>>> อวดรู้ (รู้แล้วได้อะไร) <<<

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย nouk, 19 กรกฎาคม 2012.

  1. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ๑๑) อจินไตยของพระปัจเจกพุทธเจ้า :

    ... องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวในคัมภีร์องคุตรนิกาย ว่า อจินไตย ๔ อย่างนี้ไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความบ้า ได้รับความลำบากเปล่า อจินไตย ๔ อย่างนี้คือ

    ๑. พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
    ๒. ฌานวิสัยแห่งผู้ได้ฌาน (ได้แก่ฌานวิสัยในอภิญญา)
    ๓. วิบากแห่งกรรม
    ๔. โลกจินตา (ความคิดในเรื่องของโลก เช่น ใครสร้างแผ่นดิน ใครสร้างมหาสมุทร จักรวาลเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นต้น)

    ... เรื่องจากคาถาธรรมบทต่อไปนี้ ก็เป็นอจินไตยของพระปัจเจกพุทธเจ้า :

    ท่านสุขสามเณรเมื่อครั้งเกิดเป็นนายภัตตภติกะ ได้ถวายทานโดยไม่เหลือไว้เลย แด่พระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ครั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วอธิษฐานว่า :

    " ขอให้มหาชนนี้ จงยืนเห็นเราจนกระทั่งถึงภูเขาคันธมาทน์เถิด " แล้วได้เหาะไปสู่ภูเขาคันธมาทน์

    เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไปภูเขาคันธมาทน์แล้ว ได้แบ่งบิณฑบาตนั้นถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ องค์ ได้รับเอาภัตรอย่างเพียงพอแก่ตนแล้ว

    ท่านกล่าวว่า ใครๆ ไม่พึงคิดว่า บิณฑบาตเล็กน้อยจะพอเพียงได้อย่างไร นี่เป็นปัจเจกพุทธวิสัย เป็นอจินไตย
     
  2. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ๑๒) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณของพระปัจเจกพุทธเจ้า :

    ... บุคคล ๖ จำพวกที่สามารถระลึกถึงบุพเพสันนิวาสได้ คือ :

    ๑. พวกเดียรถีย์ ระลึกได้เพียง ๔๐ กัป เพราะปัญญาน้อย
    ๒. พระสาวกปกติ ระลึกได้ ๑,๐๐๐ กัป เพราะมีปัญญามาก
    ๓. พระมหาสาวก ๘๐ องค์ ระลึกได้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป
    ๔. พระอัครสาวกทั้ง ๒ องค์ ระลึกได้ ๑ อสงไขย กำไรแสนกัป
    ๕. พระปัจเจกพุทธเจ้า ระลึกได้ถึง ๒ อสงไขย กำไรแสนกัป เพราะท่านมีอภินิหารประมาณเพียงนี้
    ๖. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกได้ไม่มีกำหนด

    ... ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านได้อุปมาปุพเพนิวาสานุสติญาณไว้ว่า การเห็นชาติในอดีตต่างกันดังนี้ :

    ๑. ของเดียรถีย์ ย่อมปรากฏเช่นกับแสงหิ่งห้อย , การระลึกชาติ ดุจคนตาบอดเดินไปด้วยไม้เท้า
    ๒. ของพระสาวกปกติ ย่อมปรากฏเช่นกับแสงประทีป , การระลึกชาติ ดุจเดินไปตามสะพานด้วยไม้เท้า
    ๓. ของพระมหาสาวก ย่อมปรากฏเช่นแสงคบเพลิง , การระลึกชาติ ดุจเดินไปตามสะพานด้วยลำแข้ง
    ๔. ของอัครสาวก ย่อมปรากฏเช่นกับรัศมีดาวประกายพรึก , การระชาติ ดุจเดินไปตามสะพานเกวียน
    ๕. ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ย่อมปรากฏเช่นรัศมีพระจันทร์ , การระลึกชาติ ดุจเดินไปตามทางด้วยกำลังลำแข้ง
    ๖. ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมปรากฏเช่นกับพระอาทิตย์ในสรทกาล ประดับด้วยรัศมีพันดวง , การระลึกชาติ ดุจเดินไปตามทางเกวียนใหญ่
     
  3. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ๑๓) ท่าสรงน้ำ:

    ... เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าจะล้างหน้าหรือสรงน้ำ ท่านจะไปกระทำกิจนั้นที่ สระอโนดาต สระอโนดาตนั้นมีแผ่นศิลาเรียบประดับด้วยรัตนะอันน่ารื่นรมย์ใจ ไม่มีปลาและเต่า น้ำใสไร้มลทินเหมือนแก้วผลึก บังเกิดแต่กรรมทีเดียว เป็นท่าสำหรับอาบของเหล่าสัตว์ที่ใช้น้ำนั้น จัดแจงไว้อย่างดี ซึ่งแยกไว้เป็นส่วนๆ สำหรับพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระขีณาสพและฤาษีที่มีฤทธิ์ สรงสนาน ท่าหนึ่งสำหรับพวกเทวดาและยักษ์เป็นต้น

    ๑๔) สถานที่ปรินิพพาน :

    ... ในอรรถกถาปัจเจกพุทธาปทาน ท่าแสดงไว้ว่าภูเขามหาปปาตะในหิมวันตประเทศ เป็นสถานที่ปรินิพพานของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่ในที่อื่นก็แสดงไว้ท่านก็ปรินิพพานในที่อื่นๆ ด้วย เช่น ในป่าชัฏ, ที่เดินจงกรมในพระอุทยานที่พระราชาจัดถวาย เป็นต้น

    อิริยาบถของพระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อปรินืพพาน มีอิริยาบถต่างๆ กันบางพระองค์ก็นั่ง ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์บุตรของนางปทุมวดีได้ยืนพิงกระดานสำหรับยึดหน่วงในที่จงกรมปรินิพพาน
     
  4. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    พุทธประวัติพระปัจเจกพุทธเจ้า : ในคัมภีร์ชาดก

    ... ในคำภีร์ชาดก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าของเรา ครั้งเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติต่างๆ บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศอยู่ในจำนวนชาดก ๕๕๐ เรื่องที่ปรากฏในคัมภีร์ชาดกนั้น มีอยู่หลายเรื่องด้วยกันที่พระโพธิสัตว์นั้น ได้มีความเกี่ยวข้องกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ในฐานะที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงสงเคราะห์พระโพธิสัตว์บ้าง หรือ พระโพธิสัตว์ทรงสงเคราะห์พระปัจเจกโพธิสัตว์ก็มี

    ๑) ทรีมุขชาดก (พระปัจเจกพุทธเจ้าทรีมุข) :

    ... พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ พระเชตวันวิหาร ทรงปรารภมหาภิเนษกรมณ์ จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นวาส ปงฺโกว กาม ด้งนี้

    ... ได้ยินว่า พระราชาทรงพระนามว่า มคธราช ครองราชสมบัติที่อยู่ในกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในพระครรภ์ของอัครมเหสีของพระองค์ พระญาติทั้งหลายได้ถวายนามพระองค์ว่า " พรหมทัตกุมาร "

    ... ในวันที่พระราชกุมารประสูตรนั่นเอง ฝ่ายบุตรของปุโรหิตก็เกิด ใบหน้าของเด็กนั้นสวยงามมาก เพราะเหตุนั้นญาติของเขาจึงได้ตั้งชื่อของเด็กนั้นว่า " ทรีมุขกุมาร "

    ... กุมารทั้ง ๒ นั้น เจริญเติบโตแล้ว ในราชตระกูลนั่นเอง ทั้งคู่นั้นเป็นสหายรักของกัน เวลามีชนมายุ ๑๖ ชันษา ได้ไปยังเมืองตักกศิลาเรียนศีลปะทุกอย่างแล้ว พากันเที่ยวไปในตามนิคม เป็นต้น ด้วยความตั้งใจว่า จักพากันศึกษาลัทธิทุกลัทธิ และจักรู้จารึตของท้องถิ่นด้วย

    ... ถึงเมืองพาราณสี พักอยู่ที่ศาลเจ้า รุ่งเช้าพากันเข้าไปเมืองพาราณสีเพื่อภิกษา คนในตระกูลหนึ่งในเมืองพาราณสีนั้น ตั้งใจว่าพวกเราจักเลี้ยงพราหมณ์ แล้วถวายเครื่องบูชา จึงหุงข้าวปายาสแล้วปูอาสนะไว้

    ... คนทั้งหลายเห็นคนทั้งสองคนนั้นกำลังเที่ยวภิกขาจาร เข้าใจว่าพราหมณ์มาแล้ว จึงให้เข้าไปในบ้าน ปูผ้าขาวไว้สำหรับพระมหาสัตว์ ปูผ้ากัมพลแดงไว้สำหรับทรีกุมาร

    ... ทรีมุขกุมารเห็นนิมิตนั้นแล้ว รู้ชัดว่า วันนี้สหายของเราจักเป็นพระเจ้าพาราณสี ส่วนเราจักเป็นเสนาบดี

