จงทราบจากพระบาลีในสุริยูปมาสูตร ดังต่อไปนี้


    สุริยูปมาสูตร

    ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย
    "พระจันทร์และพระอาทิตย์ยังไม่บังเกิดขึ้นในโลกเพียงใด ความปรากฎขึ้นแห่งแสงสว่างอย่างแจ่มจ้ามากมายก็ยังไม่มีเพียงนั้น เวลานั้นมีแต่ความมืดมิด มีแต่ความมัวเป็นหมอก กลางคืนกลางวันไม่ปรากฏ ฤดูและปีก็ไม่ปรากฎ เมื่อใดพระจันทร์และพระอาทิตย์บังเกิดขึ้นแล้วในโลก เมื่อนั้นความปรากฏขึ้นแห่งแสงสว่างอย่างแจ่มจ้ามากมายก็ย่อมมีเวลานั้น ไม่มีความมืดมิด ไม่มีความมัวเป็นหมอก กลางคืนกลางวันก็ปรากฎ ฤดูและปีก็ปรากฏ อุปมานี้ฉันใด
    ดูกร เธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้นในโลกเพียงใด ความปรากฎแห่งแสงสว่างอย่างแจ่มจ้ามากมายก็ยังไม่มีเพียงนั้น เวลานั้นมีความมืดมิด มีแต่ความมัวเป็นหมอก การบอกการแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผยการจำแนก การกระทำให้ง่าย ซึ่งอริยสัจ ๔ ก็ยังไม่มี! เมื่อใดพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก เมื่อนั้นความปรากฎแห่งแสงสว่างย่อมแจ่มแจ้งมากมายก็ย่อมมีเวลานั้น ไม่มีความมืดมิด ไม่มีความมัวเป็นหมอก การบอกการแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผยการจำแนก การกระทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ ก็ย่อมมี"

    พระพุทธภาษิตนี้ ย่อมจะชี้ให้พวกเราได้เห็นว่า พระอริยสัจธรรมนี้ได้ถูกปกปิดมานาน และเพิ่งจะมาปรากฎเปิดเผยเอาก็เมื่อตอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกประกาศพระพุทธศาสนานี้เอง ฉะนั้นจึงอาจที่จะกล่าวได้ว่า พระอริยสัจธรรมอันใดประเสริฐสุดนี้ เป็นธรรมที่ปรากฎมีอยู่เฉพาะแต่ในพระบวรพุทธศาสนาเท่านั้น และบัดนี้เราท่านทั้งหลายก็เกิดมาในสมัยที่พระพุทธศาสนายังปรากฎมีอยู่ในโลก ใยจึงไม่รีบคว้าเอาธรรมวิเศษนี้มาศึกษาพิจารณาดูเล่า? เมื่อเราได้เข้าใจถึงความสำคัญแห่งพระอริยสัจซึ่งปรากฎได้โดยยากเช่นนี้แล้ว ต่อจากนี้ เราก็จักได้เริ่มต้นศึกษาเรื่องอริยสัจธรรมกันเสียที ในเบื้องแรกนี้ ควรจะทราบกันเสียก่อนว่า

    ที่ว่าพระอริยสัจๆ นั้น เป็นดังฤา?

    อริยานิ สจฺจานีติ อริยสจฺจานิ
    "สภาวธรรมที่เป็นจริงอย่างประเสริฐแท้ ไม่แปรผัน ไม่คลาดเคลื่อน เีรียกชื่อว่า อริยสัจ"

    มีอรรถาธิบายว่า พระอริยเจ้าผู้ทรงคุณอันประเสริฐทั้งหลาย มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมรู้เห็นแจ้งแทงตลอด ซึ่งสภาวธรรมที่เป็นจริงอย่างประเสริฐแท้ไม่แปรผันนี้ โดยถ่องแท้แน่นอนพวกเดียวเท่านั้น ส่วนปุถุชนธรรมดาสามัญทั้งหลาย แม้จักทรงไว้ซึ่งปัญญาอย่างโลกๆ มากมาย ขนาดเป็นนักปราชญ์ศาสตราจรย์อื่นใดก็ตามที หากว่ายังไม่ได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุถึงความเป็นพระอริยเจ้าแล้ว จะมาประกาศว่าตนเป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอด ซึ่งอริยสัจธรรมอันเป็นสภาวธรรมที่เป็นจริงแท้อย่างประเสริฐนี้ไม่ได้เลยเป็นอันขาด เพราะอริยสัจธรรมนี้เป็นธรรมที่บุคคลผู้ได้นามว่า "พระอริยเจ้า" เท่านั้น จึงจะสามารถมีปัญญาเห็นแจ้งแทงตลอดได้อย่างถ่องแท้ อันปัญญาแค่ปุถุชาพลโลกสามัญจักอาจหาญเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจธรรมนี้เป็นสิ่งที่เหลือวิสัย พูดให้ฟังกันง่ายๆ ก็ว่า พระอริยสัจธรรมนี้เป็นธรรมของพระอริยเจ้าท่านนั่นเอง

    จึงเป็นอันว่า บัดนี้เราก็ได้ทราบกันแล้วมิใช่หรือว่า ที่ว่าพระอริยสัจนั้น มีความหมายเป็นอย่าง? ทีนี้ปัญหาต่อไปก็มีอยู่ว่ พระอริยสัจนั้นมีกี่ประการ? พระอริสัจมีอยู่ ๔ ประการ เพราะฉะนั้นจึงมีีคำเรียกพระอริยสัจนี้ให้ครบครันเต็มที่ว่า พระจตุราริยสัจธรรม หรือพระอริยสัจธรรม ๔ ประการ

