มีราคะ ตัณหา มากๆๆๆๆ พิจารณาอย่างไรจึงจะละได้

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย kengkenny, 13 พฤษภาคม 2009.

  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,189
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,104
    ค่าพลัง:
    +70,433
    พิจารณาอย่างเดียว แต่ขาดกำลัง เอาไม่อยู่

    ความคมของปัญญาระดับสุตมัญญปัญญา และจินตมัยปัญญา เอาไม่อยู่

    เพราะ กิเลสตัวนี้ เป็นของละเอียดกว่าตัวคิด ตัวนึก ที่สมอง

    มันสามารถคุมความคิดนึกของเราได้ และบงการอยู่เบื้องหลังของจิต ที่ละเอียด
    กว่าความคิดนึก

    จะเห็นได้ว่า อริยมรรคมีองค์แปดต้องมีสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ


    เอากำลังคือสัมมาสมาธิ ซึ่งเปรียบความหนา ความเหนียวแน่น ความแกร่ง ความหนักของมีด มาใช้ ให้หนักแน่นมัน่คง ไม่สั่นส่ายไหวหวั่นตามพิษร้ายของมันไห้ได้ก่อน
    และจะเกิดญาณจักษุที่เห็นที่มาของตัวมัน

    เอาปัญญาซึ่งเปรียบเหมือนคมมีด เป็นตัวตัดที่เหตุของมัน


    เมื่อเหตุดับ ผลก็จะดับ


    พระอนาคามีผล จึงขาดจากพิษแห่งกิเลสอันร้ายตัวนี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 19 ตุลาคม 2014
  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,189
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,104
    ค่าพลัง:
    +70,433
    จากโพสข้างบน