    ... ทั้ง ๒ บริโภค ณ ที่นั้น แล้วรับเอาเครื่องบูชากล่าวมงคลแล้วออกไป ได้พากันไปถึงพระราชอุทยานนั้น ในจำนวนคนทั้ง ๒ นั้น พระมหาสัตว์บรรทมแล้วบนแผ่นศิลามลคล ส่วนทรีกุมารนั่งนวดพระบาทของพระมหาสัตว์นั้น วันนั้นเป็นวันที่ ๗ แห่งการสวรรคตของพระเจ้าพาราณสี ปุโรหิตถวายพระเพลิงแล้ว ได้เสี่ยงบุษยราชรถในวันที่ ๗ เพราะราชสมบัติไม่มีรัชทายาทกิจเกี่ยวกับบุษยราชรถ จักมีแจ้งชัดในมหาชนกชาดก

    ... บุษยรถออกจากพระนครไป มีจตุรงคเสนาห้อมล้อมพร้อมด้วยดุริยางค์หลายร้อย ประโคมขัน ถึงประตูราชอุทยาน
     
  5. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ... ครั้งนั้น ทรีมุขกุมารได้ยินเสียงดุริยางค์ แล้วคิดว่าบุษยราชรถมาแล้ว เพื่อสหายของเราวันนี้ สหายของเราจักเป็นพระราชา แล้วประทานตำแหน่งเสนาบดีแก่เรา เราจักประโยชน์อะไรด้วยการครองเรือน เราจักออกบวช ดังนี้แล้ว จึงไม่ทูลเชิญพระโพธิสัตว์เลยไปที่สมควรข้างหนึ่ง แล้วยืนอยู่ในที่กำบัง

    ... ปุโรหิตหยุดรถที่ประตูพระราชอุทยาน แล้วเข้าไปยังพระราชอุทยาน เห็นพระโพธิสัตว์บรรทมบนแผ่นศิลามงคล ตรวจลักษณะที่เท้าลายพระบาท แล้วทราบว่า ป็นคนมีบุญสามารถครองราชสมบัติสำหรับมหาทวีแท้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒ พันเป็นบริวารได้ แต่คนเช่นนี้ คงเป็นคนมีปัญญาเครื่องทรงจำ จึงได้ประโคมดุริยางค์ทั้งหมดขึ้น

    ... พระโพธิสัตว์บรรทมตื่นแล้ว ทรงนำผ้าสาฏกออกจากพระพักตร์ ทรงทอดพระเนตรเห็นมหาชน แล้วทรงเอาผ้าสาฏกปิดพระพักตร์อีก บรรทมหน่อยหนึ่ง ระงับความกระวนกระวาย แล้วเสด็จลุกขึ้นประทับนั่งขัดสมาธิบนแผ่นศิลา

    ... ปุโรหิตคุกเข่าลงแล้วทูลว่า ข้าแต่สมมุติเทพ ราชสมบัตินี้กำลังตกถึงพระองค์ : พ. " ราชสมบัติไม่มีรัชทายาทหรือ? " ... ปุ. " ไม่มีพระพุทธเจ้าข้า " ...พ. " ถ้าอย่างนั้น ก็ดีแล้ว จึงทรงรับไว้ "

    ... ประชาชนเหล่านั้น ได้พากันทำการอภิเษกพระโพธิสัตว์นั้นที่พระราชอุทธยานนั่นเอง พระองค์มิได้ทรงรำลึกถึง ทรีมุขกุมาร เพราะมียศมาก พระองค์เสด็จขึ้นราชรถ มีบริวานห้อมล้อมเข้าสู่พระนคร ทรงทำการปทักษิณ แล้วประทับยืนที่ประตูพระราชนิเวศน์นั่นเอง ทรงพิจารณาถึงฐานันดรของอำมาตย์ทั้งหลายแล้วเสด็จสู่ปราสาท

    ... ขณะนั้น ทรีมุขกุมาร คิดว่า บัดนี้ พระราชอุทยานว่างแล้ว จึงมานั่งที่ศิลามงคล ลำดับนั้น ใบไม้เหลือง ได้ร่วงลงมาข้างหน้าของเขา เขาเริ่มตั้งความสิ้น และความเสื่อมไป ในใบไม้เหลืองนั้นนั่นเอง พิจารณาไตรลักษณ์ให้แผ่นดินกึกก้องไป พร้อมกับให้ พระปัจเจกโพธิญาณ เกิดขึ้น

    ... ในขณะนั้นนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ของท่านก็อันตรธานไป บาตรจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ ก็ล่องลอยมาจากอากาศ สวมที่สรีระของท่าน ทันใดนั่นเอง ท่านก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งบริขาร ๘ สมบูรณ์ด้วยอริยบถ เป็นเหมือนพระเถระผู้มีพรรษาร้อยพรรษา เหาะไปในอากาศด้วยฤทธิ์ ได้ไปยังเงื้อม นันทมูลกะ ในท้องถิ่นหิมพานต์

    ... ฝ่ายพระโพะสัตว์ก็เสวยราชสมบัติโดยธรรม แต่เพราะความมียศมาก จึงทรงมัวเมาด้วยยศ ไม่ทรงรำลึกถึง ทรีกุมาร เป็นเวลาถึง ๔๐ ปี แต่เมื่อเวลาเลย ๔๐ ปี ผ่านไปแล้ว พระองค์ก์ทรงรำลึกถึงเขา แล้วตรัสว่า...

    " ฉันมีสหายอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า ทรีมุข เขาอยู่ที่ไหนหนอ? "

    ... ดังนี้แล้ว มีพระราชประสงค์จะพบพระสหายนั้น : จำเดิมแต่นั้นมา พระองค์ก็ตรัสถามหา ภายในเมืองบ้าง ท่ามกลางบริษัทบ้างว่า ทรีมุขกุมาร สหายของฉันอยู่ที่ไหน? ผู้ใดบอกที่อยู่ของเขาแก่ฉัน ฉันจะให้ยศสูงแก่ผู้นั้น เมื่อพระองค์ทรงระลึกถึงเขาอยู่บ่อยๆ อย่างนี้ นั่นแหละ ปีอื่นๆ ได้ผ่านไปถึง ๑๐ ปี โดยเวลาผ่านไปถึง ๕๐ ปี

    ... แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทรีมุข ทรงรำลึกถึงอยู่ก็ทรงทราบว่า สหายรำลึกถึงเราอยู่แล แล้วทรงดำริว่า บัดนี้พระโพธิสัตว์นั้น ทรงพระชรา จำเริญด้วยพระโอรสพระธิดา เราจักไปแสดงธรรมถวายให้พระองค์ทรงผนวช ดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จมาทางอากาศด้วยฤทธิ์ ลงที่พระราชอุทยาน นั่งบนแผ่นศิลาเหมือน พระพุทธรูปทองคำ ก็ปานกัน
     
  6. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    เจ้าหน้าที่รักษาพระราชอุทยาน เห็นท่านแล้ว เข้าไปเฝ้าทูลถามว่า " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านมาจากไหน? " พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสตอบว่า " มาจากเงื้อมเขา นันทมูลกะ " ...

    จ. " ท่านเป็นใคร "
    พ. " อาตมาภาพ คือ พระปัจเจกพุทธเจ้า " ชื่อว่า ทรีมุข โยม "
    จ. " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงรู้จักในหลวงของข้าพระองค์ทั้งหลายไหม? "
    พ. " รู้จักโยม เวลาเป็นคฤหัสถ์ พระองค์ทรงเป็นสหายของอาตมา "
    จ. " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในหลวงมีพระราชประสงค์จะพบพระองค์ ข้าพระองค์จักูลบอกว่า พระองค์เสด็จมา "
    พ. " เชิญโยม ไปทูลบอกเถิด "
    จ. รับพระบัญชาแล้ว รีบด่วนไปทีเดีว ทูลในหลวงถึงความที่พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่แผ่นศิลาแล้ว

    ... ในหลวงตรัสว่า " ได้ทราบว่า พระสหายของฉันมาแล้ว ฉันจักไปเยี่ยมท่าน " แล้วเสด็จขึ้นรถไปยังพระราชอุทยาน พร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนมาก ไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้า ทำการปฏิสันถาร แล้วนั่ง ณ ที่สมควร

    ... ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงทำปฏิสันถารกะพระองค์พลางทูลคำมีอาทิว่า :

    " ขอถวายพระพร พระเจ้าพรหมทัต พระองค์ทรงเสวยราชสมบัติโดยธรรมอยู่หรือ? ไม่ทรงลุอำนาจอคติหรือ? ไม่ทรงเบียดเบียนประชาสัตว์ เพื่อต้องการทรัพย์หรือ? ทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้นอยู่หรือ? " ดังนี้แล้ว ทูลว่า :

    " ขอถวายพระพร พระเจ้าพรหมทัต พระองค์ทรงชราภาพแล้ว บัดนี้ เป็นสมัยของพระองค์ที่จะทรงละกาม เสด็จออกผนวชแล้ว "