    พระจตุราริยสัจธรรมหรือพระอริยสัจธรรม ๔ ประการนั้น คือ
    ๑. ทุกขอริยสัจธรรม
    ๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจธรรม
    ๓. ทุกขนิโรธอริยสัจธรรม
    ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจธรรม

    ลำดับนี้จักได้อธิบายขยายความในพระจตุราริยสัจธรรมเป็นข้อๆ ไป ตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้แต่ต้น เพราะฉะนั้นหาดว่ากถาที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นกถาที่ยากเกินไปจนฟังไม่รู้เรื่องก็ดี หรือเป็นกถาที่รู้สึกว่าง่ายเกินไปจนแทบไม่อยากฟังไม่อยากอ่านก็ดี ซึ่งรวมความแล้วก็ว่าเป็นกถาที่ไม่สบอารมณ์ของท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ไม่ว่าจะด้วยประการใดๆ แล้ว ก็ขอท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย จงอย่างเพิ่งเบื่อหน่ายบังเกิดความอิดหนาระอาใจแล้วเลิกอ่านเลิกฟังเสียเลย จงอุตส่าห์ทนอ่านต่อไปจนจบเถิด คงจักเกิดประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ที่กล่าวไว้เช่นนี้ มิใช่มีเจตนาจักกล่าวเพื่อเป็นการออกตัว เพราะกลัวคนอื่นจะว่า หรือว่าเพราะมีเจตนาจักกล่าวเยิ่นเย้อไร้สาระ เพื่อเป็นการถ่วงเวลาไปพลางๆ ไม่ใช่อย่างนั้น อันที่จริงเป็นการกล่าวตามคติพระโบราณจารย์ที่ว่า สจฺจํ สตฺโต ปฏิสนฺธิ เป็นอาทิ ซึ่งแปลว่า

    "ธรรมที่เข้าใจได้ยากและแสดงได้ยากในพระบวรพุทธศาสนานี้ มีอยู่ ๔ อย่าง คือ
    พระจตุราริยสัจ ๑
    ปรมัตถธรรม คือความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ๑
    ปฏิสนธิคือความเกิดแห่งสัตว์ทั้งหลาย ๑
    ปฏิจจสมุปบาทธรรม ๑" ดังนี้

    ก็ในบรรดาธรรมที่เข้าใจด้ยากและแสดงได้ยากในพระบวรพุทธศาสนาทั้ง ๔ ข้อนี้ มีพระจตุราริยสัจธรรมข้อ ๑ ใช่ไหมเล่า ที่ยากในการที่จักทำความเข้าใจสำหรับผู้ฟัง ทั้งยากที่จักกล่าวกระทำให้แจ้งสำหรับผู้แสดง เพราะฉะนั้นจึงบอกไว้ให้ท่านผู้มีปัญยาทราบล่วงหน้าว่าต่อไปนี้ หากจะมีอาการอะไรที่ไม่พอใจพาหใ้ขัดข้อง เข้าทำนองที่ว่ารู้สึกจะยากๆ ขึ้นมาแล้ว ก็ขอจงทำใจให้ผ่องแผ้วและปลุกสติให้บังเกิดว่า อ๋อ! พระอริยสัจนี้ พระโบราณาจารย์ท่านว่า เป็นธรรมทียากทั้งผู้ฟังทั้งผู้แสดงมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ฉะนั้นอาการยากที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป้นเรื่องธรรมแห่งพระจตุราริยสัจ ครั้นได้สติดังนี้แล้วก็จงอดทนติดตามต่อไปเถิด

    เอาละ เมื่อได้บอกขานอย่างเป็นกันเอง ให้เป็นที่เข้าใจไว้เสียแต่เบื้องแรกฉะนี้แล้ว ต่อจากนี้ก็ถึงวาระที่จะวิสัชนาพระจตุราริยสัจธรรมเป็นลำดับไป



    ทุกขอริยสัจธรรม

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงความเป็นเอก ไม่มีศาสดาอื่นใดในโลกเทียมเหมือน เมื่อจะทรงประกาศพระจตุราริยสัจให้ชาวโลกได้ทราบ พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาตรัส ทุกขอริยสัจธรรม ไว้เป็นลำดับแรก คือเป็นลำดับหมายเลขที่ ๑ ทีเดียว

    เหตุไฉน จึงตรัสทุกขอริยสัจไว้เป็นลำดับแรก?
    เพราะว่า ทุกขอริยสัจนี้เป็สัจจะที่หยาบกว่าอริยสัจข้ออื่น ปรากฎอยู่ดาษดื่นทั่วไปแก่ชาวโลกทั้งหลาย ไม่ว่ามนุษย์หญิงชายและสัตว์อื่นใด ล้วนแต่ถูกทุกขอริยสัจหรือพูดอีกทีว่าความทุกข์นี้ครอบงำทั้งสิ้น มีความทุกข์ประจำตนด้วยกันทั้งนั้น แต่เพราะค่าที่มีสายตาสั้น มีปัญญาบางเบาจึงทำให้โง่เขลา รู้สึกตนประหนึ่งว่าไม่มีทุกข์ หลงรื่นเริงเพลิดเพลินอยู่กับความสุขประจำภพอันเป็นสุขจอมปลอม เพราะเป็นความสุขนิดหน่อยที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไรเลย เพื่อที่จะทรงชี้แจงให้ชาวโลกเกิดความสลดใจ โดยทราบว่าตนกำลังตกอยูู่ในกองทุกข์จริงๆ ที่หลงเข้าใจว่ามีความสุขอยู่บ้านนั้นเป็นความสุขไม่จีรัง เพื่อให้ชาวโลกได้ทราบและบังเกิดความสลดใจดังนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคสัพพัญญูเจ้า จึงตรัสทุกขอริยสัจไว้เป็นอันดับแรก