    นี่เป็นตัวอย่างวิธีแบบหลวงพ่อฤาษีฯ

    -------------------------------

    สรุปการปฏิบัติเพื่ออนาคามีผล
    สรุปการปฏิบัติเพื่ออนาคามีผล
    อันดับต่อไปนี้จะขอพูดสรุปในการปฏิบัติของพระอนาคามีมรรคเพื่อให้เข้าถึงอนาคามีผล
    สำหรับพระอนาคามีตัดสังโยชน์ 2 คือ กามฉันทะ กับ ปฏิฆะ
    กามฉันทะ เรา ใช้สมถะควบด้วยกายคตานุสสติกับอสุภกรรมฐาน ให้เกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในรูปร่างของคนและสัตว์และวัตถุประเภทใดที่จะมีความสะอาด สวยสดงดงาม มีการทรงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกายของคน สัตว์เต็มไปด้วยความสกปรก มีมูตรและการีต คือ มูตรและคูถเต็มไปหมด มีน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองเต็มไปหมด พิจารณากรรมฐานกองนี้ให้เกิดนิพพิทาญาณ คือ ใช้อารมณ์จิตให้เข้มแข็ง การใช้กำลังจิตให้เข้มแข็งน่ะ ไม่ใช่นั่งหลับตาปี๋ทรงฌาน การทำอย่างนั้นเป็นการฝึกจิตให้ทรงตัว อารมณ์จิตที่เข้มแข็งจริง ๆ ก็มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่ามีสภาพตามที่กล่าวมาแล้ว
    นอกจากนั้น ก็พิจารณาไปด้วยว่า รูปของคนและสัตว์ ที่เราเรียกว่า ขันธ์ 5 นอกจากว่ามันจะมีความสกปรกแล้ว มันยังไม่เที่ยง คือ มีความเสื่อมไปเป็นปกติ ในที่สุดมันก็ถึงการสลายตัว ถ้าเราเอาจิตไปยึดไปถือในกามารมณ์ หรือ กามฉันทะ พอใจในความสวยของรูป พอใจในความหอมของกลิ่น พอใจในความเพราะของเสียง พอใจในรสอร่อยของการสัมผัส อย่างนี้เป็นต้น ก็ชื่อว่าเราโง่เกินไป ไม่ได้พิจารณาหาความเป็นจริง รู้แล้วว่าทั้งหมดนี่ รูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัสก็ดี มีความสกปรกน่าสะอิดสะเอียน แล้วก็มีการทำลายตัวเองอยู่เป็นปกติไม่มีการทรงตัว
    สำหรับ ปฏิฆะ เราก็ใช้พรหมวิหาร 4 ให้เข้าถึงจุด คือ จับอยู่ในระดับอภัยทาน นี่เป็นเรื่องของสกิทาคามี
    สำหรับอนาคามี ไม่ทำให้ปฏิฆะเกิดขึ้นเลย คำว่าปฏิฆะนี่การกระทบกระทั่งอารมณ์ของจิต ถ้าจะกล่าวไปอีกที ยังไม่ถึงกับโกรธหรือโกรธจัด หรือไม่ถึงกับผูกโกรธเข้าไว้ สิ่งที่กระทบอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ไม่มีสำหรับเราซึ่งเป็นพระอนาคามี ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเรามีความรู้สึกอยู่ว่า ถ้อยคำของคนหรือจริยาของคนไม่ได้สร้างความดี หรือ สร้างความเลวให้เกิดขึ้นกับเรา เราจะดีหรือว่า เราจะเลวมันอยู่ที่การปฏิบัติของตัวเราโดยเฉพาะ
    ฉะนั้น ถ้อยคำของบุคคลต่าง ๆ ที่จะชมก็ดี สรรเสริญก็ดี ไม่สนใจ เราไม่เป็นทาสของการนินทาและสรรเสริญ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลก โดยมีความรู้สึกว่าคนที่สร้างความเร่าร้อนในทางวาจา หรือทางกาย มันเกิดขึ้นกับเรา เพราะคนประเภทนี้เขาไม่มีอิสระในตัว มีปกติในความเป็นทาส อย่างนี้เราจะต้องมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า คนพวกนี้เขาเป็นทาส เขาไม่ได้เป็นไท
    คำว่า ไท ก็หมายถึงอิสรภาพ ความเป็นอิสระของตัวเอง คำว่า ทาส ในที่นี้ก็เป็นทาสของกิเลส ความเศร้าหมองของจิตปล่อยให้จิตสกปรกไปด้วยอำนาจของอกุศลกรรม มีความเลวทรามหมุนไปด้วยอำนาจของตัณหา