    ... เมื่อทรงแสดงธรรมถวายพระองค์จึงได้ทูลคาถาที่ ๑ ว่า :-

    " กามทั้งหลายเหมือนหล่ม กามทั้งหลายเหมือนพุ ก็อาตมาภาพได้ทูลภัยนี้ไว้ว่า มีมูล ๓ ธุลีและควัน อาตมาก็ได้ถวายพระพรแล้ว ข้าแต่พระเจ้าพรหมทัตมหาบพิตร ขอพระองค์จงทรงละสิ่งเหล่านั้น เสด็จออกผนวชเถิด "

    ... พระราชา ครั้นทรงสดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะตรัสบอกความทีพระองค์ ทรงติดอยู่ ด้วยกิเลสทั้งหลาย จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า:-

    " ดูก่อนพราหณ์ โยมทั้งกำหนัด ทั้งยินดี ... ทั้งสยบอยู่ในกามทั้งหลาย ต้องการมีชีวิตอยู่ ... ไม่อาจละกามนั้นที่มีรูปสะพรึงกลัวได้ ... แต่โยมจักทำบุญไม่ใช่น้อย "
     
  7. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ... เมื่อพระมหาสัตว์นั้นนั่นเอง ตรัสว่า โยมไม่อาจบวชได้ พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ก็ไม่ทรงทอดธุระ เมื่อจะถวายพระโอวาทให้ยิ่งขึ้น จึงตรัสคาถา ๒ คาถาไว้ว่า :-

    " ผู้ที่ถูกผู้มุ่งประโยชน์ อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล กล่าวสอนอยู่ ... แต่ไม่ทำตามคำสอนเป็นคนโง่ สำคัญว่าสิ่งนี้เท่านั้น ประเสริฐกว่าสิ่งอื่น...จะเข้าถึงครรภ์สัตว์แล้ว เล่าๆ ... จะเข้าถึงนรกชนิดร้ายกาจ...เหล่าสัตว์ที่ยังไม่ปราศจากราคะในกามทั้งหลาย ติดแล้วในกายของตนละยังไม่ได้...ซึ่งสิ่งที่ที่ไม่สะอาดของผู้สะอาดทั้งหลาย ที่เต็มไปด้วยมูตร และคูถ "

    ... พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ครั้นทรงแสดงถึงทุกข์ ทั้งที่มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูลฐาน ทั้งที่มีการบริหารเป็นมูลฐานแล้ว บัดนี้เพื่อจะทรงแสดงถึงทุกข์ที่มีการออกจากครรภ์เป็นมูลฐาน จึงคตรัสคาถาหนึ่งกับถึงคาถาไว้ว่า :-

    " สัตว์ทั้งหลายเลอะอุจจาระ เปื้อนเลือดออกมา...เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายถูกต้อง สิ่งใดๆ ด้วยกายอยู่ในขณะใด...ขณะนั้นเองก็สัมผัสผ่องทุกข์ล้วนๆ ที่ไม่มีความแช่มชื่นเลย...อาตมาภาพเห็นแล้ว จึงทูลถวายพระพร ไม่ได้ฟังจากผู้อื่นทูลถวายพระพร...แตอาตมาภาพระลึกถึงขันธ์ ที่เคยอยู่อาศัยมาเป็นจำนวนมาก "

    ... บัดนี้ พระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ยิ่ง ครั้นตรัสว่าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ทรงสงเคราะห์พระราชาด้วย พระคาถาสุภาษิตอย่างนี้แล้ว ได้ตรัสรู้กึ่งคาถาไว้ตอนท้ายว่า :-

    " พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ทรงยังพระราชาผู้ทรงมีพระปัญญา...ให้ทรงรู้พระองค์ด้วยคาถาทั้งหลาย ที่เป็นภาษิตมีเนื้อความวิจิตรพิสดาร "

    ... พระปัจเจกพุทธเจ้า ครั้นทรงแสดงโทษในกามทั้งหลาย ทรงยังพระราชให้ทรงถือเอาถ้อยคำของตนอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า :

    " ขอถวายพระพรหมมหาบพิตร บัดนี้ พระองค์จะทรงผนวชหรือไม่ทรงผนวชก็ตาม แต่ว่า อาตมาภาพได้แสดงโทษในกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการบวชถวายมหาบพิตรแล้ว ขอมหาบพิตรจงอย่าทรงประมาท " ดังนี้แล้ว ได้ทรงเหาะไปในอากาศ ทรงเหยียบกลีบเมฆเสด็จไปยังเงื้อมเขา นันทะมูลกะ นั่นเอง เหมือนพระยาหงส์ทองฉะนั้น

    ... พระมหาสัตว์ทรงประคองอัญชลีที่รุ่งโรจน์ รวมทั้ง ๑๐ นิ้วไว้บนเศียรนมัสการอยู่ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นพ้นทัศนวิสัยไปแล้ว จึงตรัสส่งให้หาพระราชบุตรพระองค์ใหญ่ คือเจ้าฟ้าใหญ่มาเฝ้า ทรงมอบราชสมบัติให้ แล้วเมื่อมหาชนกำลังร้องให้คร่ำครวญกันอยู่ ได้ทรงละกามทั้งหลาย เสด็จสู่ป่าหิมพานต์ ทรงสร้างบรรณศาลาผนวชเป็นฤาษี ไม่นานเลยก็ทรงยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดขึ้น ในเวลาสิ้นพระชนมายุก็ได้ทรงถึงพรหมโลก

    ... พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาประกาศสัจจธรรม แล้วจึงประชุมชาดกไว้ ในเวลาจบสัจจธรรม คนทั้งหลายได้พระโสดาบันเป็นต้นมากมาย พระราชา ในครั้งนั้น ก็คือ เราตถาคต ฉะนี้แล

    (ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ / อรรถกถาทรีมุขชาดกที่ ๓ /ฉักกนิกาย)
     
  8. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    พระปัจเจกพุทธเจ้า : ในคำภีร์อนาคตวงศ์

    ... มีเรื่องของพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ปรากฏในคัมภีร์อื่นที่ไม่ใช่ในพระไตรปิฏก แต่ก็มีพุทธศาสนิกชนรู้จักคัมภีร์นี้พอสมควร นั่นคือ พระอานคตวงศ์ ซึ่งในคัมภีร์นี้ได้กล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต ๑๐ พระองค์ ในคัมภีร์นี้ได้กล่าวถึง อธิการ ในอดีตของ พระนรสีหสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้กล่าวไว้ดังนี้

    เรื่องพระนรสีหสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ... ดูก่อน พระธรรมเสนาบดี สารีบุตร ผู้มีอายุ เมื่อศาสนาของ พระเทวเทพสัมมาสัมพุทธเจ้า เสื่อมไปแล้ว ในกัปนั้น โตเทยยพราหมณ์ จักได้เป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระนรสีหสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ... พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงีพระวรกายสูง ๖๐ ศอก แสงสว่างแห่งพระพุทธรัศมี กลางวันมีสีประหนึ่งว่า แสงสว่างแก้วมรณี กลางคืนเป็นเช่นกับแสงทอง ทรงมีต้นแคฝอยเป็นต้นไม้ตรัสรู้

    ... ด้วยพุทธานุภาพ มีข้าวสาลีหอมเกิดขึ้นตามปกติ มหาชนทุกจำพวกไม่ได้ค้าขาย ไม่ได้ทำไร่ไถนา พากันเก็บเอาข้าวสารแห่งสาลี มาหุงต้มบริโภค มีต้นกัลปพฤกษ์เกิดขึ้นต้นหนึ่ง มีสิ่งของต่างๆ เกิดขึ้น เพราะอาศัยต้นกัลปพฤกษ์ คนเหล่านั้นไม่ต้องแต่งกาย ตามปกติคนเหล่านั้น มีผิวพรรณสีเหมือนทอง

    ... เบื้องพระเศียรของพระผู้มีพระภาคเจ้า จะมีเศวตฉัตรแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ ปรากฏแก่กล้า จัดว่าได้มหาสมบัติ ด้วยประการฉะนี้

    ... ดูก่อน พระธรมเสนาบดี สารีบุตร ผู้เจริญ เมื่อศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า ล่วงไปแล้ว ศาสนาของเรา ก็จักมีในกาล ระหว่างกลางศาสนาทั้งสอง โตเทยพราหมณ์ได้เป็นพ่อค้านามว่า นันทมาณพ
     
  9. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ... สมัยหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เที่ยวบิณบาตอยู่ในเวลานั้น นันทมาณพ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ถวายผ้ากัมพลผืนหนึ่ง และทอง ๑ แสน เป็นทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ในเวลาถวายทานสิ้นสุดลง เขาได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า : -

    ..." ข้าแต่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เจริญ ด้วยผลแห่งทานอันนี้ ขอจงเป็นปัจจัยให้ได้พระสัพพัญญตญาณเถิด "

    ... พระปัจเจกพุทธเจ้า รับเอาผ้าผืนนั้นมาห่มแล้ว เบื้องของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหลือ ๑ ศอก เบื้องล่างจากพื้นเท้าเหลือประมาณ ๑ ศอก ยืนอยู่ด้วยพระบาททั้งคู่ นันทมาณพเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ตั้งความปรารถนาไว้ ๒ อย่างว่า :-