    ทีนี้ปัญหาต่อไปที่เราควรจะทราบเอาไว้ในกรณีแห่งทุกขอริยสัจนั้นก็คือ
    ที่ว่าทุกข์ๆนั้น เป็นประการใด?

    ทุ=ยาก, ขํ=ขุด เมื่อรวมกันก็สำเร็จรูปเป็น "ทุกข์" แปลว่า สภาพที่จะขุดให้หลุดพ้นออกไปเสียจากจิตสันดานได้โดยยาก ก็ทุกข์หรือสภาพที่จะขุดให้หลุดพ้นไปเสียจากจิตสันดานได้โดยยากนี้ มีอรรถวัณนาที่ท่านกล่าวไว้ ดังต่อไปนี้
    ๑. ชาติทุกข์

    ได้แก่ทุกข์คือความเกิด มีความเกิดนี้จัดว่าเป็นทุกข์ คือเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์มากมาย ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงความทุกข์อย่างแสนสาหัส ซึ่งปรากฎมีเพราะความเกิดในอบายภูมิมีนรกเป็นต้น โน่นดอก รวบรัดตัดตอนเอาแต่ความเกิดเป็นคนในมนุษยโลกเรานี้ ก็ปรากฎว่าเป็นทุกข์มากมายนักหนา เร่ิมต้นตั้งแต่ขณะที่หยั่งลงสู่ครรภ์มารดา ท่านผู้มีปัญญาก็ย่อมจะพากันเล็งเห็นว่าเป็นความทุกข์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าตามธรรมดาอันว่ามนุษย์หรือคนเรานี้นั้น มิใช่ว่าเป้นสัตว์ประหลาดมหัศจรรย์ ซึ่งมีปกติไปเกิดในสถานที่ัอันสวยงามมีกลิ่นหอมหวลอบอวล เช่นไปเกิดในดอกอุบล ดอกปทุม ดอกปุณฑริกเป็นต้น ไม่ใช่อย่างนี้น อันที่แท้มนุษย์เราเมื่อจะเกิดมาย่อมเกิดในอุทรประเทศแห่งมารดาซึ่งแสนจะคับแคบ มีสภาพมืดมิดเป็นที่สุด มิหนำซ้ำ ท้องแห่งมารดาซึ่งเป็นสถานที่เกิดของมนุษย์นั้น ยังอบอวลไปด้วยกลิ่นซากศพต่างๆ แสนจะหมักหมมมีกลิ่นเหม็นอย่างร้ายกาจน่ารังเกียจเหลือประมาณ ณ ภายใต้กระเพาะเบา เหนือกระเพาะอาหาร หากจะเปรียบได้กับการเกิดของมนุษย์ในสภาพการณ์เช่นนี้ ก้ย่อมเปรียบได้กับการเกิดของกิมิชาติคือตัวหนอน ซึ่งเกิดในบ่อน้ำครำอันเต็มไปด้วยปลาเน่าและขนมถั่วบูด

    มนุษย์เราซึ่งเกิดในอุทรประเทศมารดา ซึ่งเป็นสถานที่ไม่น่ารื่นรมย์อะไรนักดังกล่าวมาแล้วนั้น ต้องได้รับความอัดอั้นอึดอัดเป็นล้นพ้น เพราะตนต้องทนอยู่ในอุทรประเทศนั้นนับเป็นเวลานานถึง ๙-๑๐ เดือน ถูกความร้อนเผานิ่งอยู่ดูประหนึ่งดังห่อหมกสุก ต้องทนทุกข์ขดนิ่งอยู่เฉยๆ อย่างนั้นเรื่อยไป จะงอขาเหยียดแขนให้เป็นที่สบายหายเมื่อขบสักนิดหนึ่งก็ย่อมไม่มีโอกาสที่จะทำได้เลย

