(๑๖) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญานสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 25 กรกฎาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๒๔
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖
    เรื่อง

    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า อุดมธรรม)

    วันนี้ จะได้บรรยายมหาสติปัฏฐาน ข้อที่ว่า อุดมธรรมสืบต่อไป

    อุดมธรรม ข้อที่ ๑ คือ อปฺปิจฺฉา ไม่มีความปรารถนา ข้อที่ ๒ คือ สนฺตุฏฺฐิ ความสันโดษในปัจจัย ๔ ทั้ง ๒ ข้อนี้ ได้บรรยายมาแล้ว เฉพาะวันนี้จะได้บรรยายข้อที่ ๓ เป็นต้นไป


    ๓. ปวิเวก


    คำว่า ปวิเวก แปลว่า ความสงัด ได้แก่วิเวก ๓ นั่นเอง คือ

    ๑. กายวิเวก สงัดกาย


    ๒. จิตตวิเวก สงัดจิต

    ๓. อุปธิวิเวก สงัดกิเลส
    ๑. สงัดกายนั้น มีอธิบายเป็น ๒ ประการ คือ

    ประการที่ ๑ ได้แก่ความเป็นผู้มีกายหลีกออกจากหมู่ อยู่แต่ผู้เดียว
    ประการที่ ๒ ไม่ออกจากหมู่ ไม่อยู่คนเดียว แต่อยู่กับพระกรรมฐาน ๒ คือ สมถกรรมฐาน ๑ วิปัสสนากรรมฐาน ๑


    ๒. สงัดจิตนั้น จิตมีสมาธิ
    สมาธินั้นมี ๒ ก็มี เช่น โลกียสมาธิ โลกุตตรสมาธิ



    สมาธิมี ๓ ก็มี เช่นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ
    สมาธิเหล่านี้แหละ ทำจิตให้สงัด ความสงัดทั้ง ๒ นี้ ต้องเป็นคู่กันไปจึงจะเกิดประโยชน์แก่นักปฏิบัติธรรมได้ดี สมตามที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ได้ตรัสไว้ ในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย หน้า ๑๘๕ ว่า
    จตฺตาโร เม ภิกฺขเว ปุคฺคลา สนฺโต สํวิชฺชมานา โลกสฺมึ เป็นต้น ความว่า


    ดูกร ท่านผู้เห็นภัยในวัฏกสงสารทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้มีอยู่ ๔ จำพวก คือ
    ๑. นิกฺกฏฺฐกาโย อนิกฺกฏฺฐจิตฺโต บุคคลมกายออก แต่ใจไม่ออก ได้แก่ผู้ที่ออกไปอยูในเสนาสนะป่าอันเงียบสงัดดี แต่ใจของผู้นั้นยังไม่ออก ยังวนกลับเข้าไปในบ้านอยู่ คือยังตรึกถึงความเบียดเบียนกันและกันอยู่

    ๒. อนิกฺกฏฺฐกาโย นิกฺกฏฺฐจิตฺโต บุคคลมีกายไม่ออก แต่มีใจออก ได้แก่บุคคลบางคน ไม่ออกไปอยู่ในเสนาสนะป่าอันเงียบสงัด แต่ใจของผู้นั้นออก คือ ตรึกถึงแต่เนกขัมมะ เนกขัมมะนั้นหมายความได้ ๒ อย่าง คือ หมายความว่า ออกได้แก่ออกจากิเลสหยาบ กิเลสกลาง กิเลสละเอียด ด้วยอำนาจแห่งศีล สมาธิ ปัญญาอย่างหนึ่ง หมายความว่า ออกบวช ได้แก่โกนผม นุ่งเหลือง เป็นสามเณร เป็นภิกษุ บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ตามสมณสารูปจริงๆ อย่างหนึ่ง