    เมื่อจิตมีความเศร้าหมองด้วยอำนาจของอกุศลกรรม จิตดวงนั้นก็มีสภาวะเป็นจิตสกปรก หรือเป็นจิตที่เต็มไปด้วยความโง่ ปราศจากความผ่องใสในการรู้จริง เหมือนกับนัยน์ตาของเราที่ถูกเอาของดำเข้ามาผูก ยังไม่ทราบความเป็นจริงว่าอะไรดี อะไรชั่ว
    ฉะนั้น คนที่ตกเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน คือ ความยึดมั่น คิดว่าตัวจะไม่ตาย ตัวจะไม่แก่ คิดว่าความชั่วที่ทำไปมันเป็นผลของความดี เป็นผลของความสุข แต่เนื้อแท้ที่จริงมันเป็นผลทำให้เกิดความเร่าร้อนขึ้นภายหลัง คนประเภทนี้เป็นคนที่น่าสงสาร
    ในเมื่อเขาทำชั่วขึ้นมาแทนที่เราจะโกรธ กลับมีความเมตตาว่า น่าเสียดาย ที่คนประเภทนี้กว่าจะเกิดมาเป็นคนได้ก็แสนลำบาก พยายามตะเกียกตะกายขึ้นมาจากนรก จากนรกมาเป็นเปรต จากเปรตมาเป็นอสุรกาย จากอสุรกายมาเป็นสัตว์เดรัจฉาน จากสัตว์เดรัจฉานกว่าจะมาเป็นคนได้ก็ยากแสนจะยาก พอเกิดขึ้นมาเป็นคนได้แล้วกลับมาสร้างความชั่ว ไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมวาจา ไม่สำรวมจิต คิดไว้แต่ในด้านอิจฉาริษยาบุคคลอื่น หวังทำลายบุคคลอื่นให้เสื่อมจากความดี คนประเภทนี้เรารู้อยู่แล้วว่ามีความชั่วล้นจากใจ เข้ามาถึงกายและวาจา
    ถ้าจะเทียบกับเราซึ่งทรงจิตอยู่ในระดับของความดี ก็เป็นอันว่าคนประเภทนี้ถ้าจะเปรียบกันไป จะเปรียบกับสัตว์เดรัจฉานกับคนก็ยังเข้าไม่ได้ เพราะว่าสภาวะที่เขาทำ มันเป็นสภาวะของสัตว์นรก เราไม่ถือโทษโกรธเขา เราไม่คิดจะทำร้ายเขา แทนที่เราจะคิดยังงั้นเรากลับสงสาร ว่าเขาช่างโง่เง่าเต่าตุ่นอะไรอย่างนี้ มาเป็นคนได้นิดเดียวใช้เวลาไม่กี่ปี ก็ตั้งหน้าตั้งตาเดินทางลงไปสู่นรกใหม่ นี่ทำกำลังใจของเราให้เกิดความรู้สึก แทนที่จะโกรธกลับมีความเมตตาปราณี กลับสงสาร ถ้าโอกาสมีพอจะเกื้อกูลให้มีความสุขและเราจะไม่อิจฉาริษยาเขา ถ้าเขาจะได้ดีพลอยยินดีด้วย เราไม่ซ้ำเติม ในเมื่อเขาทำความชั่ว คือ เขาทำความชั่วแล้ว แทนที่จะยั่วให้เขาชั่วมากขึ้น เราเฉยเสีย เราไม่ยอมรับปล่อยมันไป นี่เรียกว่า พระอนาคามี
    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า เป็นผู้หนักอยู่ใน อธิจิตสิกขา หมายความว่า มีอารมณ์ทรงตัว อธิจิตสิกขานี่ก็ต้องอย่าลืม เพราะเราพูดกันเสมอ ก็ได้แก่มีสมาธิมั่นคง มีสมาธิมั่นคงนั่น ไม่ใช่ยามที่เราจะนั่งสมาธิหลับตา กำหนดรู้เฉพาะให้จิตมันทรงตัวอยู่อย่างนี้เป็นอารมณ์ ขณะใดที่มีความรู้สึกอยู่ เรารังเกียจในรูปคนและรูปสัตว์ รังเกียจในเสียงของคนและสัตว์ รังเกียจในกลิ่นต่าง ๆ รังเกียจในรส รังเกียจในสัมผัส จิตไม่มั่วสุมในกามารมณ์ เห็นว่ากามารมณ์เป็นปัจจัยของความสกปรกโสมม เป็นของน่าเกลียด กามารมณ์เป็นเครื่องถ่วงให้เราเกิดแก่เจ็บตายอยู่ตลอดเวลา เราจะมีแต่ความลำบากยากแค้น หาความสุขที่แน่นอนไม่ได้
    ใจคิดไว้อย่างนี้ไว้เป็นปกติ สิ่งที่เราจะพึงหวังนั่นก็คือ พระนิพพาน ตั้งใจไว้ว่าเราพยายามทำลายกามารมณ์ไม่ให้เกิดขึ้นกับจิตของเรา ก็เพื่อเป็นการสร้างความเบาให้เข้าถึงพระนิพพาน เราไม่ยอมรับคำนินทาและสรรเสริญใด ๆ ที่มีอารมณ์มากระทบจิต พระอนาคามีนี่ไม่ทำจิตให้โกรธ คำว่าโกรธไม่มี เป็นแต่เพียงว่า อารมณ์ใด ๆ เข้ามากระทบปั๊บให้มันร่วงหล่นไปทันที จิตไม่หวั่นไหวไปตามนั้น