    "ลูกแกะ" ที่อยู่ในมือของนักเลงสุราซึ่งกำลังมึนเมาเต็มที่ เดินโซซัดโซเซไปตามประสาของคนเมาก็ดี "ลูกงู" ที่อยู่ในมือของหมองูผู้ขลังเวทก็ดี ลูกสัตว์น้อยทั้งสองคือลูกแกะลและลูกงูนี้ ย่อมได้รับความบอบช้ำอิดโรย ในขณะที่เจ้าของมือเคลื่อนไหวอย่างไร้ความปราณีปราศรัยเป็นอันมาก อุปมานี้ฉันใด สภาวการณ์ที่ทารกมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งกำลังอยู่ในคัพโภทรแห่งมารดาตน ก็ย่อมจะเป็นเช่นนั้น คือในขณะมารดาของตนพลาดลื่นหกล้มก็ดี ในขณะที่มารดาคิดจะลุกก็ลุกขึ้นพรวดพราดก้ดี ในขณะที่มารดาคิดจะนั่งก็นั่งลงปุปปับในทันทีก็ดี ในขณะที่มารดาคิดจะเดินไปโดยไม่คำนึงถึงลูกในท้องก็ดี หรือในขณะที่คิดจะน้อมตัวลงและยืดตัวขึ้นก็น้อมตัวลงและยืดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วก็ดี ตลอดจนในขณะที่มารดาบิดตัวไปมาก็ดี ในขณะที่มารดามีกิริยาเช่นว่ามานี้ตามวิสัยของมนุษย์ธรรมดา ซึ่งจักต้องมีอาการกิริยาอยู่อย่างนี้เป็นประจำเช่นนี้แล้ว ทารกที่อยู่ในครรภ์ก็เป็นปกติสุขนิ่งเฉยอยู่อย่างไรได้เล่า โดยที่แท้ย่อมจะมีอาการหัวสั่นหัวคลอน ได้รับความบอบช้ำอิดโรยเป็นนักหนา ให้มีอันเป็นมึนงงปวดเศียรเวียนเกล้าเป็นครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะความเคลื่อนไหวแห่งท่านเจ้าของที่ซึ่งตนอาศัยเกิดคือมารดา ฉะนั้นจึงมีคำอุปมา่ ว่าทารกที่กำลังอยู่ในครรภ์ก็เปรียบเสมือนหนึ่งลูกแกะที่อยู่ในมือของนักเลงสุรา หรือลูกงูที่อยู่ในมือของหมองู

    อนึ่ง เพราะค่าที่ตนเป็นผู้มีสรีรกายบางอ่อนเป็นนักหนา โดยที่เพิ่งจะก่อกำเนิดนอนอยู่ในครรภ์ ฉะนั้นในขณะที่มารดาดื่มน้ำเย็นเข้าไป ตนก็ย่อมได้รับทุกขเวทนาเพราะความเย็นเป็นประดุจดังว่า ตกไปในนรกอันมีน้ำกรดเย็นยะเยียบคือโลกันตนรก! ในขณะที่มารดาดื่มน้ำร้อน หรือในขณะที่มารดากลืนกินของร้อนๆ เช่นข้าวต้มเป้นอาทิ ตนก็ย่อมได้รับทุกขเวทนาเพราะความร้อนเป็นประดุจถูกเม็ดฝนถ่านเพลิงโปรยลงรอบๆ ตัวฉันนั้น และในขณะที่มารดากลืนอาหารอันมีรสพิลึกเหลือล้ำต่างๆ ที่รู้สึกว่านิยมชมชอบถูกกับลิ้นของมนุษย์ในทุกวันนี้เป็นนักหนา เช่น อาหารที่มีรสเค็ม และรสเปรี้ยวอย่างโอชารส แต่ว่าอาหารอันโอชารสที่มารดากลืนกินเขาไปนั้น มันย่อมเปรียบเสมือนน้ำกรดที่ราดรดลงไปบนร่างอันบางอ่อนของทารกที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งท่านกล่าวอุปมาไว้ว่า นักโทษที่ได้รับลงทัณฑ์ด้วยการถูกราดด้วยน้ำกรด ย่อมได้รับควาทุกขเวทนาฉันใด ทารกที่เกิดอยู่ในครรภ์เมื่อมารดากลืนกินอาหารซึ่งมีรสเค็มและเปรี้ยวเป็นต้น ก็ย่อมได้รับทุกขเวทนาอันแรงกล้าปวดแสบฉันนั้น

    หลังจากที่ได้ทนทุกข์ทรมรณอึดอัดอยู่ในครรภ์ซึ่งเป็นสถานที่เกิดมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ทีนี้เมื่อถึงคราวที่จะออกจากครรภ์ก็ย่อมได้รับทุกข์อันน่าหวาดเสียวอีก คือเมื่อลมกัมมัชวาตบังเกิดขึ้นแก่มารดาขณะเวลาที่จะคลอด ก็ลมกัมมัชวาตนั้น ย่อมจะมีฤทธิ์ร้ายแรงพัดผันทารก ผู้มีร่างอันน่าสังเวชไร้อิสรเสรี ให้มีอาการเคลื่อนลงจำเพาะตรงปล่องกำเนิดอันน่าสะพรึงกลัวยิ่งนักสำหรับทารกผู้ไม่รู้จัก ย่อมเป็นประหนึ่งถูกลมพัดพาให้หลุดลงไปในปล่องเหวชัน หากออกมาไม่ทันใจของบุคคลผู้อยู่ข้างนอก เพราะติดขัอยู่ออกมาไม่ได้ ก็จะถูกคนข้างนอกซึ่งจะเป็นใครอะไรก็ไม่รู้ เพราะตนไม่เคยรู้จักว่าเป็นคนดีคนร้ายประการใด เขาใช้กำลังอันมหาศาลดึงออกมาจากปากปล่องกำเนิดอันคับแคบยิ่งนัก แม้ตนจะได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสประการใด คนข้างนอกก็เหมือนเป็นดุจไร้ความกรุณาปราณี จะได้รับทราบความรู้สึกอันเจ็บปวดแห่งตนก็หาไม ตั้งหน้าแต่จะพยายามดึงมหาหัตถี คือช้างใหญ่ออกจากช่องลูกดาลให้ได้รับความทุกขทรมานเป็นนักหนา ฉะนั้นท่านจึงกล่าวอุปมาไว้ว่า สัตว์นรกที่ต้องได้รับทุกขโทษ เพราะถูกภูเขานรก ๒ ลูกกระทบกัน บีบให้เจ็บปวดบี้แบนอยู่ในท่ามกลางภูเขา ๒ ลูก ย่อมได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสเช่นใด ทารกทั้งหลายที่ถูกดึงออกมาจากปล่องกำเนิดอันคับแคบประดุจช่องลูกดาลก็ย่อมได้รับความเจ็บปวดเสวยทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสเช่นนั้นเหมือนกัน