    ๓. อนิกฺกฏฺฐกาโย จ อนิกฺกฏฺฐจิตฺโต จ บุคคลมีกายก็ไม่ออก มีใจก็ไม่ออก ได้แก่บุคคลบางคน ไม่ออกไปอยู่ในเสนาสนะป่าอันเงียบสงัด แต่ใจก็ยังเกี่ยวข้องอยู่กับวิตก ๓ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก อยู่


    ๔. นิกฺกฏฺฐกาโย จ นิกฺกฏฺฐจิตฺโต จ บุคคลมีกายก็ออก มีใจก็ออก ได้แก่บุคคลบางคน ออกไปอยู่ในเสนาสนะป่าอันเงียบสงัดดี และใจของผู้นั้นก็ออกไปอยู่กับพระกรรมฐาน คือกับสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ตรึกถึงแต่เนกขัมมะ ตรึกถึงแต่ความเมตตา ไม่มีพยาบาทจองเวร ตรึกถึงแต่ความไม่เบียดเบียนใครๆ มีใจเต็มเปี่ยมอยู่ด้วยพรหมวิหารธรรม นำกาย วาจา ใจของตนให้อยู่กับพระธรรมตลอดไป


    ๓. สงัดกิเลส ได้แก่หลุดพ้นจากิเลสโดยปหาน ๓ คือ
    ๑. ตทังคปหาน ละกิเลสได้ด้วยองค์นั้นๆ คือ ด้วยการเจริญกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง



    ๒. วิกขัมภนปหาน ละกิเลสได้ด้วยการข่มไว้ ด้วยอำนาจแห่งฌานทั้ง ๕

    ๓. สมุจเฉทปหาร ละกิเลสได้โดยเด็ดขาด ด้วยอำนาจแห่งมรรคญาน
    คำว่า ปวิเวก หมายเอาความสงัด ดังที่ได้บรรยายมา ฉะนี้


    ๔.อสงฺสคฺค

    อสงฺสคฺค แปลว่า ความไม่ระคนด้วยหมู่ หมู่นั้น มีอยู่ ๓ อย่างคือ

    ๑. ปุคฺคลสมูโห หมู่คน


    ๒. กิเลสสมูโห หมู่กิเลส

    ๓. ธมฺมสมูโห หมู่ธรรม

    ๑. คำว่า หมู่คน นั้น แบ่งออกเป็น ๒ พวก คือคนพาล ๑ บัณฑิต ๑
    คนพาล ได้แก่คนโง่ คนไม่ฉลาด เป็นอยู่ในโลกเพียงแต่ลมหายใจ ไม่เป็นอยู่ด้วยปัญญา ตัดประโยชน์ภพนี้ ตัดประโยชน์ภพหน้า ทำลายประโยชน์ตน ทำลายประโยชน์คนอื่น ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ คนอย่างนี้ต้องเว้นให้ห่างไกล ไม่ควรคบหาสมาคม ถ้าใครงดเว้นได้ ชื่อว่า เป็นมงคลอันสูงสุด



    บัณฑิต ได้แก่คนฉลาด เป็นอยู่ด้วยปัญญา เสริมสร้างแต่ประโยชน์ภพนี้ ประโยชน์ภพหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง ทำตนให้บริสุทธิ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา นำพาคนอื่นให้บริสุทธิดุจตน สงเคราะห์คนอื่นด้วยสังคหวัตถุ ๔ ตั้งมั่นอยู่ในกตัญญูกตเวที มีความประพฤติชอบทางกาย วาจา ใจ อยู่เป็นนิตย์ คนอย่างนี้ ควรคบค้าสมาคม ควรเข้าใกล้ ควรเข้าไปหา ควรสนทนาไต่ถาม พยายามทำตามโอวาทคำสั่งสอนของท่าน จะมีแต่ความสุขสวัสดีในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ชื่อว่าเป็นมงคลอันสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา แม้องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ก็ได้ทรงรับรองไว้ในมงคล ๓๘ ประการว่า
    อเสวนา จ พาลานํ ปัณฺฑิตานญฺจ เสวนา
    ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมตฺตมํ
    การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาท่านผู้ควรบูชา ๑ กิจ ๓ อย่างนี้เป็นมงคลอันสูงสุด ดังนี้

