แนวทางการปฏิบัติสมถะกรรมฐาน สลับกับ วิปัสสนากรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 5 กุมภาพันธ์ 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    16,363
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,225
    ค่าพลัง:
    +25,920
    9ED9C812-719B-4B35-B58A-AF3ABFB64802.jpeg

    มีญาติโยมซึ่งเปลี่ยนแนวปฏิบัติ จากการปฏิบัติแนวเคลื่อนไหว มาปฏิบัติตามแนวของอานาปานสติ ซึ่งอาตมาได้ย้ำอยู่เสมอว่าการเปลี่ยนแนวปฏิบัตินั้น ถ้าเป็นไปได้อย่าเปลี่ยน การปฏิบัติทุกแนวถ้าเราทำเป็น สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้ทั้งหมด

    โดยเฉพาะสภาพจิตของเราจะเคยชินกับแนวการปฏิบัติและคำภาวนาแต่เดิม เมื่อถึงเวลามาเปลี่ยนวิธีใหม่ ก็จะมีการยื้อแย่งกันระหว่างของเก่ากับของใหม่ ท้ายที่สุดหลายคนก็อยู่ในลักษณะที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ คือของเก่าก็ไม่ได้ ของใหม่ก็ไม่ดี เพราะว่าเราเปลี่ยนแนวการปฏิบัติ นอกจากนี้โยมยังตั้งใจมากเกินไป ก็คือทุ่มเทให้กับการปฏิบัติจนเครียด ไปไหนไม่ถูก ทำอะไรต่อไปไม่เป็น

    เพราะว่าสภาพจิตของเรา ถ้าเน้นในเรื่องของอานาปานสติอย่างเดียว ก็แปลว่าเราเน้นในเรื่องของสมถกรรมฐานล้วน ๆ เมื่อถึงเวลาเราภาวนาไปจนเต็มที่แล้ว สภาพจิตจะเหมือนอย่างกับเดินชนผนัง ไปต่อไม่ได้ ก็จะถอยออกมา แต่ว่าโยมก็ไปบังคับให้เดินต่อ เมื่อบังคับไปนาน ๆ ก็เกิดอาการเครียดมาก จนทำอะไรไม่ถูก

    ซึ่งในลักษณะนี้ต้องบอกว่ามีความอยากมากจนเกินไป ก็คืออยากได้ดี กลายเป็นเอากิเลสนำหน้า เอาตัณหานำทาง โอกาสที่จะได้ดีย่อมเป็นไปไม่ได้

    นิวรณ์คือเครื่องกั้นความดีอย่างหยาบทั้ง ๕ อย่าง ได้แก่ กามฉันทะ ความยินดีในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศอย่างหนึ่ง พยาปาทะ ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นผูกใจเจ็บคนอื่นอย่างหนึ่ง ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจปฏิบัติอย่างหนึ่ง อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญใจอย่างหนึ่ง และวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลปฏิบัติอย่างหนึ่ง ทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นตัวขวางการปฏิบัติที่ใหญ่ที่สุด

    คราวนี้ความอยากได้ใคร่ดีมากจนเกินไป จัดอยู่ในส่วนของอุทธัจจกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน ในเมื่อสภาพจิตของเรามีความฟุ้งเป็นปกติ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะทรงตัวแนบนิ่ง เมื่อสภาพจิตไปต่อไม่ได้ ถอยออกมา ก็ยังไปบังคับให้ขึ้นหน้าใหม่ แล้วก็สงสัยว่าทำไมตนเองถึงดื้ออย่างนี้ ไม่ยอมภาวนา ไม่ยอมเอาดีอย่างที่ต้องการ

    ความจริงเมื่อเราภาวนาไปจนสภาพจิตทรงตัวแล้ว สภาพของจิตก็จะคลายออกมาเองโดยอัตโนมัติ เพียงแต่ว่าเมื่อคลายออกมาแล้ว เราต้องรู้จักหางานให้จิตทำ ก็คือรีบเอาวิปัสสนาญาณให้จิตของเราทำ อย่างเช่นว่าพิจารณาให้เห็นว่า สภาพร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี ของวัตถุธาตุทั้งหลายก็ดี มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ธรรมดามีความไม่เที่ยงอย่างนี้ ถ้าเราไปยึดถือมั่นหมายว่าเป็นเราเป็นของเรา ถึงเวลาไม่เป็นไปตามใจที่ต้องการ เราก็จะทุกข์

    โดยเฉพาะร่างกายของเรา ร่างกายของคนอื่น ร่างกายของสัตว์อื่น หรือวัตถุธาตุต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีอะไรเป็นตัวตนให้เรายึดถือมั่นหมายได้ พยายามมองให้เห็น มองให้ชัด มองให้ละเอียด ถ้าหากว่าสภาพจิตเริ่มรู้สึกว่าไม่ไหว เลือนรางไป ก็กลับมาภาวนาใหม่ พออารมณ์ใจทรงตัวก็รีบหาวิปัสสนาญาณมาพิจารณาใหม่

    พิจารณาว่าธรรมดาของเราที่เกิดมาแล้ว ต้องมีเสื่อมเป็นธรรมดาก็ได้ เกิดมาแล้วอยู่กับร่างกายที่เต็มไปด้วยทุกข์ด้วยโทษก็ได้ จนกระทั่งท้ายสุด ถ้าสภาพจิตของเราเข้าถึงความดีก็จะปล่อยวาง ไม่ปรารถนาในสภาพร่างกายอย่างนี้อีก เราจำเป็นต้องภาวนาและพิจารณาอย่างนี้ สลับกันไป สลับกันมา ถึงจะก้าวหน้า ไม่อย่างนั้น ถ้าสภาพจิตคลายออกมาแล้วไม่มีงานทำ ก็จะฟุ้งซ่านไป รัก โลภ โกรธ หลง และจะฟุ้งได้แรงมากจนเรายั้งไม่อยู่ เพราะว่าสภาพจิตเอากำลังจากที่เรานั่งสมาธิไปใช้ในการฟุ้งซ่าน เนื่องจากว่าเราไม่รู้จักใช้กำลังไปในการพิจารณา ถ้าลักษณะอย่างนี้เราก็จะเดือดร้อนมาก เพราะว่า รัก โลภ โกรธ หลง จะรุนแรงจนห้ามไม่อยู่

    ดังนั้น เมื่อท่านทั้งหลายภาวนาแล้วก็ต้องพิจารณา เมื่อพิจารณาจนไปต่อไม่ได้ ก็กลับมาภาวนาใหม่ สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจึงจะมีแก่พวกเราได้

    ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญานบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
    วันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๒
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...