    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำถ้อยคำขององค์สมเด็จพระภควันต์ที่ สุปิยปริพาชก กับ นันทมานพ ลุงกับหลานมีความเห็นเป็นข้าศึกซึ่งกันและกัน สำหรับท่านลุงนินทาพระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ตลอดคืนยันรุ่ง ไม่ได้หลับไม่ได้นอน ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเห็นว่าองค์สมเด็จพระชินวร และบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย มีความสงบเสงี่ยม น่ารัก น่าเคารพ แต่บรรดาลูกศิษย์ของตนเกลื่อนกล่นแสดงอาการรุกรี้รุกรน เล่นหัวกัน หยอกล้อกัน ไม่มีอาการสำรวม แทนที่เขาจะเห็นความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์ กลับมีอารมณ์อิจฉาริษยาพระพุทะเจ้าและพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย เป็นอันว่าเขาก็เลยนั่งนินทาพระพุทะเจ้าด้วย นั่งนินทาพระสงฆ์ด้วย ตลอดคืน สำหรับนันทมานพผู้เป็นหลานชายกลับมีคติเห็นตรงกันข้ามกับท่านลุง เห็นว่าพระพุทธเจ้าดี เห็นว่า พระสงฆ์ดี มีระเบียบเรียบร้อยดี กลับนั่งสรรเสริญองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดคืน ลุงนินทาพระรัตนตรัย หลานสรรเสริญพระรัตนตรัย อยู่ในที่เดียวกัน คนสองคนมีถ้อยคำเป็นข้าศึกซึ่งกันและกัน
    มาในตอนเช้าบรรดาพระสงฆ์ไปบิณฑบาตรทราบข่าว จึงเข้ามาเฝ้าองค์สมเด็จพระภควันต์ กราบทูลให้ทรงทราบ
    ตอนนี้ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา แนะนำบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายว่า "ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นินทา ปสังสา ท่านถือว่าการนินทาเป็นธรรมดาของโลก คนเกิดมาในโลกทั้งหมดจะพ้นการนินทาไม่มี ตามพระบาลีว่า นัตถิ โลเก อนินทิโต คนไม่ถูกนินทาเลยไม่มีในโลก
    ฉะนั้นพวกเธอทั้งหลายจงอย่าสนใจกับคำสรรเสริญและคำนินทา เราจะชั่วในเมื่อเราทำความดี มีชาวบ้านเขานินทา เราก็จะไม่ชั่วไปตามคำเขาว่า ถ้าเราเลว เขาจะสรรเสริญเราเพียงใดก็ดี เราก็จะไม่ดีไปตามคำสรรเสริญนั้น ขอเธอทั้งหลายจงอย่าสนใจกับคำนินทาและสรรเสริญ ถือว่าธรรมดาของสัตว์ที่เกิดมาในโลก ต้องมีสภาวะกระทบกระทั่งแบบนี้ทั้งหมด
    แล้วองค์สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงแนะนำให้บรรดาภิกษุทั้งหลายทรงอารมณ์จิต ไม่ยอมรับถ้อยคำทั้งสองประการ ทั้งคำนินทาและสรรเสริญ คำว่า ไม่ยอมรับ ก็คือไม่สนใจ นินทาก็ช่าง สรรเสริญก็ช่าง ตั้งหน้าตั้งตาทำความดีเข้าไว้ นี่เป็นอันว่าเราเพ่งในด้านเห็นคนอื่น เห็นว่าเขาเลว
    รวมความว่าเราจะไม่ยอมเอาทองเข้าไปเสียดสีกับอุจจาระ หรือว่าโบราณบอกว่า ไม่ยอมเอาพิมเสนไปแลกเกลือ เอาเนื้อไปแลกหนัง พิมเสนค่ามันสูงกว่าเกลือ เนื้อค่ามันสูงกว่าหนัง
    ทีนี้เมื่อเราทรงอารมณ์ในด้านความดี เห็นคนอื่นเขาทำความชั่ว เราก็ปล่อยให้เขาชั่วไปแต่ฝ่ายเดียว เราไม่ยอมชั่วด้วย ในขณะที่เราไม่ยอมชั่วด้วย จิตเราก็ไม่สนใจในความชั่วของเขา เขาจะเต้นแร้งเต้นกาเป็นประการใด ก็คิดว่าเขาจะไปนรกก็ช่างเขาเถอะ เราไม่ไปกับเขา ใจเราสาบ นี่เพราะว่าเรามีอารมณ์จิตสบายแบบนี้ มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าจิตของเราเป็นสุข