    ๒. คำว่า หมู่กิเลส นั้น โดยย่อมี ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ โดยส่วนกลางมี ๑๐ คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ โดยส่วนพิศดารมี ๑,๕๐๐ ดังที่ได้เคยวิสัชนามาแล้วนั้น


    ธรรมดากิเลสนั้นย่อมมีสภาพเป็นดังนี้คือ
    ๑. ย่อมเป็นเช่นกับด้วยปัจจามิตร คือ ข้าศึกย่อมคอยตัดรอน และทำลายบุคคลให้ตกไปสู่อำนาจฝ่ายต่ำเสมอ เหมือนกันกับข้าศึกที่คอยหาช่อง หาโอกาสแก่ศัตรูของตัวอยู่เสมอ ฉะนั้น

    ๒. ย่อมเป็นดุจยาพิษ ธรรมดายาพิษ เมื่อบุคคลหรือสัตว์รับประทาน หรือกินลงไป ย่อมได้รับอันตรายจนถึงตาย ฉันใด กิเลสก็ฉันนั้น เกิดขึ้นแล้วสามารถจะห้ำหั่นบั่นรอน ทำลายบุคคลให้ถึงความพินาศต่างๆ นานา จนกระทั่งถึงสิ้นชีวิตเป็นต้น

    ๓. ย่อมเป็นเช่นกับด้วยหัวฝี ธรรมดาหัวฝีที่กลัดหนอง ย่อมทำให้เจ็บปวดฉันใด กิเลสก็ฉันนั้น เกิดขึ้นแก่ผู้ใด ก็ทำผู้นั้นให้เจ็บปวดจนกระทั่งถึงตาย ถึงไปอบายก็ได้

    ๔.ย่อมเป็นเช่นกับอสรพิษ ธรรมดาอสรพิษต่างๆ เช่น งุเห่า งูจงอาง เป็นต้น เมื่อกัดคนแล้ว ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ทนทุกข์ทรมานมาก ถ้ามียาดีและแก้ทัน จึงจะหาย มิฉะนั้นต้องตาย ฉันใด กิเลสก็ฉันนั้น ถ้าเกิดขึ้นแก่ใครแล้ว สามารถยังผู้นั้นให้ถึงทุกข์ทรมานเกือบตายหรือตายก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ต้องหายาคือธรรมโอสถแก้ จึงจะสามารถปลดเปลื้องทุกข์ทรมานออกจากขันธสันดาน และวัฏฏสงสารนี้ได้

    ๕. ย่อมเป็นเช่นกับสายฟ้า ธรรมดาสายฟ้านั้น เมื่อแลบออกมาก็ย่อมเร็วไวมาก น่าหวาดเสียวยิ่งนัก เมื่อผ่าต้นไม้ ผ่าคน ผ่าวัว ควายก็ทำให้แตกหัก ทำให้ไหม้เกรียม ทำให้ตายไป ฉันใด กิเลสก็ฉันนั้น ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลได้โดยรวดเร็วจนยั้งไม่อยู่ ยั้งไม่ทัน กันไม่ไหว ทำล่วงเกินไปเสียก่อนแล้วจึงจะมาสำนึกได้ในภายหลังก็มาก ถ้าโลภะเกิดขึ้นก็ทำให้เห็นผิดเป็นชอบได้ เช่น ลัก โกง แย่ง ชิง วิ่งราว เป็นต้น ถ้าโทษจะเกิดขึน ก็ทำให้ทะเลาะวิวาทกัน ด่ากัน ตีกัน ฆ่าฟันรันแทงกัน ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรกัน เป็นต้น ถ้าโมหะเกิดขึ้น ก็ทำให้ฟุ้งซ่านรำคาญใจ สงสัยลังเล ลืมบุญคุณของผู้มีคุณ เป็นต้น ผลลัพธ์ของโลภะ โทสะ โมหะ ก็คือไปอบายภูมิ ๔ เสวยทุกข์ทรมานแสนกันดารยิ่งนัก