    ชาติทุกข์ หรือทุกข์เพราะการเกิดที่พรรณนามานี้ยังไม่หมด เพราะว่าเมื่อทารกได้หลุดออกมาลืมตาดูโลกแล้ว โดยเหตุที่ตนเพิ่งจะพ้นจากครรภ์เป็นเด็กแรกเกิดใหม่ ย่อมจักมีสรีระร่างกายอันละเอียดอ่อนปานดังว่าบาดแผลใหม่ๆ ทีเดียว ในขณะที่คนทั้งหลายผู้ทำหน้าีที่กุมารอภิบาล เขาพากันจับมือเท้าให้อาบน้ำทำความสะอาดล้างและเช็ดเนื้อตัวอยู่อย่างชุลมุนวุ่นวาย โดยใส่ใจอยู่แต่ว่าจะทำความสะอาดให้เป็นอย่างดี ในขณะนี้กุมารเกิดใหม่ผู้มีสรีรกายอันละเอียดอ่อน ย่อมได้รับทุกขเวทนาเพราะบังเกิดความเจ็บปวดเป็นอันมาก ซึ่งในกรณีนี้มีการเปรียบเทียบไว้ว่า คนที่ถุกแทงด้วยปลายเข็มหรือคนที่ถูกผ่าเนื้อด้วยมีดโกนย่อมได้รับความเจ็บปวดเช่นใด ทารกทั้งหลายที่คลอดมาใหม่ๆ ถูกคนเขาจับมือจับเท้าให้อาบน้ำชำระล้างและเช็ดเนื้อตัวให้สะอาด ก็ย่อมได้รับความเจ็บปวดเช่นนั้นเหมือนกัน

    ต่อจากนั้น เมื่อค่อยจำเริญวัยวัฒนาการขึ้น และจำเริญขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องนับว่าได้ประสบกับความทุกข์เหลือที่จะคณานับ ก็ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ตนซึ่งเป็นอันอันวิจิตรตระการสืบเนื่องมาแต่ชาติทุกข์ หรือทุกข์เพราะเกิดนี้ ถึงแม้จะมีเป็นอเนกประการสุดที่จักกล่าวให้หมดสิ้นลงได้ดังเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปแล้วก็ดี ถึงกระนั้นก็ยังอาจที่จะประมวลลงได้เป็น ๒ ประการคือ

    ๑. ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความพยายามของตนเป็นมูล
    หมายความว่าตามปกติธรรมดา ตนของตนก็ยังคงสภาพเป็นธรรมดาอยู่ ดูๆ ก็มิได้ชำรุดเสียหายอะไรทั้งสิ้น แต่เพราะค่าที่ตนเป็นคนมีจิตพิกล ให้มีอันเป็นรนหาทุกข์มาใส่ในร่างกายแห่งตนเอง ไม่ใครทำ้ร้ายตน แต่ก็พยายามทำร้ายตนให้ได้รับทุกข์ด้วยตัวของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น

    คนที่มีสัมโมหะเข้ากำบังปัญญา ทำให้จิตวิปริตเกิดความคิดเห็นไขว้เขวไปว่า "โลกนี้ช่างร้ายเหลือ" เกิดเบื่อโลก ไม่อยากอยู่ในโลก อยากจะตาย จึงพยายามขวนขวายที่จะทำร้ายตนให้ถึงแก่ความตายด้วยวิธีอัตวินิบาตกรรมฆ่าตัวตาย เช่นเอามีดมาเชือดคอหอยของตน เอาหลาวมาแทงที่ท้องของตน เอาปืนมาระเบิดสมองของตน ดังนี้เป็นต้น

    คนที่มีใจเข้มแข็งแกร่งกล้า ต้องการให้ตนเป็นคนวิเศษเกินคนธรรมดาจึงอุตสาห์ประกอบความเพียรบำเพ็ญพรตภายนอกพระบวรพุทธศาสนากระทำกายาตนให้ถึงความลำบาก เช่่นพวกเดียรถีย์โยคีบางคนที่บำเพ็ญเป็น "อัตตกิลมถานุโยค" ทำตนให้เดือดร้อนระำส่ำระสาย บางคนประพฤติวัตรดุปราศจากความละอาย ซึ่งเรียกว่า "อเจลกวัตร" ถือการไม่นุ่งห่มผ้าเป็นวัตรดุจเปรตอสุรกายแลเดียรัจฉาน นับเวลาเป็นสิบๆ ปี บางทีประพฤติวัตรที่ทำตนให้ลำบากเช่นนั้นไปจนสิ้นอายุก็มี

    ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลดังกล่าวมานี้ มิได้เกิดขึ้นจากความพยายามของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น โดยที่แท้เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในตนด้วยความพยายามแห่งตนเอง ฉะนั้นความทุกข์เล่านี้ จึงถูกเรียกว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความพยายามของตนเป็นมูล