    ความสวยสดงดงามของรูปโฉมโนมพรรณต่าง ๆ เห็นปั๊บ ความรู้สึกเกิดขึ้นทันที ว่าสภาพของรูปนี้มันเป็นอสุภสัญญา ก็หมายความว่ามันเป็นของสกปรก ต้องมีสติสัมปชัญญะควบคุมตามปกติ และก็ตัดอารมณ์คำว่าสวยสดงดงามออกได้จริง ๆ โดยพิจารณาเห็นว่าร่างกายของคนและสัตว์ แม้แต่ของเราก็ตาม มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา มันไม่ได้เป็นทรัพย์สินของเรา มันไม่ใช่ของเราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีอำนาจที่ควบคุมมัน
    ร่างกายของคนทุกคนต้องการความสะอาด พยายามชำระล้างร่างกายนอกคือผิว แต่แล้วมันก็สกปรกไปด้วยเหงื่อไคล ต้องชำระล้างกันตลอดวัน โดยเฉพาะเหงื่อไคลที่มันสกปรกนี่มันมาจากไหน มันมาจากภายในของร่างกาย เพราะในร่างกายเต็มไปด้วยส่วนสกปรกทั้งหมด หาอะไรสะอาดมิได้เลย นี่ทำความรู้สึกให้เข้าใจ ตามความเป็นจริง นอกจากสกปรกแล้วมันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น และมีความแปรปรวนเสื่อมตัวไปท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด
    ในเมื่อมันพัง เรายึดถือร่างกายของเราว่าเป็นเราเป็นของเราก็ดี ไปพยายามรักร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี ในที่สุดร่างกายทั้งสองประเภทนี้ไม่สามารถจะควบคุมไว้ได้ มันสลายตัว ในที่สุดก็ไม่ใช่สมบัติของเราสักอย่างหนึ่ง เป็นอันว่ามันเป็นสมบัติของโลก จิตเป็นผู้อาศัยร่างกายชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นเราจะมีความสุขหรือความทุกข์ก็ได้ อาศัยการชำระจิต ถ้าจิตของเราสกปรกยังมีความหลงใหลใฝ่ฝันในรูปโฉมโนมพรรณต่าง ๆ เป็นต้นก็ดี จิตของเรายังรับทราบ ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งทางจิต แล้วในด้านความดี คือ ความสรรเสริญ ในด้านความชั่วคือ การนินทา ก็เชื่อว่าจิตของเราเลวมากเกินไป จิตใจของเราน้อมไปในอบายภูมิ นี่เราต้องพยายามรู้ตัวอยู่เสมอ พยายามประณามจิตของเราไว้ ดูจิตของเราอย่าไปดูจิตของคนอื่น คนทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ พระทุกองค์ เณรทุกองค์ เราพูดกันในตอนเย็นทุกวัน ว่ามีพรหมวิหาร 4 เว้นอคติ 4 ทรงอิทธิบาท 4 นี่พูดกันอย่างนี้ตลอดวัน มีทุกวัน แล้วยังมีอารมณ์เลว ก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่าท่านทั้งหลายจะต้องกลับไปสู่นรกใหม่
    ฉะนั้น จึงมีความรู้สึกใจ ประณามใจไว้เป็นปกติ อย่าทนงตนว่าเป็นคนดี ถ้าเรารู้สึกว่าเราดีเมื่อไหร่ นั่นจงทราบว่าเราเลวมากเกินไปสำหรับคนอื่นที่เขาจะยอมรับนับถือว่าเราเป็นคนดีอยู่บ้าง คำว่าดีอยู่บ้าง ไม่มีสำหรับคนที่รู้สึกว่าตัวดี ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะคำว่า รู้สึกว่าตัวดี น่ะมันเป็นมานะกิเลส แล้วมันก็แบกความชั่วเข้าไว้ทั้งหมด อมความชั่วเข้าไว้ทั้งหมด ประคับประคองความชั่วเข้าไว้ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเราไม่มองตัวเลว เพราะว่า รัดรึงเอาความเลวเข้าไว้เต็มใจ เป็นอารมณ์ของใจ