    หมู่ของกิเลสอย่างนี้ เป็นของไม่ดีแท้ ก่อให้เกิดแต่ความเดือดร้อนไม่มีสิ้นสุด ยุติได้ องค์สมเด็จพระจอมไตร จึงทรงสอนไม่ให้คลุกคลี ไม่ให้ระคนด้วยหมู่เช่นนี้ ให้หนี ให้เว้นไปให้ไกลที่สุด จนกิเลสตามไม่ทัน

    ๓. คำว่า หมู่ธรรมนั้น ได้แก่พระธรรมซึ่งมีจำนวนถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ย่อให้สั้น ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา หมู่ธรรมอย่างนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงสอนให้คลุกคลี ให้ระคนปนอยู่เป็นนิตย์ เพราะทำจิตให้สบาย คลายจากกิเลส เป็นเหตุให้กาย วาจา ใจ สงบระงับ ดังความทุกข์ความเดือดร้อนสิ้นทั้งมวล ควรคะคนด้วยหมู่ธรรม อันจะนำตนให้พ้นทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์อย่างนี้เป็นแน่แท้

    คำว่า อสังสัคคะ แปลว่า ไม่ใหระคนด้วยหมู่คนชั่ว ไม่ให้ระคนด้วยหมู่กิเลส แต่ให้ระคนด้วยหมู่คนดี คือ บัณฑิตนักปราชญ์ และให้ระคนด้วยหมู่ธรรม คือศีล สมาธิ ปัญญา


    ๖. ศีล

    ศีล คือ ความรักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อย แบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ ปกติศีล ๑ ภาวนาศีล ๑
    ๑. ปกติศีล ได้แก่ศีล ๕ - ๘ - ๑๐ - ๒๒๗ ที่ชาวพุทธพากันเรียน พากันปฏิบัติตามอยู่ในพุทธศาสนา ตามสติปัญญาของตนๆ เท่าที่จะรักษาได้ รักษาได้ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สุดแท้แต่เจตนาของผู้รักษานั้นไป บางคนก็ทำให้เสื่อม คือ ขาดๆ ตกๆ บกๆ พร่องๆ ไม่ครบบริบูรณ์ บางคนก็ครบบริบูรณ์ดี บางคนก็ยิ่งทำได้เป็นพิเศษ เช่น มีศีลครบบริบูรณ์ดีแล้ว ยังมีโอกาสไหว้พระ สวดมนต์ ฟังเทศน์ ฟังธรรม เจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐานบ้างตามสมควร




    ๒. ภาวนาศีล ได้แก่ศีลของผู้ที่เจริญกรรมฐาน แบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ
    ๑. สมถกรรมฐาน ได้แก่การเจริญกรรมฐาน ๔๐ อย่าง มีกสิณ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้ฌานแล้ว เอาฌานเป็นบาทเจริญวิปัสสนาต่อไปอีก จนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เรียกว่า สมถยานิก แปลว่าเอาสมถะมาเป็นยานพาหนะขี่ต่อไปสู่วิปัสสนา แล้วเอาวิปัสสนาเป็นยานพาหนะขี่ต่อไปสู่โลกุตตรธรรม
    ๒. วิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่การเจริญวิปัสสนา มีขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๔ เป็นต้น เป็นอารมณ์ เพื่อให้ได้ปัจจุบันธรรม ให้เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ซึ่งเรียกว่า วิปัสสนายานิก แปลว่า เอาวิปัสสนาเป็นยานพาหนะขี่ไปสู่นวโลกุตตรธรรม

    ความเป็นผู้มีศีลทัง ๒ ประการนี้ ชื่อว่า มีอุดมธรรม ข้อที่ ๖

    ๗. สมาธิ


    สมาธิ แปลว่า ความตั้งใจมั่น มี ๓ อย่างก็มี มี ๔ อย่างก็มี
    สมาธิ ๓ อย่างนั้น คือ