    ... " ข้าแต่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เจริญ ด้วยผลแห่งการถวายผ้ากัมพลเป็นทานนี้ ขออำนาจของข้าพเจ้าจงแผ่ไปเบื้องบน ๑ โยชน์ ในเบื้องล่าง ๑ โยชน์เถิด "

    ... ในเวลาจบคำปรารถนาพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ออกจากบ้านไป ตรงกลางทางนางกุมารีรุ่นคนหนึ่ง พบพระปัจเจกพุทธเจ้ากำลังเดินไป จึงเรียนถามท่านว่า :-

    ..." ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ใครถวายผ้าแก่พระคุณเจ้า? "

    ... พระปัจเจกพุทธเจ้าบอกว่า " ดูก่อนอุบาสิกา พ่อค้านามว่า นันทมาณพ ถวายผ้ากัมพลผืนหนึ่งเป็นทานแก่อาตมาภาพ "

    ... นางกุมารีเรียนถามว่า:-

    " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เขาตั้งความปรารถนาว่าอย่างไร? "

    ... พระปัจเจกพุทธเจ้าบอกว่า " ดุก่อนอุบาสิกา พ่อค้านามว่า นันทมาณพ ได้ตั้งความปรารถไว้ ๒ อย่าง คือ ปรารถนาพระสัพัญญตญาณ ๒ ปรารถนาสมบัติคือความเป็นพระราชา "

    ... กุมารี ฟังคำนั้นแล้ว ทำจิตให้เลื่อมใส ถือเอาผ้าผืนหนึ่งถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ในเวลาถวายทานเสร็จ นางกุมารีจึงตั้งความปรารถนาไว้ว่า :-

    " ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ด้วยการถวายผ้เป็นทานนี้ ถ้าชายพ่อค้าจักได้สมบัติแห่งมหาราชาไซร้ ดิฉันจักเป็นอัครมเหสีเขา "

    ... สรุปว่า ในกาลนั้น ปุถุชนทั้งสอง สร้างศาลาไว้หลังหนึ่งในสถานที่ถวายทานนั้น ให้ช่างจิตรกรรมสลักรูปพระปัจเจกพุทธเจ้า ณ เสาร์ศาลานั้น นางกุมารีรวบผมบนศรีษะ เอาน้ำมันทาเอาไฟจุดบูชา
     
  10. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ... นันทมาณพ กระทำการบริจาคทานนั้น ถวายทาน รักษาศีล ดำรงอยู่ชั่วอายุ ณ ที่นั้น ในเวลาสิ้นอายุ จุติแล้วไปบังเกิดในภพบนดาวดึงส์ กับก้วยนางกุมารีนั้น ในเวลานั้น คนทั้งสองดำรงอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สิ้นเวลา ๓๖ ล้านปี โดยนับปีของมนุษย์

    ... คนทั้งสองจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น นันทมาณพ บังเกิดเป็น พระธรรมราชา ในนครทวาราวดี ฝ่ายกุมารีบังเกิดในมหหาสมบัติในตระกูลเศรษฐี ในพระนครนั้น

    ... บิดามารดา ได้นำนางกุมารีซึ่งมีอายุครบ ๑๖ ปี เข้าไปถวายแด่ พระธรรมราชา ญาติๆ ทั้งหลายได้ตั้งชื่อนางกุมารีว่า " มงคลเทวี "

    ... ก็พระนางมงคลเทวี ได้เป็นหัวหน้าหญิง ๑๖,๐๐๐ นางแล้ว ตกว่าพระธรรมราชาทรงให้หญิงนางสนมทั้งหมด จัดสำรับอาหารเลี้ยงกันและกันแล้ว นางสนมทุกนางจะได้นิ้วทองบริโภคอาหารก็หามิได้ นางมลคลเทวีเป็นเจ้าแห่งทาน ให้ทานอย่างเดียว ในกาลก่อนจึงได้นิ้วทองในปัจจุบัน

    ... พระเจ้าธรรมราชา กับพระนางมงคลเทวี ครั้นถวายทานเสมอกันในชาติก่อน จุติแล้ว ปัจจุบันจึงได้มหาสมบัติ ด้วยอานุภาพแห่งทาน นันทมาณพ ได้เสวยมนุษยสัมบัติ และเทวสมบัติแล้วบังเกิดเป็น โตเทยยพราหมณ์แล้ว

    ... ดูก่อนพระธรรมเสนาบดี สารีบุตร ผู้เจริญ ด้วยผลแห่งทาน โตเทยยพราหมณ์จักได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า นรสีห์ ในอานคต

    ... ดูก่อนพระธรรมเสนาบดี สารีบุตร ผู้เจริญ ด้วยอาการอย่างนี้ สรรพสัตว์ หากยังไม่ได้บรรลุธรรม อันเลิศในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๘ องค์เหล่านี้คือ

    ของเรา ๑ , ของพระรามพุทธเจ้า ๑ , ของพระธรรมราชาพุทธเจ้า ๑ , ของพระธรรมสามีพุทธเจ้า ๑ , ของพระนารทพุทธเจ้า ๑ , ของพระรังสีมุนีพุทธเจ้า ๑ , ของพระเทวเทพพุทธเจ้า

    ... ในอนาคต โตเทยยพราหมณ์ จักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า นรสีห์ ขอท่านทั้งหลายจงปรารถนาพบศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า นรสีห์ พระองค์นั้นเถิด
     
  11. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    เหตุแห่งการบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ ที่ปรากฏในคัมภีร์ชาดก :

    นอกจาก ขัคควิสาณสูตร ที่ปรากฏใน คัมภีร์สุตตนิบาต คัมภีร์อปทาน และ คัมภีร์จูฬนิทเทศแล้ว ในคัมภีร์ชาดก ก็ได้กล่าวถึงการบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณไว้เหมือนกัน จะได้นำมาแสดงโดยลำดับ

    กุมภการชาดก : คัมภีร์ชาดก

    ๑) พระกรกัณฆะปัจเจกพุทธเจ้า

    ... ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในตระกูลช่างหม้อ ในหมู่บ้านใกล้ประตูนครพาราณสี เจริญวัยแล้วได้ครอบครองสมบัติ มีบุตรชาย ๑ คน บุตรหญิง ๑ คน เลี้ยงบุตภรรยาโดยอาศัยการทำหม้อ

    ... ในกาลครั้งนั้น พระราชาทรงพระนามว่า กรกัณฑะ ในทันตปุรนคร แคว้นกลิงคะมีพระราชบริพารมาก เมื่อเสด็จไปพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงใกล้ประตูพระราชอุทยานมีผลน่าเสวย เต็มไปด้วยผลเป็นพวง ประทับบนคอช้างต้นนั้นเอง ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกไปเก็บผลมะม่วงพวงหนึ่ง แล้วเสด็จเข้าไปพระราชอุทยาน ประทับนั่งบนศิลาอาสน์ พระราชทานแก่คนที่ควรพระราชทาน แล้วจึงเสวยผลมะม่วง

    ... ตั้งแต่เวลาที่พระราชาทรงเก็บผลมะม่วงแล้ว ตามธรรมดาคนที่เหลือทั้งหลาย ก็ต้องพากันเก็บเหมือนกัน ดังนั้น อำมาตย์บ้าง พราหมณ์ และคหบดีบ้าง จึงพากันเขย่าผลมะม่วงให้หล่น แล้วรับประทานกัน ผู้ที่มาหลังๆ ก็ขึ้นต้นใช้ค้อนฟาดทำให้กิ่งหัก ทะลายลงกินกัน แม้แต่ผลดิบๆ ก็ไม่เหลือ

    ... ฝ่ายพระราชาทรงกรีฑา ในราชอุทยานตลอดทั้งวันแล้ว ตอนเย็นเมื่อทรงประทับนั่งบนคอช้างต้นที่ตกแต่งแล้ว เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงนั้นจึงลงจากคอช้าง แล้วเสด็จไปที่โคนมะม่วง ทรงมองดูลำต้นพลาง ทรงดำริว่า :-

    " ต้นมะม่วงต้นนั้นเมื่อเช้านี้เอง เต็มไปด้วยผลเป็นพวงสง่างาม ทำความอิ่มตาอิ่มใจให้แก่ผู้ดูทั้งหลายยืนต้นอยู่ บัดนี้ เขาเก็บผลหมดแล้ว หักห้อยรุ่งริ่งยืนต้นอยู่ไม่งาม "

    ... เมื่อทรงมองดูต้นอื่นอีกได้ทรงเห็น ต้นมะม่วงต้นอื่นที่ไม่มีผลแล้ว ประทับยืนอยู่ที่ควงไม้นั่นเอง ทรงทำต้นมะม่วงมีผลให้เป็นอารมณ์ว่า :-

    " ต้นไม้ต้นนั้นยืนต้นสง่างามเหมือนภูเขาแก้วมณีโล้น เพราะตัวเองไม่มีผล ส่วนมะม่วงต้นนี้ถึงความย่อยยับอย่างนี้ เพราะ ออกผล แม้ท่ามกลางเรือนนี้ก็เช่นกันกับต้นมะม่วงที่ออกผล ส่วนการบรรพชาเป็นเช่นกับต้นไม้ที่ไม่มีผล ผู้มีทรัพย์นั้นแหละมีภัย ส่วนผู้ที่ไม่มีทรัพย์ไม่มีภัย แม้เราก็ควรเป็นเหมือนต้นไม้ที่ไม่มีผล "
     
