เรื่องเด่น "เป็นทุกข์เพราะความไม่สมหวัง" (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย วิริยะ13, 31 พฤษภาคม 2020.

  1. วิริยะ13

    วิริยะ13 สติเป็นโล่ห์ ปัญญาเป็นอาวุธ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    3,029
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,560
    ค่าพลัง:
    +12,654
    12-horz.jpg

    .
    "เป็นทุกข์เพราะความไม่สมหวัง"

    " .. ลองพิจารณาสิ่งที่ทุกคนมี "คือความรัก หรือบุคคลผู้เป็นที่รัก สิ่งอันเป็นที่รัก" พิจารณาว่า บุคคลผู้เป็นที่รักหรือสิ่งอันเป็นที่รัก "เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทั่วไปมากบ้างน้อยบ้าง เพราะเหตุใด"

    ก็จะพบว่า "เพราะเหตุที่ผู้มีความรักในบุคคลหรือในสิ่งนั้น ๆ ไปยึดมั่นถือมั่นจักให้ผู้นั้นสิ่งนั้นเป็นไปตามความปรารถนาต้องการของตน" เช่น "ต้องการให้บุคคลผู้เป็นที่รักมีความรู้สึกต่อตนเช่นไรก็เช่นนั้น คือเคยรักตนมากก็ต้องการให้เป็นเช่นนั้นตลอดไป" ซึ่งเป็นไปไม่ได้

    "จิตใจหรือความรักก็เช่นเดียวกับสิ่งทั้งปวง คือเป็นอนัตตา ไม่เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาต้องการของผู้ใดเลย" แม้ท่านผู้สูงสุดด้วยวาสนาบารมี "ก็หามีอำนาจทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดมีความรักที่ไม่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงดังที่ปรารถนาต้องการได้ไม่" บางเวลาความรักก็อาจเพิ่มขึ้น บางเวลาก็อาจลดน้อยลง บางเวลาก็อาจไม่มีเลย ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไปเป็นธรรมดา

    สังเกตใจตนเอง ทุก ๆ คนก็ย่อมเห็นความจริงนี้ประจักษ์ชัด "เพราะความเปลี่ยนแปลงในใจตนเองก็มีอยู่เช่นกัน" มิใช่ว่ามีอยู่แต่ในใจผู้อื่นเท่านั้นและความเปลี่ยนแปลงนี้ก็มิใช่ว่าเป็นไปตาม อำนาจความปรารถนาต้องการให้เป็นเช่นนั้น "มันเป็นไปเองเพราะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"

    ผู้ไม่เห็นตามความจริงไปยึดมั่นถือมั่นจะให้เป็นเช่นนั้น เช่นนี้ "ย่อมเป็นทุกข์เพราะความไม่สมหวัง เพราะความรักที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงนั้น" แต่ผู้รู้ทันตามความเป็นจริงว่า "ความรักต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมดา ย่อมไม่ยึดมั่นถือมั่น" เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมไม่เป็นทุกข์เพราะความไม่สมหวัง ย่อมไม่เป็นทุกข์เมื่อความรักแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดา

    ทุกคนมีความรัก มีบุคคลเป็นที่รัก มีสิ่งเป็นที่รัก "แม้พยายามให้เห็นความไม่เที่ยง หรือความทนอยู่ไม่ได้ หรือความไม่อยู่ใต้อำนาจปรารถนาต้องการของใครเลย ย่อมมีความสงบสุขในจิตใจได้พอสมควร" ดังนั้น "จึงควรพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไว้ให้เสมอ" จะได้ไม่เป็นทุกข์จนเกินไปเมื่ออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏชัดเจน พอสมควร .. "

    "ธรรมะคือดวงตาของชีวิต"
    สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
     

แชร์หน้านี้

Loading...