    ๒. ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความพยายามของผู้อื่นเป็นมูล
    หมายความว่าตามธรรมดาตนก็เป็นคนรักตน กลัวตนจะมีความทุกข์ จึงพยายามรักษาตนไม่ให้ชำรุดเสียหาย ไม่ใให้มีบาดแผล ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ปวด ไม่ให้ตาย เช่นที่เราท่านทั้งหลายกำลังรักษาตนให้เป็นปกติอยู่ ด้วยความพยายามไม่ให้มีทุกข์ภัยเช่นเวลานี้นั่นเอง แต่ทว่าคนอื่นจะคิดวิปริตหรือคิดดีร้ายอย่างไรก็ไม่ทราบ อุตส่าห์พยายามนำเอาความทุกข์มายื่นให้จนได้ ยกตัวอย่างเช่น

    คนที่เป็นอริศัตรูเป็นที่เกลียดชังของผู้อื่น เพราะเหตุที่ทำให้ผู้อื่นบังเกิดความโกรธพยาบาท จึงถูกเขาพยายามพิฆาตเข่นฆ่าทำให้กายาแห่งตนได้รับความทุกข์ เช่นถูกฟัน ถูกแทง ถูกยิง ถูกเตะ ถูกถีบ เป็นอาทิ

    คนที่ริประพฤติชั่วร้าย เช่น เป็นโจรประพฤติผิดกฎหมาย ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับไปขังไว้ในคุก แล้วถูกลงโทษทัณฑ์ต้องเสวยกรรมกรณ์ต่างๆ เช่น ถูกโบย ถูกเฆี่ยน ถูกทุบ ถูกตีจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่คุกให้ได้รับความทุกข์ยากลำบากกายตนเป็นนักหนา

    ความทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นกับบุคคลดังกล่าวนี้ มิได้เกิดขึ้นด้วยความพยายามของตนเลย โดยที่แท้เกิดขึ้นจากความพยายามของบุคคลอื่นมาหยิบยื่นให้ทั้งสิ้น ฉะนั้นความทุกข์เหล่านี้จึงถูกเรียกว่า ความทุกข์เกิดขึ้นจากความพยายามของผู้อื่นเป็นมูล

    โดยข้อความที่ผ่านสายตามานี้ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายก็คงจะเห็นได้แล้วว่า ความเกิดนี้เป็นความทุกข์จริงๆ และเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริงของความทุกข์ทั้งหมด เมื่อไม่เกิดในภพต่างๆ เสียอย่างเดียว ความทุกข์ในภพนั้นก็ย่อมจักไม่มี! กล่าวเช่นนี้อาจจะทำให้งงๆ คืออย่างนี้ ตัวเราซึ่งเป็นมนุษย์อยู่เวลานี้ เพราะเราไม่ได้เกิดใน "ภพนรก" ความทุกข์อย่างสัตว์นรกจึงไม่มีแก่เรา เพราะเราไม่ได้ไปเกิดใน "ภพเปรตอสุรกาย" ความทุกข์อย่างสัตว์เปรตอสุรกายจึงไม่มีแก่เรา และเพราะเราไม่ได้ไปเกิดใน "ภพติัรัจฉาน" ความทุกข์อย่างสัตว์เดรัจฉานจึงไม่มีแก่เรา แต่ทว่าเวลานี้ตัวเรากำลังมาเกิดอยู่ใน "ภพมนุษย์" ความทุกข์อย่างมนุษย์เช่นที่ว่าๆ มาแล้วนั้น จึงปรากฏแก่เราท่านทุกคนใช่ไหมเล่า ฉะนั้นจึงขอให้ทำความเข้าใจอย่างเด็ดขาดในตอนนี้ว่า เมื่อไม่มีความเกิดเสียอย่างเดียว ความทุกข์ทั้งหลายก็ย่อมจักมีไม่ได้ แต่เพราะมีความเกิดนี่เองความทุกข์ทั้งหลายจึงมี ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสความเกิดนี้ว่าเป็นทุกข์ โดยทรงเรียกชื่อว่า "ชาติทุกข์" ดังนี้



    ๒.ชราทุกข์
    ได้แก่ทุกข์คือความชรา ทุกข์คือความชรานี้ จะมีสภาวะเป็นประการใด ขอให้เราทั้งหลายพึงทราบจากอรรถที่มีปรากฎในคัมภีร์ สุตตันตภาชนีย์ แห่งพระอภิธรรมปิฎก ดังต่อไปนี้

    สภาพที่เรียกว่าชรานั้น ก็ได้แก่สภาวะคือ

    ความคร่ำคร่า
    ภาวะที่คร่ำคร่า
    ความที่ฟันหลุด
    ความที่ผมหงอก
    ความที่หนังเหี่ยวย่น
    ความเสื่อมสิ้นแห่งอายุ

    ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์สภาพการณ์เหล่านี้เรียกว่า ชรา แต่ถ้าจะพูดให้ฟังกันง่ายๆ ชรานี้ก็คือความแก่นั่นเอง ความแก่หง่อมแห่งสังขารร่างกายของคนแก่นั่นเอง คือสัญญลักษณ์ของชราทีเดียวละ ชราหรือความแก่นี้ ท่านผู้มีปัญญาพิจารณาดูจนทั่วแล้วบอกว่าไม่มีดี เพราะมีแต่จะยังความเป็นหนุ่มเป็นสาวแห่งร่างกายให้พินาศเสื่อมสลาย แล้วก็นำไปสู่ความตายท่าเดียวเท่านั้นอันชราหรือความแก่นี้ เมื่อจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว เจ้าตัวชราเองแท้ๆ มันมิได้เป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรกับใครดอก แต่ที่จัดว่าชราเป็นทุกข์ ก็เพราะว่าชรานี้เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ของบุคคลผู้เข้าถึงความชราคือคนแก่! ที่ว่าชราเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ของคนแก่ก็โดยเหตุ ๒ ประการคือ

    ๑. ชราเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทางกายของคนแก่! จริงอยู่ อัตภาพร่างกายของคนแก่ที่ถูกชราเข้าครอบงำ ย่อมเปรียบเสมือนเกวียนแก่เ่ก่า คร่ำคร่า เวลาจะยืนที่นั่งทีก็ดุเป็นที่น่าสังเวชแสนจะลำบากเป็นนักหนา ชราบุคคลบางท่าน ก่อนที่จะทำการลุกทำการนั่ง ย่อมร้องครางโอยออกมาจากลำคอเป็นเสียวยาวสั่นเครือเสีียก่อน แล้วจึงจะนั่งและลุกขึ้นยืนตามความประสงค์ได้สำเร็จ รวมความว่าชราก่อให้เกิดทุกข์กายมากมาย เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ชราเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทางกายของคนแก่

    ๒. ชราเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทางใจของคนแก่! จริงอยู่ คนแก่ถูกชราเข้าครอบงำ ย่อมจะได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจอยู่เนืองนิตย์ เพราะความวิปริตแปรปรวนไปโดยประการต่างๆ ทั่วสรรพางค์กายดูเหมือนว่าจะไร้ความหมายแทบสิ้นราคาคน จะคิดทำกิจสิ่งหนึ่งประการใดก็มิได้ดังใจหมาย เพราะความเพียรและประสาทสติเสื่อมคลายไปไม่เหมือนก่อน บางรายให้มีอันเ็ป็นสั่นคลอนเหมือนฝีเ้ข้า ต้องถูกเจ้าคนอื่นมันกดขี่ล้อเลียนข่มเหงน้ำใจอยู่เนืองนิตย์ ลูกและภรรยาก็มีความคิดวิปริต ไม่มีจิตชื่นชมยินดีในตนเหมือนอดีต คิดไปคิดมาก็ได้แต่ระอาน้อยใจว่า ตัวข้านี้ไม่น่าแก่เลย! จึงเป็นอันว่า ชราก่อให้เกิดความทุกข์โทมนัสมากมาย เพราะฉะนั้นท่านจึงได้กล่าวว่า ชราเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทางใจของคนแก่

    โดยเหตุที่ชราเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจดังกล่าวมานี้ ท่านพระโบราณจารย์ผู้มีใจกรุณา จึงประพันธ์เป็นโศลกนี้ไว้ว่า
    เพราะเหตุที่อวัยวะหย่อนยาน เพราะความวิการแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย เพราะความสูญหายแห่งความเป็นหนุ่มสาว เพราะเข้าไปบั่นกำลัง เพราะสติฟั้นเฟือน เผลอไผลเป็นต้น เพราะลูกและเมียของตนก็ไม่พึงชื่นชมยินดี และเพราะถึงความเป็นคนอ่อนแอเป็นอย่างยิ่ง บุคคลเข้าถึงทุกข์ซึ่งเป็นไปทางกายและทางใจเพราะเหตุดังกล่าวมานี้แล้ว ก็จงเข้าใจเถิดว่าทุกข์ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น มี "ชรา" เป็นเหตุเป็นตัวการ เหตุดังนั้น ชราจึงจัดว่าเป็นทุกข์" ดังนี้

    ๓. มรณทุกข์

    ได้แก่ทุกข์ คือมรณะ ก็ทุกข์คือมรณะนี้จะมีสภาวะเป็นประการใด ขอให้เราทั้งหลายพึงทราบได้จากวจนะอันปรากฎมีในคัมภีร์ สุตตันตภาชนีย์ แห่งพระอภิธรรมปิฎก ดังต่อไปนี้

    สภาพที่เรียกว่ามรณะนั้นได้แก่สภาวะ ดังนี้ คือ

    จุติ
    ภาวะที่เคลื่อน
    ความหายไป
    ความทำกาละ
    ความแตกแห่งขันธ์
    มฤตยู
    ความตาย