  12. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ... แล้วทรงกำหนดไตรลักษณ์เจริญวิปัสสนายังปัจเจกโพธิญาณให้เกิดขึ้นแล้ว ทรงรำลึกอยู่ว่า :-

    "บัดนี้ เราทำลายกระท่อม คือ ท้องของมารดาแล้ว"
    "การปฏิสนธิในภพทั้ง ๓ เราตัดขาดแล้ว"
    "ส้วมแหล่งอุจจาระ คือ สงสารเราล้างแล้ว"
    "กำแพงกระดูกเราพังแล้ว"
    "เราจะไม่มีการปฏิสนธิอีก"

    ... ได้ทรงแต่งองค์ด้วยเครื่องประดับทั้งหมดประทับยืนอยู่แล้ว จึงอำมาตย์ทั้งหลายได้ทูลพระองค์ว่า :-

    "ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จประทับยืนนานเกินไปแล้ว"

    พระราชา : "เราไม่ใช่พระราชา แต่เราเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า"

    อำมาตย์ : "ข้าแต่สมมุติเทพ ธรรมดาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย จะไม่เป็นเช่นกับด้วยพระองค์"

    พระราชา : "ถ้าเช่นนั้นเป็นอย่างไร"

    อำมาตย์ : "โกนผมโกนหนวด ปกปิดร่างกายด้วยผ้ากาสาวพัตร์ มีส่วนเปรียบเทียบด้วยดวงจันทร์ที่พ้นจากพระราหู พำนักอยู่เงื้อมนันทมูลในป่าหิมพานต์ พระปัจเจกทั้งหลายเป็นเช่นนี้"

    ... ในขณะนั้น พระราชาทรงยกพระหัตถ์ขึ้นลูบเกศา ในทันทีนั้นเอง เพศคฤหัสถ์ก็อันตรธานไป เพศสมณะก็ปรากฏขึ้น สมณบริขารทั้งหลายที่พระองค์ตรัสถึงอย่างนี้ว่า :-

    ... ไตรจีวร บาตร มีดโกน เข็ม รัดประคตพร้อมด้วยกระบอกกรองน้ำ ๘ อย่างเหล่านี้ เป็นบริขารของภิกษุผู้ประกอบความเพียรได้ปกปิดพระกายขอองพระองค์ทันที

    ... พระองค์ประทับที่อากาศประทานพระโอวาทแก่คนทั้งหลายแล้ว ได้เสด็จไปสู่เงื้อมนันทมูลนั่นแหละ
     
  13. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    องค์ของความรู้พร้อม

    ที่มา: http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-170.htm

    อันโพชฌงค์เป็นคำเรียกสั้นๆ เรียกเต็มว่าสัมโพชฌงค์ที่แปลว่าองค์ของความรู้พร้อม เป็นธรรมะหมวดสำคัญที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ในฐานะ ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่งในฐานะที่ต่อเนื่อง โดยมากก็ตรัสแสดงไว้ต่อเนื่องจากสติปัฏฐาน คือสติปัฏฐาน โพชฌงค์ วิชชาวิมุติ ต่อเนื่องกันไป อีกฐานะหนึ่งตรัสสอนโพชฌงค์ไว้โดยเอกเทศเป็นหลักปฏิบัติทั้งหมด ดังเช่นเป็นหลักปฏิบัติในกรรมฐาน แม้ที่เป็นสมถกรรมฐานทุกข้อ ก็ปฏิบัติตามหลักในโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้

    ดั่งเช่น เจริญพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ตรัสว่าตั้งสติ ก็ตรัสว่าอบรมสติสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา อบรมธัมวิจยสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา อบรมวิริยสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา อบรมปีติสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา อบรมปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา อบรมสมาธิสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา อบรมอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา ข้อกรุณาก็เหมือนกัน มุทิตาก็เหมือนกัน อุเบกขาก็เหมือนกัน

    แม้ในกรรมฐานหมวดอื่นเช่น อสุภกรรมฐาน ๑๐ แต่ละข้อก็คืออบรมสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น ประกอบด้วยกรรมฐานข้อนั้นๆ แต่ละข้อก็ด้วยวิธีที่อบรมโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ คืออบรมโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ ประกอบด้วยกรรมฐานข้อนั้นๆ ไปทุกข้อ

    เพราะฉะนั้นจึงหมายความว่าในการที่จะปฏิบัติทำกรรมฐานทุกข้อ

    เช่นทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ปฏิบัติด้วยวิธีของโพชฌงค์ คือปฏิบัติสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น อันประกอบด้วยลมหายใจเข้าออก ประกอบด้วยสติกำหนด ลมหายใจเข้าออก
     
  14. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    หลักปฏิบัติในกรรมฐานทุกข้อ

    ตามฐานะดังที่กล่าวมานี้โพชฌงค์จึงเป็นหลักปฏิบัติในกรรมฐานทุกข้อ การปฏิบัติในกรรมฐานทุกข้อก็พึงปฏิบัติตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ เช่นจะทำอานาปานสติก็ด้วยวิธีที่ทำสติสัมโพชฌงค์ ให้ประกอบด้วยสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ธัมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้นก็ให้ประกอบด้วยอานาปานสติ จนถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ก็ให้ประกอบด้วยอานาปานสติ คือปฏิบัติอานาปานสติด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ เพราะฉะนั้นโพชฌงค์จึงเป็นธรรมะหมวดสำคัญ ที่จะต้องปฏิบัติทั้งนั้นในการปฏิบัติธรรมะทั้งปวงดังที่กล่าวมา เพราะฉะนั้นก็ควรทำความเข้าใจไปแต่ละบทก่อน

    สติสัมโพชฌงค์

    สติสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือสตินั้น ก็ได้แก่สติความระลึก ความกำหนด และสติดังกล่าวนี้คือที่เป็นสัมโพชฌงค์ ก็เป็นสติเพื่อรู้ คือเพื่อปัญญาความรู้ทั่วถึง เพื่อญาณความหยั่งรู้ เพื่อสัมโพธะหรือสัมโพธิ ความรู้พร้อม หรือความตรัสรู้พร้อม

    และสติดังที่กล่าวมานี้ก็จะต้องมีอาหารของสติ เหมือนอย่างร่างกายต้องมีอาหารสำหรับบำรุงร่างกาย อาหารของสติสัมโพชฌงค์ก็ตรัสว่าได้แก่ธรรมะซึ่งเป็นที่ตั้งของสติ

    และโยนิโสมนสิการ ความทำไว้ในใจโดยแยบคาย ก็คือพิจารณาจับเหตุจับผล เมื่อมีธรรมะอันเป็นที่ตั้งของสติ และมีโยนิโสมนสิการ ก็ย่อมปฏิบัติทำสติสัมโพชฌงค์ให้บังเกิดขึ้นได้

    ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์

    ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์คือความเลือกเฟ้นธรรม หรือวิจัยธรรม ก็เพื่อรู้นั้นเอง และก็ต้องมีอาหารเช่นเดียวกัน อาหารของข้อนี้ก็คือธรรมะที่เป็นกุศล และเป็นอกุศล ธรรมะที่มีโทษ และไม่มีโทษ ธรรมะที่เลวและประณีต ธรรมะที่เทียบกับขาวและดำ กับโยนิโสมนสิการ ความพิจารณาโดยแยบคายคือจับเหตุจับผล

    วิริยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือวิริยะความเพียร ก็ต้องมีอาหารเช่นเดียวกัน อาหารของข้อนี้ก็คือ อารัมภธาตุ ทำความเพียรให้ทรงตัวขึ้นด้วยอารัมภะคือความริเริ่ม นิกกมธาตุ ทำความเพียรให้ทรงตัว ด้วยความดำเนินไป ปรักกมธาตุ ทำความเพียรให้ทรงตัว ด้วยปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปจนบรรลุถึงความสำเร็จ กับโยนิโสมนสิการพิจารณาโดยแยบคายจับเหตุจับผล

    ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

    ปีติสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือปีติ ก็ต้องมีอาหารเช่นเดียวกัน อาหารของข้อนี้ก็คือธรรมะอันเป็นที่ตั้งของปีติ กับโยนิโสมนสิการ ความพิจารณาโดยแยบคายจับเหตุจับผล

    ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือปัสสัทธิความสงบ ก็ต้องมีอาหารเช่นเดียวกัน อาหารของข้อนี้ก็คือ กายปัสสัทธิ ความสงบกาย จิตปัสสัทธิ ความสงบใจ กับโยนิโสมนสิการ ความพิจารณาโดยแยบคายจับเหตุจับผล
     