    ในเมื่อมีความรู้สึกตัวว่าดี แต่ไม่มองความชั่วของตัว ก็เที่ยวเสียดสีชาวบ้าน แคะไค้ชาวบ้าน ทำลายความสุขของชาวบ้านและอาการอย่างนี้จงทราบว่านี่กิเลสมันล้นใจ ก็จงภาวนาไว้ว่า นรกเป็นที่อยู่ของเรา และอีกนานแสนกัปจนกว่าจะกลับมาเกิดเป็นคนได้ ถ้าเรามีความพอใจก็จงสร้างความเลวอย่างนั้นไว้เป็นปกติ สังคมแห่งคนดีเขาไม่ยอมรับ สักวันหนึ่งข้างหน้าเขาจะไล่เราออกไปจากสังคมนั้น เพราะไม่มีใครเขาปรารถนา นอกจากเขาจะไล่เราไป ก่อนที่เขาจะไล่เราก็มีแต่ความร้อนใจ ในเมื่อบุคคลใดก็ตามเขาพูดถึงความเลวขึ้นมาเมื่อไรเราก็สะเทือนใจเมื่อนั้น คิดว่าเขาด่าเรา ความจริงไม่มีใครเขาด่า เขาประณามว่าความเลว มันเป็นของไม่ดี เรามีสภาพเหมือนวัวสันหลังหวะ พอเขาพูดเข้ามากระทบนิดก็เข้าใจว่าเขาด่าเรา นี่อารมณ์อย่างนี้มันเป็นความเลวของเรา ความเลวนี้จะนำเราลงนรก ต้องเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน กว่าจะมาเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะ ประกอบด้วยสัมมาอาชีวะ สัมมาทิฏฐิเป็นของยาก น่าเสียดายกาลเวลาที่เราพยายามทำความดีเข้ามาเกิดเป็นคน นี่จงประณามตนไว้เป็นปกติ อย่าชมตัวเองและก็จงรู้ตัวเองรู้ตัวไว้เสมอ ว่าเราเลวอยู่เสมอ เราจะระมัดระวังความเลวไม่ให้เกิดขึ้น จะทำลายมันเสีย จะทรงไว้แต่ความดี
    จุดแห่งพระอนาคามีก็คุมจิตไว้ว่าเราจะไม่เห็นรูปใด ๆ เป็นของสวย ไม่มีความรู้สึกว่าเสียงใด ๆ มีความไพเราะจับใจ จนลืมไม่ลง จะไม่ติดใจอยู่ในกลิ่นใด ๆ หรือว่าสภาพอันสลายตัวง่าย จะไม่หลงใหลใฝ่ฝันในรส เพราะรสไม่มีความหมาย ผ่านลิ้นแล้วก็หายไป จะไม่มีความสัมผัสใด ๆ ในระหว่าเพศ เพราะร่างกายของแต่ละคนสกปรก เราไม่ต้องการ เพราะร่างกายทุกร่างกายของแต่ละคนสกปรก เราไม่ต้องการ เพราะร่างกายทุกร่างกาย ร่างกายเราก็ดี มีสภาพเหมือนถุงใส่อุจจาระ แล้วถุงมันก็บางแสนบาง กลิ่นไอความซึบซาบของอุจจาระมันซึมออกมานอกถุง แสดงว่าเป็นสิ่งน่ารังเกียจ ตัดอารมณ์นี้เสียให้ได้ด้วยอำนาจสมถะ คือ กายคตานุสสติกรรมฐาน และก็ตัดอารมณ์มีความต้องการเสียด้วยสักกายทิฏฐิ เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา มันเป็นเรือนอาศัยของจิตชั่วคราวเท่านั้น ชำระจิตให้ผ่องใส
    ถ้าจิตใจของเรารักษาอารมณ์อย่างนี้ได้เป็นเอกกัคคตารมณ์โดยไม่ต้องระมัดระวัง และรักษาอารมณ์ความโกรธความพยาบาท ความไม่พอใจในถ้อยคำใดที่เกิดขึ้นกับเรา โดยจิตมีความสุข รับฟังคำสรรเสริญก็ไม่สนใจ รับฟังคำนินทาว่าร้ายเสียดสีก็ไม่สนใจ อารมณ์สบาย มีความสุข มีศีลบริสุทธิ์ มีความเคารพในพระรัตนตรัย มีกำลังใจไม่ติดอยู่ในความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเป็นอารมณ์หยาบ มีกำลังใจไม่สนใจกับรูปโฉมโนมพรรณ ไม่มีความพอใจในระหว่างเพศ จิตใจเราไม่หาเหตุในการกระทบจิต คือ ไม่มีความหวั่นไหว เป็นสังขารุเปกขาญาณ คือ มีความวางเฉยเป็นปกติ อย่างนี้ต้องถือว่าเป็นปกติ ไม่ใช่ขณะใดขณะหนึ่งมันเกิดขึ้น เมื่อทรงอารมณ์อย่างนี้ก็ได้ชื่อว่า เราเป็น พระอนาคามีผล เป็นพระอริยบุคคลที่ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ตายจากคนเป็นเทวดาหรือพรหมแล้วก็พระนิพพานบนนั้น
    เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ธรรมใดที่พึงกล่าวต่อไปก็หมดเวลาเสียแล้ว ต่อจากนี้ไปขอบรรดาท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
     
