โรค ๒ อย่าง (ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย thepkere, 6 ธันวาคม 2012.

  1. thepkere

    thepkere เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    1,018
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,449
    [๑๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือโรคทางกาย
    โรคทางใจ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ปฏิญาณความไม่มีโรคด้วยโรคทางกาย ตลอดปี
    หนึ่งมีปรากฏ ผู้ปฏิญาณความไม่มีโรคตลอด ๒ ปีบ้าง ๓ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง
    ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง ผู้ปฏิญาณความไม่มีโรคแม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีบ้าง มีปรากฏ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดปฏิญาณความไม่มีโรคทางใจแม้ครู่หนึ่ง สัตว์เหล่านั้นหาได้ยาก
    ในโลก เว้นจากพระขีณาสพ ฯ


    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๑
    พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
    หน้าที่ ๑๔๑/๒๔๐ ข้อที่ ๑๕๗


    [๒๘๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
    ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพาน
    เป็นสุขอย่างยิ่ง บรรดาทางทั้งหลายอันให้ถึง
    อมตธรรม ทางมีองค์แปดเป็นทางอันเกษม.

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาคัณฑิยปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่าน
    พระโคดม น่าอัศจรรย์นักไม่เคยมีมาแล้ว เพียงข้อที่ท่านพระโคดมตรัสดีแล้วนี้ว่า ความไม่มีโรค
    เป็นลาภอย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง แม้ข้าพเจ้าก็ได้ฟังข้อนี้มา ต่อปริพาชกทั้งหลาย
    แต่ก่อน ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ผู้กล่าวกันอยู่ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุข
    อย่างยิ่ง ข้อนี้ย่อมสมกัน.

    ดูกรมาคัณฑิยะ ก็ข้อที่ท่านได้ฟังมาต่อปริพาชกทั้งหลาย ก่อนๆ ผู้เป็นอาจารย์และ
    ปาจารย์ผู้กล่าวกันอยู่ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนี้นั้น
    ความไม่มีโรคนั้นเป็นไฉน นิพพานนั้นเป็นไฉน?
    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ได้ทราบว่า
    มาคัณฑิยปริพาชกเอาฝ่ามือลูบตัวของตัวเอง กล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ความไม่มีโรคนั้น
    คืออันนี้ นิพพานนั้นคืออันนี้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าเดี๋ยวนี้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข
    อะไรๆ มิได้เบียดเบียนข้าพเจ้า.

    เปรียบผู้บริโภคกามเหมือนคนตาบอด
    [๒๘๘] ดูกรมาคัณฑิยะ เปรียบเหมือนบุรุษตาบอดมาแต่กำเนิด เขาไม่ได้เห็นรูปดำ
    และขาว ไม่ได้เห็นรูปสีเขียว ไม่ได้เห็นรูปสีเหลือง ไม่ได้เห็นรูปสีแดง ไม่ได้เห็นรูปสีชมพู
    ไม่ได้เห็นที่อันเสมอและไม่เสมอ ไม่ได้เห็นรูปหมู่ดาว ไม่ได้เห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
    เขาได้ฟังต่อคนผู้มีจักษุกล่าวว่า ดูกรผู้เจริญ ผ้าขาวผ่องงาม ไม่มีมลทินสะอาดหนอ ดังนี้.
    เขาพึงเที่ยวแสวงหาผ้าขาวผ่อง. บุรุษคนหนึ่งเอาผ้าเทียมเปื้อนเขม่ามาลวงบุรุษตาบอดแต่กำเนิด
    นั้นว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ผ้าของท่านผืนนี้ เป็นผ้าขาวผ่องงามไม่มีมลทิน สะอาด ดังนี้.
    เขารับเอาผ้านั้นไว้ห่ม แล้วดีใจ เปล่งวาจาแสดงความดีใจว่า ท่านผู้เจริญ ผ้าขาวผ่องงาม
    ไม่มีมลทินสะอาด ดังนี้. ดูกรมาคัณฑิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษตาบอด
    แต่กำเนิดนั้น รู้อยู่ เห็นอยู่ รับเอาผ้าเทียมอันเปื้อนเขม่านั้นไว้ห่ม แล้วดีใจ เปล่งวาจา
    แสดงความดีใจว่า ท่านผู้เจริญ ผ้าขาวผ่องงามไม่มีมลทินสะอาดหนอ ดังนี้ หรือว่าเปล่งวาจา
    แสดงความยินดี ด้วยเชื่อต่อบุคคลผู้มีจักษุเล่า?

    ท่านพระโคดม บุรุษตาบอดแต่กำเนิดนั้น ไม่รู้ไม่เห็นเลย รับเอาผ้าเทียมอันเปื้อนเขม่า
    เข้าไว้ห่ม แล้วดีใจ เปล่งวาจาแสดงความดีใจว่า ท่านผู้เจริญ ผ้าขาวผ่องไม่มีมลทินสะอาดหนอ
    ดังนี้ ด้วยเชื่อต่อบุคคลผู้มีจักษุเท่านั้น.

    ดูกรมาคัณฑิยะ ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีจักษุ ไม่รู้ความ
    ไม่มีโรค ไม่เห็นพระนิพพาน เออก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ยังกล่าวคาถานี้ได้ว่า ความไม่มีโรค
    เป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนี้. ดูกรมาคัณฑิยะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
    พระองค์ก่อนๆ ได้ตรัสพระคาถาไว้ว่า

    ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
    บรรดาทางทั้งหลายอันให้ถึงอมตธรรม ทางมีองค์แปด
    เป็นทางเกษม.


    บัดนี้ คาถานั้นเป็นคาถาของปุถุชนไปโดยลำดับ. ดูกรมาคัณฑิยะ กายนี้แลเป็นดังโรค
    เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ ท่านนั้นกล่าวกายนี้เป็นดังโรค
    เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ว่า ท่านพระโคดม ความไม่มีโรค
    นั้นคืออันนี้ นิพพานนั้นคืออันนี้. ก็ท่านไม่มีจักษุของพระอริยะ อันเป็นเครื่องรู้ความไม่มีโรค
    อันเป็นเครื่องเห็นนิพพาน
    .


    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๓
    พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
    หน้าที่ ๒๑๖/๕๑๘ ข้อที่ ๒๘๗ - ๒๘๘
     

แชร์หน้านี้

Loading...