  15. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

    สมาธิสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือสมาธิ ก็ต้องมีอาหารเช่นเดียวกัน อาหารของข้อนี้คือธรรมะอันเป็นที่ตั้งของสมาธิ ก็ได้แก่สมาธินิมิตที่กำหนดหมายแห่งสมาธิ อัพยัคคนิมิต นิมิตที่มียอดไม่แตกคือมียอดเป็นอันเดียวกัน ที่เรียกว่าเอกัคคตา คือความที่จิตมียอดเป็นอันเดียว อันหมายความว่ามีอารมณ์เป็นอันเดียว กับโยนิโสมนสิการพิจารณาโดยแยบคายจับเหตุจับผล

    อุเบกขาสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คืออุเบกขา ก็ได้แก่ธรรมะอันเป็นที่ตั้งของอุเบกขา กับโยนิโสมนสิการพิจารณาโดยแยบคายจับเหตุจับผล ดั่งนี้

    กรรมฐานเริ่มด้วยการตั้งสติ

    ในข้อแรกสัมโพชฌงค์คือสติต้องมีอาหารคือธรรมะที่เป็นที่ตั้งของสติ ก็หมายความว่าจะตั้งสติคือความกำหนดในธรรมะข้อไหน ทั้งนี้ก็สุดแต่ผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะตั้งสติกำหนดอยู่ในธรรมะคือกรรมฐานเช่นข้ออานาปานสติก็ได้ หรือในพรหมวิหารคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ได้ ในกรรมฐานข้ออื่นก็ได้

    เพราะว่าในการปฏิบัติกรรมฐานข้อนั้นๆ ก็จะต้องเริ่มด้วยการตั้งสติไว้ทั้งนั้น จะขาดสติไม่ได้ ดั่งเช่นจะเจริญเมตตา อันเรียกว่าเมตตาภาวนา ก็จะต้องตั้งสติไว้ในธรรมที่เป็นที่ตั้งของเมตตา คือในการที่เจริญเมตตานั้นก็จะต้องปรารภบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเจาะจง เช่นปรารภมารดาบิดา ปรารภบุตรหลาน ปรารภผู้ทรงพระคุณต่างๆ เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระโอรสพระธิดา เป็นต้น หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นผู้ทรงคุณ นี้โดยเจาะจง

    บทแผ่เมตตาโดยไม่เจาะจง

    เมื่อไม่เจาะจงก็ปรารภสัตว์ทั้งหลายทุกถ้วนหน้า ดังที่ (เริ่ม ๑๑๔/๑) เราตั้งใจกันโดยไม่เจาะจง แผ่เมตตาไปว่าสพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงสพฺเพ ภูตา ภูตะคือผู้ที่เป็นขึ้นแล้วทั้งปวงสพฺเพ ปุคฺคลา บุคคลทั้งปวง สพฺเพ อตฺตภาวปริยาปนฺนา สัตว์ทั้งหลายที่เนื่องด้วยอัตภาพทั้งปวง นี้เป็นการที่ปรารภโดยไม่เจาะจง และก็ต้องตั้งใจแผ่ที่เป็นตัวเมตตา เป็นไปในบุคคลและสัตว์ ทั้งที่เจาะจงและไม่เจาะจงนั้นว่าอเวรา โหนฺตุจงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิดอนีฆา โหนฺตุจงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกันเถิดสุขิตา โหนฺตุ จงเป็นผู้บรรลุถึงความสุขเถิด สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ จงเป็นผู้มีสุขรักษาตนเถิด ดั่งนี้

    เมตตาภาวนา

    การทำใจดั่งนี้เรียกว่าเป็นการแผ่เมตตา เพราะฉะนั้นจึงต้องตั้งสติ คือความกำหนดไปในบุคคลโดยเจาะจง หรือในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า แล้วก็ตั้งสติ ทำเมตตา ให้เป็นไปในบุคคลและสัตว์เหล่านั้น ว่าจงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิด ดั่งนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น บุคคลและสัตว์ทั้งปวง กับภาวะของจิตที่แผ่เมตตาออกไปดังกล่าว จึงชื่อว่าเป็นธรรมะอันเป็นที่ตั้งของสติ จะต้องมีสติกำหนดตั้งไปดังที่กล่าว และก็เป็นการเจริญเมตตาภาวนา เป็นการเจริญเมตตา ซึ่งเมตตาภาวนาจะบังเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยสติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือสติ ดั่งนี้ จึงจะเป็นเมตตาภาวนาขึ้นมา

    และก็จะต้องมีโยนิโสมนสิการ คือจะต้องมีปัญญาที่เป็นตัวความรู้ประกอบไปด้วย คือต้องจับเหตุจับผล ต้องรู้เหตุรู้ผลว่าในการทำสตินี้จะต้องมีการตั้งสติ คือตั้งใจนี้เองกำหนด กำหนดพิจารณาในอะไรก็ต้องรู้ว่า

    เมื่อจะทำเมตตาภาวนาก็ต้องตั้งกำหนดไปในสัตว์ทั้งหลาย ในบุคคลทั้งหลาย กำหนดว่าอย่างไร ก็คือกำหนดว่า จงเป็นผู้ที่ไม่มีเวร มีสุข และก็ต้องรู้ว่าในการที่ตั้งสติกำหนดนี้จิตเป็นอย่างไร จิตกำหนดอยู่ไหม หรือไม่อยู่ และกิเลสอะไรดับไปบ้าง เช่นโทสะพยาบาท ดับไปไหมในเมื่อตั้งสติกำหนดจิตดั่งนี้ในเมตตา ถ้ายังมีโทสะพยาบาทบังเกิดขึ้นอยู่ในจิต ก็แปลว่ายังเป็นเมตตาไม่ได้ ต่อเมื่อโทสะพยาบาทต่างๆ ความกระทบกระทั่งใจต่างๆ ความหงุดหงิดต่างๆ สงบ หายไปนั่นแหละ และก็จิตมีความมุ่งดีปรารถนาดีแต่เพียงอย่างเดียว จึงจะเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์

    โยนิโสมนสิการ

    ซึ่งเมตตาที่บริสุทธิ์นี้ นอกจากจะสงบโทสะพยาบาทแล้ว ยังต้องสงบสิเนหาคือความรักความผูกพันในทางกามด้วย ถ้าเป็นความรักเป็นความผูกพันในทางกาม ก็เรียกว่าเป็นสิเนหา เป็นราคะ เป็นกาม เพราะฉะนั้นทั้งโทสะพยาบาทก็เป็นศัตรู เป็นอันตรายของเมตตา แม้สิเนหาราคะหรือกามก็เป็นศัตรู เป็นอันตรายของเมตตา เพราะฉะนั้นจะต้องมีโยนิโสมนสิการ คือตัวรู้ รู้ความเป็นไปของสติ ของจิต ของผล ที่เป็นตัวกิเลส หรือที่สงบกิเลสไปด้วยกัน

    และก็ต้องรู้วิธีที่จะสงบ ถ้าเป็นกิเลสบังเกิดแทรกแซงขึ้นมา ต้องรู้วิธีที่จะเจริญสติให้ตั้งมั่นขึ้น ดั่งนี้เป็นโยนิโสมนสิการทั้งนั้น คือต้องมีตัวรู้กำกับอยู่ด้วยตลอดเวลา และรู้นี้ก็ต้องหมายถึงว่ารู้ความเป็นไปของจิต ของสติ และก็ต้องรู้วิธีที่จะแก้ไข ให้เป็นสติที่บริสุทธิ์ และเมื่อมีสติบริสุทธิ์ก็ทำให้เมตตาที่บังเกิดขึ้นเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ คือเป็นความรักความปรารถนาดี ที่ปราศจากทั้งโทสะพยาบาท ปราศจากทั้งสิเนหาราคะ ทั้งสองอย่าง
     
  16. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    การปฏิบัติตามหลักโพชฌงค์ ๗

    เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเจริญเมตตาก็ต้องอาศัยสติสัมโพชฌงค์ดั่งนี้ และเมื่อมีสติสัมโพชฌงค์ดั่งนี้เป็นไปได้ ก็เป็นอันว่าเป็นวิสัยของปัญญาที่จะเจริญยิ่งขึ้น คือเลื่อนขึ้นเป็นธัมวิจยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือธัมวิจยะความเลือกเฟ้นธรรม ก็เลือกเฟ้นธรรมในใจนี้เอง ในการเจริญเมตตานั่นแหละ รู้ว่าเมตตาเป็นกุศลธรรม เมตตาในใจ ไม่ใช่เมตตาที่ไหน เป็นกุศลธรรม

    ส่วนโทสะพยาบาท หรือราคะสิเนหา เป็นอกุศลธรรม ฝ่ายราคะสิเนหามีโทษ แต่ว่าฝ่ายเมตตาไม่มีโทษ ฝ่ายราคะสิเนหาเป็นของเลว ของต่ำ ของทราม แต่ฝ่ายเมตตาเป็นของประณีต ฝ่ายราคะสิเนหาเท่ากับเป็นสีดำ ส่วนฝ่ายเมตตาเท่ากับเป็นสีขาว คือรู้จักธรรมะในจิตใจของตนนี้เองที่ผุดขึ้นทันที เมื่อเมตตาผุดขึ้นก็รู้ว่านี่เป็นกุศล ไม่มีโทษ ประณีต ขาว เมื่อโทสะพยาบาทหรือราคะสิเนหาบังเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่านี่เป็นอกุศล มีโทษ เลว และดำ คืออะไรผุดขึ้นในใจในการเจริญเมตตานี้ก็รู้ทันที ดั่งนี้เรียกว่าธรรมวิจัย