    ๑. ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ เช่น ขณะภาวนาว่า พุทโธๆ หรือ พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น สมาธิอย่างนี้ก็มีแล้ว

    ๒. อุปจารสมาธิ สมาธิที่เฉียดเข้าไป ใกล้เข้าไปหาฌาน จวนจะได้ฌานอยู่แล้ว

    ๓. อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แน่วแน่สงบเงียบไป

    สมาธิ ๔ อย่างนั้น คือ

    ๑. ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหาราย สมาธิที่เป็นไปพร้อมเพื่อเป็นอยู่สบายในภพปัจจุบัน ทันตาเห็น ได้แก่สมาธิที่เป็นไปเพื่อให้ได้ฌาน ๔ และสมาธิของผู้ได้ฌานทั้ง ๔

    ๒. ญาณทสฺสนปฏิลาภาย สมาธิที่เป็นไปเพื่อให้ได้ทิพย์จักษุ เพื่อให้ได้ปฐมฌานทัสสนะ คือ เห็นรูปนาม เห็นเหตุปัจจัยของรูปนาม

    ๓. สติสมฺปชญฺญาย สมาธิที่เป็นไปเพื่อให้ได้สติ สัมปชัญญะ เพื่อให้ได้วิปัสสนาญาณต่างๆ ทั้ง ๑๖ ญาณ

    ๔. อาสวานํ ขยาย สมาธิที่เป็นไปพร้อมเพื่อให้สิ้นอาสวกิเลสทั้งมวล ความเป็นผู้มีสมาธิอย่างนี้ เรียกว่า มีอุดมธรรม ข้อที่ ๗

    ๘.ปัญญา


    ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ ความรอบรู้ทางโลก ๑ ความรอบทางธรรม ๑

    ความรอบรู้ทางโลกนั้น เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ ความรู้รอบตัว โหราศาสตร์ ดุริยางคศาสตร์ แพทยศาสตร์ ธนูศิลป โบราณคดี ดาราศาสตร์ พยากรณ์ มายาศาสตร์ ยุทธศาสตร์ วรรณคดี สาสนคดี

    ความรอบรู้ทางธรรมนั้น แบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ ขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง
    ๑. ขั้นต่ำ รู้วิธีพัฒนาการตัวเองให้เจริญด้วยปัจจัย ๔ โดยอิงหลักธรรม ยึดหลักธรรมเป็นใหญ่ เช่น ยึดความขยันหา ขยันเก็บรักษา คบคนดี รู้จักประหยัด เป็นต้น


    ๒. ขั้นกลาง รู้วิธีพัฒนาการตัวเอง เพื่ออนาคต ในภพนี้และภพหน้า เช่น มีสัทธา มีศีล จาคะ ปัญญา เป็นต้น

    ๓. ขั้นสูง รู้วิธีที่พัฒนาการที่ตัวเองให้เข้าถึงจุดสุดยอด คือมรรค ผล นิพพาน โดยดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ได้แก่ มรรค ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิ เห็นชอบเป็นต้น มีสัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบเป็นปริโยสาน
    ผู้ใดตั้งอยู่ในปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างนี้ ผู้นั้น ชื่อว่า เข้าถึงอุดมธรรมข้อที่ ๘

    วันนี้ ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อที่ว่า วิเนยฺย แปลว่า นำไปสูู่อุดมธรรม ๑๐ ประการ อุดมธรรม ๑๐ ประการนั้น วันนี้ได้บรรยายถึงข้อที่ ๘ ก็ยังไม่จบ แต่เห็นสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้

    ;aa40​

    พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

    คำบรรยาย วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๗
    หน้า ๑๔๐-๑๔๖
     
  2. deelek

    deelek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    6,696
    ค่าพลัง:
    +16,254
    ขออนุโมทนา สาธุ ๆ กับการเผยแพร่ธรรมะ ด้วยนะครับ สาธุ ๆ
     

แชร์หน้านี้

Loading...