  3. Jan2014

    Jan2014 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 มกราคม 2014
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +143
    เอาน้ำมัน ใส่ตะเกียง อย่างงัยตะเกียงมันก็ไม่ดับ
    ท่านต้องเห็นโทษที่ตะเกียงมันไม่ดับ
    แล้วก็เห็นโทษ ของความพอใจ
    ที่เผลอไล่หาเอาน้ำมันมาเติมใส่ตะเกียงจนทำให้ตะเกียงมันไม่ดับ

    พอเห็นโทษของตะเกียงที่มันไม่ดับแล้ว
    เห็นโทษของการพอใจ หรือเผลอไปพอใจ ที่ได้จากการเอาน้ำมันไปใส่ให้ตะเกียง จนตะเกียงมันไม่ดับแล้ว
    เมื่อใด ที่ใจมันจะเผลอไปเอาน้ำมันมาเติมให้ตะเกียงอีก หรือติดใจ อยากจะลิ้มลอง อยากจะได้ความสุขของแสงไฟจากตะเกียงอย่างที่เคยได้เคยสุขนั้นอีก
    ก็ให้ท่านเห็นไปว่า แท้จริงแล้ว
    ความอยากได้สุข อยากลิ้มลองสุข อยากสัมผัสสุข ที่เกิดจากแสงตะเกียงนั้น
    เป็นเหตุที่ทำให้ทุกข์นั่นเอง
    เมื่อได้สัมผัสแล้ว ลิ้มลองแล้ว มันก็สุข
    แต่เพราะมันมีความเพลินในสุข ติดในสุข
    แล้วสภาพของสุข มันก็ไม่ได้จีรังยั่งยืนถาวร
    มันเกิดขึ้น แล้วมันก็ดับไป
    มันมีอยู่ แล้วมันก็หายไป
    ก็เมื่อใจมันพอใจในสุขเสียแล้ว ติดเพลิดเพลินใจในสุขเสียแล้ว
    เวลาไม่มีสุขเหมือนที่เคยได้เคยมี มันเลยทุกข์
    แล้วเมื่อเราเห็นเหตุแห่งทุกข์อย่างนี้แล้ว
    เรื่องอะไร ที่เรายังจะใจอ่อน ผ่อนปรน ให้กับเหตุแห่งทุกข์นี้อีกเล่า
    รู้อย่างนี้แล้ว เห็นอย่างนี้แล้ว
    มันก็ไม่น่าที่จะเอาแล้ว ก็เพราะมันเป็นภัยอย่างนี้
    ภัยจากความยึดมั่นในสุข จนเป็นเหตุแห่งทุกข์อย่างนี้

    ขอให้ท่านเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป สาธุ สาธุ สาธุ
     
  4. ABT

    ABT เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    232
    ค่าพลัง:
    +1,524
    ไฟไหม้ ไฟร้อน ไฟนรกโลกัน(เขียนไม่ถูก) นะยังดับง่ายกว่า ไฟราคะอีก ต้องดับที่ละตัวเพื่อสร้างกำลัง ดับโมหะ(ความไม่รู้ก่อน) สร้างกำลังสมาธิ กำลังปัญญาให้แกร่ง แล้วจึงดับโทสะ (ความงุ่นง่านร้อนรนไม่พอใจ) สร้างกำลังสมาธิ สร้างกำลังปัญญา หาต้นเหตุแห่งราคะ (ความอยาก) ราคะไม่ใช่แค่เรื่องกามหรอกนะครับ ราคะ คือความอยากทั้งมวลครับ มีดที่ว่าคมที่สุด ขวานที่ว่าคมที่สุด หรืออาวุธวิเศษใด ๆ ในสามโลกที่ว่าคมที่สุด ตัดสิ่งใด ๆ ก็ได้ในสามโลก ก็ยังติดราคะ ไม่ขาดครับ เมื่อกำลังสมาธิถึงจุด กำลังปัญญาถึงจุด พิจารณาแล้ว จะเหมือนดังของมีคมที่พร้อมจะตัดทุกสิ่งทุกอย่าง เพียงพิจารณาตัดขาดปรับสะบั้นทันที่ ไม่เหลือเยื่อใย หมดราบคาบครับ ตอนนี้เรายังมากด้วยโมหะ โทสะ ราคะ ตัดอย่างไรก็ไม่หมดเพียงแค่ทุเลาเบาบางลงครับ ต้องขยันอีกมากครับ ขออนุโมทนาครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...