    เพราะฉะนั้นในการที่ปฏิบัติเจริญเมตตาก็ต้องมีธรรมวิจัยดั่งนี้ประกอบกันไปด้วย และก็จะต้องมีธรรมะอันเป็นที่ตั้งของธรรมวิจัย ก็คือที่ให้รู้ว่าธรรมะที่บังเกิดผุดขึ้นในใจนี้ อะไรเป็นกุศล อะไรไม่เป็นกุศลเป็นต้นดังที่กล่าว และก็จะต้องมีโยนิโสมนสิการ ตัวปัญญาตัวรู้ที่กำกับไปด้วยดังเช่นที่กล่าวแล้วในข้อสติ และเมื่อวิจัยธรรมได้ถูกต้องดั่งนี้แล้วก็เลื่อนขึ้นไปเป็นวิริยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือวิริยะความเพียร คือว่าเพียรละฝ่ายอกุศล เพียรอบรมแต่ฝ่ายกุศลให้บังเกิดขึ้น คือว่าเพียรละฝ่ายที่เป็นโทสะพยาบาท หรือที่เป็นราคะสิเนหา แต่เพียรทำฝ่ายที่เป็นเมตตานี้ให้บังเกิดขึ้นและให้ตั้งอยู่ ดั่งนี้เป็นวิริยะคือความเพียร ซึ่งจะต้องมีความทรงตัวขึ้นได้ของความเพียร อันได้แก่ริเริ่ม

    เพราะว่าจะตั้งความเพียรขึ้นได้ ก็ตั้งต้นด้วยความริเริ่ม เมื่อริเริ่ม เช่นริเริ่มละฝ่ายที่เป็นอกุศล ริเริ่มทำฝ่ายที่เป็นกุศล ก็เป็นอันว่าได้เริ่มตั้งความเพียรขึ้น เป็นความทรงตัวขึ้นได้ของความเพียร ที่ใช้คำว่าธาตุ หรือ ธาตุ ซึ่งแปลว่าความทรงอยู่ คือความทรงตัวขึ้นได้ของความเพียร และเมื่อริเริ่มขึ้น ทำให้เป็นความทรงตัวขึ้นได้ของความเพียรทีแรกแล้ว ก็ต้องดำเนินเพียรต่อไป เพียรละต่อไป เพียรอบรมต่อไปให้ความเพียรตั้งอยู่ได้

    และก็ต้องมีการปฏิบัติให้ก้าวหน้าต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ ไม่ล้มเลิกเสียในระหว่างๆ ให้ความเพียรตั้งอยู่ตลอดไป ดังเช่นว่าเมื่อมีโทสะพยาบาท หรือราคะสิเนหาบังเกิดขึ้นในระหว่างที่เจริญเมตตา ก็ต้องเริ่มตั้งความเพียรที่จะละ ดำเนินการละต่อไปจนถึงละได้ คือทำให้สงบโทสะพยาบาท หรือราคะสิเนหาที่บังเกิดขึ้นนั้นได้ และก็ตั้งความเพียรทำเมตตานี้ให้บังเกิดขึ้นในจิต ให้เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ ดำเนินเพียรต่อไปเพื่อให้เมตตาเจริญขึ้น ตั้งอยู่เจริญขึ้น และให้ก้าวหน้าต่อไป จนถึงเมตตานั้น สำเร็จเป็นเมตตาภาวนาอย่างเต็มที่ เป็นเมตตาบริสุทธิ์ที่ผุดขึ้นในใจ ปราศจากโทสะพยาบาทหรือราคะสิเนหาสิ้นเชิง เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ ดั่งนี้ ดั่งนี้ก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ในเมตตา

    และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะเลื่อนขึ้นเป็นปีติสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือปีติ คือความอิ่มใจ ความดูดดื่มใจ ก็เพราะว่าจิตนี้เมื่อได้ปฏิบัติขัดเกลาให้บริสุทธิ์สะอาดจากเครื่องเศร้าหมองจิต เมื่อเจริญเมตตา เมตตาก็เป็นเครื่องขัดเกลาจิตให้บริสุทธิ์จากโทสะพยาบาท จากราคะสิเนหา ปรากฏเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์แจ่มใส จิตใจดั่งนี้ก็เป็นจิตใจที่แจ่มใสสะอาด จึงบังเกิดปีติความอิ่มใจ ความดูดดื่มใจขึ้นในเมตตาที่บริสุทธิ์นี้ขึ้นเอง เป็นปีติความอิ่มใจ ก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ในเมตตา

    และเมื่อเป็นดั่งก็เลื่อนขึ้นอีกเป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือปัสสัทธิความสงบ

    คือกายที่ประกอบด้วยเมตตาดังกล่าวก็สงบ จิตก็สงบ และเมื่อกายและจิตสงบดั่งนี้ ก็เป็นกายและจิตที่มีสุข จึงเลื่อนขึ้นเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ องค์ของสัมโพชฌงค์คือสมาธิ คือจิตจะสงบตั้งมั่นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายด้วยเมตตา จิตที่เป็นสมาธิดั่งนี้ย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานคือความสงบกายสงบใจ ซึ่งเป็นตัวความสุข จิตที่มีความสงบความสุขเป็นพื้นฐานดั่งนี้ ก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ สงบจากกาม สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลายด้วยอำนาจของเมตตา

    เพราะฉะนั้น การทำจิตตภาวนาอบรมกรรมฐานข้อเมตตา เมื่อได้ถึงขั้นนี้ ก็ได้สมาธิที่สืบเนื่องมาจากเมตตา และเมื่อได้สมาธิดั่งนี้ ก็เลื่อนชั้นขึ้นไปเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คืออุเบกขา อันได้แก่ความที่จิตนี้เข้าเพ่งเฉยอยู่ในจิตที่เป็นสมาธินั้น มีลักษณะเป็นจิตที่วางกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นจิตที่เฉยคือไม่วุ่นวาย สงบ ดังที่เรียกว่าวางเฉย วางเฉยอยู่ในภายใน แต่วางด้วยความรู้ แต่เป็นความรู้ที่สงบอยู่ในภายใน ไม่ยึดถืออะไร ไม่วุ่นวายอะไร ความที่ไม่ยึดถืออะไร ไม่วุ่นวายอะไร อันเป็นตัวอุเบกขานี้ จะมากหรือน้อยเพียงไร ก็อยู่ที่ขั้นของการปฏิบัติอันสืบมาจากสมาธิ และสมาธินี่ที่เป็นสมาธิชั้นสูง ก็ต้องเป็นสมาธิที่ประกอบด้วยอุเบกขา และเมื่อสูงมากก็ปรากฏเป็นอุเบกขาและเอกัคคตา คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว เป็นอันว่าสมาธิกับอุเบกขานั้นรวมกันเป็นสมาธิอย่างสูงได้ ดังที่แสดงถึงจตุตถฌาน ฌานที่ ๔ ของรูปฌาน ก็แสดงว่ามีองค์ ๒ คือเอกัคคตาความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว และอุเบกขา ดั่งนี้ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ในเมตตา

    เพราะฉะนั้นการทำกรรมฐานเจริญเมตตา ก็ต้องอาศัยปฏิบัติตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้นั้นเอง และเมื่อปฏิบัติตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ ก็จะได้สมาธิ ได้อุเบกขา อันเป็นสมาธิชั้นสูง แต่ก็อาจแยกออกได้เป็น ๒ เป็นสมาธิ เป็นอุเบกขา

    เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติทำเมตตาภาวนานั้น ก็ได้ปฏิบัติทำเมตตาภาวนาด้วย ได้ปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗ ด้วย พระพุทธเจ้าได้ตรัสโพชฌงค์ทั้ง ๗ ไว้ในฐานะที่เป็นหลักปฏิบัติของธรรมะทั้งปวง ของกรรมฐานทั้งปวง ดังเช่นที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้
     
  17. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ติลักขณาทิคาถา

    ติลักขณาทิคาถา (สามัญญลักษณะ ๓ อันนำไปสู่นิพพาน)

    สัพเพ สังขารา อะนิจจาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ
    เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

    อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา
    เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลงนั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด

    สัพเพ สังขารา ทุกขาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ,
    เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

    อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา
    เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลงนั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด

    สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ
    เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

    อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา
    เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลงนั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด

    อัปปะกา เต มะนุสเสสุ เย ชะนา ปาระคามิโน
    ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย, ผู้ที่ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานมีน้อยนัก

    อะถายัง อิตะรา ปะชา ตีระเมวานาวะติ
    หมู่มนุษย์นอกนั้น ย่อมวิ่งเลาะอยู่ตามฝั่งในนี่เอง