    ความทิ้งซากศพไว้ สภาวะเหล่านี้เรียกว่า "มรณะ" หากจะพูดให้ฟังกันง่ายๆ มรณะนี้ก็คือความตายนั่นเอง ความตายแห่งสังขารร่างกายของคนตายที่สิ้นลม หายใจนอนนิ่งไม่ไหวติง นอนตัวแข็งทื่อเหมือนไม้นั่นแหละ คือสัญลักษณ์แห่งมรณะ ก็มรณะหรือความตายนี้ ท่านผู้มีปัญญาย่อมพิจารณาเห็นว่า เป็นสภาพที่ไม่เข้าท่า เพราะนำมาซึ่งความไม่ดีมากมาย เช่น เมื่อผู้ใดประสบพบกับความตายเข้าแล้ว ก็จำต้องเคลื่อนแคล้วจากโลกนี้ไป จะสมัครใจหรือไม่สมัครใจก็ต้องจุติเคลื่อนไปทั้งสิ้น จะอยู่อีกต่อไปมิได้ ทรัพย์สมบัติต่างๆ ตลอดจนถึงคนที่รักที่ชัง ซึ่งเป็นที่ชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้าง ก็ต้องพลัดพรากจากไปทั้งหมด ความตายเป็นการปิดฉากชีวิตอย่างสนิทแน่นอน ดังนั้น ความตายนี้จึงจัดว่าเป็นทุกข์ แต่เมื่อจะว่ากันตามสภาวะที่เป็นจริงแล้ว อันมรณะหรือความตายนี้ โดยเฉพาะตัวมันเองแล้ว มันก็มิได้เป็นทุกข์เป็นร้อนไปกับใครที่ไหนดอก แต่การที่จัดว่าเป็นทุกข์ก็เพราะมรณะนี้เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ของบุคคลผู้เข้าถึงมรณะคือคนที่จะตาย โดยเหตุ ๒ ประการ คือ

    ๑. มรณะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทางกายของบุคคลผู้กำลังจะตาย จริงอยู่ อันคนที่กำลังจะเข้าถึงมฤตยูคือความตายนั้น อัตภาพร่างกายของเขาหาได้เป็นปกติเหมือนคนธรรมดาสามัญไม่ โดยที่แท้เป็นอัตถาพที่ชำรุดทรุดโทรมประกอบไปด้วยทุกขเวทนาใหญ่ น่าจะตายอย่างแน่ๆ แล้ว จึงจะถึงแก่ความตายลงไปจริงๆ ถ้าอัตภาพร่างกายยังดีอยู่ไม่่น่าตายก็คงจะยังไม่ตาย แต่นี่เพราะอัตภาพร่างกายชำรุดเป็นที่น่าตายแท้ๆ จึงต้องถึงแก่ความตาย ยกตัวอย่าง เช่น คนที่ถูกยิงตาย ถูกฟันตาย ถูกรถชนตาย ถูกแทงตาย ถูกระเบิดตาย คนที่ถึงแก่มรณกรรมด้วยอาการตายโหงเหล่านี้ อัตภาพร่างกายของเขายังปกติสบายดีอยู่หรือ ก็เปล่าทั้งสิ้น โดยที่แท้ย่อมชำรุดเสียหายเป็นบาดแผลใหญ่ ได้รับความเจ็บปวดอันเป็นทุกขเวทนาทากายอย่างใหญ่หลวงเสียก่อนนแล้วเขาจึงตาย หรือไม่เช่นนั้นคนที่ตายธรรมดามิใช่ตายโหงดังกล่าวมา ก็หาด้พ้นจากความทุกข์ทางกายไม่ เช่น คนที่เจ็บปวดเป็นไข้ก็ย่อมประกอบไปด้วยทุกขเวทนาใหญ่ เจ็บปวดไปทั่วสรรพางค์กาย ลุกนั่งไม่ไหว เคลื่อนกายไม่ได้ นอนนิ่งไม่ไหวติงอยู่บนเตียงที่ตาย ยังอยู่แต่ใจสั่นริกๆ รอคอยอยู่แต่ว่าจะดับจะตายลงไปเมื่อใดเท่านั้น สภาวการณ์อย่างนี้ ย่อมบ่งบอกอยู่ว่าอัตภาพร่างกายของเขาชำรุดเสียหายเต็มที่ ซึ่งทำให้เขาเกิดความทุกข์ทางกายมากมาย ในที่สุดเมื่อวาระ "มรณนฺติก" คือคราวที่จะดับจะตายลงไปในชั่วบัดเดี๊ยวใจนั้นย่อมเกิดความทุกข์ทางกายให้มีอันเป็นเร่าร้อนกระวนกระวาย ประดุจถูกคบเพลิงอันร้อนแรงเผาลนในสรีระร่างกาย ฉะนั้นจึงเป็นอันว่า "มรณะ" ความตายนี้ ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ทางกายมากมาย ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า มรณะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทางกายของบุคคลผู้กำลังจะตาย ดังนี้

    ๒. มรณะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทางใจของบุคคลผู้กำลังจะตาย จริงอยู่ บุคคลผู้กำลังจะย่างเข้าไปสู่แดนมฤตยูนั้น ย่อมบังเกิดความทุกข์ทางใจ เช่น ให้คิดอาลัยอาวรณ์ในมนุษยโลกที่ตนเคยอยู่มานานเป็นอันมาก เมื่อรู้ตัวว่าตนจะ้ต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับเช่นนี้ ก็ไม่มีความสบายใจเกิดความทุกข์โทมนัสน้อยอกน้อยใจเป็นนักหนา บางคนถึงกับรำพึงรำพันออกมาว่า โลกนี้ไม่น่าที่จักมีความตาย แต่ความทุกข์ใจอะไรในขณะนี้ก็ไม่ร้ายเท่ากับความทุกข์ใจในเมื่อได้เห็นนิมิตที่ไม่ดี มีนรกนิมิตเป็นต้น ในขณะที่กำลังจักขาดใจตาย กล่าวอย่างนี้อาจทำให้ท่านทั้งหลายเกิดความงงันขึ้นก็ได้ ฉะนั้นจึงขอโอกาสอธิบายขยายความออกไปอีก ดังต่อไปนี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 กันยายน 2011

แชร์หน้านี้

Loading...