    เย จะโข สัมมะทักขาตา ธัมเม ธัมมานุวัตติโน
    ก็ชนเหล่าใดประพฤติสมควรแก่ธรรม ในธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว

    เต ชะนาปา ระเมสสันติ มัจจุเธยยัง สุทุตตะรัง
    ชนเหล่านั้นจักถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน; ข้ามพ้นบ่วงแห่งมัจจุที่ข้ามได้ยากนัก

    กัณหัง ธัมมัง วิปปะหายะ สุกกัง ภาเวถะ ปัณฑิโต
    จงเป็นบัณฑิตละธรรมดำเสีย แล้วเจริญธรรมขาว

    โอกา อะโนกะมาคัมมะ วิเวเก ยัตถะ ทูระมัง
    จงมาถึงที่ไม่มีน้ำ จากที่มีน้ำ จงละกามเสีย, เป็นผู้ไม่มีความกังวล

    ตัตราภิระติมิจเฉยยะ หิตวา กาเม อะกิญจะโน
    จงยินดีเฉพาะต่อพระนิพพานอันเป็นที่สงัดซึ่งสัตว์ยินดีได้โดยยาก


    ที่มา: http://nkgen.com/735.htm
     
  18. hastin

    hastin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +3,084
    คาถาอะไรครับคุณ nouk ไม่เคยได้ยินเลย

    อ่านแล้ว สั่นสะเทือนแค่ 4 ท่อนแรก ทางยังไกลเหลือเกิน 555
     
  19. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    อุย...คุณ hastin ถามซะ...งง...ไปเลยค่ะ อ๋อ..คาถานี้เป็นคาถาที่กล่าวถึงเรื่องสามัญลักษณะ 3 หรือลักษณะสามัญของสรรพสิ่งค่ะ

    ขออธิบายความหมายของคำว่า "คาถา" ก่อนนะคะ (ที่มา: คาถา - วิกิพีเดีย)
    คาถา แปลว่า ถ้อยคำที่ร้อยกรอง ถ้อยคำที่ผูกไว้ ถ้อยคำที่ขับร้อง ท่อง สวด ในคำวัดหมายถึงคำประพันธ์ภาษาบาลีประเภทฉันทลักษณ์ที่แต่งครบ ๔ บาทหรือ ๔ วรรค ๑ คาถามี ๔ บาท แต่ละบาทมีจำนวนคำต่างกันไปตามชื่อ ฉันท์ เช่น อินทรวิเชียรฉันท์ แต่ละบาทมี ๑๑ คำ ๔ บาทก็มี ๔๔ คำ ๑ คาถาของอินทรวิเชียรฉันท์จึงมี ๔๔ คำ ในเวสสันดรชาดก มี ๑,๐๐๐ คาถา เป็นต้น

    เมื่อใดที่เราเข้าใจในลักษณะของสรรพสิ่ง อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ก็ถือว่าใกล้ทางนิพพานแล้วค่ะ แต่เรียกให้หรูสักหน่อย ให้งงๆ กันเล่น เป็นสมมติบัญญัติค่ะ (สามัญ = ธรรมดาๆ หรือ เหมือนๆ กัน, ลักษณะ = เครื่องหมายหรือสิ่งที่ชี้ให้เห็น)

    อธิบายเพิ่มเติมนะคะ

    สามัญลักษณะคือลักษณะอันเป็นสามัญ (เหมือนๆ กัน) 3 ประการ (ไตรลักษณ์) ของสรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาล ทั้งมีชีวิต และ ไม่มีชีวิต ประกอบด้วย (1) อนิจจัง (2) ทุกขัง และ (3) อนัตตา ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

    1) อนิจจัง
    อนิจจังเป็นลักษณะความไม่เที่ยง แปรปรวน ไม่แน่นอน ไม่หยุดนิ่ง ไม่มีเสถียรภาพ ต้อง “เปลี่ยนแปลง” (Change) เปลี่ยนแบบอนิจจังเป็นการเปลี่ยนที่ย้อนกลับได้ (Reversible) มีขึ้นมีลง มีได้มีเสีย มีกำไรมีขาดทุน มีแพ้มีชนะ เช่นเดียวกับ “โลกธรรม” แปดประการที่ผู้คนทั้งหลายต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อันได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์

    2) ทุกขัง
    ทุกขังเป็นการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน แต่เปลี่ยนไปในทิศทางเดียวไม่ย้อนกลับ (Irreversible) ไม่คงทน รักษาสภาพเดิมไม่ได้ ต้องเสื่อมไปสิ้นไป ความเป็นทุกขังที่ทุกคนคุ้นเคยเนื่องจากเกิดขึ้นกับตัวเอง คือไม่มีใครสามารถรักษาสภาพแรกเกิด (ทารก) ไว้ได้ ต้องเติบโตกลายเป็นหนุ่มสาว ซึ่งก็เป็นได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นต้องแก่ชรา แล้วก็ตายจากไป ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และ เครื่องจักรอุปกรณ์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะบำรุงรักษา หรือ ดูแลดีอย่างไร ก็ไม่วายที่จะต้องชำรุดเสียหาย หมดสภาพการใช้งานในที่สุด

    3) อนัตตา
    อนัตตาแปลกันตามตัวอักษรว่าความ “ไม่มีตัวตน” ซึ่งถ้ามองอย่างผิวเผินจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยาก เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายมองเห็นอยู่ สัมผัสได้อยู่ แต่อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งจะพบว่าสรรพสิ่งทั้งหลายที่เห็นที่สัมผัสได้ และ กำหนดให้เป็นนั่นเป็นนี่นั้นแท้จริงแล้ว “สมมุติ” ขึ้นมาทั้งหมดทั้งสิ้น จะหาตัวตนจริงๆ ของมันไม่ได้เลย เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของปัจจัยต่างๆ (ที่สมมุติขึ้นมาเหมือนกัน) แล้วสมมุติว่าเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ ดุจเดียวกับเงาที่ต้องอาศัยแสง กับ ตัวบังแสง ทำให้ไม่มีเงาในความมืดมิด ขณะเดียวกันในความสว่างก็ไม่มีเงาถ้าขาดตัวบังแสง หรือ เงาหายไปเมื่อเอาตัวบังแสงออก

    สิ่งสมมุตินี้มิได้จำกัดอยู่ที่คน สัตว์ สิ่งของ หรือ สิ่งที่เป็นรูปธรรมมองเห็นได้สัมผัสได้เท่านั้น แม้แต่ความคิด ทฤษฎี หลักการ ระบบ ระบอบต่างๆ นานาก็เป็นสิ่งสมมุติด้วยทั้งหมดทั้งสิ้น.แปลว่าอะไรๆ ก็เป็นอนัตตา

    อะไรๆ มันไม่แน่ไม่นอน อะไรๆ มันไม่ยั่งยืน แถมไม่มีตัวตนให้ยึดติด การที่จะเข้าไปรู้ไปเห็นด้วยปัญญานั้น ก็ต้องรู้เห็นจากของจริง ณ ปัจจุบันขณะที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของสรรพสิ่งทั้งหลาย

    ก็คงต้องน้อมไปปฏิบัติเอง รู้เองนะคะ
     
  20. nouk

    nouk เพราะยึดจึงทุกข์

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    11,401
    ค่าพลัง:
    +23,708
    ปฏิจจสมุปบาท แห่ง ความสิ้นสุดของโลก

    พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงชักชวนภิกษุทั้งหลายด้วยธัมมิกถาอันเนื่องเฉพาะด้วยนิพพาน, ได้ทรงเห็นว่าภิกษุทั้งหลายสนใจฟังอย่างยิ่ง จึงได้ตรัสพระพุทธอุทานนี้ขึ้น ในเวลานั้น ว่า :-

    "ความหวั่นไหว ย่อมมีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิอาศัยแล้ว"
    (นิสฺสิตสฺส จลิตํ).

    ความหวั่นไหว ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว
    (อนิสฺสิตสฺส จลิตํ นตฺถิ);

    เมื่อความหวั่นไหวไม่มี, ปัสสัทธิ ย่อมมี
    (จลิเต อสติ ปสฺสทฺธิ);

    เมื่อปัสสัทธิมี, นติ(ความน้อมไป) ย่อมไม่มี
    (ปสฺสทฺธิยา สติ นติ น โหติ);

    เมื่อนติไม่มี, อาคติคติ (การมาและการไป) ย่อมไม่มี
    (นติยา อสติ อาคติคติ น โหติ);

    เมื่ออาคติคติไม่มี, จุตูปปาตะ (การเคลื่อนและการเกิดขึ้น) ย่อมไม่มี
    (อาคติคติยา อสติ จุตูปปาโต น โหติ);

    เมื่อจุตูปปาตะไม่มี, อะไรๆ ก็ไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีใน
    ระหว่างแห่งโลกทั้งสอง
    (จุตูปปาเต อสติ เนวิธ น หุรํ น อุภยมนฺตเร):

    นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ละ
    (เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส)",
    ดังนี้ แล.

    ที่มา: http://www.oknation.net/blog/buddha2600/2012/10/16/entry-4
     

แชร์หน้านี้

Loading...